ข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่ง แต่เป็นข่าวใหญ่ในวงการเศรษฐศาสตร์และการเงินในเดือนที่ผ่านมา คือข่าวของศาสตราจารย์ ดร.ริชาร์ด เทเลอร์ (Richard H. Thaler) ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2017 จากผลงานที่บุกเบิกศาสตร์ด้านการเงินเชิงพฤติกรรม (Behavioral Finance) มาประยุกต์ใช้ในการสะกิด หรือ ‘nudge’ ให้คนสามารถตัดสินใจเลือกได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น และนำชุดความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้และประสบความสำเร็จอย่างสูงในเรื่องของการออมเพื่อการเกษียณอายุ (อ่านรายละเอียดได้จากบทความ สามโมเดลการออมเพื่อแก่ไปไม่จน)
ความหมายของ nudge ที่เทเลอร์ใช้จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย คือ การออกแบบตัวเลือก (Choice architecture) ที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมทางเลือกของคนให้เป็นไปในแนวทางที่คาดหวัง โดยปราศจากการบังคับใดๆ
ยกตัวอย่างเช่น การออมเงินเพื่อการเกษียณภาคสมัครใจ เป็นสวัสดิการที่นายจ้างมีให้ลูกจ้างภายใต้การส่งเสริมของภาครัฐ (ผ่านการให้สิทธิพิเศษทางภาษี) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คนที่ทำงาน เมื่อเกษียณแล้วมีเงินพอใช้เลี้ยงดูตัวเองยามแก่เฒ่าได้ ซึ่งโดยหลักการเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อเป็นสวัสดิการภาคสมัครใจที่ไม่บังคับ คนวัยทำงานจำนวนหนึ่งอาจเลือกไม่สมัครเข้าร่วมเพราะไม่อยากถูกหักเงินทุกๆ เดือน หรือบางส่วนอาจเชื่อว่าการออมเงินเป็นเรื่องที่สามารถทำตอนใกล้เกษียณก็ได้ (ซึ่งไม่จริง) ผลคือ มีคนวัยทำงานจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะไม่ออมเงิน (แม้ว่าทางเลือกนี้อาจจะส่งผลเสียแต่ต่อตัวเขาเองในระยะยาว)
คนวัยทำงานจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะไม่ออมเงิน เพราะบางส่วนอาจเชื่อว่าการออมเงินเป็นเรื่องที่สามารถทำตอนใกล้เกษียณก็ได้ (ซึ่งไม่จริง)
การใช้วิธี nudge เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้ เทเลอร์ และ เบนาร์ตซี (Shlomo Benartzi) เพื่อนร่วมงานของเขาชี้ให้เห็นว่า การใช้กลไกการเข้าร่วมโดยอัตโนมัติ (Automatic enrollment) คือ ให้คนวัยทำงานเข้าสู่สวัสดิการสำหรับการออมเพื่อการเกษียณไปก่อนแบบอัตโนมัติ แต่ถ้าผู้ใดพิจารณาแล้วไม่อยากเข้าร่วม ก็สามารถใช้สิทธิถอนตัว (Opt-out) จากสวัสดิการดังกล่าวได้ เป็นทางเลือกที่ดีกว่ารอให้คนที่สนใจมาสมัครเข้าร่วม (Opt-in)
ผลที่เกิดขึ้นคืออัตราการเข้าร่วมในสวัสดิการสำหรับการออมเพื่อเกษียณสูงขึ้นอย่างมาก โดยอัตราของการใช้สิทธิถอนตัวอยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จของการออกแบบทางเลือกชุดนี้
เทเลอร์ เคยให้ทัศนะไว้ว่า nudge ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว ขึ้นอยู่กับการนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม เขาได้ให้หลักการสำหรับการ nudge แบบกว้างๆ ไว้ 3 ข้อ ได้แก่
- การ nudge ทุกครั้งจะต้องทำอย่างโปร่งใสและจะต้องไม่ชี้นำไปในทางที่ผิด (misleading)
- การใช้สิทธิถอนตัว (Opt-out) จาก nudge จะทำได้โดยง่าย
- จะต้องมีเหตุผลที่ดีเพื่อสนับสนุนว่า การเปลี่ยนพฤติกรรม (หรือเปลี่ยนการเลือก) จะนำมาสู่สิ่งที่ดีกว่า
เทคนิคการ nudge ได้รับความนิยมและนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลของอังกฤษจัดตั้ง Nudge Unit ขึ้นในปี 2010 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะหาวิธีการใหม่ๆ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศ กำลังสนใจใช้การ nudge ร่วมกับการออกนโยบายและบริการสาธารณะ โดยในกรณีของอังกฤษนั้น ได้ศึกษาพฤติกรรมของคนและพยายามที่จะสร้างเงื่อนไขที่เอื้อให้คนสามารถออมเงินได้ง่ายขึ้น
