หากคุณเป็นคนที่ชื่นชอบการฟังเพลงและดูคอนเสิร์ตเป็นชีวิตจิตใจ คุณอาจต้องเคยใช้บริการหรือเข้าร่วมงานที่จัดขึ้นโดยฟังใจ (Fungjai) สักครั้งหนึ่ง
‘สตรีมมิงแอปฯ แมกกาซีน คอนเสิร์ต และเฟสติวัล’ เหล่านี้คือรูปแบบผลงานที่ฟังใจเคยทำและยังคงทำอยู่ โดยเหตุผลที่ฟังใจมุ่งมั่น ‘รันวงการดนตรีไทย’ ขนาดนี้ เป็นเพราะ ศรัณย์ ภิญญรัตน์ ผู้ก่อตั้งฟังใจ หวังทำลายเส้นแบ่งระหว่างดนตรีในกระแสกับนอกกระแส เพื่อทำให้วงดนตรีและภาคส่วนอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเติบโตในระดับนานาชาติ
น่าสนใจไม่น้อยว่า ฟังใจใช้วิธีแบบไหนผลักดันให้ดนตรีไทยก้าวไปข้างหน้า ทำไมต้องทำหลายอย่างขนาดนี้ รวมถึงในภาคธุรกิจเขาทำอย่างไรให้อยู่รอด ในช่วงเวลาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
ถ้าพูดจุดเริ่มต้นของฟังใจ ศรัณย์เล่าว่า ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2014
“ตอนนั้นเราเพิ่งกลับมาจากทำงานต่างประเทศ ได้ทำบริษัทสตาร์ทอัพเล็กๆ ในซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) ดังนั้นเราในตอนนั้นคือ คนที่อยู่นอกวงการดนตรีไทยอย่างชัดเจน
“เป็นคนนอกกระทั่งตัวเองที่มาจากนอกประเทศไทย (หัวเราะ) เรื่องดนตรีไม่ต้องพูดถึง ไม่ได้ติดตามเลยตั้งแต่มาเรียนต่อ จริงอยู่ว่าสมัยก่อนเราก็เป็นคนซื้อซีดีของศิลปิน ได้ไปคอนเสิร์ตอยู่บ้าง แต่พอมันหายไปช่วงหนึ่ง เลยไม่รู้เลยว่าในวันนั้น วงการเพลงไทยเป็นอย่างไร ศิลปินคนไหนได้รับความนิยม
“ในวันแรกของฟังใจ เราเป็นแค่คนชอบฟังเพลง เรากล้าพูดแบบนั้น แล้วตอนนั้นมีความคิดอยากจะทำสตรีมมิงของวงการดนตรีไทยมาสักพักแล้ว แต่หลายคนบอกว่า วงการดนตรีกำลังแย่ วงการดนตรีกำลังจะตาย ก็ตัดสินใจอยู่สักพัก
“แต่เรากลับเป็นคนที่รู้สึกคันไม้คันมือ เลยตัดสินใจลองทำฟังใจขึ้นมา”
เมื่อถามว่า ทำไมแทงสวนกับกระแสเช่นนั้น ศรัณย์เล่ากับ The Momentum ตามตรงว่า “เพราะไม่อยากกลับไปทำอาชีพเดิมอีกแล้ว
“พื้นเพเราเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ที่ในตอนนั้นรู้สึกอิ่มตัวมากๆ รวมถึงเราอยากมีผลงาน มีมรดกอะไรบางอย่างเป็นของตัวเอง เลยอยากมีสตาร์ทอัพของตัวเองขึ้นมา ซึ่งสตรีมมิงเป็นสิ่งที่เราสนใจ ในวันนั้นแทบไม่มีใครรู้จักคำนี้เลย คนยังฟังเพลงผ่านแพลตฟอร์มยูทูบ เราเลยคิดว่า มันคงจะดีถ้ามีที่ทางให้คนได้เลือกฟังเพลงแบบที่เราชอบ เหมือนกับตอนที่เราอยู่ต่างประเทศก็ได้ใช้บริการของ Spotify
“ดังนั้นด้วยความคันมือ ความรักในดนตรี และความคิดอยากมีสตาร์ทอัพ อะไรหลายอย่างรวมกัน ก็เลยตัดสินใจทุบหม้อข้าว ลองเริ่มทำสิ่งที่เรียกว่าฟังใจดู
