“สนุกมั้ยครับเต้นไปสองเพลงรวด” ผมยิ้ม “แทบตายเลยค่ะ” เธอหัวเราะ “เรารู้สึกว่างานวันนี้สนุกและมีพลังมาก เห็นมั้ยคะมีเด็กตัวเล็กๆ มาเต้นกับแม่ด้วย” 

มัจฉา พรอินทร์ คือหนึ่งในโต้โผหลักของงาน One Billion Rising ที่เพิ่งจัดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นกิจกรรมที่ชวนให้ผู้หญิงออกมาเต้นรำเพื่อตระหนักถึงอธิปไตยในร่างกายตนเอง แน่นอนว่างานนี้ไม่ได้มีแค่การเต้นรำแล้วจบ แต่ยังมีเบื้องหลังในการทำความเข้าใจถึงสิทธิสตรีที่มากกว่านั้น ซึ่งมัจฉาจะอธิบายให้ฟังต่อจากนี้

ตอนที่ผมเจอมัจฉาครั้งแรก เธอรับหน้าที่เป็นวิทยากรเสวนาหลังจบการฉายหนังสารคดี Heartbound รักเอย ของสองผู้กำกับ ซิน่า พลามเป็ค และเยนูส เม็ตซ์ และยังจำได้ทุกท่าทีดุดันที่เธอกระเทาะประเด็นเพื่อย้ำให้เห็นว่า หนังเกี่ยวกับการแต่งงานข้ามแดนของผู้หญิงอีสานเรื่องนี้ไม่มีจุดใดเลยที่โรแมนติก แต่เต็มไปด้วยเนื้อหาสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางเพศอย่างเผ็ดร้อน ในการนัดพบกันครั้งที่สอง ผมจึงอดถามเธอออกไปตรงๆ ไม่ได้

“เราถูกถามบ่อยนะว่าทำไมต้องโกรธ ต้องใช้อารมณ์ตลอดเวลา เพราะเรากำลังพูดเรื่องความเป็นความตายของคนนะ ใครจะมีอารมณ์มานั่งยิ้มหวาน หรือถ้าพูดเรื่องตัวเองถูกคุกคาม ทำไมเราจะโกรธ จะร้องไห้ หรือตั้งคำถามไม่ได้” เธอกล่าวระหว่างพูดคุยกันที่ร้านกาแฟริมถนนคันคลองชลประทาน หลังบินตรงจากซิดนีย์มายังเชียงใหม่ได้ไม่ถึงสามชั่วโมงดี

ในงาน Sydney Gay and Lesbian Mardi Gras ปีล่าสุด มัจฉาเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศที่ได้รับเชิญให้ไปแชร์มุมมองและประสบการณ์บนเวทีเสวนา การแต่งงานเท่าเทียมของคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งยังคงมีการถกเถียงในประเทศออสเตรเลียแม้จะผ่านกฎหมายสำเร็จไปตั้งแต่ปี 2017 ทั้งจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทาง รวมถึงกลุ่มนักเคลื่อนไหวผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่มองว่ากฎหมายดังกล่าวขาดหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและแบ่งแยกเพศแบบสองขั้วแบบทวิลักษณ์ ชาย-หญิง (Binary) เช่นเดียวกับ พรบ.คู่ชีวิต ของไทยที่เนื้อในเต็มไปด้วยการเลือกปฏิบัติ 

“ไม่ว่าจะกฎหมายฉบับไหน ผู้หญิงก็ล้วนถูกละเมิดไม่ต่างกัน” เธอรวบเข้าหลักใหญ่ใจความ

 “กฎหมายแต่งงานแทบทุกประเทศไม่เคยเป็นธรรมกับผู้หญิง เช่น ถ้าผู้หญิงอยู่ในความรุนแรงแล้วต้องการหย่า ผู้หญิงจะจดทะเบียนหย่าไม่ได้เลยถ้าไม่มีหลักฐานว่าถูกผู้ชายใช้ความรุนแรง หรือบางคนถูกทรมานหลายสิบปี อยากออกจากความรุนแรง แต่พอไปขอหย่าผู้ชายไม่ยอมก็ต้องไปฟ้องศาลเป็นเรื่องเป็นราว ฉะนั้นผู้หญิงจึงอยู่ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากันกับผู้ชาย และเรื่องความรุนแรงก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเรา 

