ปีนี้ถือเป็นปีครบรอบ 50 ปีของเหตุการณ์สโตนวอลล์ ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดเดือนแห่งไพรด์ โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 เกิดการจลาจลขึ้นในบาร์ชื่อ สโตนวอลล์ อิน ย่านกรีนนิช วิลเลจ ของนครนิวยอร์ก มีการจับกุมโดยการใช้ความรุนแรงต่อคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้เกิดการปะทะอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มคนรักเพศเดียวกันและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เหตุจลาจล ‘สโตนวอลล์’ จึงกลายเป็นจุดกำเนิดของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศ งานไพรด์หรือเกย์ไพรด์ ทั่วโลกจะถือเอาเดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งไพรด์เพื่อรำลึกถึงเหตุจลาจล ‘สโตนวอลล์’ อันเป็นจุดเริ่มต้นการเรียกร้องสิทธิของกลุ่ม LGBTQ ในครั้งนั้น
สำหรับปีนี้นิวยอร์กได้เป็นเจ้าภาพจัดงานเวิลด์ไพรด์เป็นครั้งแรกเพื่อเฉลิมฉลอง 50 ปีเหตุการณ์สโตนวอลล์ โดยก่อนหน้านี้ในปี 2000 งานจัดที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ในปี 2006 จัดที่กรุงเยรูซาเลม ประเทศอิสราเอล และในปี 2014 จัดที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ซึ่งตลอดทั้งเดือนมีการจัดงานมากมาย รวมไปถึง NYC Pride March ในวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ที่มีผู้คนทั้งกลุ่ม LGBTQ+ และผู้สนับสนุนมากมายเข้าร่วมเดินขบวนพาเหรดในครั้งนี้ ทั้งผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก แอนดรูว์ คูโอโอ และครอบครัว นายกเทศมนตรีกรุงนิวยอร์ก บิล เดอ บลาซิโอ ซึ่งเป็นหนึ่งในแคนดิเดตของพรรคเดโมแครตที่ประกาศลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย วุฒิสมาชิก ชัค ชูเมอร์ ซึ่งมาพร้อมกับครอบครัวเช่นเดียวกัน รวมไปถึงโดนาเทลลา เวอร์ซาเช ดีไซเนอร์ชื่อดังแบรนด์ Versace ก็มาพร้อมกับชุดปักเลื่อมสีรุ้ง และนักร้องสาวเลดี้ กาก้า ซึ่งขึ้นกล่าวและแสดงบนเวทีก็มาพร้อมแจ็กเก็ตสีรุ้งและรองเท้าบูทสีรุ้งจากแบรนด์ Versace เช่นเดียวกัน
ในช่วงเดือนแห่งไพรด์ ปีนี้คาดการณ์ว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางมานิวยอร์กมากกว่า 3 ล้านคน และมีผู้เข้าร่วมขบวนพาเหรดทั้งขบวนน้อยใหญ่กว่า 150,000 คน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจในเมืองนิวยอร์กกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง แต่ในขณะเดียวกันก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่างานไพรด์ในครั้งนี้ ที่ถึงแม้จะเต็มไปด้วยแบรนด์หรือบริษัทห้างร้านที่ให้การสนับสนุน แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นการสนับสนุนที่แลกเปลี่ยนมาด้วยการขายสินค้าพ่วงไปด้วย ซึ่งสินค้าเหล่านั้นก็ล้วนแล้วแต่มีราคาแพง เช่นเดียวกันกับบรรดาปาร์ตี้หรืองานอีเวนต์สุดเอ็กซ์คลูซีฟที่มีการขายบัตรเก็บค่าเข้าก็ล้วนแล้วแต่เป็นจำนวนเงินที่สูง ราวกับว่าชาว LGBTQ+ นั้นมีรายได้และพร้อมจับจ่ายใช้เงินในช่วงเดือนไพรด์
และที่สำคัญ ประเด็นการต่อสู้ทางการเมือง การเรียกร้องสิทธิต่างๆ ซึ่งควรจะเป็นประเด็นหลักของงานไพรด์กลับไม่แข็งแรงและได้รับการพูดถึงน้อยมาก จนกลายเป็นว่างานไพรด์เป็นงานรวมสปอนเซอร์และการจัดงานรื่นเริงมากกว่าการเฉลิมฉลองการเรียกร้องสิทธิที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สโตนวอลล์เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญและพื้นฐานของงานไพรด์ด้วยซ้ำไป
อ้างอิง
https://www.nytimes.com/2019/06/20/nyregion/nyc-pride-march.html
https://www.washingtonpost.com/graphics/2019/opinions/pride-for-sale/
ภาพ :
TIMOTHY A. CLARY, JONATHAN ATKIN / FLORIDA KEYS NEWS BUREAU, Miguel MEDINA / AFP
Tags: LGBT, Pride, ความหลากหลายทางเพศ, Pride Month