ไม่มากก็น้อย เมื่อพูดถึงเรื่องไซเบอร์บุลลี่ หลายคนมักมองการกลั่นแกล้งออนไลน์นี้แยกขาดกับความเป็นไปในชีวิตจริง แถมยังพ่วงกับความเคยชินว่า แค่แกล้งเล่นๆ ในโลกโซเชียลแค่นี้มันจะไปอะไรกันหนักหนา เหมือนเพื่อนแกล้งกันน่ะ ออนไลน์ใครๆ ก็ทำแบบนี้กันเป็นปกติ
แต่ด้วยความที่พื้นที่ออนไลน์นั้นเป็นการรวมตัวของคนที่มีชีวิตอยู่จริงในโลกออฟไลน์ ออนไลน์ที่เราคิดว่าไม่มีอะไรแน่นอนจริงจังนี่แหละ ที่กลายมาเป็นเครื่องมือในการทำร้ายและทำลายให้ใครหลายคนต้องลบตัวเองออกจากออนไลน์ไปเงียบๆ หนักกว่านั้น บางคนต้องหลบซ่อนตัวเองจากโลกจริง จะด้วยความอับอาย อันตรายที่อาจมาถึง หรือตัวตนที่ถูกกลั่นแกล้งจนแบกมาเจอใครต่อใครไม่ไหว
ไซเบอร์บุลลี่จึงไม่อาจแยกออกจากความเป็นไปในชีวิตจริงได้ โดยเฉพาะในหมู่เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นวัยแห่งความอ่อนไหว ที่ต่อให้เก่งมาจากไหน หลายครั้งก็แพ้ให้การกลั่นแกล้งที่หลายคนมองว่ามันเป็นเรื่องเล่นๆ นี่แหละ
ความหลากหลายทางเพศกลายมาเป็นเรื่องที่ถูกแกล้ง
จากข้อมูลของศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (Child Onlind Protection Action Thailand – COPAT) พบว่าในเด็กและเยาวชนทุกๆ 3 คน จะมี 1 คนที่ถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ และความเข้มข้นของการแกล้งจะเพิ่มสูงขึ้นในหมู่เด็กและเยาวชน LGBTQI+ ที่มีเพศวิถีที่หลากหลาย
ตัวเลขข้างต้นของ COPAT นั้นสอดคล้องกันกับรายงานที่ Plan International Thailand และ UNESCO จัดทำร่วมกันว่า นักเรียนมัธยมและอาชีวะที่มีความหลากหลายทางเพศถึง 56% ถูกกลั่นแกล้งเพราะอัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศของพวกเขา จากกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ พบว่าการกลั่นแกล้งเหล่านั้น มาจากการทำร้ายกันทางร่างกาย 31% การทำร้ายผ่านคำพูด 29% และมีถึง 24% ที่ถูกคุกคามเนื่องจากความหลากหลายทางเพศที่พวกเขาแสดงตัวตนออกมา
อคติทางเพศยังกลายมาเป็นเป้าในการกลั่นแกล้ง เพราะในหมู่นักเรียนถึง 25% ที่ไม่ได้ระบุตัวตนว่าเป็น LGBTQI+ เองก็ยังถูกกลั่นแกล้ง เพราะพวกเขาถูกมองว่ามีพฤติกรรมที่ไม่ใช่ชายจริงหญิงแท้ ว่าง่ายๆ ก็คือ นักเรียนคนไหนที่ดูไม่แมนไม่เลดี้ตามมาตรฐานนิยมหรือแสดงออกไม่ชัดเจนว่ามีเพศวิถีแบบไหนกันแน่ ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกกลั่นแกล้งหนักขึ้นไปอีก
แกล้งมาแกล้งกลับ
จากการวิจัยเรื่อง การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดย DTAC ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจกลุ่มตัวอย่างนักเรียน 1,606 คน พบว่า 82% ของกลุ่มตัวอย่างถูกบุลลี่ในโรงเรียน และ 76% ในกลุ่มตัวอย่างนี้เองก็เป็นคนที่บุลลี่คนอื่นในโรงเรียนด้วยเช่นกัน ที่น่าตกใจก็คือ หากนับเป็นรายสัปดาห์ มีนักเรียนส่วนหนึ่งที่ถูกกลั่นแกล้งมากกว่า 1 ครั้ง โดยแบ่งประเภทการกลั่นแกล้งตามตาราง ดังนี้
ไม่เพียงเท่านั้น การกลั่นแกล้งทุกประเภทยังมีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่ว่า หากมีการกลั่นแกล้งมาก็จะเกิดการกลั่นแกล้งคืน กลายเป็นวงจรการกลั่นแกล้งกันไปกันมา โดยการเอาคืนนั้นก็มีทั้งเอาคืนแบบโดนแกล้งยังไงแกล้งกลับไปอย่างนั้น และการแกล้งหรือโจมตีกลับด้วยวิธีการอื่น จากตรงนี้เองที่เรื่องเพศจะกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะถูกเอามาแกล้ง เช่นการทำให้ความหลากหลายทางเพศกลายเป็นเรื่องปมด้อยของความไม่จริงแท้ทางเพศที่มาพร้อมกับมายาคติว่า ต้องเป็นชายจริงหรือหญิงแท้เท่านั้น
