หากกล่าวถึงวรรณกรรมสืบสวนขึ้นหิ้ง หลายคนคงนึกถึง ‘เชอร์ล็อก โฮล์มส์’ เป็นอันดับต้นๆ แต่หากถามคำถามเดียวกันกับชาวฝรั่งเศส คำตอบที่ได้อาจแตกต่างออกไป สำหรับพวกเขา โฮล์มส์ คือยอดนักสืบที่เก่งกาจ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่เคยเอาชนะ ‘อาร์แซน ลูแปง’ หรือสุภาพบุรุษจอมโจร ได้เลยสักครั้ง

อาร์แซน ลูแปง (Arsène Lupin) คือชื่อของยอดหัวขโมย ในวรรณกรรมชื่อเดียวกันของ มอริส มารี เอมีล เลอบล็อง (Maurice Marie Émile Leblanc) นักเขียนนิยายชาวฝรั่งเศส ในสมัยเด็ก เลอบล็อง เกิดในครอบครัวที่มีฐานะ เขาเป็นเด็กร่าเริง กระทั่งการมาถึงของสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ในปี 1870 ทำให้ครอบครัวของเขาจำใจต้องส่งเขาไปอยู่ที่สกอตแลนด์ ทำให้เขามีพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษ ขณะเดียวกันก็ได้ซึมซับการอ่านวรรณกรรมอังกฤษติดมาด้วย 

เมื่อกลับมายังฝรั่งเศส เขาได้เรียนต่อและจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวเขามักคลุกตัวอยู่กับ กุสตาฟ โฟลเบิร์ต (Gustave Flaubert) และ กาย เดอ โมปาสซองต์ (Guy de Maupassant) สองนักเขียนชาวฝรั่งเศส ทำให้ เลอบล็อง สนใจงานด้านการเขียนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

กระทั่งในปี 1888 เขาเดินทางไปยังเมืองปารีส และทำงานเป็นครั้งแรกในฐานะนักหนังสือพิมพ์และในปี 1893 ได้มีโอกาสเขียนนวนิยายเรื่องแรกในชื่อ Une femme (A Woman) และโด่งดังเป็นพลุแตก ก่อนจะก็เริ่มเขียนนิยายอีกหลายเรื่อง รวมถึงบทละคร แต่ไม่ได้โด่งดังมากนัก

กระทั่งในปี 1902 การมาถึงของวรรณกรรมสืบสวนอย่าง เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ (Arthur Conan Doyle) นักเขียนชาวอังกฤษ นิยายดังกล่าวได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสและได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ ขณะเดียวกันในช่วงเวลาดังกล่าว เลอบล็อง กำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่ด้วยสายเลือดนักเขียนฝรั่งเศส เขายอมไม่ได้ที่นวนิยายจากอังกฤษจะเข้ามามีอิทธิพลเหนือนิยายฝรั่งเศส ทำให้เขาจุดไฟในตัวขึ้นอีกครั้ง

และแล้วในปี 1905 ตัวละคร ลูแปง ก็ได้ปรากฏผ่านสายตาของชาวโลกครั้งแรกผ่านเรื่องสั้นในนิตยสาร เฌอ แซ ตุท (Je sais tout) โดยใช้ชื่อเรื่องว่า The Arrest of Arsène Lupin ว่าด้วย ลูแปง ยอดนักขโมยอัจฉริยะและสุดแสนพราวเสน่ห์ ซึ่งมีนิสัยเป็นขั้วตรงข้ามของ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ อย่างสิ้นเชิง 

ในปี 1907 มีการนำเรื่องสั้นตอนต่างๆ มารวมเล่ม จนกลายเป็น นวนิยายในชื่อ อาร์แซน ลูแปง สุภาพบุรุษจอมโจร (Arsène Lupin Gentleman Burglar) ด้วยความที่เป็นเรื่องราวของหัวขโมยอัจฉริยะที่ชอบปลอมตัวพร้อมขโมยของจากคนรวยหรือกลุ่มคนที่ทำผิดกฏหมายและนำมาช่วยคนจน ราวกับโรบินฮูดในเวอร์ชันนักสืบ ทำให้ ลูแปง กลายเป็นวรรณกรรมที่มีคนชื่นชอบและติดตามเป็นอย่างมาก

ต่อมา เลอบล็อง ได้เขียนนิยายที่เกี่ยวข้องกับ ลูแปง ทั้งหมดกว่า 19 เรื่องและเรื่องสั้นอีกมากกว่า 39 เรื่อง จนทำให้ลูแปง กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกและกลายเป็นวรรณกรรมขึ้นหิ้งอีกเรื่องของโลกไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม ช่วงท้ายชีวิตของ เลอบล็อง อาจไม่ได้สวยหรูมากนัก เขาซื้อบ้านหลังหนึ่งในเมืองเอเทรอตาต์ (Etretat) และตั้งชื่อว่า Clos Lupin เพื่อใช้เป็นสถานที่เขียนนิยายและเป็นสถานที่พักผ่อนในบั้นปลายชีวิต ทว่าการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงปี 1938 ทำให้ เลอบล็อง ต้องหลบหนีจากภัยสงครามและลี้ภัยไปยังเมืองแปร์ปีญ็อง (Perpignan) เขาต้องใช้ชีวิตในสถานที่ห่างไกลจากบ้านเกิดและเผชิญกับความเป็นอยู่ในสภาวะสงคราม ในขณะนั่นเขาเริ่มประสบกับปัญหาสุขภาพอย่างหนัก โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ จากอาการป่วยผนวกกับการใช้ชีวิตอย่างลำบาก ทำให้เขากลายเป็นโรคซึมเศร้า 

ท้ายที่สุด ในปี 1941 มอริส มารี เอมีล เลอบล็อง ก็จากไปอย่างสงบ แม้ว่าตัวของเขาจะจากไป แต่วรรณกรรมที่เขาทิ้งไว้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งนิยาย วรรณกรรม ละครเวทีและการ์ตูนอีกมากมายหลายเรื่อง รวมถึงบ้านของเขาในเมืองเอเทรอตาต์ ได้รับการปรับปรุงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ อาร์แซน ลูแปง เพื่อรำลึกถึงเขาอีกด้วย

 

 

Tags: , , ,