“หลังจากปล่อยฟังใจออกมา สิ่งที่ต้องทำหลังจากนั้นคือต้องมีแคตตาล็อกเพลง ต้องมีเพลงในแอปพลิเคชันของเราให้ผู้ใช้งานฟัง ช่วงแรกๆ ก็จะวุ่นกับการแนะนำตัวเองให้ทั้งผู้ฟังและนักดนตรีรู้จัก ซึ่งเดือนแรกที่เปิดตัวก็มีคนใช้งานประมาณ 5,000 คนแล้ว ซึ่งสำหรับเราถือว่าไม่แย่เลย สำหรับคนนอกวงการดนตรีและเริ่มทำสตรีมมิงเป็นเจ้าแรกๆ ในไทย”
ส่วนเหตุผลที่ทำให้คนหันมาฟังเพลงกับฟังใจแทนยูทูบ ศรัณย์ให้ความเห็นว่า
“ยูทูบเป็นเหมือนมหาสมุทร มันกว้างใหญ่ไพศาล การที่ศิลปินนอกกระแสคนหนึ่งจะปล่อยเพลงลงไป มันคือการหย่อนเข็มลงไปในมหาสมุทร แต่ฟังใจคือขันน้ำเล็กๆ หย่อนเข็มลงไปมันเห็นได้ทันที
“ดังนั้นจุดแข็งของเราในตอนนั้นคือ การเป็นโอกาสสำหรับดนตรีนอกกระแส ถ้ามองในฐานะคนฟังเพลง สมมติวันนี้คุณอยากจะรู้จัก อยากลองสำรวจดนตรีนอกกระแสในไทย คุณไปเสิร์ชหาในยูทูบ อาจจะใช้เวลาสักพักหนึ่งเลยกว่าจะเจอสักเพลง แต่คุณจะเจอในฟังใจได้ง่ายกว่า เพราะมันเป็นสิ่งที่เราตั้งใจนำเสนอให้กับคุณอยู่แล้ว”
จำได้ไหมมีวงไหนที่เริ่ม ‘นับหนึ่ง’ กับฟังใจบ้าง?
“ผมว่าเราไม่ควรตัดสินว่าเป็นเพราะฟังใจ ที่ทำให้ศิลปินนั้นๆ เป็นที่รู้จัก ผมไม่ได้อยากเคลมว่าเป็นส่วนที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ การที่วงดนตรีจะประสบความสำเร็จได้ มันมีหลายปัจจัยมาก ตัวเขาเองก็ต้องเก่ง เพลงก็ต้องดี เขาก็มีความขยัน ฟังใจเป็นแค่จิ๊กซอว์เล็กๆ หนึ่ง เป็นบันไดขึ้นหนึ่งแค่นั้นเอง
“แต่ถ้าจะให้พูดถึงที่อาจจะโตมากับฟังใจคือ วง TELEx TELEXs ที่ตอนปล่อยซิงเกิลแรกๆ ยังเป็นศิลปินอิสระ ซึ่งในเวลาต่อมาเพลงของพวกเขาก็ทำงานบนฟังใจ เริ่มติดชาร์ต เริ่มเป็นที่รู้จัก ผู้ฟังก็แชร์ผลงานออกไปเยอะ เล่นคอนเสิร์ตครั้งแรกก็กับฟังใจ หลังจากนั้นเขาก็เติบโต ประสบความสำเร็จ มีคอนเสิร์ตของตัวเองได้
“หรือในบางช่วงเราทำเป็น Exclusive Releases ปล่อยบางเพลงในฟังใจก่อนเป็นที่แรก ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งในตอนนั้นก็มี POLYCAT ที่ปล่อย EP หรือบางซิงเกิลกับเราในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อน ก็เกิดเป็นกระแสขึ้นมา”
หากมองกลับไปวันนั้น การจะเริ่มนับหนึ่งกับธุรกิจอะไรสักอย่างต้องเตรียมตัวอย่างไร ศรัณย์สรุปว่า การเข้าใจผู้บริโภคและมีตัวตนที่ชัดเจนจะทำให้เราหากลุ่มตลาดของตัวเองเจอ
“เอาเข้าจริงภาพแรกของฟังใจที่เราคิดไว้ กับสิ่งที่มันเป็นค่อนข้างต่างกันนะ วันแรกที่เราเข้ามาตรงนี้ คือตลาดมันเป็นทุ่งโล่งประมาณหนึ่งเลย แต่พอทำมาได้สักพักไม่กี่ปี สตรีมมิงอย่าง Apple Music มา Joox มา Spotify มา คือเป็นผู้เล่นระดับ Global มาบุกตลาดไทยหมดเลย