หรือหลายครั้ง ต่อให้เป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันเอง ก็มักเอาเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศมาเป็นเครื่องมือทำร้ายอีกฝ่ายผ่านการเหยียด การแบ่งชนชั้น หากจะพูดให้ร่วมสมัยชาวเน็ตหน่อยก็คงเป็นการเหยียดในเหยียดกันอีกทีผ่านการแบ่งทำนองว่า ใครตลาดบนตลาดล่าง หรืออีกะเทยยยย มึงสิกะเทย! เป็นต้น
ไม่อยากถูกแกล้ง แต่แกล้งคนอื่นได้
การกลั่นแกล้งออนไลน์ยังมีแพ็คเกจที่ซับซ้อนกว่านั้น เพราะเมื่องานวิจัยข้างต้นพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างเพศและศาสนาแล้วยังพบว่า นักเรียนที่เป็น LGBTQI+ ที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธจะโดนแกล้งหนักเพิ่มขึ้นไปอีก นี่จึงทำให้เห็นว่า การกลั่นแกล้งยังมีมิติของอำนาจทางสังคมมาเกี่ยวข้องด้วย กล่าวคือ มายาคติเรื่องความเหนือกว่าของความเป็นชาย และการแบ่งแยกกันผ่านศาสนา จะยิ่งทำให้นักเรียนชายใช้มายาคติที่คิดว่าเหนือกว่านี้ กลั่นแกล้งนักเรียนคนอื่นที่ดูมีอำนาจน้อยกว่า
งานวิจัยยังต่อยอดเป็นคำถามต่อทัศนคติของการแกล้งและถูกแกล้งผ่านคำถามเช่น
หากมีใครมาทำร้ายให้โกรธ หรือรู้สึกไม่ดี หรือเสียใจ คิดว่าควรทำร้ายคนนั้นคืนหรือไม่ – มีนักเรียนที่ตอบว่า ควรทำ 66.51% กลับกันเมื่อตั้งคำถามว่า หากไปทำให้ใครโกรธหรือรู้สึกไม่ดีหรือเสียใจ แล้วเพื่อนคนนั้นเขากลับมารังแก – มีนักเรียนที่ตอบว่าตนเอง ‘ไม่สมควรถูกกระทำ’ 68.72%
นอกจากนั้น หากพบเห็นคนที่ไม่ชอบ ถูกรังแกจากคนอื่น นักเรียนส่วนใหญ่ตอบว่า คนๆ นั้นสมควรโดนรังแก และหากเพื่อนชวนให้ไปร่วมกันรังแกคนที่ไม่ชอบด้วยแล้วก็จะรวมกลุ่มไปแกล้งคนอื่นกับเพื่อนด้วย ในที่นี้ วัฒนธรรมการรวมกลุ่ม ความลำเอียง การแบ่งแยกผ่านความแตกต่างในมิติต่างๆ รวมถึงวัฒนธรรม hate speech จึงทำงานหนักมากในหมู่นักเรียน ให้ยิ่งปกป้องความสงบและความยุติธรรมของตัวเอง ผ่านชุดความคิดทำนองว่า ตนเองจะถูกแกล้งไม่ได้ แต่สามารถไปแกล้งคนอื่นได้
หยุดไซเบอร์บุลลี่ ต้องทำคู่ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์
มาถึงตรงนี้ เราจะเห็นได้ว่า ออนไลน์หรือออฟไลน์นั้นเป็นเพียงแค่พื้นที่ของการกระทำ เพราะส่วนที่สำคัญกว่าก็คือ พฤติกรรมและทัศนคติของการรังแกและกลั่นแกล้งกันมากกว่า
ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งกันทางวาจา เช่น การสร้างเรื่องโกหก ปล่อยข่าวลือ การล้อปมด้อย การกลั่นแกล้งทางสังคม เช่น การกันไม่ให้เข้ากลุ่ม การไม่ยอมรับกัน การกลั่นแกล้งกันทางความรู้สึก หรือการกลั่นแกล้งที่นำประเด็นทางเพศมาเป็นเครื่องมือที่เกิดขึ้นในพื้นที่ออนไลน์ ล้วนแต่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นในเชิงกายภาพหรือความรู้สึกของเด็กและเยาวชนนั้นๆ ในโลกจริงไปด้วย
เมื่ออินเทอร์เน็ตและโลกโซเชียลกลายเป็นอีกโลกใบหลักของเด็กและเยาวชนไปแล้ว DTAC และ Plan International Thailand จึงร่วมมือกัน จัดหลักสูตรและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 เพื่อความเข้าใจและความเคารพในความแตกต่างทางเพศที่จะช่วยลดไซเบอร์บุลลี่ โดยจะเน้นทำงานกับเด็กและเยาวชนเพื่อรณรงค์ให้พวกเขาเท่าทันโลกดิจิทัลและสร้างอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย รวมถึงพัฒนาความเข้มข้นของหลักสูตรของการศึกษาไทยที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนตระหนักต่อประเด็นเรื่องความรุนแรงทางเพศ อันเป็นผลมาจากการกลั่นแกล้งทั้งในโลกออนไลน์และโลกจริงด้วย
อ้างอิง:
- โครงการวิจัยการแกล้งกันของเด็กและนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (https://drive.google.com/file/d/1gb_skMEj3INX_gTtW0c-rm7IeY6JmYXP/view)
- Children and online risks report 2019. Child Online Protection Action Thailand (COPAT) and Internet Foundation for the Development of Thailand.