ในชีวิตคนเราจะถูกทอดทิ้งได้กี่ครั้ง? และการถูกใครทอดทิ้งจะทำให้เราเจ็บปวดที่สุด?

สองคำถามข้างต้นเป็นคำถามที่ผมเคยถามตัวเองและคนอื่น ทั้งอย่างเล่นๆ และอย่างจริงจังมาตลอด คำตอบที่ได้รับก็แตกต่างกันไปตามวัยและประสบการณ์ หนึ่งในคำตอบที่ผมประทับใจที่สุดคือ “เราถูกทอดทิ้งได้นับครั้งไม่ถ้วน และถ้าย้อนคิดให้ดี สิ่งที่จะทำให้เราเจ็บปวดที่สุดคือการถูกทอดทิ้งจากความหวังของเราเอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด จากใคร เมื่อไรก็ตามที่เราถูกความหวังทอดทิ้ง นั่นคือความเจ็บปวดที่สุด ถ้าบ่อยครั้งเข้า เราจะสิ้นหวังกับชีวิต และเมื่อเราสิ้นหวัง เราจะอยู่ในความเจ็บปวดไร้สิ้นสุดไปจนกว่าชีวิตจะสิ้นสุด”

แล้วคุณล่ะครับมีคำตอบอย่างไรกับคำถามนี้ อยากให้ลองคิดเล่นๆ ไว้ในใจก่อนที่จะอ่านเรื่องราวของหนังสือเกี่ยวกับความทรงจำของหญิงคนหนึ่งที่ทั้งถูกทอดทิ้งและเป็นฝ่ายเลือกที่จะทิ้งบางอย่างไปเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

กัวเฉี่ยวหลู (Xiaolu Guo) เกิดที่ประเทศจีนในปี 1973 ทันทีที่ลืมตาดูโลก เธอก็ถูกยกให้กับครอบครัวชาวนาครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านบนภูเขา เนื่องจากตอนนั้นพ่อของเธอติดคุก และแม่ที่มีลูกชายก่อนหน้าเธอแล้วคนหนึ่งนั้นไม่สามารถเลี้ยงดูเธอได้ เมื่อเวลาผ่านไปสองปี ครอบครัวที่รับกัวเฉี่ยวหลูไปเลี้ยงก็นำเธอมาคืนให้กับปู่ย่า เพราะครอบครัวนั้นเองประสบปัญหาความยากจน ส่วนเธอก็เป็นเด็กเลี้ยงยาก เด็กหญิงที่เกิดมาได้เพียงสองปี เด็กหญิงที่ไม่ทันมีความทรงจำก็ถูกชะตากรรมเลือกให้โดนทอดทิ้งถึงสองครั้ง

หนังสือเกี่ยวกับความทรงจำของหญิงคนหนึ่งที่ทั้งถูกทอดทิ้งและเป็นฝ่ายเลือกที่จะทิ้งบางอย่างไปเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

ครอบครัวของปู่กับย่าเป็นชาวประมงไร้การศึกษาที่อาศัยอยู่ในเมืองชี่ตัง (Shitang) กัวเฉี่ยวหลูเติบโตมาอย่างขมขื่นกับความยากจนและสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีในครอบครัว ปู่เป็นคนไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ย่าเป็นคนหลังค่อมที่ไม่มีโลกภายนอก ภาพที่เธอพบเห็นจนชินตาคือภาพที่ปู่ทุบตีย่าเมื่อทำอะไรไม่ทันใจ ภาพของความเป็นหญิงที่ไม่มีค่าใดมากไปกว่าการเป็น ‘ผู้รับใช้’ ภาพปกติที่พบเห็นได้ทั่วไปในหมู่บ้านชาวประมง มันเป็นภาพที่ทำให้เธอด้านชากับความรู้สึกและความรุนแรง