“ดังนั้นถ้าฟังใจไม่เข้าใจว่าตัวเองกำลังทำอะไร กำลังคุยหรือแก้ปัญหาให้คนกลุ่มไหนอยู่ แล้วใช้วิธีหว่านล้อมทั้งหมด สุดท้ายเราจะสู้เจ้าใหญ่ที่เขามีความพร้อมมากกว่าไม่ได้”
15
หลังจากนั้น 1 ปีต่อมา ปี 2015 ฟังใจจัดคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรกในชื่อ ‘เห็ดสด’
“เพราะอยากโปรโมตฟังใจ เห็ดสดเลยเกิดขึ้นมา วันแรกผมวางแผนไว้แบบนั้น
“จำได้ว่าช่วงนั้นก็ประชุมกับทีม คุยกันว่าจะทำอย่างไรให้คนรู้จักเรา มีคนมาใช้งานมากขึ้น ก็เลยเสนอกันว่า ทำคอนเสิร์ตไหม เพราะฟังใจเป็นแอปพลิเคชันที่อยู่ในโลกออนไลน์ มันไม่ได้เจอ ไม่ได้เห็นหน้ากัน ดังนั้นเราทำอะไรที่มัน On Ground ดีกว่า เลยเกิดเป็นคอนเสิร์ตขึ้นมา
“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือกลายเป็นว่า คนกลับรู้จักเห็ดสดมากกว่าฟังใจ แล้วกลายเป็นว่าหลายคนก็ไม่รู้ว่า 2 สิ่งนี้มาจากบริษัทเดียวกัน คือเห็ดสดประสบความสำเร็จมาก”
ในเห็ดสดครั้งแรกมีศิลปินอย่าง Death of a Salesman, electric.neon.lamp, Solitude Is Bliss, The Whitest Crow, Desktop Error และ POLYCAT ซึ่งเป็นความตั้งใจของฟังใจที่อยากให้ไลน์อัปมีความแตกต่างและหลากหลาย
“จริงๆ ทุกคอนเสิร์ตของฟังใจมีคอนเซปต์ที่แตกต่างออกไป ที่จะเล่าต่อจากนี้คือแค่เฉพาะของเห็ดสดเท่านั้น
“ปกติแล้ว เรามีวิธีในการเลือกชื่อสำหรับอะไรบางอย่างที่ยังคงคล้องกับชื่อฟังใจ (ที่หมายถึงอาณาจักรของเห็ด) โดยที่ผ่านมาชื่อของเห็ดจะอยู่ในกิจกรรมต่างๆ เช่นในงานสัมมนาสำหรับคนรุ่นใหม่ เราใช้ชื่อว่า เห็ด Young ที่ล้อกับคำว่า เฮ็ดหยัง หรือตอนงานเปิดตัวอีเวนต์หนึ่งก็ใช้ชื่อว่า เห็ดผี ที่ห้ามผวน
“วิธีคิดมันจะผ่านความกวนๆ แสบๆ ของตัวเราอยู่หน่อย เพราะด้วยความที่เป็นแบรนด์ใหม่ พวกเราก็ยังวัยรุ่นกัน ก็เลยมีความห่ามๆ พอสมควร อย่างเห็ดสด จริงๆ ก็เป็นคำศัพท์กะเทยใช้ด่ากัน อีเห็ดสด อะไรแบบนี้
“เรารู้สึกว่าคำนี้มันดี คำนี้มันสนุก คงมาเห็นคงจะรู้สึกอิหยังวะอยู่บ้าง อีกทั้งตัวงานในส่วนอื่นๆ ก็ออกมาให้สนุก ใช้สีสันจัดจ้าน ให้มันเตะตา
“ส่วนเรื่องไลน์อัปคอนเสิร์ต พูดตามตรงคือ เราแทบไม่รู้เลยว่าต้องทำอย่างไร ไลน์อัปต้องเป็นแบบไหน ต้องมีกี่วง ต้องขายบัตรเท่าไร แต่ทุกอย่างค่อยๆ ประกอบร่างขึ้นจากคอนเซปต์ ‘ดนตรีแห่งกาลเวลา’
“เห็ดสดแบ่งไลน์อัปศิลปินออกเป็น 3 ช่วงคือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยวงดนตรีในอดีตหมายถึงวงที่เป็นรุ่นใหญ่ มีความขลัง เป็นตำนาน แฟนๆ ยังเรียกร้องการกลับมา วงปัจจุบันคือวงที่กำลังได้รับความนิยม หรือคาดการณ์ว่ากำลังจะพุ่งทะยานแน่ๆ ส่วนวงในอนาคตคือวงที่เราอยากแนะนำให้รู้จัก เป็นวงที่มีของในตัวเองนะ เพียงแต่คนฟังอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อนหน้า
