“นักเขียนไทยยุคปัจจุบันที่ดำรงชีพด้วยการเขียนเหลือกี่ท่าน” คนคนหนึ่งตั้งคำถามผ่านสเตตัสเฟซบุ๊ก

“นทธี ขนาดว่าผ่อนบ้านได้ด้วย ชื่นชมความสามารถมากๆ” เป็นหนึ่งในคอมเมนต์จากสเตตัสนั้น

000

เมื่อพูดถึงอาชีพ ‘นักเขียน’ หนึ่งในคำถามจากคนวงนอกที่มีมาตลอด คือ ‘อยู่ได้ไหม’ ผม-ในฐานะผู้ร่วมอาชีพก็เคยเจอคำถามนี้มาหลายครั้ง ยิ่งกับงาน ‘วรรณกรรม’ ที่ไม่ใช่สินค้าที่นักอ่านส่วนใหญ่เลือกบริโภค ต่อให้ทุ่มเทแรงกาย-แรงใจขนาดไหน ต้องยอมรับว่ามีเพียงไม่มากนัก ที่หนังสือจะมียอดขายมากจนกลายเป็นรายได้หลักแล้วมั่นใจว่า ‘อยู่ได้’

บางคนมีงานประจำแล้ว จัดวางการเขียนให้เป็นงานไม่ประจำ (แต่เอาจริงเอาจัง) บางคนทำงานเขียนเป็นหลัก แต่จำเป็นต้องมีงานอื่นควบคู่ไปด้วย ไปจนถึงบางคนที่ยอมรับข้อจำกัด ตัดสินใจเลิกเขียน แล้วหันไปประกอบอาชีพอื่นเต็มตัว

นทธี ศศิวิมล เป็นนักเขียนที่มีผลงานต่อเนื่อง นับจาก ‘กระต่ายตายแล้ว’ เรื่องสั้นที่เข้ารอบนายอินทร์อะวอร์ดปี 2550 (ตีพิมพ์ในรวมเรื่องสั้นชื่อ สมภารระดับ 8) ซึ่งเป็นงานเขียนชิ้นแรกที่มีรายได้ เธออยู่กับ ‘งานเขียน’ มาเกินสิบปีแล้ว และตั้งแต่ลาออกจากงานประจำด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ และตั้งท้องไอย์-ลูกคนแรก เธออยู่กับอาชีพ ‘นักเขียน’ อย่างเดียว จนตอนนี้ขึ้นปีที่แปดแล้ว ผลงานมีทั้งรวมเรื่องสั้น นวนิยาย การ์ตูนความรู้ โดยเฉพาะเรื่องผีทั้งหลายที่กลายเป็นลายเซ็นประจำตัว

ในแง่เสียงตอบรับจากคนอ่าน หนังสือหลายเล่มอยู่ในระดับที่ขายดี ส่วนในแง่คุณภาพ จำนวนไม่น้อยเป็นผลงานระดับคว้ารางวัลจากเวทีต่างๆ เช่น ดอยรวก’ เรื่องสั้นยอดเยี่ยมรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ปี 2551, ลูกของลูกสาว’ เรื่องสั้นรางวัลสุภาว์ เทวกุล ปี 2553, อรุณสวัสดิ์สนธยา รางวัลหนังสือดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2556, ทรงจำ’ เรื่องสั้นยอดเยี่ยมประเภทวิทยาศาสตร์ รางวัลมติชนอะวอร์ด, นายหนุ่ม นามสมมติ’ เรื่องสั้นรางวัลชมเชยจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ฯลฯ แม้จำนวนรางวัลจะเยอะ (พิมพ์ให้ครบคงเมื่อยมือมาก) แต่รางวัลเหล่านั้นกลับมีจุดเริ่มต้นที่ง่ายและตรงไปตรงมาอย่าง ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ

“รางวัลไม่ใช่เรื่องคุณค่าหรือความภูมิใจอะไรเลยเหรอ” ผมสงสัย เมื่อบทสนทนามาสู่เรื่องการเขียนเพื่อล่ารางวัล

“อันนั้นก็ด้วย แต่หลักๆ คือเรื่องเงิน” เธอเปิดหนังสือ อันเป็นที่รัก รวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุด แล้วพลิกไปหน้าท้ายๆ “เนี่ย ดูสิ รายชื่อรางวัลยาวเหยียดเลย”