เมื่ออายุครบเจ็ดขวบ พ่อแม่มารับกัวเฉี่ยวหลูกลับไปอยู่พร้อมหน้าครอบครัวที่เวินหลิ่ง (Wenling) เพื่อเรียนหนังสือ เธอเคยพยายามให้พ่อพาย่าซึ่งเริ่มมีปัญหาสายตามาอยู่ด้วย เพราะปู่ได้จากไปก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ย่าไม่สามารถเข้ากับแม่ของเธอได้ จึงกลับไปมีชีวิตลำพังที่บ้านริมชายฝั่งจนกระทั่งเสียชีวิต ตัวเธอเองก็มีความสัมพันธ์อันขมขื่นกับพี่ชายและแม่ มีเพียงพ่อของเธอเท่านั้นที่เข้าใจและคอยปลอบประโลม

กัวเฉี่ยวหลูได้รับอิทธิพลด้านศิลปะและวรรณกรรมจากพ่อผู้เป็นจิตรกรภูมิทัศน์ เธอมีผลงานตีพิมพ์ตั้งแต่อายุ 14 ด้วยความต้องการอันแรงกล้าที่จะอยู่ในโลกของศิลปะ เธอฝ่าฟันจนได้เป็นหนึ่งในผู้ผ่านการคัดเลือก 11 คนในการสอบแข่งขันที่มีผู้เข้าสอบกว่า 7,000 คนเพื่อเข้าเรียนใน Beijing Film Academy นี่เป็นครั้งแรกที่เธอออกจากบ้านเพื่อไปสู่เสรีภาพที่เฝ้าฝันมาตลอด แต่ไม่มีอะไรที่ได้มาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อิสระเสรีที่เธอแสวงหาก็นำมาซึ่งความเจ็บปวด เธอเริ่มเรียนรู้ และตระหนักว่าโลกของเธอไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่อยู่ที่อื่นไกลออกไป ที่อื่นที่อยู่อีกฟากฟ้า ที่อื่นที่เข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตของเธอผ่านการศึกษาและรสนิยมส่วนตัว

ปี 2002 กัวเฉี่ยวหลูได้ทุน Chevening ไปศึกษาต่อด้านภาพยนตร์ที่ประเทศอังกฤษ นี่เป็นจุดเริ่มต้นให้เธอโบยบินออกไปจากบ้านโดยไม่คิดจะหวนกลับคืน

Once Upon a Time in the East: A Story of Growing Up เป็นหนังสือเล่มล่าสุดของกัวเฉี่ยวหลูที่เขียนขึ้นด้วยภาษาที่สองของเธอคือภาษาอังกฤษ เธอพูดอยู่เสมอว่าแม้จะอยู่ในอังกฤษมากว่าสิบปี เธอก็ยังไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างเชี่ยวชาญ เรื่องสำคัญที่หลายคนอาจยังไม่ทราบก็คือ สาเหตุที่ทำให้เธอเลือกเขียนต้นฉบับด้วยภาษาอังกฤษนั้นเป็นเพราะว่าเธอต้องการหลีกเลี่ยงตัวตนอีกตัวตนหนึ่งที่เติบโตมาภายใต้ระบบการเซนเซอร์ของจีน เธอเคยกล่าวว่า ทุกครั้งที่เขียนหนังสือด้วยภาษาจีน จะมีอีกตัวตนหนึ่งที่เหมือนดั่งเงาคอยติดตามคอยอ่าน เงานั้นจะบอกเธอว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ดังนั้น การใช้ภาษาอื่นจึงเป็นทางเดียวที่ความเป็นศิลปินของเธอจะได้แสดงออกมาอย่างเป็นตัวของตัวเองที่สุด  

ในเรื่องเล่าที่เปรียบเสมือนบันทึกความทรงจำ กัวเฉี่ยวหลูเลือกใช้บางส่วนของเรื่องไซอิ๋ว หนึ่งในสี่วรรณกรรมเอกของจีนเป็นตัวเปิดในแต่ละบท ส่วนที่เธอหยิบยกมานั้นเป็นการบอกใบ้ไปในตัวว่าประเด็นหลักในแต่ละบทจะเป็นเรื่องอะไร