“อย่างตัวเราก็เป็นแฟนเพลง Death of a Salesman อยู่แล้ว เป็นวงที่เราคิดถึงพอดี ก็เลยไปลองทาบทามดู ก็เลยมีโอกาสมาเล่นในฟังใจครั้งแรก ซึ่งเราคิดว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้งานครั้งนั้นประสบความสำเร็จ จัดงานครั้งแรกบัตรเกือบ Sold Out
“และหลังจากนั้น ฟังใจก็มีคอนเสิร์ตตามมาทั้ง Fungjai Crossplay คอนเสิร์ตที่ร่วมมือระหว่างศิลปินรุ่นพี่กับรุ่นน้องต่างค่าย ต่างแนวเพลง Fungjai MegaHit คอนเสิร์ตที่รวมศิลปินท็อปฮิตของชาร์ตสตรีมมิงฟังใจ รวมถึง Fungjai Lab โปรเจกต์ทดลองกับการทำไลน์อัปที่แตกต่าง เพื่อหารสชาติที่แปลกใหม่ของการฟังดนตรี
“ปรากฏว่า คอนเสิร์ตกับให้เราได้ในแง่มุมอื่นนอกจากการโปรโมตสตรีมมิง คือในเชิงธุรกิจ สร้างให้เกิด Revenue ได้ค่อนข้างรวดเร็วและทันที ก็เลยคุยกันว่า มันคงสมเหตุสมผลถ้าเราจะทำสิ่งนี้ต่อ คืออย่างน้อยมันทำให้ธุรกิจไปต่อได้
“ที่สำคัญคือ มันช่วยขยายคอมมูนิตี้ของฟังใจออกไปสู่โลกออฟไลน์มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้เราได้ทำคอนเสิร์ตที่มีไลน์อัปใหม่ๆ น่าสนใจ และเปิดโอกาสให้วงดนตรีรุ่นใหม่ๆ ได้มีพื้นที่แสดงความสามารถ”
แล้วคอนเสิร์ตของฟังใจกับคอนเสิร์ตของที่อื่นแตกต่างกันอย่างไร เรื่องนี้ศรัณย์อธิบายว่า
“เรามุ่งเน้นการคิดอย่างรอบด้าน ไม่ได้มองคอนเสิร์ตคือไลน์อัปศิลปินในงานนั้น แต่มันคือประสบการณ์ของคนที่เข้ามาในคอนเสิร์ต ได้เห็นเรื่องราว เห็นวิธีเล่า เห็นไอเดียของผู้จัด ผ่านทั้งวิชวล ผ่านองค์ประกอบต่างๆ ในคอนเสิร์ต ที่ตั้งแต่หน้างานทำอย่างไรให้การแลกบัตร การเข้างานไม่ติดขัด ลงทะเบียนให้เร็วที่สุด หรือมีอะไรที่จะให้คนดูไม่เบื่อก่อนคอนเสิร์ตจะเริ่ม
“ในระหว่างเล่นต้องมีเครื่องดื่มเย็น ต้องเสิร์ฟประสบการณ์ให้ครบรส ทั้งแสง สี เสียง กลิ่น รสสัมผัส ซึ่งก็ควรที่จะไปในทิศทางเดียวกัน เหล่านี้มันคือคุณภาพของโปรดักชันที่เราพยายามรักษามาตรฐานเอาไว้ตลอด”
30
นอกจากคอนเสิร์ตแล้วอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของฟังใจ ที่หลายคนรู้จักและน่าจะเคยผ่านตามาบ้างคือฟังใจซีน (Fungjaizine) ที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงเดียวกับที่สื่อออนไลน์กำลังเฟื่องฟู ทั้งในภาคส่วนของข่าวและไลฟ์สไตล์ มีเนื้อหาในลักษณะ Long From ให้คนใช้โซเชียลมีเดียอ่านค่อนข้างเยอะ ทั้งบทความและบทสัมภาษณ์
แต่ความน่าสนใจของเรื่องนี้ ศรัณย์บอกว่า Fungjaizine กลับไม่ใช่ไอเดียของคนในฟังใจ แต่เริ่มจากคนนอกคนหนึ่ง