ต่อคำถามว่า “อยู่ได้ไหม” เธอไม่ได้ตอบเป็นคำพูด แต่ทาวน์เฮาส์ย่านพหลโยธินที่อยู่ระหว่างผ่อน และการเลี้ยงดูลูกตัวน้อยสองคนร่วมกับสามี-จารี จันทราภา ได้เป็นอย่างดี (ไอย์ 7 ขวบกว่า และเอวา 1 ขวบกว่า) ผ่านงานเขียนจำนวนมากที่เธอทำอย่างตั้งใจ เสมือนเป็นคำตอบว่าเธอและครอบครัวอยู่ได้ด้วยอาชีพที่รัก

ถัดจากคำตอบว่าอยู่ได้ ผมสนใจว่าเธอมาสู่จุดนี้ได้ยังไง และอาชีพนักเขียน ณ ปัจจุบัน เธออยู่กับมันยังไง

ใช่ เธอคว้ารางวัลมามากมาย แต่อย่างที่เรารู้กัน เส้นทางนี้ไม่มีคำว่าง่าย และคงไม่มีใครโรยกลีบกุหลาบไว้ต้อนรับเลย

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า ก่อกองทราย ของ ไพฑูรย์ ธัญญา ถือเป็นจุดเปลี่ยนด้านการอ่านเลย เล่าให้ฟังหน่อย

ตอนเด็กๆ แม่จะอ่านนิตยสาร เช่น สตรีสาร ลลนา สกุลไทย เป็นการอ่านเพื่อความบันเทิง เราก็อ่านตาม ช่วงอยู่โรงเรียนประถมก็อ่านหนังสือเด็ก นิทาน สารานุกรมภาพ ซึ่งในโรงเรียนมีแค่นั้น เราไม่เคยอ่านวรรณกรรมผู้ใหญ่มาก่อน พอขึ้น ม.1 จะว่าบังเอิญหรือโชคดีก็ได้ เราได้อ่าน ก่อกองทราย เป็นหนังสือที่เปลี่ยนโลกเปลี่ยนมุมมอง บอกในสิ่งที่เราไม่เคยรู้เคยคิดมาก่อน เล่าถึงความรุนแรง ความอยุติธรรม ความตาย ความโศกเศร้า ดาร์คแบบที่ไม่มีในหนังสือนิทานแน่ๆ หรือวรรณกรรมเยาวชนที่เคยอ่านก็ไม่มี เล่มนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากอ่านหนังสือแนวนี้

จากความชอบอ่าน คุณเริ่มเขียนตอนไหน

เราเขียนตั้งแต่ ม.1 เรื่องสั้นเรื่องแรกคือ อาถรรพ์ผีเหรียญ เขียนแล้วซีรอกซ์ให้เพื่อนอ่าน เพื่อนๆ ก็ชอบกัน บอกว่าอ่านสนุก เคยทำการ์ตูนกับน้องสาวด้วยนะ น้องเป็นคนวาด ส่วนเราเป็นคนคิดเรื่อง

ตอนเด็กๆ เคยอยากมีอาชีพนักเขียนบ้างไหม

คิดเล่นๆ น่ะมี แต่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้จริงเลย ตอนเด็กๆ เรามองว่าคนเป็นนักเขียนต้องเก่งมาก เป็นอาชีพที่สูงส่งและไกลตัว เลยไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นไปได้

ความคาดหวังจากพ่อแม่ล่ะ

พ่อเสียชีวิตตั้งแต่เรา 8 ขวบ เลยไม่เคยรับรู้ความคาดหวัง ส่วนแม่อยากให้ทำงานที่มั่นคง มีเงินเดือน ครอบครัวทางพ่อเป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นทันตแพทย์ เป็นเภสัช คือรวมตัวกันเปิดโรงพยาบาลได้เลย แม่เลยคิดว่า งั้นพยาบาลละกัน เราฟังคำแนะนำ พยายามไปทางนั้น พอเรียนจบ ม.6 ที่จังหวัดตาก ก็สอบพยาบาลได้ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สวรรค์ประชารักษ์ ต้องเรียนที่นครสวรรค์ ถือเป็นวิทยาลัยพยาบาลที่ค่อนข้างดัง แต่เรียนได้ไม่ถึงปี เรารู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเองอย่างแรง การเรียนเครียดมาก พอผ่านไปห้องฉุกเฉิน เราเห็นแล้วบอกตัวเองทุกๆ วันว่าตลอดชีวิตต้องอยู่แบบนี้ เราไม่ได้ไม่ชอบบรรยากาศนะ แต่ไม่อยากมีส่วนร่วมกับการรับผิดชอบชีวิตใคร เครียดจนหลอน แล้ววิทยาลัยอยู่ในโซนโรงพยาบาลด้วย ทุกๆ วันอยู่กับบรรยากาศนั้น พยายามทนมาตลอดจนไม่ไหวจริงๆ เลยไปบอกแม่ โทรไปร้องไห้ บอกว่าไม่ไหวแล้ว เครียดมาก เขาก็เข้าใจ แม่เป็นคนพาไปลาออก

