หลังจากกกต.ต้องกินแห้วไปเมื่อต้นสัปดาห์ วันนี้ (26 เม.ย.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ ให้ส่งคำร้องในประเด็นเดิมให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อให้ช่วยตีความว่าจะคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อย่างไร

นายรักษเกชา แฉฉาย เลขาธิการสํานักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาคำร้องที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ ยื่นขอให้พิจารณาเรื่องการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ว่ามีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่ และพิจารณาคำร้องของนายเรืองไกร ที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง วินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. เป็นโมฆะ

โดยผู้ตรวจการฯ วินิจฉัยร่วมกันแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 91 วรรคแรก วางหลักเกณฑ์การคํานวณจำนวน ส.ส. แบบปาร์ตี้ลิสต์ไว้แล้ว โดยกำหนดว่าผลลัพธ์ของการคํานวณต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจํานวนของ ‘ส.ส.พึงมี’ แต่เกิดปัญหาในการตีความมาตรา 128 ของพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่แจกแจงวิธีคำนวณออกมาเป็น 8 อนุมาตรา ซึ่งหลายฝ่ายตีความให้พรรคการเมืองจำนวนหนึ่งได้ที่นั่งของ ส.ส. ทั้งหมดมากกว่าจำนวน “ส.ส.พึงมี” ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็จะทำให้มาตรา 128 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขัดกับมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ส่วนกรณีที่ผู้ร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อม “ความเห็น” ต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น เรื่องนี้ผู้ตรวจการฯ ชิงขอไม่ออกความเห็น โดยให้เหตุผลว่า ตามกฎหมายแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอํานาจเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” ใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่คําว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” หมายถึงกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เช่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกําหนด ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่มีผลบังคับเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ แต่ไม่ได้หมายความรวมถึง “บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” ดังนั้น จากคำร้องเรื่องที่ว่า บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญขัดแย้งกันเอง จึงไม่อยู่ในหน้าที่และอํานาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงยุติเรื่องในประเด็นดังกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อสองวันก่อนหน้านี้เอง (24 เม.ย.) คณะกรรมการการเลือกตั้งก็เพิ่งถูกปฏิเสธ โดยศาลรัฐธรรมนูญปัดตกคำร้องในเรื่องเดียวกันนี้ ให้เหตุผลว่า กกต. ไม่สามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ และมีมติเสียง 7 ต่อ 2 ไม่รับวินิจฉัยสูตรคำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ของ กกต. ที่ต้องไปทำหน้าที่เสียก่อน

สำหรับประเด็นที่นายเรืองไกรยื่นขอให้ผู้ตรวจการฯ วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งในหลายประเด็น และให้ส่งเรื่องไปยังศาลปกครองว่า การเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 เป็นโมฆะหรือไม่ ทางผู้ตรวจการแผ่นดินฯ เห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของผู้ตรวจฯ ในการพิจารณาเรื่องนี้ แต่มีความเห็นต่อเรื่องบัตรเขย่ง ที่หลายเขตมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิกับจำนวนบัตรแตกต่างกัน เรื่องนี้ผู้ตรวจการฯ เห็นว่าที่ผ่านมายังเป็นการแถลงข่าวอย่างไม่เป็นทางการ จึงไม่ใช้การกระทำที่ไม่สุจริต ส่วนเรื่องการไม่นำบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากนิวซีแลนด์มานับรวมนั้น เห็นว่ากกต.มีการวินิจฉัยตามข้อกฎหมายไปแล้ว ซึ่งไม่เข้าข่ายเป็นความผิดเพราะถือเป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