“ช่วงนั้นมีน้องอยู่คนหนึ่งที่เขาก็ไม่ได้ทำงานกับฟังใจด้วย มาเสนอไอเดียว่า อยากเขียนบล็อกเกี่ยวกับดนตรี ซึ่งตอนนั้นเราก็บอกไปว่า ฟังดูน่าสนใจดี แต่ก็ไม่ได้มีงบสำหรับตรงนี้นะ หากจะทำ ช่วงแรกจะไม่มีค่าตอบแทนให้ แต่อาจเพราะด้วยแพสชันของตัวน้องเขาที่แรงมาก ก็เลยตอบตกลง และถือกำเนิดเนื้อหาในเชิงบทความขึ้นมา ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีชื่อ ไม่มีโลโก้อะไรเลย
“คือเรารู้สึกว่าเรื่องราวของดนตรี ไม่ได้มีแต่เพลง แต่มันรวมถึงตัวตนของศิลปิน เบื้องหลังการทำงาน แนวคิดต่างๆ หรือเวลาไปเจอประสบการณ์ดนตรีใหม่ๆ เราก็อยากถ่ายทอดเรื่องพวกนี้ออกมา
“สุดท้ายบล็อกก็ทำออกมาเรื่อยๆ งานของน้องคนนั้นเขาก็ออกมาดี มีมาตรฐาน เลยจัดการทำให้เป็นกิจจะลักษณะ จ้างเขาในฐานะพนักงานคนหนึ่ง และขึ้นเป็นชื่อฝ่ายว่า Fungjaizine”
ทำไมเราจึงต้องมีสื่อที่พูดถึงดนตรี ในเมื่อมีทั้งสตรีมมิงและคอนเสิร์ตแล้ว?
“ผมว่าทุกวันนี้ยังมีคนอีกจำนวนมาก ที่ไม่ได้เสพแค่ผลลัพธ์อย่างดนตรีอย่างเดียวแล้ว เขาอยากรู้จักสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดเพลงหนึ่งขึ้นมา เช่นถ้าคุณเป็นแฟนเพลง เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) คุณก็คงจะอยากรู้ว่า เพลงที่แต่งมาหมายถึงใคร หรือถ้าเป็นแฟนวงดนตรีเคป็อปก็คงอยากรู้ว่า ไอดอลที่้เราปลื้ม เขาเป็นคนอย่างไร นิสัยใจคอแบบไหน อะไรแบบนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่แฟนเพลงอยากรู้อยู่เสมอ”
60
นอกจากมิวสิกสตรีมมิงและคอนเสิร์ตที่จัดโดยฟังใจแล้ว อีกหนึ่งผลงานเด่นที่ถูกจดจำทั้งจากผู้ฟังในไทยและต่างประเทศคือ มหรสพเฟสติวัล (Maho Rasop) เทศกาลดนตรีซึ่งเป็นการร่วมงานระหว่างฟังใจ, Have You Heard? และ Seen Scene Space ซึ่งเป็นผู้จัดคอนเสิร์ตเช่นกัน
ในปีแรกมหรสพเฟสติวัลจัดขึ้นที่ Live Park พระราม 9 โดยมีศิลปินวงต่างประเทศอย่าง The Vaccines, Miami Horror และ PREP มีวง Elephant Gym และ Lucie too ที่มาจากทวีปเอเชีย รวมถึงวงไทยอย่าง Gym and Swim, temp. และ SOLE ขณะเดียวกันยังสร้างบรรยากาศผ่านการตกแต่ง และกิจกรรมต่างๆ จนทำให้มหรสพเป็นเฟสติวัลที่มีเอกลักษณ์และเสน่ห์เป็นของตัวเอง
“ถ้าถามว่า มหรสพเฟสติวัลสำคัญกับฟังใจขนาดไหน ผมต้องใช้คำว่ามันเปิดโลกใหม่ให้เรากลายเป็นอีกคนเลย
“ปกติฟังใจทำงานกับกลุ่มศิลปิน Local คือในประเทศไทยมาตลอด เรานำเสนอวงดนตรีไทย จัดคอนเสิร์ตให้วงดนตรีไทย นี่คือสิ่งที่เป็นมา แต่สำหรับมหรสพเฟสติวัลเป็นโปรเจกต์ระดับอินเตอร์เนชันแนล ที่ทำให้ฟังใจขยายตัวไปสู่กลุ่มคนฟังและวงดนตรีต่างชาติในอีกหลายประเทศ