พอลาออก เราเหมือนออกจากความมั่นคง มีคำถามว่าจะไปไหน อาที่เป็นหมอโทรมาถาม พยายามจะบอกว่า “เข้าใจว่าเครียดนะ อาจเป็นช่วงแรกๆ ที่ยังปรับตัวไม่ได้” เราก็ขอบคุณ แต่เรามั่นใจว่าไม่เรียนแล้ว ญาติๆ คงผิดหวังอยู่ประมาณนึง ตอนนั้นอยากทำงานหนังสือ อยู่สำนักพิมพ์ หรือทำงานเขียน ทั้งญาติและเพื่อนก็พูดกัน เป็นอาชีพที่ต้องเก่งจริงๆ ถึงทำได้นะ คนรอบตัวมักมองการอ่านการเขียนเป็นงานอดิเรกมากกว่า

ตอนออกจากวิทยาลัยพยาบาล มันยังเพ้อๆ ลอยๆ เรามีต้นทุนเรียนวิทย์มา ก็พยายามจะรักษาไว้ เลยมาเรียนคณะวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ที่ ม.รามคำแหง ช่วงนั้นปี 2540-2541 ประเทศไทยฟองสบู่แตกพอดี แม่ก็แย่ เราเลยต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย มีอะไรให้ทำก็ทำ เสิร์ฟ ล้างจาน แจกใบปลิว แต่พอทำงานก็เข้าแล็บไม่ได้แล้ว เลยต้องเปลี่ยนมาเรียนคณะมนุษยศาสตร์ ภาษาไทย เรียนรามฯ รหัส 41 เรียนจบ 44 มาได้งานแรกเป็นครูสอนภาษาไทย ระหว่างนั้นแอบสมัครงานสำนักพิมพ์ไปด้วย ผ่านไปเกือบปีก็มาได้งานที่ ‘นานมี’ เราทำอยู่ฝ่ายพิสูจน์อักษร ปรู๊ฟหนังสือทุกประเภท

เป็นงานที่เกี่ยวกับหนังสือครั้งแรกเลย

ก่อนหน้านั้นก็เขียนมาตลอดนะ เขียนบันทึก เรื่องสั้น กลอน ไดอารี่ หรือไดอารี่ในรูปแบบเรื่องสั้น ว่างเมื่อไรก็เขียน สมัยเรียนที่รามฯ แม้จะทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย แต่สิ่งที่เราทำอยู่ตลอดคือเข้าห้องสมุด ยืมหนังสือวรรณกรรมผู้ใหญ่มาอ่าน ยืมแล้วยืมอีก การอ่านหนังสือตอนนั้นก็สะสมอยู่ในตัว ตอนทำงานนานมี เราเขียนเรื่องสั้นอยู่เรื่องนึง เพื่อนที่เป็น บก. มาเห็น เลยเอาให้อ่าน เขาอ่านแล้วก็อึ้งๆ  “นัท นี่มันเลยระดับว่าดีแล้ว งานแบบนี้ต้องส่งประกวด” เราเลยส่งไปนายอินทร์อะวอร์ดเป็นครั้งแรก เรื่องสั้นชื่อ ‘กระต่ายตายแล้ว ก็ได้เข้ารอบตีพิมพ์ (หนังสือ สมภารระดับ 8 ตีพิมพ์ปี 2550) ปีต่อมาส่งเรื่องสั้นไปอีกเรื่อง คราวนี้ได้รางวัลชนะเลิศ จากเรื่องสั้นชื่อ ‘ดอยรวก’ (หนังสือ ดอยรวก ตีพิมพ์ปี 2551)

เมื่อเรื่องสั้นที่ส่งประกวดได้ตีพิมพ์ ทั้งเข้ารอบและได้รางวัลชนะเลิศ เป็นกำลังใจไหมว่า ‘ฉันเป็นนักเขียนได้’

ตอนส่งไปคิดแค่ว่า ลองส่งดูก่อน พอครั้งแรก ได้ตีพิมพ์จริงๆ ตื่นเต้นมาก ตอนนั้นอยู่หอพักกับน้องสาว พี่ตุ๊ (จตุพล บุญพรัด) โทรมาบอกผล ดีใจจนพูดไม่รู้เรื่อง ค่าเรื่องไม่เยอะหรอก แต่มันยิ่งใหญ่กับเรามาก พอปีต่อมา ส่งอีก แล้วได้รางวัลชนะเลิศ ตอนนั้นอยากทำงานเขียนจริงๆ จังๆ แล้วล่ะ อยากเขียนเรื่องสั้น เขียนนิยาย แต่ยังไม่เชื่อว่าจะเป็นรายได้หลัก