มีผลการศึกษาของ UN Women ยืนยันว่า ผู้หญิง 1 ใน 3 จากจำนวนประชากรผู้หญิงทั่วโลกราวสามพันล้านคน เคยมีประสบการณ์ถูกใช้ความรุนแรงหรือถูกข่มขืน คำถามก็คือ ทำไมคนหนึ่งพันล้านคนถูกใช้ความรุนแรง แต่ไม่เห็นรัฐหรือปัจเจกลงมือทำอะไรอย่างจริงจัง งั้นลองคิดกลับกันได้มั้ย ถ้าคนที่ใช้ความรุนแรงหรือคนมีอำนาจเพิกเฉย ผู้หญิงหนึ่งพันล้านคนต้องลุกขึ้นมาบอกพวกเขาสิว่ามันเกิดอะไรขึ้น ออกมาบนท้องถนนแล้วบอกว่าพวกเราต้องการอะไร”

แนวคิดตั้งต้นของ ‘หนึ่งพันล้านคน’ นี้ มาจาก อีฟ เอนสเลอร์ เฟมินิสต์ ศิลปิน และนักเขียน ผู้จุดประกายเรื่องสิทธิสตรีผ่านวรรณกรรมชิ้นเอก The Vagina Monologues (นั่งคุยกับจิ๋ม) และริเริ่มแคมเปญรณรงค์ One Billion Rising ขึ้นมาครั้งแรกเมื่อปี 2012 เพื่อยุติความรุนแรงต่อเพศหญิง โดยชักชวนผู้หญิงทั่วโลกลุกขึ้นมาทำลายโซ่ตรวนจากระบบชายเป็นใหญ่ที่พันธนาการพวกเธอไว้ ด้วยการเต้นรำเฉลิมฉลองผ่านบทเพลง Break the Chain เพื่อแสดงพลังหญิงอันเป็นหนึ่งเดียวกัน รวมทั้งสร้างสรรค์พื้นที่ปลอดภัยให้ผู้หญิงได้มีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวที่ถูกกดทับ พร้อมส่งเสียงให้สังคมตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมที่ผู้หญิงต้องแบกรับ

สำหรับแคมเปญ One Billion Rising ในไทย มัจฉาเล่าว่ามีหลายกลุ่มเครือข่ายที่พยายามผลักดัน หนึ่งในนั้นคือ ‘องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน’ ที่เธอเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น ซึ่งเป็นแม่งานหลักในการจัดงานครั้งนี้ โดยเริ่มเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2014   

ก่อนหน้านี้เราทำงานขับเคลื่อนในระดับชุมชนที่มันชายขอบมากๆ ซึ่งไม่เคยถูกมองเห็นหรือได้รับการยอมรับ คือเรารู้ว่ามีผู้หญิงถูกใช้ความรุนแรงและเราต้องพูดถึงเรื่องนี้ แต่พอเป็นเรื่องของผู้หญิงมันก็จะจำกัดอยู่แค่ในแวดวงผู้หญิงด้วยกันเอง จนได้มารู้จักกับ One Billion Rising ตอนไปอบรมเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวสังคมรูปแบบใหม่ ซึ่งฟังดูน่าสนใจและเราค่อนข้างเห็นด้วยกับหลักการที่ว่า ไม่ว่าจะแก้ปัญหาเรื่องอะไร เจ้าตัวสำคัญที่สุด ดังนั้นจึงเริ่มต้นรวมกลุ่มฝึกฝนท่าเต้น แล้วชักชวนเพื่อนหญิงและน้องๆ นักศึกษามาเต้นกัน จนความพยายามเล็กๆ ได้รับการเผยแพร่และขยายการรับรู้ลงบน www.onebillionrising.org เว็บไซต์ทางการของแคมเปญ กลายเป็นส่วนหนึ่งของ global movement ร่วมกับอีกมากกว่า 206 ประเทศทั่วโลก”