“ปี 2018 คือมหรสพเฟสติวัลครั้งแรกของวงเรา แต่จริงๆ เราทำมาตั้งแต่ปี 2017 แล้ว ตอนนั้นฟังใจมีอายุประมาณ 3 ขวบ อยู่ในช่วงกำลังอิ่มตัว เลยอยากหาอะไรใหม่ๆ มาลองทำ ซึ่งในปีนั้น ประเทศไทยมีปรากฏการณ์คือ วงดนตรีต่างประเทศเข้ามาแสดงคอนเสิร์ตค่อนข้างเยอะ ในระดับเดือนละครั้งได้เลย ซึ่งบัตรก็ขายดี แฟนเพลงก็ให้การตอบรับมาตลอด จนมีผู้จัดคอนเสิร์ตหลากหลายเจ้าตามมา
“เราเลยรู้สึกว่า หรือมันถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมีเฟสติวัลขึ้นมาบ้าง เพราะต้องบอกว่า ก่อนหน้านี้ผมก็มีโอกาสไปเฟสติวัลในต่างประเทศค่อนข้างเยอะ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังติดอยู่ในใจตลอดเวลาได้ไปดูหรือคิดถึงเรื่องนี้ คือทำไมประเทศไทยถึงไม่มีเฟสติวัลแบบนี้มาก
“ตอนนั้นสิงคโปร์ก็มี Laneway Festival มาเลเซียก็มี Good Vibes Festival ฟิลิปปินส์ก็มี Wanderland Music and Arts Festival อินโดนีเซียก็มี Soundrenaline มี Joyland Festival หรือฮ่องกงก็มีเฟสติวัลที่คนไทยรู้จักอย่าง Clockenflap แล้วประเทศไทยล่ะ มีเฟสติวัลไหนบ้าง
“อาจเพราะด้วยความคัน และคราวนี้ปนอิจฉาด้วย คืออยากมีบ้าง (หัวเราะ) ก็เลยตัดสินใจว่าจะลองทำดู ทั้งที่ตอนแรกคือทำอะไรไม่เป็นเลย ไม่เคยติดต่อวงต่างประเทศ ไม่เคยทำเฟสติวัลขนาดใหญ่ โชคดีที่ได้คุยกับพี่กิ (กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร) พี่แป๋ง (พิมพ์พร เมธชนัน) ที่ทำ Have You Heard? เป็นผู้จัดคอนเสิร์ตเหมือนกัน แล้วก็มีพี่ปูม (ปิยสุ โกมารทัต) ที่ทำ Seen Scene Space อยู่ ซึ่งเราสังเกตแล้วว่า มีสไตล์และรสนิยมในการคัดเลือกศิลปินมาเล่นในคอนเสิร์ตคล้ายๆ กัน เราเลยไปชวนเขา จนเกิดเป็นมหรสพเฟสติวัลขึ้นมา
“ซึ่งบอกเลยว่าโคตรยาก ปีแรกยากสุดๆ เพราะเราคือเฟสติวัลโนเนมเลย คนที่จัดคิว เอเยนต์ของวงดนตรีก็งงว่า เราเป็นใครวะ มีงานอะไรบ้าง เคยทำเฟสติวัลไหม ซึ่งข้อหลังเจ็บปวดมากที่ต้องตอบไปว่า กำลังจะทำครั้งแรกครับ คือเราไม่มีภาพอะไรให้เขาดู แต่ก็ได้อาศัยงานต่างๆ ของทางฝั่ง Have You Heard? และ Seen Scene Space ที่เคยทำงานเดี่ยวกับศิลปินต่างประเทศมาบ้าง เขาเลยพอรู้ว่า คนพวกนี้ทำคอนเสิร์ตเป็นนะ ไม่ใช่ไม่รู้อะไรเลย
“สื่อสารกับคนดูก็ยากอีก จะบอกเขาให้เข้าใจว่าเราทำอะไรอยู่ก็ยาก ราคาบัตรหลักสองพัน เขาจะได้อะไร ซึ่งคำว่าเฟสติวัลในตอนนั้นของไทยคงจะเป็น Cat Expo กับ Big Mountain Music Festival ซึ่งเราก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย เปิดไลน์อัปศิลปินมา บางคนยังรู้จักไม่ถึงครึ่ง มันเลยยากมากๆ ในการทำให้คนเชื่อในมหรสพเฟสติวัล”
แล้วตัวคุณเชื่ออะไรในมหรสพเฟสติวัลจึงยังมุ่งมั่นที่จะทำมันออกมา?
