ในช่วงเวลาโควิด-19 ล่มเมือง แผนเที่ยวต่างประเทศของหลายคนอาจต้องล่มไป การไปชมพิพิธภัณฑ์ระดับโลกให้เห็นกับตาคงต้องพับไว้ก่อน (เพราะพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เขาก็ปิดให้บริการเช่นกัน) หลายคนที่ต้องติดแหง็กอยู่กับบ้านก็คงอยากหาอะไรเปิดหูเปิดตากันไประหว่างทาง แต่อย่างน้อย ข่าวดีก็คือหลายพิพิธภัณฑ์มีคอลเลคชั่นที่เปิดให้ชมได้ทางออนไลน์ และเหล่านี้คือคอลเลคชั่นน่าสนใจที่เราเลือกมาฝากกัน

On Being Present 

สำรวจภาพคนดำที่ปรากฏอยู่ในศิลปะมาสเตอร์พีซ

สถานที่: Uffizi Gallery
ฟลอเรนซ์ / อิตาลี

หลายภาพที่มองเผินๆ เราอาจไม่เห็นคนผิวดำอยู่ในนั้น แต่หากมองดีๆ พวกเขามีตัวตนในภาพวาดไปพร้อมๆ กับคนขาวที่ค่อนข้างจะเป็นตัวละครหลักอยู่ตลอดมา

On Being Present เป็นโปรเจกต์กึ่งงานวิจัยที่นำเสนอบนเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ยุฟฟิซีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ซึ่งได้รวบรวมภาพวาดชื่อดังระดับโลกจากศตวรรษที่ 15-18 ที่มีตัวละครคนดำอยู่ในนั้น (ซึ่งเราสามารถคลิกซูมดูได้ละเอียดถึงขนตา) รวมถึงภาพที่คนดำเป็นตัวละครหลักของภาพ เพื่อสำรวจบริบททางประวัติศาสตร์ ผ่านการปรากฏตัวของคนผิวดำบนภาพวาดของแกลเลอรี ซึ่งเราจะได้เห็นกันว่าพวกเขาปรากฏตัวแบบไหน ในฐานะอะไรบ้าง 

ที่สำคัญคอลเลคชั่นนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อเยียวยากรณีที่คนดำถูกกันออกจากเสียงเล่าของพิพิธภัณฑ์กระแสหลักของอดีตประเทศเจ้าอาณานิคมมาเป็นเวลานาน อันเป็นพันธกิจสำคัญของหลายพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ที่ต้องการเยียวยารอยแผลจากอดีต

เข้าชมได้ที่ : https://www.uffizi.it/mostre-virtuali/on-being-present

.

Claude Monet : The Water Lilies

8 ภาพสำคัญของเจ้าพ่ออิมเพรสชันนิสม์

สถานที่: Musée de l’Orangerie
ปารีส / ฝรั่งเศส

8 ภาพวาดเลื่องชื่อของโกลด โมเนต์ เจ้าพ่อแห่งศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ ที่วาดขึ้นจากสระบัวในสวนของเขาเอง ซึ่งมีสีสันต่างกันออกไปตามช่วงเวลาต่างๆ ของวันและสภาพอากาศตั้งแต่เช้าตรู่ยันตะวันตกดิน

แม้ว่าภาพวาดของจริงที่ปารีสจะกินพื้นที่กว้างขนาดหนึ่งฝาผนังต่อ 1 ภาพ ชวนให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนได้ไปยืนอยู่ในสวนของเขาจริงๆ แต่การชมออนไลน์ผ่านกูเกิลอาร์ตส์แอนด์คัลเจอร์นับว่าไม่เสียอรรถรส เพราะอิทธิฤทธิ์แห่งการซูมที่ทำให้เราสามารถเข้าไปมองรายละเอียดของภาพได้ใกล้เหมือนใช้ตาเนื้อมอง

เข้าชมได้ที่ : https://artsandculture.google.com/search/asset/?p=musee-de-lorangerie&em=m01xnj&categoryid=artist

.

Japonism

เมื่อแวนโก๊ะห์และศิลปินอีกหลายท่านวาดญี่ปุ่น

รวมผลงานจากหลายพิพิธภัณฑ์
สถานที่: Google Art and Culture

แจโปนิสม์เป็นความเคลื่อนไหวทางศิลปะในช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อโลกตะวันตกสนใจดินแดนตะวันออกไกลอย่างประเทศญี่ปุ่นอย่างยิ่งยวด ศิลปินหลายคนหยิบรายละเอียดแบบญี่ปุ่นๆ มาใช้ในงานตัวเองได้อย่างน่าสนใจและสวยงามแปลกตา

เช่น ศิลปินคนดัง วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ ที่ชื่นชอบศิลปะภาพพิมพ์ของญี่ปุ่นจนงานในช่วงหนึ่งของเขาเต็มไปด้วยความเป็นญี่ปุ่น ทั้งภาพต้นบ๊วย Flowering Plum Tree ที่แวนโก๊ะห์วาดขึ้นจากภาพพิมพ์ของฮิโรชิเกะ หรือภาพผู้หญิงสวมกิโมโน และอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งคอลเลคชั่นนี้ของกูเกิลอาร์ตแอนด์คัลเจอร์จะพาไปรู้จักความเคลื่อนไหวทางศิลปะแจโปนิสซึมให้มากขึ้น พร้อมกับตัวอย่างผลงานของศิลปินหลายท่านรวมทั้งหมด 47 ชิ้นด้วยกัน

เข้าชมได้ที่ : https://artsandculture.google.com/entity/japonism/m05xkth?hl=en&categoryid=art-movement 

.