หลังจากทำงานที่นานมีมาประมาณสามปี เราตัดสินใจลาออกมาเรียนจิตวิทยาคลินิกที่ราม เพราะสนใจทางนี้ คิดว่าเอามาใช้ในงานเขียนได้ ระหว่างนั้นก็รับงานฟรีแลนซ์พิสูจน์อักษร เรียนครั้งนี้โอนหน่วยกิตได้หลายตัว เลยเรียนไม่ถึงสองปีก็จบปริญญาตรีอีกใบ

พอเรียนจบจิตวิทยาคลินิก ซึ่งเป็นความสนใจด้วย ยังอยากเป็นนักเขียนไหม

ตอนนั้นคิดว่า ทำงานด้านจิตวิทยาคลินิกไปด้วย เขียนหนังสือไปด้วยละกัน เราเริ่มงานเป็นนักจิตวิทยาอยู่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต แต่ทำได้ไม่นาน ช่วงนั้นมีปัญหาเรื่องสุขภาพ และท้องลูกคนแรก (ไอย์) ด้วย เลยตัดสินใจลาออกมาอยู่กับน้าติณ (จารี จันทราภา – สามี) ช่วงนั้นถือว่าหนัก มีแค่เขียนเรื่องสั้นให้นิตยสาร เล่มโปรด เดือนละหนึ่งชิ้น รายได้ไม่เยอะ แต่เราจำเป็นต้องอยู่ให้ได้ มีบางเดือนมีรายได้ 2,500 บาท ก็ต้องอยู่ให้ได้

ช่วงนั้นใช้วิธีล่ารางวัล เขียนเรื่องสั้นส่งประกวด ไม่ได้ทำเพื่อเกียรติยศอะไรเลย คิดแต่ว่ารางวัลไหนมีเงินก็เอาทั้งนั้น

รางวัลไม่ใช่เรื่องคุณค่าหรือความภูมิใจอะไรเลย

อันนั้นก็ด้วย แต่หลักๆ คือเรื่องเงิน เนี่ย (เปิดหนังสือ อันเป็นที่รัก รวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุด แล้วพลิกไปหน้าท้ายๆ) ดูสิ รายชื่อรางวัลยาวเหยียดเลย รางวัลที่เคยได้มีตั้งแต่ 3,000 บาท ไปจนถึง 50,000 บาท ส่วนรพีพรเป็นรางวัลที่ให้กับคนทำงานเขียน อันนั้นได้ 100,000 บาท

พอคลอดไอย์แล้ว ความลำบากที่เจอ เคยคิดว่าอาชีพนี้อยู่ยาก อยากเปลี่ยนไปทำงานอื่นบ้างไหม

เคย แต่ทำไม่ได้ เพราะสุขภาพของไอย์ก็ไม่ดี ตอนคลอดไอย์เจอปัญหาครรภ์เป็นพิษ กว่าจะรอดมาได้ก็หนักอยู่ พอหลังคลอดก็สุขภาพไม่ดี เราต้องดูแลใกล้ชิดตลอด สุขภาพของไอย์เหมือนเป็นภาคบังคับให้ทำงานประจำไม่ได้ รายได้ก็น้อย ทำยังไง ก็ต้องอยู่ให้ได้ (หัวเราะ) ช่วงนั้นได้เซเว่นบุ๊คอะวอร์ดมา 50,000 บาท ได้รพีพรมา 100,000 บาท เราก็เอาไปจ่ายหนี้ กยศ. เลย

จากวันที่ตั้งท้อง ตอนนี้ไอย์ 7 ขวบแล้ว ช่วงไหนที่เริ่มๆ รู้สึกว่า ‘เอาล่ะ ฉันเป็นนักเขียน ฉันอยู่ได้’

