“ผมจำเป็นต้องเสียสัตย์ที่เคยกล่าวไว้ว่า ‘จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี’ ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลเดียวว่า เพราะความเป็นทหารที่เรามีคติประจำใจว่า เรายอมเสียสละได้แม้ชีวิตเพื่อประเทศชาติ เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดความจำเป็นที่เราจะต้องทำงานเพื่อประเทศชาติ เพราะฉะนั้น การเสียชื่อเสียง เสียสัจวาจาก็อาจจะเป็นความจำเป็น” พลเอก สุจินดา คราประยูร อธิบายถึงสาเหตุที่ต้องเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนเป็นที่มาของฉายา ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’

อาจเรียกได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นจุดกำเนิดของเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ที่มีการประท้วงขับไล่พลเอกสุจินดา ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันนำไปสู่การใช้ความรุนแรงด้วยกระสุนจริงสลายการชุมนุมของประชาชนบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ในวันที่ 17-21 พฤษภาคม 2535 ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บสูญหายเป็นจำนวนมาก 

รัฐประหาร รสช. แยกไม่ออกจากเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 เกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ซึ่งมีพลเอกสุจินดาเข้าร่วมการรัฐประหารครั้งนี้ด้วย โดยเป็นการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ  พร้อมกันนั้น พลเอกสุจินดายังสัญญาว่าจะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

หลังการรัฐประหารได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ รสช. ร่างขึ้น และเปิดให้มีการเลือกตั้งขึ้น ผลเลือกตั้งปรากฏว่า ณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ที่ได้รับการสนับสนุนจาก รสช. ได้คะแนนเสียงมากที่สุด แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะถูกขึ้นบัญชีดำจากทางสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีประวัติเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด ส่งผลให้พลเอกสุจินดาขึ้นมารับตำแหน่งนายกฯ แทน จึงเป็นที่มาของฉายา ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ 

การเข้ารับตำแหน่งของพลเอกสุจินดา ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจ เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย นักศึกษานำโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และประชาชนหลายภาคส่วนจึงเข้าร่วมชุมนุมต่อต้าน ทั้งการอดข้าว และเดินขบวนขับไล่  โดยผู้ชุมนุมกล่าวว่า การกระทำของพลเอกสุจินดาเป็นการ ‘ตระบัดสัตย์’ 

การชุมนุมยืดเยื้อมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนเมษายนล่วงเลยมาถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ทางพลเอกสุจินดาได้ส่งทหารและตำรวจจำนวนหลายพันคน พร้อมรถหุ้มเกราะและกระสุนจริงเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนที่ขับไล่ ต่อมาวันที่ 18  พฤษภาคม พลตรี จำลอง ศรีเมือง ผู้นำการชุมนุมถูกจับแต่ประชาชนยังคงปักหลักชุมนุมสู้ต่อ จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม พลเอกสุจินดาได้ประกาศใช้เคอร์ฟิวในพื้นที่กรุงเทพฯ และในวันเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 มีคำสั่งให้พลเอกสุจินดาและพลตรีจำลองเข้าเฝ้าฯ โดยการเข้าเฝ้าฯ ครั้งนี้มีการเผยแพร่ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสแก่คณะผู้เข้าเฝ้าฯ ข้อความตอนหนึ่งว่า “ถ้าหากว่าเผชิญหน้ากันแบบนี้ต่อไป เมืองไทยมีแต่ล่มจมลงไป แล้วก็จะทำให้ประเทศไทยที่เราสร้างเสริมขึ้นมาอย่างดี เป็นเวลานาน จะกลายเป็นประเทศที่ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายในทางลบเป็นอย่างมาก”

วันต่อมา (21 พฤษภาคม 2535) พลเอกสุจินดาจึงประกาศยกเลิกการเคอร์ฟิว และหลังจากนั้นอีก 4 วัน พลเอกสุจินดาได้ประกาศลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี อานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ระหว่างรอการเลือกตั้งครั้งใหม่

ภายหลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุม ทางกระทรวงมหาดไทยได้ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ทั้งหมด 44 ราย บาดเจ็บ 1,728 ราย แบ่งเป็นบาดเจ็บสาหัสจำนวน 47 ราย สูญหายอีก 48 ราย และไม่ทราบจำนวนผู้ถูกจับกุม แต่บางฝ่ายเชื่อว่า มีคนสูญหาย บาดเจ็บ และเสียชีวิตอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางที่กล่าวว่ามีผู้สูญหายมากกว่า 500 คน

Tags: ,