“คือถ้าจะทำแล้วเอาแบบขายได้เลย ไลน์อัปของมหรสพคงจะไม่เป็นแบบนี้ และมันจะไม่ใช่ตัวตนที่เราอยากทำด้วย เพราะเราอยากนำเสนออะไรที่มันเจ๋งจริงๆ เพียงแต่คุณยังไม่เคยรู้จัก ขอแค่คุณมาดูเฟสติวัลเรา แล้วจะสนุกแน่นอน
“ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ปีแรกวงเฮดไลน์คือ The Vaccines และ Slowdive ที่มีคนรู้จักประมาณหนึ่ง แต่วงดนตรีที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในงานกับคือ Oddisee ที่เป็นไลน์อัปรองของเรา มีชื่อเล็กๆ อยู่ในโปสเตอร์
“เวลาสัมภาษณ์เรื่องนี้ ผมจะบอกว่า มหรสพเฟสติวัลเหมือนคุณไปกินบุฟเฟต์ ที่มีทั้งอาหารแม็กซิกัน อาหารอินเดีย หรืออาหารบางสัญชาติ ที่คุณยังไม่เคยรู้จัก หรือไม่เคยกินมัน แต่ถ้าวันนั้นคุณได้ลองกินมันเป็นครั้งแรก แล้วรู้สึกถูกใจมากๆ ละก็ ผมว่านั้นจะเป็นประสบการณ์ที่คุณจะลืมไม่ลงเลย นี่คือสิ่งที่มหรสพเฟสติวัลอยากนำเสนอให้คุณ”
สำหรับการมีอยู่ของมหรสพเฟสติวัลสำคัญขนาดไหนสำหรับฟังใจ ศรัณย์เล่าว่า
“อันดับแรก มหรสพเฟสติวัลพาให้ฟังใจออกไปมีตัวตนบนเวทีระดับโลก ถูกเชิญไปในแวดวงดนตรีในสถานที่ต่างๆ ที่ไม่เคยได้สัมผัส ทำให้เราได้เห็นว่า วัฒนธรรมการทำงานของอุตสาหกรรมดนตรีในต่างประเทศเขาเป็นอย่างไร มีอะไรที่เราสามารถนำมาปรับใช้ได้บ้าง
“สำคัญที่สุดคือ เป็นบันไดที่ทำให้ศิลปินฝั่งไทยมีโอกาสได้ต่อยอดไปร่วมงานกับเวทีอื่นๆ ในต่างประเทศ และกลายเป็นวงดนตรีระดับนานาชาติได้”
Still 60
หลังจากนั้นไม่นาน ทั่วโลกต่างเผชิญการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นำไปสู่พฤติกรรมของผู้คนที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนอย่างการกักตัวอยู่ในบ้าน เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมกลางแจ้งและสาธารณะ ซึ่งรวมไปถึงคอนเสิร์ต ถูกห้ามและต้องงดเป็นระยะเวลา 1 ปีกว่าตามมาตรการของภาครัฐ ทำให้ฟังใจที่ในวันนั้นคือผู้จัดคอนเสิร์ตหน้าใหม่ไฟแรง ได้รับผลกระทบโดยตรง
“สำหรับบางธุรกิจอยู่กับที่ แต่สำหรับเราคือถอยหลังเลยนะ เพราะปี 2019 ฟังใจถือว่าอยู่ในช่วงขาขึ้นสุดๆ มหรสพเฟสติวัล ปี 2019 สำหรับเราคือมันสุดขีดมากๆ คนรู้จักแบรนด์ รู้จักว่าเราคือใคร ทำอะไร หลายงานของฟังใจก็จัดขึ้นและประสบความสำเร็จตามมาอีกมาก
“คือเหมือนคนที่วอร์มเสร็จแล้ว เตรียมจะออกวิ่ง แต่อยู่ๆ มีคนเอาไม้มาขัดขา