“แนวคิดสำคัญอีกอันของ One Billion Rising คือการสะท้อนประเด็น ‘อธิปไตยเหนือร่างกายตนเอง’ (Body Autonomy) ซึ่งในประเทศไทยพูดถึงน้อยมาก” มัจฉากล่าว “เพราะนอกจากจะถูกครอบงำทางความคิด ร่างกายของผู้หญิงก็ไม่เคยเป็นอิสระเลยตั้งแต่เกิดจนตาย เรามักถูกบอกว่าขาวไม่พอ ผอมไม่พอ กระทั่งจะต้องนั่งหรือแต่งตัวยังไง จนทำให้สูญเสียความภูมิใจในร่างกายไม่ว่ามันจะแตกต่างหลากหลายและสวยงามแค่ไหน ฉะนั้น One Billion Rising จึงใช้การเต้นเป็นเครื่องมือปลดปล่อยร่างกาย บอกว่าร่างกายเป็นของเรา เราภาคภูมิใจกับมัน เราต้องการให้คนเคารพ และเราก็เคารพร่างกายของคนอื่นเหมือนกัน

“แต่แค่การเต้นรำจะมีผลอะไรกับปัญหาที่ฝังรากมาช้านานขนาดนี้” ผมสงสัย เธอจึงอธิบายต่อไปว่า One Billion Rising ไม่ใช่แคมเปญที่พากันมาเต้นแล้วต้องการสร้างแรงสั่นสะเทือนแค่จากตรงนั้น แต่ก่อนเกิดกิจกรรมยังมีการจัดเวิร์กช็อปให้ผู้เข้าร่วมทุกคนมาเรียนรู้ปัญหาของกันและกัน ทำความเข้าใจแนวคิดแคมเปญและหลักการต่อสู้เคลื่อนไหว อาทิ เรื่องความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (Gender-Based Violence), ความเหลื่อมล้ำด้านเพศสภาพ (Gender Inequality), ประเด็นวิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงออกทางเพศ (Sexual Orientation, Gender identity and gender expression  – SOGIE) และสิทธิมนุษยชน (Human Right) รวมถึงลงขันความคิดเพื่อพัฒนาข้อเรียกร้องต่อรัฐและสังคมร่วมกันด้วย

“สำหรับเรามองว่าแรงสั่นสะเทือนจากตรงนี้มันมีอยู่สามระดับ คือ หนึ่ง. ทำให้คนทำงานภาคประชาสังคมตระหนักถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงนโยบายและวิธีการทำงานที่ครอบคลุมประเด็นมิติทางเพศ สอง. ทำให้ผู้หญิงที่อยู่ในความรุนแรงได้เข้าใจถึงปัญหาและจุดพลังความเข้มแข็งให้เขาลุกขึ้นมาออกจากปัญหาหรือกล้าเรียกร้องขอความช่วยเหลือ และสาม. ทำให้เยาวชนได้มองเห็นว่ามนุษย์มีสิทธิเท่าเทียมกัน มนุษย์ต้องถูกรักและรักตัวเอง และมีสิทธิที่จะต่อต้านความไม่เป็นธรรมในทุกๆ มิติของชีวิต”

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เคยทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงราวหนึ่งพันคนที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบครอบครัวใน 8 จังหวัด แล้วพบว่าร้อยละ 70.7 ระบุว่าความรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 มัจฉายกตัวอย่างผลการสำรวจนี้ขึ้นมาเพื่อพยายามจะชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ปัญหาความรุนแรงทางเพศของบ้านเรานั้นเลวร้ายยิ่งกว่าตัวเลข 1 ใน 3 ของโลกเสียอีก 

นอกจากนี้เธอยังเสริมว่ามีหลายประเด็นที่ผู้หญิงไม่เคยได้รับความเป็นธรรม เช่น  เรื่องงานบ้านหรืองานดูแลที่ผู้หญิงต้องแบกรับส่งผลให้ต้องทำงานหนักกว่าผู้ชาย 3-6 เท่า แต่สังคมไม่เคยตระหนักยกย่องให้คุณค่า, การทำแท้งถูกกฎหมายที่ส่วนมากยังจำกัดในกรณีถูกข่มขืนหรือบุตรในครรภ์พิการรุนแรง ทั้งที่ควรเป็นเรื่องสุขภาพและความพร้อมของผู้หญิง หรือกระทั่งเรื่องค่าแรง ตำแหน่งการงาน และบทบาททางการเมืองที่ผู้หญิงมักมีสิทธิมีเสียงน้อยกว่าผู้ชาย เป็นต้น

“พวกนี้มันสะท้อนว่า เราเผชิญความรุนแรงทั้งในเชิงโครงสร้างที่เราเข้าไม่ถึงการปกป้องคุ้มครองทางกฎหมาย ในมิติที่เกี่ยวเนื่องกับเพศและไม่เกี่ยวเนื่องกับเพศด้วย ซึ่งแน่นอนว่าพอกฎหมายไม่ปกป้องคุ้มครอง สังคมก็ไม่เกิดความตระหนัก 