ตอนได้มาเขียนคอลัมน์ให้หนังสือพิมพ์ข่าวสด นี่ล่ะ คุณณรงค์ จันทร์เรือง เสียชีวิต เลยได้มาเขียนคอลัมน์ต่อจากเขา เริ่มต้นเมื่อสามปีก่อน เราเขียนเรื่องสั้นส่ง ข่าวสด สัปดาห์ละห้าเรื่อง รวมแล้วน่าจะแปดร้อยเรื่องแล้วนะ เดือนนึงก็สองหมื่นกว่าบาท ถึงจะเขียนเยอะ แต่เราพยายามรักษาคุณภาพงานของตัวเองตลอด นอกนั้นก็เป็นรวมเรื่องผีที่พิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก เป็นการ์ตูนก็มี บางเล่มพิมพ์หลายครั้ง พอได้เงินก้อนก็เอามาดาวน์บ้าน ถ้าได้อีกก็พยายามมาโปะ แต่หนังสือการ์ตูนผีทั้งหลายจะขายดีแค่ช่วงแรกๆ ถ้าปีไหนไม่ออกเล่มใหม่ก็ไม่มีเงินพิเศษ มีแค่เรื่องสั้นที่ลง ข่าวสด แล้วช่วงหลัง พื้นที่ลงเรื่องสั้นแทบไม่มี รางวัลปิดไปเกือบหมด พูดกันตรงๆ ถ้าไม่ได้ ข่าวสด ตายแน่เลย

แล้วการมีลูกส่งผลต่ออาชีพนักเขียนที่ทำอยู่บ้างไหม

ปัญหาเดียวที่มี คือความไม่มั่นใจ เขียนแล้วไม่มีใครชอบหรอก พอมีลูก ความคิดแบบนั้นต้องโยนทิ้ง ไม่งั้นทำงานไม่ได้ งานเขียนคือรายได้ในการเลี้ยงลูก การเลี้ยงลูกให้รอดเป็นความภูมิใจ ความรู้สึกด้อยๆ ในใจลดลงไปด้วย อย่างน้อยที่ทางที่ถูกต้องที่สุด คือที่ทางของการเป็นแม่ กลับมาบ้านแล้วลูกบอกว่า “รักแม่นะ” สายตาที่สะท้อนว่า เขาศรัทธาในตัวเราจริงๆ มันเรียกความศรัทธาในตัวเอง เติมเต็มความเป็นคน ความเป็นมนุษย์เต็มมากขึ้น

เล่าให้ฟังหน่อย ตารางการทำงาน ณ ปัจจุบันเป็นยังไง

ถ้าลูกหลับก็ต้องรีบเขียน ชั่วโมงสองชั่วโมงก็ต้องทำ พอสองคนหลับตอนกลางคืน หลังเที่ยงคืนก็มาเขียน ช่วงนี้จะตื่นสายหน่อย เพราะทำงานกันจนดึก ซึ่งมันไม่ดีนะ ยังจัดระบบได้ไม่ค่อยดี

ด้วยเงื่อนไขเรื่องเลี้ยงลูก คุณเลยต้องทำงานเป็นท่อนๆ คิดยังไงกับคำพูดที่ว่า การเขียนต้องใช้สมาธิ ต้องรออารมณ์

ด้วยความจำเป็น เรารออารมณ์ไม่ได้เลย บางวันต้องอุ้มลูกดูดนมแล้วพิมพ์งานเลย แต่ก็ต้องทำได้

นอกจากเรื่องสั้นจาก ข่าวสด และค่าลิขสิทธิ์หนังสือเล่มเกี่ยวกับเรื่องผี ยังมีรายได้ทางอื่นอีกไหม

ไม่มีแล้ว ตอนนี้มีเงินที่ได้จากไอย์ไปออกทีวีบ้าง แต่เราเก็บไว้ให้ลูก ไม่ได้เอาเงินเหล่านั้นมาใช้เลย

นักเขียนบางคนใช้เวลานานกว่าจะเขียนจบแต่ละเรื่อง แต่คุณเขียนเรื่องสั้นแทบทุกวันมาสามปีแล้ว

นั่นแหละ เขียนมันทุกผี ผีตำถาด ผีน้ำเต้าหู้ ผีขนมตาล คิดอะไรได้ก็จดไว้ อะไรก็เป็นผีได้หมด แต่เรื่องสั้นที่ลงข่าวสดจะไม่ยาวเท่าไร จำกัดความยาวแค่ 1,000 คำ เกินได้นิดหน่อย ช่วงแรก ผีของเราเป็นคนละสไตล์กับคุณณรงค์ คนอ่านไม่คุ้นเคย แต่เวลาผ่านไปก็สร้างแฟนของตัวเองที่อายุน้อยลง