Fashioning a Nation 

แฟชั่นสุภาพสตรีอเมริกันในยุคอาณานิคม

สถานที่ National Gallery of Art
วอชิงตัน ดีซี / สหรัฐอเมริกา

The Index of American Design เป็นคอลเลคชั่นภาพวาดสีน้ำกว่า 18,000 ภาพ ที่บันทึกงานออกแบบในอเมริกาตลอดทั้งศตวรรษที่ 19 ซึ่งนิทรรศการออนไลน์นี้ จะหยิบภาพวาดจากคอลเลคชั่นดังกล่าวมาเฉพาะส่วนที่เป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เพื่อสำหรับว่าแฟชั่นผู้หญิงในยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมดูเป็นอย่างไรบ้าง 

เข้าชมได้ที่ : https://artsandculture.google.com/exhibit/fashioning-a-nation/ggJCDunxd5wXLw?hl=en

.

Heaven, Hell, and Dying Well

ความตายในภาพวาดยุคกลาง

สถานที่: The J.Paul Getty Museum
ลอสแอนเจลิส / สหรัฐอเมริกา

อีกหนึ่งนิทรรศการออนไลน์จากพิพิธภัณฑ์ชื่อดังในลอสแอนเจลิส ที่รวบรวมภาพวาดจากยุคกลางที่เสนอภาพความตาย นรก สวรรค์ เทพเจ้า ปีศาจ มนุษย์ ที่ทั้งแฟนตาชี ชวนขนลุก แต่ขณะเดียวกันก็ชวนให้รู้สึกว่าความตายอยู่ใกล้ชิดเราและเป็นเรื่องธรรมดาของโลก รวมถึงมนุษย์เองก็ดูเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าขนลุกเช่นกัน 

เข้าชมได้ที่ : https://artsandculture.google.com/exhibit/heaven-hell-and-dying-well/fQKyx2AyMyQUIw?hl=en 

.

Online Collection

วัตถุทางประวัติศาสตร์กว่า 2,335,338 ชิ้นให้เลือกชม

สถานที่: The British Museum
ลอนดอน / อังกฤษ

เดอะบริติชมิวเซียม นำวัตถุจัดแสดงที่มีในครอบครองมาทำฐานข้อมูลออนไลน์ ปัจจุบันมีภาพและคำอธิบายของวัตถุเหล่านี้ในระบบกว่าสองล้านชิ้น เพียงแต่จะไม่ได้มีการแยกประเภทหรือหยิบมานำเสนอเป็นเรื่องราวขนาดนั้น ต้องใช้การเสิร์ชเพื่อเข้าไปสำรวจ 

เช่นเมื่อลองพิมพ์คำว่า Thai ลงไปในช่องค้นหา ก็จะพบวัตถุ 575 ชิ้น ทั้งงานเซรามิกอักษรจีนที่ขุดพบในประเทศไทย หรือยันต์นางกวักจากภาคเหนือ เหรียญครบรอบ 20 ปีธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ ซึ่งก็ทำให้สนุกไปอีกแบบกับการใช้คีย์เวิร์ดที่เราสนใจ ว่าจะได้เห็นวัตถุที่มาหน้าตาหรือเรื่องราวอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ยังมีระบบ advance search ที่ระบุได้ว่าอยากหาวัตถุประเภทไหน ทำขึ้นโดยชนชาติใด ทำในยุคไหน ใช้เทคนิคอะไร พบในสถานที่ไหน ฯลฯ หากใครจริงจัง น่าจะใช้เวลาไปกับที่นี่ได้เป็นวันทีเดียว

เข้าชมได้ที่ : https://research.britishmuseum.org/research/collection_online/search.aspx

.

Outbreak

สถานการณ์โรคระบาดในประวัติศาสตร์โลก

สถานที่ : Smithsonian National Museum of Natural History
วอชิงตัน ดีซี, นิวยอร์ก ฯลฯ / สหรัฐอเมริกา

พิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติระดับโลกอย่างสมิธโซเนียนประกาศปิดให้บริการในทุกสาขาตั้งแต่ 14 มีนาคม 2020 เป็นต้นไป แต่ขณะเดียวกันก็เปิดให้ชมพิพิธภัณฑ์ทางออนไลน์กันแบบไม่อั้น ผ่านระบบสตรีทวิว ที่เหมือนให้เราได้เดินเข้าไปดูในพิพิธภัณฑ์จริงๆ ตั้งแต่โลกใต้น้ำ โลกของแมลง ป่าเขาลำเนาไพร โลกยุคโบราณ ไปจนถึงนอกโลก

และนิทรรศการ Outbreak เป็นอีกหนึ่งโซนน่าสนใจ จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับโรคระบาดครั้งสำคัญต่างๆ ของโลก โดยเสนอให้เห็นทั้งสภาวะการณ์ในแต่ละพื้นที่และภาพรวมของทั้งโลก เนื้อหาทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ และต้องใช้ความชำนาญในการควบคุมหน้าจอสักเล็กน้อยเพื่อเข้าไปอ่านเนื้อหาในแต่ละฝาผนังได้อย่างเข้าอกเข้าใจ แต่แม้จะยากเล็กน้อย เชื่อว่าเนื้อหาเหล่านี้ควรค่าแก่การอ่านในช่วงเวลาแบบนี้จริงๆ

เข้าชมได้ที่ : https://naturalhistory.si.edu/visit/virtual-tour/current-exhibits

Tags: ,