การที่เราเดินๆ อยู่แล้วผัวตบคนก็จะบอกว่าเป็นเรื่องครอบครัว หรือถ้ามีเงินอยู่จำนวนหนึ่งระหว่างเลือกให้ลูกชายกับลูกสาว พ่อแม่บางส่วนก็จะให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่า เพราะมองว่าเป็นผู้นำครอบครัว หนักกว่านั้นเชื่อว่าลูกชายจะพาขึ้นสวรรค์ ซึ่งในพื้นที่ทางศาสนาผู้หญิงก็ไม่สามารถบวชได้ บางวัดจำกัดบริเวณห้ามเข้า ฉะนั้นพื้นที่ทางจิตวิญญาณผู้หญิงก็มีไม่เท่ากับผู้ชาย แล้วเรื่องการรุมข่มขืนบ้านเราก็มี ข่มขืนแล้วบังคับให้แต่งงานกันก็ยังมีอยู่ คือถูกข่มขืนผู้กระทำความผิดต้องติดคุกสิ แต่ว่าทำไมทุกคนบอกว่าให้แต่งงานกัน แล้วบางคนยังบอกว่าโชคดีเสียอีกที่ผู้ชายรับผิดชอบ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหามันรุนแรงมาก แต่เราไม่เคยตระหนัก เรามองเห็นแต่เราเฉยๆ และบอกว่ามันไม่มีอยู่ในสังคมของเรา ซึ่งการไม่ยอมรับว่ามันรุนแรงนี่แหละคือสิ่งที่สะท้อนความรุนแรงที่สุดแล้ว”

อีกประเด็นที่มัจฉาบอกว่ากำลังถูกพูดถึงอย่างมากในสังคมโลกคือ ‘Femicide’ หรือ การฆ่าบนพื้นฐานของความเป็นผู้หญิง เนื่องจากระยะหลังมีนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีและผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาต่อต้านระบบวิธีคิดการกดขี่ทางเพศถูกกระทำความรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตเพิ่มมากขึ้น 

สิ่งที่ทำให้ความไม่เป็นธรรมในสังคมยังดำเนินอยู่ได้ คือ ระบบชายเป็นใหญ่ ลัทธิรากฐานนิยม ทั้ง ชาตินิยมและศาสนานิยม ระบบทุนนิยม และระบอบทหาร สี่เสาหลักนี้ทำงานร่วมกันเพื่อขูดรีดเอาผลประโยชน์จากชนกลุ่มน้อย แรงงานข้ามชาติ จากประเทศที่จนกว่า จากคนด้อยอำนาจกว่า ซึ่งผู้หญิงถูกเหยียบย้ำจากทุกเสาฐาน ฉะนั้นเมื่อมีผู้หญิงลุกขึ้นมาต่อสู้พูดเพียงเรื่องเดียวก็ส่งแรงสะเทือนไปทั้งหมด” มัจฉาขยายความเข้าใจในสถานการณ์ Femicide ก่อนเชื่อมโยงถึงการประกาศเจตนารมณ์ยกระดับการเคลื่อนไหวต่อต้านแนวคิดชาตินิยมปีกขวา ลัทธิฟาสซิสต์ และการปกครองแบบเผด็จการของแคมเปญ One Billion Rising ในปีนี้ 

ทำไมการเคลื่อนไหวปีนี้ถึงมาเรื่องชาตินิยม ก็เพราะชาตินิยมมันเอื้อให้กับคนบางกลุ่มที่นิยามตนเองว่าเป็นเจ้าของชาตินั้น ซึ่งทำให้แรงงานต่างด้าว ชนกลุ่มน้อย หรือผู้ลี้ภัยถูกมองเป็นคนอื่นทันที และก่อให้เกิดการเกลียดกลัวผู้อพยพหรือชนพื้นเมืองมากขึ้น ในประเทศไทยก็มีให้เห็น เช่น กรณีของ ‘บิลลี่พอละจี รักจงเจริญ’ ที่จนป่านนี้ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม รากเหง้าของปัญหามันคือเรื่องนี้ แต่สังคมไทยเรากลับทำงานไปไม่ถึงรากเหง้าปัญหา เราตั้งคำถามน้อยมากว่ารูปแบบของปัญหาเป็นอย่างไร สถาบันอะไรค้ำจุนมันอยู่ และจะส่งผลกระทบยังไง เอาแต่พูดกันว่าปัญหาผู้หญิงถูกข่มขืนก็แค่อย่าแต่งตัวโป๊ออกนอกบ้าน ผู้หญิงท้องไม่พร้อมก็ทำให้พร้อมด้วยการจับแต่งงาน นึกออกไหมคะ ว่ามันผลักให้เห็นแค่ปลายปัญหาแล้วพยายามไปแก้ตรงนั้น ซึ่งก็ไม่เคยแก้หมดสักที แคมเปญในปีนี้จึงต้องการสื่อสารเรื่องรากเหง้าของปัญหาที่เอื้อให้ทุกมิติการใช้ชีวิตของผู้หญิงเต็มไปด้วยการเผชิญกับความรุนแรง

