ปีหน้านี้ ชาวอังกฤษทุกคนจะเป็นผู้บริจาคอวัยวะโดยอัตโนมัติ เว้นแต่จะแจ้งความประสงค์เอาไว้ว่าไม่ต้องการบริจาคอวัยวะ (opt-out) นี่เป็นผลของกฎหมายใหม่ที่ชื่อ ‘แมกซ์และเคียร่า’ (Max and Kiera) ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา

เหตุที่ชื่อว่าแมกซ์และเคียร่าก็เพราะว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2017 เคียร่า เบลล​์ เด็กหญิงอายุ 9 ขวบประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์และมีอาการบาดเจ็บสาหัสก่อนที่จะเสียชีวิตในอีก 3 วันต่อมา  โจ เบลล์ (Joe Bell) ผู้เป็นพ่อตัดสินใจบริจาคหัวใจของลูกสาวให้กับแมกซ์ จอห์นสัน (Max Johnson) เด็กชายที่ขณะนี้มีอายุ 10 ขวบ นอกจากนี้ เคียร่ายังรักษาชีวิตของเด็กชายอีก 3 คน ซึ่งรวมถึงเด็กชายที่ได้รับไตและตับของเธอ

แมกซ๋ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ผิดปกติ ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ซับซ้อนและต้องอยู่ในโรงพยาบาลตลอดเวลา ชีวิตขึ้นอยู่กับการรอเปลี่ยนถ่ายอวัยวะเท่านั้น

หลังจากได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ แมกซ์บอกว่านี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา “ผมตั้งตารอวันที่จะได้เจอเพื่อน ไปโรงเรียน มันมหัศจรรย์มาก”

เอมมา จอห์นสัน แม่ของแมกซ์พยายามเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนกฎหมายบริจาคอวัยวะมาตลอด เพื่อที่เด็กๆ จะมีโอกาสได้ชีวิตใหม่ เมื่อปี 2017 เธอเคยเข้าไปกล่าวในที่ประชุมของพรรคแรงงาน เรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนระบบการบริจาคอวัยวะเป็นแบบ opt-out และรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนกฎหมายนี้ แมกซ์ยังได้เรียกร้องให้เทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีแก้ไขกฎหมายบริจาคอวัยวะ เรื่องราวของแมกซ์ยังจุดประกายให้ประชาชนนับพันคนลงชื่อเป็นผู้บริจาคอวัยวะมากกว่า 1,000 คน

กฎหมายนี้บังคับใช้กับอังกฤษเท่านั้น ผู้ใหญ่ทุกคนถือเป็นผู้บริจาคอวัยวะโดยอัตโนมัติ ถ้าไม่ระบุการตัดสินใจอย่างอื่น ผู้ที่ไม่ต้องการบริจาคก็ต้องไปแจ้งความประสงค์ของตัวเองที่ศูนย์บริจาคอวัยวะ

ขณะนี้มีชาวอังกฤษที่รอการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะประมาณ 6,000 คน ขณะที่ปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตขณะรอรับบริจาคอวัยวะมากกว่า 400 คน รัฐบาลคาดว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยให้มีผู้รอดชีวิตได้ราว 700 คน กฎหมายนี้จะนำมาใช้แทนระบบอาสาบริจาคอวัยวะแบบเดิม (opt-in)  ส่วนที่เวลส์มีกฎหมายนี้ตั้งแต่ธันวาคม 2015 แล้ว

กฎหมายใหม่นี้ ผู้ที่ได้รับการยกเว้นคือ ผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้ที่ขาดสติสัมปชัญญะก่อนที่จะเสียชีวิต และผู้ที่ไม่ได้อยู้ในอังกฤษเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือนก่อนเสียชีวิต นอกจากนี้ กฎหมายเปิดโอกาสให้ญาติสามารถขัดขวางการบริจาคได้ ดังนั้นครอบครัวต้องพูดคุยกัน

หลังจากนี้ รัฐบาลจะรณรงค์สร้างความตระหนักให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจระบบและรู้ว่าตนเองมีทางเลือกใดบ้าง

ก่อนหน้านี้ มีผลการสำรวจความคิดเห็นพบว่า ชาวอังกฤษ 80% สนับสนุนการบริจาคอวัยวะ แต่มีเพียง 38% เท่านั้นที่แสดงความจำนงเอาไว้ว่าจะบริจาคอวัยวะ ดังนั้นเมื่อมีสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต การตัดสินใจว่าจะบริจาคอวัยวะจึงเป็นเรื่องยาก

 

ที่มา:

Tags: , , ,