การ nudge ทุกครั้งจะต้องทำอย่างโปร่งใสและจะต้องไม่ชี้นำไปในทางที่ผิด (misleading)
การ nudge สามารถนำไปใช้ร่วมกันกับเทคโนโลยีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการออมหรือการลงทุนในระดับที่เหมาะสมได้ ในยุคของการใช้เทคโนโลยีร่วมกับการทำธุรกิจอย่างปัจจุบัน ทำให้มีธนาคารและบริษัทวางแผนการเงินจำนวนหนึ่ง ที่สร้างแอปพลิเคชันขึ้นมาเพื่อ nudge กลุ่มลูกค้าของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างมาก ให้มีนิสัยรู้จักออม และรู้จักลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ยกตัวอย่างเช่น
- แอปพลิเคชัน MoneyBox และ HSBC’s SmartSave จะปัดเศษเงินขึ้นในทุกๆ ครั้งที่มีการใช้จ่าย และนำเศษเงินที่ถูกปัดขึ้นนั้นไปเพื่อการลงทุนหรือการออมของเจ้าของเงิน
- แอปพลิเคชัน Nationwide Impulse Saver จะให้ทางเลือกเจ้าของเงินให้สามารถเปลี่ยนจากการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้า เป็นการเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปเข้าบัญชีเงินออมแทน โดยการคลิกง่ายๆ บนสมาร์ตโฟน
- แอปพลิเคชัน Chip จะกวาดเงินทีละเล็กๆ น้อยๆ จากบัญชีเจ้าของเงิน โดยมีกลไกการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) เรียนรู้พฤติกรรมการใช้จ่ายของเจ้าของเงิน เข้าบัญชีออมทรัพย์ที่มีไว้เพื่อออมเงินโดยใช้ Chip
ธนาคารและบริษัทวางแผนการเงินจำนวนหนึ่งสร้างแอปพลิเคชันขึ้นมาเพื่อ nudge กลุ่มลูกค้าของตน ให้มีนิสัยรู้จักออม และรู้จักลงทุนอย่างสม่ำเสมอ
ตัวอย่างทั้ง 3 ข้อข้างต้นเป็นการออกแบบทางเลือกที่นำไปสู่การเพิ่มเงินออมได้ทั้งสิ้น และนำไปสู่โอกาสในการนำเงินไปลงทุนต่อยอดได้ด้วย ทาง HSBC’s SmartSave เปิดเผยว่า ผู้ใช้จะสามารถออมเงินจากการปัดเศษเพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายรวมกันเป็นจำนวนประมาณ 758 ปอนด์ (ประมาณ 32,500 บาท) ต่อปี ในขณะที่ Nationwide Impulse Saver รายงานว่าผู้ใช้จะสามารถออมเงินได้ประมาณ 350 ปอนด์ (ประมาณ 15,000 บาท) ต่อปี เป็นต้น
Financial Advice Market Review ซึ่งจัดทำโดยหน่วยราชการของสหราชอาณาจักร ได้วิจัยและยกตัวอย่างหลักการในเรื่องต่างๆ ที่ nudge จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคธุรกิจและการเงินรายบุคคล และสามารถนำเทคโนโลยีหรือการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ได้ ได้แก่ การตรวจเช็กสถานะการเงินของส่วนบุคคล บริหารจัดการการกู้ยืมเงินส่วนบุคคลให้ดี การออมทุกครั้งเมื่อมีโอกาส (แม้จะเล็กน้อยก็ยังดีกว่าไม่ออมเลย) และการให้ความสำคัญกับเงินในกองทุนบำนาญส่วนบุคคล เป็นต้น ซึ่งถือเป็นโอกาสเพิ่มความสำคัญในการวางแผนการเงินส่วนบุคคล และเป็นโอกาสของภาคธุรกิจที่จะนำเสนอบริการรูปแบบใหม่ๆ แก่ลูกค้า
ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารมากมาย การวิเคราะห์ข้อมูลในทุกๆ เรื่องคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แม้กระทั่งการเชื่อคำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ก็ยังต้องรับฟังโดยมีวิจารณญาณ เพราะคำแนะนำก็มีโอกาสที่จะโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งได้ (Conflicting advice) ดังนั้น การออกแบบทางเลือกโดยมีหลักการที่ดี น่าจะเป็นหนทางที่ช่วยให้ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันสามารถทำการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น
Tags: Nudge, Behavioral Finance, Richard H. Thaler, การเงิน, Nobel, การออม