ย้อนกลับไปวันนี้ เมื่อ 56 ปีที่แล้ว จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกอดีตกำนันตำบลคำบ่อ อาสาสมัคร และทหาร ล้อมยิงเสียชีวิตในชายป่า ที่บ้านหนองกุง อําเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
จิตร ภูมิศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2473 ถือเป็น นักคิด-นักเขียน และปัญญาชนคนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย โดยเริ่มเป็นที่รู้จักจากการเป็นสาราณียกรหนังสือ ‘มหาวิทยาลัย’ ฉบับตุลาคม 2496 ฉบับวันปิยมหาราช ขณะกำลังศึกษาอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจิตรเปลี่ยนรูปแบบหนังสือที่ปกติจะมีหน้าปกเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปแบบอื่น รวมถึงยังเปลี่ยนเนื้อหาด้านในจากการสรรเสริญพระเกียรติให้เป็นการวิพากษ์สังคม รวมถึงวิพากษ์พุทธศาสนาด้วยปรัชญามาร์กซิสม์
การปฏิเสธที่จะตีพิมพ์และสรรเสริญพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 5 ทำให้จิตรถูกนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่โกรธแค้น นำโดย สีหเดช บุนนาค จับจิตร ‘โยนบก’ ลงจากเวทีสูง 5 ฟุต มายังเบื้องล่าง ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อหน้านิสิตกว่า 3,000 คน โดยผู้กระทำระบุว่า เป็นการลงโทษตามธรรมเนียม ขณะที่หนังสือฉบับดังกล่าวก็ถูกตำรวจสันติบาลอายัด นอกจากจิตรจะบาดเจ็บจากการโยนบกแล้ว จุฬาฯ ยังตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษจิตร ก่อนจะพบว่ามีความผิดจริง ให้พักการเรียน 1 ปี ในปี 2497 ซึ่งในระหว่างถูกพักการเรียน จิตรได้ไปสอนวิชาภาษาไทยที่โรงเรียนอินทร์ศึกษา แต่สอนได้ไม่นานก็ถูกไล่ออก เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีหัวก้าวหน้ามากเกินไป
หลังจากสำเร็จการศึกษา จิตรไปเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ และศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร แต่เมื่อ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจไม่นาน จิตรก็ถูกจับในข้อหา ‘กระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ และสมคบกระทำความผิดต่อความมั่นคง’ แม้ในที่สุดศาลกลาโหมจะยกฟ้องหลังจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต แต่จิตรก็ต้องถูกคุมขังนานกว่า 6 ปี ตั้งแต่ปี 2501-2507
ระหว่างที่ถูกคุมขังในคุกลาดยาว จิตรได้เขียนเพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ ซึ่งในเวลาต่อมา มีศิลปินอย่าง เพ็ญศรี พุ่มชูศรี และศิลปินวงคาราวาน ได้นำมาขับร้องและเป็นที่แพร่หลายจนถึงทุกวันนี้
หลังออกจากคุก จิตรเข้าร่วมการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2508 โดยเริ่มต้นที่บ้านโนนสวรรค์ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นพื้นที่เริ่มแรกของ พคท. ภายใต้ชื่อ ‘สหายปรีชา’
แต่แล้ว จิตร ภูมิศักดิ์ กลับเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 36 ปี ขณะหลงทางเข้าไปยังบ้านหนองกุง หมู่บ้านที่ทางการควบคุมไว้แล้ว กระสุนปืนนัดแรกเข้าที่โคนขาขวา ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ยิงซ้ำจนเสียชีวิต โดยปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวได้จัดตั้ง อนุสาวรีย์จิตร ภูมิศักดิ์ ใช้เป็นสถานที่จัดงานวันจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี
ชื่อของ จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักในห้วงเวลานั้น ห้วงเวลาที่ไทยอยู่ภายใต้ยุคเผด็จการเข้มข้น ทว่า หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ชื่อของเขากลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง ผ่านบทเพลงและบทกวีการเมือง รวมถึงหนังสือต้องห้ามอันโด่งดัง ซึ่งวิพากษ์ระบบจักรวรรดินิยมและศักดินา ที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2500 อย่าง ‘โฉมหน้าศักดินาไทย’ ซึ่งกลายเป็นหนังสือต้องห้ามในเวลาต่อมา และทำให้นักวิชาการ-นักประวัติศาสตร์ตั้งคำถามใหม่ๆ เกี่ยวกับความเป็น ‘ชาติ’ ขณะเดียวกัน ทั้งชื่อและงานของเขายังคงแพร่หลายอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการต่อต้านเผด็จการอำนาจนิยม
วันที่ 28 ตุลาคม 2563 กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ ‘ขอโทษ’ กรณีโยนบกจิตร พร้อมกับแสดงความเสียใจต่อเขาและครอบครัว พร้อมกับย้ำว่า เป็นการลงโทษที่ไม่ควรเกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน ทั้งบทกลอนและบทเพลงของจิตร ยังคงถูกใช้ในการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มราษฎร ตลอดช่วง 2563-2564 อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ หรือบทกวี ‘โคลงสรรเสริญกรุงเทพมหานครยุคไทยพัฒนา’ ซึ่งมีท่อนหนึ่งว่า
“ถึงยุคทมิฬมาร
จะครองเมืองด้วยควันปืน
ขื่อแปจะพังครืน
และกลิ่นเลือดจะคลุ้งคาว
แต่คนย่อมเป็นคน
ในสายธารอันเหยียดยาว
คงคู่กับเดือนดาว
ผงาดเด่นในดินแดน”
Tags: On This Day, The Momentum On This Day, จิตร ภูมิศักดิ์