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะไซอิ๋วมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Journey to The West ถึงแม้ว่า “The West” ในที่นี้จะเป็นเพียงแค่ชมพูทวีปหรืออินเดีย แต่อย่างหนึ่งที่เราไม่ควรลืมคือ ความคิดของคนจีนในอดีตก่อนที่จะเริ่มมีการติดต่อค้าขายเปิดพรมแดนแลกเปลี่ยนสินค้าและความรู้กันนั้น เส้นเขตแดนความเป็นตะวันออกคือภูเขาหิมาลัย สิ่งที่เป็นแกนหลักสำคัญในการเดินทางสู่ชมพูทวีปในเรื่องไซอิ๋วคือพระไตรปิฎก ซึ่งในความหมายหนึ่งคือความหมายที่จริงแท้เกี่ยวกับชีวิตและโลกในมุมมองของพระพุทธศาสนา การเดินทางของเธอจากตะวันออกไปสู่ตะวันตกก็เป็นการเดินทางเพื่อไปหาความจริงของชีวิตจากสิ่งที่หล่อหลอมขึ้นมาให้เป็นตัวเธอเช่นกัน

ในเรื่องเล่าที่เปรียบเสมือนบันทึกความทรงจำ กัวเฉี่ยวหลูเลือกใช้บางส่วนของเรื่องไซอิ๋ว หนึ่งในสี่วรรณกรรมเอกของจีนเป็นตัวเปิดในแต่ละบท

ความทรงจำของกัวเฉี่ยวหลูเริ่มขึ้นที่เมืองชี่ตัง ความทรงจำที่ว่านี้หมายถึงสิ่งที่เธอได้ประสบพบเห็นและจารึกลงไปในตัวเอง เรื่องราวก่อนหน้าที่เธอถูกทอดทิ้งเป็นเรื่องเล่าที่เธอมารับรู้ทีหลังเมื่อรู้ความ การเติบโตขึ้นมาในชุมชนชาวประมงที่ยากจน ปู่กับย่าที่เป็นคนที่เติบโตมาก่อนระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ สภาพแวดล้อมที่คุณค่าของผู้หญิงไม่ได้รับการยอมรับหรือแม้กระทั่งถูกปฏิเสธได้รับการบอกเล่าออกมา ทำให้เราเห็นวิถีและวิธีในการคิดและรับมือกับสิ่งต่างๆ ในชีวิต

เมื่อย้ายมาอยู่ที่เวินหลิ่งกับพ่อแม่ คุณค่าของชีวิตภายใต้การปกครองแบบคอมมิวนิสต์เป็นภาพที่แปลกไป หากเมื่อเทียบกับชีวิตในวัยเด็กที่แร้นแค้นแล้วก็นับว่ายังดีกว่าอยู่มาก เธอได้รับการศึกษา ได้อยู่กับครอบครัวที่มีความคิดความอ่านต่างไปจากครอบครัวของปู่ย่า ในเมืองนี้ อุดมคติแบบคอมมิวนิสต์ได้รับการบรรยายจากสายตาของเด็กสาวผู้ที่พ่อเคยต้องติดคุกเพราะภัยการเมือง และมีแม่เป็นอดีตเรดการ์ด

หลังจากย้ายออกจากครอบครัวมาสู่การใช้ชีวิตในเมืองหลวงอย่างปักกิ่ง ประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษา การพาตัวเองเข้าไปสู่โลกศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก การเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพศ และการตระหนักถึงคุณค่าความเป็นหญิงที่กลับตาลปัตรกับแบบแผนวัฒนธรรมเดิม ทำให้เธอมีความคิดที่จะออกจากกรงแคบที่ขังความรู้สึกนึกคิดของเธอไว้

ลอนดอนเป็นจุดหมายปลายทางของเธอเมื่อออกจากประเทศครั้งแรก ในความแปลกแยกของชาติพันธุ์บรรยากาศ แม้จะมีอุปสรรคต่างๆ จากการใช้ภาษาและเข้าสังคม เธอกลับได้ค้นพบว่า สถานที่ที่ไกลออกไปนั้นอาจเป็นพื้นที่ที่ความเป็นตัวตนของเธอปลอดภัยที่สุด