สำหรับ One Billion Rising ในไทยครั้งนี้ จัดเป็นไฮไลต์หนึ่งในงานเฉลิมฉลองวันสตรีสากล เชียงใหม่ ภายใต้แนวคิด ‘Strike, Rise, Equit’  ที่ชวนให้ผู้หญิงทุกคนหยุดงาน ลุกขึ้นมาต่อต้านความรุนแรง และเรียกร้องความเป็นธรรม 

ในงานวันนั้น ผู้คนทยอยมารวมตัวกันคึกคักมากขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างที่กำลังมีการประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวันสตรีสากล รวมถึงแถลงการณ์จากชุมชนและองค์กรเครือข่าย โดยในงานมีทั้ง กลุ่มผู้หญิงชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มผู้หญิงแรงงานข้ามชาติ กลุ่มผู้หญิงพิการ กลุ่มผู้หญิงที่ทำงานบริการทางเพศ กลุ่มผู้หญิงสูงอายุ กลุ่มผู้หญิงเยาวชน กลุ่มนักสตรีนิยม และกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนบรรดานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่ติดสอยห้อยตามขบวนประท้วง ซึ่งเดินชูป้ายโบกธง และตะโกนสโลแกน “If Woman Stop, The World Stops.” อันหมายถึงการนัดหยุดงานของผู้หญิงทั่วโลกเพื่อลงถนนประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมทางเพศ และพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า “เมื่อผู้หญิงหยุด โลกก็หยุด” ขบวนเคลื่อนมาจากพุทธสถานถึงลานประตูท่าแพ กระทั่งเวลาราวสองทุ่มตามกำหนดการเสียงเพลง Break the Chain และเพลงใหม่ของแคมเปญ One for Billion, Billion for One ก็ดังกระหึ่มพร้อมกับการลุกขึ้นเต้นรำเฉลิมฉลองเพื่อแสดงพลังของผู้หญิงอย่างสนุกสนาน ครื้นเครง

เสียงพิธีกรประกาศขอความร่วมมือผู้ร่วมงานช่วยกันเก็บกวาดขยะให้สะอาดเรียบร้อย ผมนั่งอยู่ข้างเวทีเอ่ยถามมัจฉาว่า สิ่งที่เธอคาดหวังจากการจัดงานตลอด 6 ปีมานี้คืออะไร ซึ่งเธอตอบว่าความคาดหวังเดียวและถือเป็นผลสำเร็จ คือการได้เห็นผู้หญิงมีพื้นที่บอกเล่าปัญหาของตัวเองและฟังเสียงของเพื่อนผู้หญิงด้วยกัน ส่วนที่เหลือนั้นเป็นกำไร 

เหนืออื่นใดคืออยากให้สังคมยอมรับในมิติทางเพศ อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขการเลือกปฏิบัติ และมองเป้าหมายของแคมเปญในอนาคตไว้ว่า อยากชักชวนผู้ชายเข้ามามีส่วนร่วมเหมือน One Billion Rising ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ผู้ชายได้มาเต้นรำและออกจากความรู้สึกผิดด้วยการยอมรับว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา 

การเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศต้องมีผู้ชาย มีความหลากหลายทางเพศ และมีผู้หญิง เมื่อทุกคนในสังคมร่วมกันมันถึงจะเคลื่อนไปข้างหน้าได้ แล้วเราก็อยากเห็นอย่างนั้น เธอกล่าวทิ้งท้าย

Tags: , , ,