“เราถอยหลังเลย” ศรัณย์เล่า “ตอนนั้นฝั่งอีเวนต์หรือคอนเสิร์ตคือ พับของเก็บเข้ากล่อง ทำอะไรไม่ได้ มันกระทบธุรกิจมาก แต่เราก็พยายามหาทางปรับตัวนะ ได้ลองทำคอร์สเรียนดนตรีออนไลน์ ระหว่างที่พวกเราต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน สตรีมมิงฟังใจก็มีฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้คนมาเปิดเพลงเป็นห้องดีเจของตัวเอง เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ใหม่ๆ แบรนด์เสื้อผ้าเรายังมีเลย ชื่อ WHAT I WEAR
“ก็เป็นจุดที่วัดใจประมาณหนึ่งเลยว่า ในตอนนั้นจะรับมือและปรับตัวอย่างไร เป็นหมุดหมายสำคัญหนึ่งของฟังใจที่ทำให้เราปรับตัวและพร้อมรับมือกับเรื่องต่างๆ มากขึ้น
65
“คิดว่าวันนี้เราน่าจะพร้อมเดินหน้าต่ออีกครั้ง ซึ่งผมเชื่อว่าปี 2024 นี้ ต้องดีกว่าเก่า
“อย่างแรกเลย อะไรที่ถูกแช่แข็ง เราเอากลับมาหมด มหรสพเฟสติวัลหรือคอนเสิร์ตของฟังใจต่างๆ จะเอามาทำใหม่ รวมถึงงานอย่างฟังใจจัดที่ทำขึ้นมาใหม่ด้วย”
ฟังใจวันนี้ต่างกับฟังใจเมื่อ 10 ปีก่อนหน้าอย่างไรบ้าง?
“ถ้าในตัวของเรา วันนี้ไม่สามารถพูดได้แล้วว่า ตัวเองเป็นคนนอก เพราะเรามีโอกาสได้พบปะพี่น้องในวงการมากมาย คนที่เราเคยดูเขาเล่นคอนเสิร์ต วันนี้ก็มีโอกาสได้ร่วมงาน ได้ให้เขามาเล่นบนเวทีของเรา ฟังใจก็ทำให้ตัวเราเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก
“10 ปีเท่ากับ 25% ของอายุเราเลยนะ ดังนั้นมันก็ได้ออกแบบตัวตนของเราในวันนี้ ว่าเป็นใคร มีภาพลักษณ์แบบไหน และมองวงการดนตรีไทยอย่างไรบ้าง
“ส่วนวงการดนตรีไทยที่เราทำงานด้วยกันมาตลอด วันนี้มันแตกต่างระดับคนละเรื่องเลย คือจากวันที่เป็นเหมือนขาลง ทุกอย่างมืดหม่น วันนี้ฟ้าเปิดมาก แดดจ้าที่สุดเท่าที่เคยเห็น
“เราอยู่ในยุคสมัยที่ดนตรีไทยดูท่าจะสนุกมากๆ เส้นแบ่งของดนตรีนอกกระแส ดนตรีในกระแส อะไรแบบนั้นไม่มีแล้ว วันนี้อะไรคือดนตรีนอกกระแส คุณนิยามไม่ได้หรอก เพราะวันนี้ ศิลปินที่ไม่มีค่าย แต่เขามีแฟนคลับ เขาประสบความสำเร็จ จนถึงขนาดมีคอนเสิร์ตที่ธันเดอร์โดม เมืองทองธานีได้แล้ว เขาเป็นวงดนตรีนอกกระแสไหม แบบนี้เราก็ตอบได้ไม่เต็มปาก
“นี่คือช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุด ของวงการดนตรีไทย ผมเชื่อแบบนั้น
“สำหรับฟังใจหลังจากนี้ ก็ยังคงสนับสนุนศิลปินอิสระอยู่เหมือนเดิม เรายังเชื่อในสิ่งที่เรายึดมั่นคือ ประชาธิปไตยทางดนตรี ที่ในวันนี้ก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จแล้ว ทุกคนมีอิสระในการฟังเพลง วงดนตรีถูกค้นพบได้ง่ายมากขึ้น ผมว่าเรากำลังมาถูกทาง”
Tags: เห็ดสด, ฟังใจซีน, 10 ปี ฟังใจ, ฟังใจจัด 10 ปี, Fungjai, ฟังใจ, From 1-100, From One to Hundred, ศรัณย์ ภิญญรัตน์, ฟังใจจัด