จากสี่เมืองที่เป็นเหมือนตัวแบ่งเหตุการณ์และประสบการณ์ของเรื่อง เราจะเห็นได้ว่าสิ่งต่างๆ ที่ร้อยเรียงอยู่ในเรื่องเล่าของความทรงจำนั้นวางอยู่บนประเด็นอันแหลมคมที่เธอเคยนำบางส่วนไปปรับใช้ในงานเขียนอื่นๆ มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรอยต่อจุดตัดระหว่างวัฒนธรรมของโลกตะวันตกและตะวันออก ประสบการณ์ของผู้อพยพ คุณค่าความเป็นหญิงในโลกตะวันออก ความแตกต่างในเชิงโครงสร้างและเชิงปัจเจกของสังคมผู้คนในโลกตะวันออกและตะวันตก ตลอดจนเรื่องสำคัญที่เป็นอุปสรรคมากๆ ในการดำรงชีวิตอยู่ในที่อื่นอย่างภาษา

สิ่งเหล่านี้ (ไม่นับเรื่องภาษาที่เป็นประเด็นต่อเนื่อง) คือสิ่งที่เธอพบพานอยู่ในชีวิตประจำวัน และเป็นสิ่งที่ทำให้ความเป็นตัวตนของเธอถูกคุมขังอยู่ภายใต้ความเป็นจีนที่กลืนกินทุกอย่างในชีวิต

สิ่งต่างๆ ที่ร้อยเรียงอยู่ในเรื่องเล่าของความทรงจำนั้นวางอยู่บนประเด็นอันแหลมคมที่เธอเคยนำบางส่วนไปปรับใช้ในงานเขียนอื่นๆ มาก่อน

ผู้ที่เคยติดตามผลงานของเธอมาก่อนอาจจะรู้สึกว่างานเขียนเล่มนี้ไม่มีอะไรใหม่ เป็นเพียงการเปลี่ยนตัวละครมาเป็นตัวเองที่ดำเนินเรื่องอยู่บนปมคุ้นเคย แต่สำหรับผม บันทึกความทรงจำนี้มีลักษณะเหมือนเบื้องหลังการถ่ายทำของงานวรรณกรรมและศิลปะภาพยนตร์ที่เป็นผลงานของเธอ เป็นงานเขียนที่ทำหน้าที่ประหนึ่งคู่มือให้ทำความเข้าใจทัศนคติในการมองโลกของใครคนหนึ่งอย่างชัดเจน

ภาพปกฉบับภาษาไทยได้รับความอนุเคราะห์จากคุณสุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์

และในบันทึกความทรงจำเล่มนี้ ดูเหมือนว่าประเด็นต่างๆ ที่เคยปรากฏมาแล้วในงานเขียนชิ้นอื่นจะถ่ายทอดออกมาได้อย่างทรงพลังยิ่งขึ้น ในแง่หนึ่งอาจเป็นเพราะว่าสิ่งที่เคยกระจัดกระจายอยู่ในหนังสือเล่มอื่นๆ ถูกทำให้มีเอกภาพภายใต้ตัวละครหลักที่มีเพียงหนึ่งเดียว หรืออาจเป็นเพราะว่าเรื่องเล่านี้มีการบอกแต่แรกว่าเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับชีวิตคนจริงๆ ที่มีชีวิตมีเลือดเนื้อมีจิตใจเหมือนเราจริงๆ แตกต่างจากการอ่านนวนิยายที่อารมณ์ความรู้สึกร่วมบางอย่างจะถูกกันออกอยู่เสมอด้วยความเป็นจริงที่คอยเตือนเราอยู่ตลอดว่าที่เราอ่านอยู่เป็นเรื่องแต่ง

