การแกล้งกันในโรงเรียน หรือการบุลลี่ (bullying) เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมญี่ปุ่น แม้จะมีการประกาศใช้กฎหมายเพื่อป้องกันมาตั้งแต่ปี 2013 แล้ว แต่ดูเหมือนปัญหาจะไม่คลี่คลาย ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2018 รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นรายงานผลสำรวจสถิติการแกล้งกันในโรงเรียนปี 2017 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปีก่อนหน้านี้

จากรายงานการสำรวจของกระทรวงศึกษาฯ โรงเรียนประถม มัธยมต้นและมัธยมปลายทั้งของรัฐบาลและเอกชน รวมถึงโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนพิเศษมีการรายงานกรณีแกล้งกันรวมแล้ว 414,378 กรณี เพิ่มจากปีก่อนหน้านี้ที่มีรายงานการแกล้งกัน 91,235 กรณี

ตัวเลขการแกล้งกันอย่างหนักซึ่งนักเรียนบาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจรุนแรง เพิ่มขึ้นจากเดิม 78 กรณีเป็น 474 กรณี ขณะที่มีนักเรียน 10 คนจาก 250 คนที่ฆ่าตัวตายเพราะถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน

ในโรงเรียนประถมมีกรณีแกล้งกันมากที่สุด มี 317,121 กรณี เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 79,865 กรณี อันดับสองคือ โรงเรียนมัธยมต้น มี 80,424 กรณี  เพิ่มขึ้น 9,115 กรณี อันดับที่สามคือ โรงเรียนมัธยมปลายมี 14,789 กรณี เพิ่มขึ้น 1,915 กรณี ส่วนในโรงเรียนที่จัดการศึกษาพิเศษสำหรับนักเรียนที่มีปัญหาการเรียนรู้มีจำนวน 2,044 กรณี เพิ่มขึ้น 340 กรณี

การบุลลี่เหล่านี้ มีการแก้ไขปัญหาได้ 85.5% ของจำนวนการกลั่นแกล้งทั้งหมด บางส่วนยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ มีประมาณ 1 ใน 4 ของโรงเรียนที่ถูกสำรวจบอกว่าไม่พบรายงานการแกล้งกันแม้แต่กรณีเดียว

สำหรับลักษณะของการแกล้งกันนั้น การหยอกล้อมีจำนวน 62.3% ของกรณีทั้งหมดที่เกิดขึ้น ส่วนการแกล้งกันทางอินเทอร์เน็ตมี 3%

ในกรณีที่ถูกระบุว่าเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงตามกฎหมายป้องกันการแกล้งกันของญี่ปุ่น มีนักเรียนที่บาดเจ็บสาเหตุ ซึ่งรวมถึงกระดูกหักด้วย 191 กรณี ขณะที่มี 332 กรณีที่นักเรียนถูกพักการเรียน 30 วันหรือมากกว่า กรณีร้ายแรงรวมถึงเรื่องที่นักเรียนหญิงคนหนึ่งที่เสียชีวิตเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว หลังจากที่ตกลงมาจากอาคารของโรงเรียนชั้นมัธยมต้น พ่อแม่ของเธอบอกว่า เธอฆ่าตัวตายและพบภายหลังว่าเธอถูกแกล้ง

ทางกระทรวงศึกษามีความพยายามที่จะกระตุ้นให้ครูตรวจพบเหตุการณ์ย่อยๆ ให้ได้ เพื่อป้องกันไมให้บานปลายไปเป็นเหตุรุนแรงได้

 

ที่มา:

Tags: , ,