แต่คนอ่านบางคนไม่รู้จักคนเขียนนะ เคยอ่านงานอย่างเดียว เด็กผู้หญิงที่อยู่บ้านตรงข้ามชอบหนังสือที่เราเขียน แต่ไม่รู้ว่าคนเขียนอยู่ตรงนี้ ตอนปีใหม่เอาหนังสือไปให้ พอรู้ก็ดีใจมาก หลานที่อยู่ต่างจังหวัดก็ไม่รู้ เขาเป็นแฟนคลับโดยไม่รู้ว่าคือเรา อาไปเห็นหนังสือก็แปลกใจ ชื่อเหมือนในเฟซบุ๊ก เลยมาถามว่า “นัทเขียนเหรอ อาไม่รู้มาก่อน ลูกซื้อมาเป็นตั้งเลย” อาไม่ได้เป็นคนอ่านไง เราว่าตลาดที่ยังเปิดอยู่คือหนังสือของเด็ก นิทาน การ์ตูนความรู้ เป็นกลุ่มที่ไม่มีวันเจ๊ง

แสดงว่าคุณเป็นเซเล็บในหมู่เด็กๆ นะเนี่ย

นิดนึง (ยิ้ม)

เวลาเขียนเรื่องสั้นชิงรางวัลต้องตีโจทย์ไหม เวทีนี้เขียนแบบไหน เวทีต่อไปเปลี่ยนมาเขียนอีกแบบ เลือกใช้วิธีให้เหมาะกับกรรมการ

เราเขียนแบบที่ตัวเองอยากเขียนนั่นแหละ เขียนให้คุณภาพดีที่สุดเท่าที่ทำได้ พอมีรางวัลขึ้นมาก็มาดูว่า เรื่องไหนตรงกับที่เขาต้องการ จะมีบางเวทีกำหนดโจทย์เฉพาะ เช่น เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ เรื่องสั้นการเมือง ปกติเราไม่เขียนการเมืองเลย ก็ต้องเขียนตามโจทย์นั้น ซึ่งส่งไปก็ไม่เคยได้รางวัลเลย (หัวเราะ) คงไม่ใช่สไตล์ของตัวเอง เป็นคำตอบเหมือนกันนะ การเขียนตามโจทย์มากก็ไม่ได้โอเค

คุณนิยามคำว่า ‘วรรณกรรมที่ดี’ ยังไง

มันมีหลากหลาย แต่อย่างน้อยคนอ่านต้องสนุก ประทับใจ เกิดความรู้สึกค้างในใจแล้วเอาไปคิดต่อ เราจะมีความสุขมากที่คนอ่านบอกว่าอ่านแล้วสนุก ประทับใจ ร้องไห้

นักเขียนชื่อ นทธี ศศิวิมล เคยเข้ารอบ Long List ซีไรต์มาสองครั้ง การผิดหวังซ้ำๆ มีผลกับการทำงานบ้างไหม

สำหรับเรา รางวัลซีไรต์เหมือนกับรางวัลอื่นๆ คือได้เงิน แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกับทุกรางวัลคือ คนได้จะถูกคาดหวังสูงมาก ทั้งจากคนอ่านและคนเขียนด้วยกัน รวมทั้งสื่อต่างๆ ด้วย เป็นอะไรที่โคตรเกร็ง ทุกครั้งที่ส่งซีไรต์ เราคาดหวังแค่เข้าชอร์ตลิสต์ ไม่อยากได้ กลัวมาก กลัวอย่างที่คนอื่นเจอกันมา กลัวความคาดหวังที่จะเข้ามา แล้วเราอาจเป็นให้ไม่ได้ เอาสั้นๆ เลยคือกลัวโชว์โง่ เราอาจไม่ฉลาดพอจะเป็นนักเขียนซีไรต์ โดยนิสัยแล้ว เราเป็นคนไม่มั่นใจในความคิดความอ่านของตัวเอง อย่างมาสัมภาษณ์วันนี้ ก็กลัวโชว์โง่ออกมานะ เราไม่มั่นใจ

รางวัลช่วยเพิ่มความมั่นใจบ้างว่างานของเราคงดีอยู่มั้ง เลยมีกำลังใจเขียนต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามั่นใจว่า ฉันเก่ง ฉันดีระดับประเทศ แบบนี้ไม่ใช่

การที่ นทธี ศศิวิมล เป็นที่รู้จัก และยังมีงานเขียนอยู่สม่ำเสมอ เกิดจากปัจจัยอะไร

คงมาจากรางวัลบ้าง บางส่วนเราก็เสนองานไปสำนักพิมพ์ต่างๆ ด้วยตัวเอง

คือการบอกว่า ถ้านักเขียนดีจริง สปอตไลต์ก็ส่องมาเอง คนโชคดีแบบนั้นน้อยมากนะ รางวัลช่วยแนะนำตัวจริงๆ ตอนมีดราม่าเกี่ยวกับรางวัลวรรณกรรม พี่ๆ บางคนบอกว่า “ทำไมต้องไปพึ่งรางวัลด้วย” แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่ไม่พึ่งรางวัลแล้วอยู่ได้ จากโนบอดี้ ถ้าไม่มีรางวัล ใครจะไปรู้ว่าคนนี้มีตัวตนอยู่บนโลก รางวัลก็ช่วยให้เป็นที่รู้จัก คนอ่านยอมฟังว่าคนนี้คิดยังไง และมีโอกาสในวงการนี้มากขึ้น

