เวลาย่ำรุ่งของเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2475 ‘คณะราษฏร’ ได้ปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ ตามแผนการที่วางไว้มากว่า 7 ปี คณะราษฏรประกอบด้วยข้าราชการฝ่ายทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน รวมแล้วมีสมาชิกระดับผู้ก่อการเพียง 115 คน แต่สามารถทำการยึดอำนาจรัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง โดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อ
เริ่มจากคณะราษฏรฝ่ายพลเรือน นำโดย ควง อภัยวงศ์ นำกำลังเข้าไปตัดสัญญาณสายโทรศัพท์และการสื่อสารเพื่อสกัดกั้นการสื่อสารจากอำนาจเดิม ส่วนคณะราษฏรฝ่ายทหารบก นำโดย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม), พันเอกพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน), พันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) และกลุ่มผู้ก่อการคนอื่นๆ เคลื่อนกำลังไปยังกรมทหารม้าที่ 1 เพื่อควบคุมยานยนต์หุ้มเกราะและกำลังทหารส่วนหนึ่งไว้ในมือ
กำลังพลเคลื่อนที่มาถึงหน้าประตูกรมทหารม้า ปรากฏว่าไม่มีการสู้รบใดๆ เกิดขึ้น เนื่องจากทหารส่วนใหญ่ล้วนเคยเป็นลูกศิษย์ของพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ และเข้าใจว่าเดินทางมาตรวจกองรบจึงเปิดประตูให้โดยง่าย ทำให้กลุ่มผู้ก่อการรีบดำเนินการควบคุมผู้บังคับกรมและนำรถหุ้มเกราะพร้อมทหารบกเคลื่อนกำลังไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม ระหว่างทางมีกำลังพลจากทหารปืนใหญ่และทหารช่างเข้ามาร่วมด้วย เนื่องจากกลุ่มผู้ก่อการได้ออกคำสั่งลวงว่าจะทำการซ้อมรบใหญ่ จึงไม่มีฝ่ายใดเคลือบแคลงใจและพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งทันที เมื่อถึงที่หมายปรากฏว่ามีทหารเรือพร้อมอาวุธครบมือและกลุ่มทหารบกจากกองกำลังต่างๆ ได้มารวมตัวกันมากกว่า 2,000 นาย โดยทหารหลายฝ่ายที่มารวมตัวนั้นยังไม่ทราบว่านายทหารยศใหญ่ที่เป็นผู้คุมกำลังตนเองมากำลังจะทำการปฏิวัติ
เวลาประมาณ 6 โมงเช้า พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และในปี 2479 จึงมีการทำพิธีวางหมุดคณะราษฎร ตรงจุดเดียวกับที่พระยาพหลฯ อ่านประกาศประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1
“ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” ข้อความที่สลักไว้บนหมุดคณะราษฎร เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่การปกครองแบบประชาธิปไตย
เมื่อมีการอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 เสร็จสิ้น มีการจัดกำลังพลใหม่ โดยให้แต่ละกองกำลังจัดทหารโดยคละหมู่และเหล่าทัพรวมกัน เพื่อไม่ให้ผู้บังคับบัญชาที่กำลังไม่เข้าใจสถานการณ์ได้ทันคิดและสั่งการ ปรากฏว่าการยึดกองกำลังทหารทั้งหมดก็เป็นอันสำเร็จ ไม่ได้เกิดการต่อสู้หรือนองเลือดแต่อย่างใด
แต่การยึดเพียงกองกำลังไม่ได้เป็นการรับประกันว่าการอภิวัฒน์สยามจะสำเร็จลุล่วง จึงมีการกระจายกองกำลังที่อยู่ภายนอกพระที่นั่งอนันตสมาคมไปยึดสถานที่ราชการสำคัญต่างๆ เช่น หัวลำโพง การประปา การไฟฟ้า และเชิญพระบรมวงศานุวงศ์คนสำคัญมาเป็นตัวประกัน โดยหวังว่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพะวักพะวงห่วงใยพระบรมวงศานุวงศ์จนยินยอมทำตามกลุ่มผู้ก่อการโดยง่าย
ครั้งนั้นมีการเชิญบุคคลสำคัญและพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่หลายท่าน เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และหนึ่งในบุคคลสำคัญที่จำเป็นต้องควบคุมตัวให้ได้ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่และผู้ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ‘ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร’ ซึ่งทรงอิทธิพลสามารถคุมทหารและตำรวจได้ในขณะนั้น แต่การเชิญมาเป็นตัวประกันไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นมากนัก มีความวุ่นวายพอสมควร ก่อนสุดท้าย จะมีการปลดอาวุธทหารทุกนายที่อยู่ภายในวังบางขุนพรหม และควบคุมตัวกรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้อย่างลุล่วง
มีเพียงกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินที่ทรงระแคะระคายการปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อการ และทรงหลบหนีไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชวังไกลกังวล
เมื่อคณะราษฎรได้เชิญตัวประกันที่สำคัญมาไว้ในมือได้บางส่วนแล้ว จึงได้ออกประกาศว่า “ด้วยบัดนี้ คณะราษฎรได้จับพระบรมวงศานุวงศ์มาไว้เป็นประกันแล้ว ถ้าผู้ใดขัดขวางคณะราษฎร ผู้นั้นจะต้องถูกลงโทษ และพระบรมวงษานุวงศ์จะต้องถูกทำร้ายด้วย”
ทางด้าน หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ซึ่งอาศัยอยู่ในเรือบริเวณคลองบางลำพู มาพร้อมกับใบปลิว ‘คำประกาศคณะราษฎร’ ที่แอบพิมพ์ที่โรงพิมพ์นิติสาส์น ตั้งใจว่าหากการอภิวัฒน์สยามสำเร็จจะนำใบปลิวเหล่านี้แจกทันที แต่หากไม่สำเร็จจะนำใบปลิวทั้งหมดทิ้งลงน้ำ แต่สุดท้ายการอภิวัฒน์สยามเป็นไปอย่างสำเร็จ จึงมีการแจกจ่ายใบแถลงการณ์คำประกาศคณะราษฎรออกสู่สาธารณชนทันที
โดยในคำประกาศดังกล่าวมีใจความสำคัญ คือการประกาศนโยบายหลัก 6 ประการที่สำคัญของคณะราษฏร
1. ความเป็นเอกราช
2. ความปลอดภัยในประเทศ
3. ความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ
4. สิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
5. เสรีภาพ มีความเป็นอิสระ
6. ต้องมีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การอภิวัฒน์สยามประสบผลสำเร็จทั้งโดยพฤตินัยและนิตินัย คณะราษฎรจึงทำหนังสือขึ้นกราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติกลับสู่พระนคร เพื่อดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ที่คณะราษฎรจะจัดร่างขึ้นในลำดับต่อไป
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารของคณะราษฎร ก่อนเสด็จจากวังไกลกังวลกลับพระนครโดยขบวนรถไฟพิเศษว่า
“ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าก็ได้คิดอยู่แล้ว ที่จะเปลี่ยนแปลงตามทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินตามพระธรรมนูญจึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก เพราะว่าถ้าข้าพเจ้าไม่ยอมรับเป็นตัวเชิดนานาประเทศก็คงไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่นี้ ซึ่งคงจะเป็นความลำบากยิ่งขึ้นหลายประการ…”
จากนั้นทรงโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนคณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ ที่วังสุโขทัย และนำร่างกฎหมาย 2 ฉบับขึ้นถวาย ได้แก่ ‘พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน’ และ ‘พระราชกำหนดนิรโทษกรรม’
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในทันที แต่สำหรับพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น ทรงพระอักษรกำกับต่อท้ายว่า ‘ชั่วคราว’ ซึ่งมีนัยความหมายว่า การจัดรูปการปกครองของระบอบใหม่เป็นการประนีประนอมระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเจ้าของอำนาจเดิมกับฝ่ายประชาชนผู้เป็นองค์อธิปัตย์ใหม่ตามรัฐธรรมนูญ
หลายฝ่ายชี้ว่า เพราะการประนีประนอมระหว่างอำนาจเดิมกับอำนาจใหม่จึงนำไปสู่การเกิดขึ้นของ ‘กบฏบวรเดช’ หรือที่หลายฝ่ายเรียกว่า ‘คณะกู้บ้านเมือง’ ซึ่งเป็นการกบฏด้วยกำลังเพื่อหวังล้มล้างรัฐบาลของคณะราษฎรในขณะนั้น และจากจุดเริ่มต้นการอภิวัฒน์สยามสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เส้นทางอาจไม่ราบรื่น มีการกบฏและการรัฐประหารอีกหลายครั้ง แต่ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสายธารประวัติศาสตร์ของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในประเทศไทย
Tags: On This Day, The Momentum On This Day