ถ้ากลับไปสู่คำถามที่ผมเอ่ยถึงไว้ตอนแรก ภาพชีวิตของกัวเฉี่ยวหลูคงเป็นภาพสะท้อนที่ดีภาพหนึ่งของการตั้งคำถามและการแสวงหาคำตอบของชีวิต รายละเอียดและวิธีจัดการกับปัญหาที่ผ่านเข้ามาของเธอได้ให้ความหมายอีกอย่างที่เธออาจไม่ได้พูดถึงอย่างตรงไปตรงมา หรือชัดเจนในประเด็นต่างๆ ที่เธอนำเสนอผ่านเรื่องเล่า ความหมายที่ว่าจากสายตาของผมก็คือ “การไม่ยอมจำนน” ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาหนักหน่วงเพียงใด  สิ่งที่เธอใช้ในการเผชิญหน้ากับมันคือความกล้าหาญในการต่อสู้ เธอสู้เพื่อตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง และถึงแม้ว่าการต่อสู้เพื่อตัวตนของตัวเองจะนำเธอไปประสบกับปัญหาใหม่ หรืออุปสรรคใหม่ เธอก็ไม่เคยย่อท้อ ไม่ยอมพ่ายแพ้ เพราะจุดหมายปลายทางของเธอคือการทำให้ตัวตนแท้จริงในใจสามารถแสดงออกมาได้อย่างถึงที่สุด

มีประโยคหนึ่งที่กัวเฉี่ยวหลูพูดอยู่บ่อยๆ ในการกล่าวถึงตัวเองเมื่อต้องให้สัมภาษณ์หรือพบปะสื่อต่างๆ และผมคิดว่าเป็นประโยคที่สวยงามที่สุดประโยคหนึ่งในการสรุปชีวิตการต่อสู้ของเธอที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบลง เมื่อเรารู้ที่มาที่ไปอันชัดเจนกว่าเรื่องโดยสังเขปที่ผมบอกเล่าไปแล้วข้างต้น ประโยคสวยงามที่ว่านั้นคือ

“I am Chinese by birth, British by passport, and European by spirit.”

 

หมายเหตุ:

ในการสะกดถอดเสียงภาษาจีน ผมใช้วิธีสะกดคำจากเสียงที่ได้ยินจากการให้สัมภาษณ์ของเธอจากที่ต่างๆ จึงอาจไม่เหมือนกับการถอดเสียงสะกดคำของผู้แปลหนังสือท่านอื่น

Fact Box

  • กัวเฉี่ยวหลูได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน Granta Best of Young British Novelists เมื่อปี 2013 โดย Granta ซึ่งเป็นนิตยสารที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกสำหรับผู้ชื่นชอบวรรณกรรม การคัดเลือกนี้จัดขึ้นทุกสิบปี
  • A Concise Chinese-English Dictionary for Lovers เป็นหนังสือเล่มแรกของกัวเฉี่ยวหลู ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ พจนานุกรมรักฉบับเรา โดย ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ จัดพิมพ์โดยลิปส์ พับลิชชิ่ง
  • Once Upon a Time in the East: A Story of Growing Up มีชื่อในฉบับที่วางขายในสหรัฐอเมริกาว่า Nine Continents: A Memoir In and Out of China
  • สำหรับฉบับแปลไทยของ Once Upon a Time in the East : A Story of Growing Up  ซึ่งผมเองเพิ่งมาทราบหลังจากอ่านฉบับภาษาอังกฤษจบแล้ว (และรู้สึกดีใจมากๆ ที่มีคนแปลหนังสือเล่มนี้ออกมา) ใช้ชื่อว่า กาลครั้งหนึ่งในแดนมังกร ชีวิตผจญภัยของเสี่ยวหลู กัว โดยสุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์
  • Once Upon a Time in the East: A Story of Growing Up (ภายใต้ชื่อ Nine Continents: A Memoir In and Out of China) ได้รับรางวัล The National Book Critics Circle Award ประจำปี 2017 ประเภทอัตชีวประวัติ
  • สำหรับผู้ที่สนใจและไปหาอ่านหนังสือเล่มนี้จนจบ ผมขออนุญาตแนะนำคลิปสั้นๆ หนึ่งคลิปเพื่อเติมเต็มความรู้สึกจากการอ่านคือคลิป We Went to Wonderland  แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่าคลิปนี้อาจทำให้ผู้อ่านต้องดิ้นรนไปหาตัวเต็มของคลิปมารับชมเพื่อเติมเต็มความรู้สึกอีกที ซึ่งนั่นจะเป็นความลำบากอีกอย่างหนึ่งในการผจญไปในความเป็นศิลปินของกัวเฉี่ยวหลู

Tags: , , , , , , ,