เพิ่งมีคนมาสัมภาษณ์ ถามว่าในอนาคตอยากให้มีรางวัลอะไร เรานึกถึงวรรณกรรมเด็ก บ้านเราวรรณกรรมเด็กไม่คืบหน้า คนรู้จักวรรณกรรมเด็กของไทยเรื่องล่าสุดคืออะไร บึงหญ้าป่าใหญ่ (เขียนโดย เทพศิริ สุขโสภา) กี่สิบปีมาแล้วล่ะ เรื่องใหม่ๆ จมเพราะอะไร โอกาสที่คนจะได้พิมพ์วรรณกรรมเยาวชนในไทย แทบจะมีแค่โอกาสเดียว คือชนะรางวัล ซึ่งก็ไม่มีใครอ่าน เพราะต้องตีกรอบคุณค่าแบบที่กรรมการให้ ดีของกรรมการคือต้องเป็นหนังสือเรียนได้

สมัยนี้รางวัลลดลง คุณวางแผนอาชีพของตัวเองยังไง

เราก็ขยับไปออนไลน์บ้าง มีงานลง Fictionlog (fictionlog.co) MEB (www.mebmarket.com) บางอันก็ศึกษาอยู่ เช่น จอยลดา แต่ยังไม่เชี่ยวชาญ เพราะมันเป็นบทสนทนา แต่งานออนไลน์ยังไม่ได้เงินมากเท่าไร เป็นช่วงที่ทุกคนต้องปรับตัว ถึงยังได้เงินน้อยก็ต้องเตรียมตัวไว้ ส่วนพิมพ์หนังสือ ตอนนี้ก็คิดโปรเจกต์ใหม่ๆ เสนอสำนักพิมพ์อยู่เรื่อยๆ

ถ้าวันดีคืนดี ข่าวสด ขอหยุดเรื่องสั้นที่เขียนอยู่ คุณจะทำยังไง

เราคิดบ่อยมากว่าทุกวันนี้อยู่ได้เพราะงานที่ ข่าวสด เลยต้องวางแผนอนาคตไว้บ้าง ก็คิดโปรเจกต์เสนอสำนักพิมพ์ไปเรื่อยๆ การ์ตูน ไลต์โนเวล ฯลฯ ตอนนี้รายจ่ายหลักที่ห่วงสุดคือ ผ่อนบ้าน พอได้เงินก้อนจากอะไรก็ตาม จะพยายามมาโปะค่าบ้าน และภาวนาให้ ข่าวสด มีต่อไปจนกระทั่งผ่อนบ้านหมด

ถ้าจะให้อยู่รอดด้วยงานเขียน ก็ต้องบริหารจัดการรายได้ มีวินัยในการทำงาน ทำงานให้ต่อเนื่อง

นอกจากความสนุก อะไรคือสิ่งที่คุณมักสอดแทรกเข้าไปในงานของตัวเอง

เราอยากให้คนอ่านเข้าใจความหลากหลาย เรื่องสั้นหลายเรื่องที่เขียน เจตนาอยากให้คนอ่านมองในมุมคนอื่นมากขึ้น เพื่อเข้าใจกันมากขึ้น ไม่ตั้งหน้าตั้งตาเกลียดชังกัน เรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่เขียนชื่อว่า นายหนุ่ม นามสมมติ (รางวัลชมเชยจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ) เป็นคำที่มักใช้ตามหนังสือพิมพ์ ตอนนั้นมีข่าวเด็กถูกข่มขืน เราใช้ทฤษฎีจิตวิทยาคลินิกที่เรียนมาสร้างตัวละครนี้ ทำไมเขาถึงทำแบบนี้ คำตอบคือ ส่วนใหญ่คนที่ทำแบบนี้เคยโดนทารุณแบบนี้มาก่อน ทำไมเขาถึงโดนทารุณแบบนี้ล่ะ ทุกวันนี้มีเด็กที่โดนทารุณอยู่รอบตัวแล้วคุณเฉยๆ หรือเปล่า จนกระทั่งเด็กคนนี้โตขึ้นมาแล้วทำร้ายคนใกล้ตัว  เราอยากให้คนอ่านเข้าใจคน มองภาพที่มันกว้างขึ้น เรามีส่วนในความเลวร้ายที่กำลังด่าหรือเปล่า ถ้ามี เราช่วยกันแก้ไขได้ไหม

เรื่องแรกก็ผีเหรียญ มาตอนนี้กลายเป็นมือเขียนเรื่องผี คุณกลัวผีไหม

กลัวมาก (ลากเสียง) เราเป็นคนไม่เชื่อว่าผีมีจริง ไม่เคยเจอผีด้วยนะ แต่พอเขียนเยอะๆ เรากลัวจินตนาการของตัวเองเนี่ยแหละ

คนไม่เชื่อว่ามีผี แต่กลัวผี สร้างเรื่องผีขึ้นมาในงานยังไง

เราชอบเรื่องผี เรื่องสยองขวัญ ถ้าไม่กลัวผี อ่านเรื่องผีไม่สนุกหรอก ตื่นเต้น เร้าใจไง พอเขียนมากๆ จนในมโนชัดมาก เราก็อินจนกลัว เขียนแล้วก็ต้องจินตนาการว่าคนอ่านจะเห็นเป็นยังไง ไม่ฟุ้งเกินไป เพราะคนอ่านรับรู้ได้ว่าเพ้อเจ้อเกินเส้น พอไม่เชื่อก็ไม่อิน

เท่าที่ดูจากคนอ่านในข่าวสด คนจะชอบแนวที่อิงกับความเชื่อ กฎแห่งกรรม คนนี้ฆ่าคนนี้ สุดท้ายก็ตายแบบคนนี้ ฆ่าหมูแล้วตอนตายก็ร้องเป็นหมู เขียนมาแปดร้อยเรื่อง ผีอาจจะชื่อซ้ำ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตัวละครเปลี่ยน ไม่เหมือนเดิม

แบบนี้พูดสิ่งต่างๆ รอบตัวก็กลายเป็นผีในเรื่องสั้นของคุณได้ทั้งนั้นเลยสิ อย่างผีทีวี มีหรือยัง

สามสี่เรื่องแล้ว ผีโซฟา ผีน้ำเต้าหู้ ผีข้าวต้มมัด ผีข้าวมันไก่ ผีผลไม้ดอง ผีตำถาด เราก็เอาตามที่ช่วงนั้นมีอะไรฮิต เราสร้างพล็อตและดำเนินเรื่องให้น่ากลัว

ผีตุ่มน้ำ

มี

ผีสมาร์ตโฟน

เยอะแยะ

ผีจักรยาน

ก็มีแล้ว

ผีฝาชี

(เงียบนาน) เหมือนว่าจะไม่มี เดี๋ยวต้องเขียนแล้ว (หลังจากนั้นไม่กี่วัน นทธีพิมพ์สเตตัสเฟซบุ๊ก บอกว่ากำลังเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับผีฝาชี)

Fact Box

นทธี ศศิวิมล ปัจจุบันอายุ 36 ปี มีลูกสองคน จบการศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาไทย และยังเรียนเพิ่มเติมจนได้ปริญญาทางด้านจิตวิทยาคลินิก ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ตัวอย่างผลงานเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลวรรณกรรม อาทิ

  • ดอยรวก เรื่องสั้นยอดเยี่ยมรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ปี 2551
  • ลูกของลูกสาว เรื่องสั้นรางวัลสุภาว์ เทวกุล ปี 2553
  • เรื่องสั้น เต้นรำไปบนท่อนแขนอันอ่อนนุ่ม รางวัลรองชนะเลิศ นายอินทร์อะวอรด์ ปี 2554
  • อรุณสวัสดิ์สนธยา รางวัลหนังสือดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2556
  • ทรงจำ เรื่องสั้นยอดเยี่ยมประเภทวิทยาศาสตร์ รางวัลมติชนอะวอร์ด
  • นายหนุ่ม นามสมมติ เรื่องสั้นรางวัลชมเชยจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ

ภาษาอังกฤษ ได้แก่

  • เรื่องสั้น ช่างทำกุญแจที่หัวมุมถนน
  • เรื่องสั้น ลูกของลูกสาว
  • เรื่องสั้น น้อง

ภาษาอินโดนีเซีย

  • เรื่องสั้น เต้นรำไปบนท่อนแขนอันอ่อนนุ่ม

ภาษามลายู จีน อังกฤษ

  • การ์ตูนความรู้วรรณกรรม เรื่องผีๆ รอบโลก/ ผีสี่ภาค/ ผีหลังห้อง
Tags: , , , ,