คิมจองอึน ประกาศจะถอดถอนอาวุธนิวเคลียร์ให้ลุล่วงก่อนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีครบวาระ ถือเป็นบทวัดใจว่าผู้นำสหรัฐอเมริกาพร้อมที่จะตอบแทนเกาหลีเหนืออย่างสมน้ำสมเนื้อหรือยัง ถ้ายังไม่พร้อม เอเชียตะวันออกย่อมคุกรุ่นด้วยความขัดแย้งหลายฝ่ายต่อไป

เกมเจรจาว่าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือคืบหน้าไปอีกขั้น ชุงอุยยง ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีเกาหลีใต้แถลงข่าวสำคัญเมื่อวันพฤหัสที่ 6 กันยายน หลังจากหารือกับผู้นำเกาหลีเหนือที่กรุงเปียงยาง

ข่าวที่ว่าก็คือ คิมจองอึนฝากบอกมา ว่าเกาหลีเหนือจะ ‘ถอดถอนนิวเคลียร์’ ให้เสร็จสิ้นก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์จะครบวาระในตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงต้นปี 2021 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำเปียงยางระบุกำหนดเวลาในเรื่องนี้อย่างชัดเจน

แม้ข่าวนี้มีความสำคัญในแง่ของความคืบหน้า แต่นั่นอาจเป็นคนละเรื่องกับ ‘ข่าวดี’ ในเรื่องสันติภาพ เพราะเงื่อนไขใหญ่ของการทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์นั้น ไม่ได้ขึ้นกับเปียงยางเพียงฝ่ายเดียว

เกาหลีเหนือยืนยันมาโดยตลอดว่า ปลดนิวเคลียร์ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน แต่ละขั้นตอนที่ยื่น ‘หมูไป’  อเมริกาต้องตอบแทน ‘ไก่มา’ หากพ้นจากเงื่อนไขนี้ ความร่วมมือย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้

 

เจรจาหยุดชะงักเพราะใคร

นับแต่ทรัมป์พบกับคิมที่สิงคโปร์เมื่อเดือนมิถุนายน เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายพบปะกันหลายรอบ แต่การเจรจาแทบไม่มีอะไรคืบหน้า เมื่อเดือนสิงหาคม ทรัมป์ถึงกับสั่งระงับกำหนดเยือนเปียงยางของรัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ ปอมเปโอ หลังจากเกาหลีเหนือยืนยันเงื่อนไข หมูไป-ไก่มา

เปียงยางบอกว่า เกาหลีเหนือยอมถอยแล้วหลายก้าว ด้วยการทำลายแหล่งทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ และทำลายแหล่งทดสอบเครื่องยนต์ขับดันจรวด ดังนั้น จึงไม่มีการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ ไม่มีการยิงทดสอบขีปนาวุธอีก

ชุงบอกในการแถลงข่าว ว่า คิมเปรยว่า เกาหลีเหนือถือเป็นหลักการว่า ฝ่ายสหรัฐควร ‘ถอยพร้อมกัน’  แต่จนถึงขณะนี้ อเมริกายังไม่ได้ตอบแทนให้สมราคา

สิ่งตอบแทนที่เกาหลีเหนืออยากได้ก็คือ การผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร และการระงับการซ้อมรบร่วมระหว่างทหารอเมริกันกับกองทัพเกาหลีใต้ ซึ่งฝ่ายสหรัฐบอกว่า ได้ตอบสนองไปแล้วสำหรับข้อหลัง

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจรจาครั้งหลังสุด บอกว่าเกาหลีเหนือไม่ยอมเริ่มพูดคุยในหัวข้อนิยามของคำว่า การถอดถอนนิวเคลียร์ (denuclearization) จนกว่าฝ่ายอเมริกันจะยอมรับเรื่องผ่อนคลายการคว่ำบาตร

อย่างที่เคยบอก คำว่า ถอดถอนนิวเคลียร์ สหรัฐกับเกาหลีเหนือเข้าใจกันคนละอย่าง วอชิงตันหมายถึงการรื้อทำลายโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนืออย่างสิ้นเชิง โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก เช่น ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศเข้าไปตรวจพิสูจน์ แต่เปียงยางหมายถึงการทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์ ซึ่งครอบคลุมประเด็นร่มนิวเคลียร์และกองกำลังสหรัฐในเกาหลีใต้ด้วย

ในเมื่อฝ่ายอเมริกันไม่ยอมรับหลักการยื่นหมู-ยื่นแมว การเจรจาจึงไปไม่ถึงไหน

 

ต่างฝ่ายต่างเกี่ยงงอน

ประเด็นเจรจาที่ติดขัดในเวลานี้ อยู่ตรงข้อเกี่ยงงอนที่ว่า ระหว่างการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ กับการประกาศยุติสงครามเกาหลี ปี 1950-1953 เรื่องไหนสมควรทำก่อน

สหรัฐฯ เรียกร้องให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธก่อน เปียงยางเรียกร้องให้วอชิงตันยุติสถานะสงครามระหว่างกันก่อน เหตุที่ข้อเกี่ยงงอนนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้นั้น ก็เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจยังไม่เกิด

เกาหลีเหนือเกรงว่า ถ้าปลดอาวุธก่อน ตัวเองก็จะไม่มีหลักประกันความมั่นคง จึงเรียกร้องหลักประกัน 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ หนึ่ง สหรัฐต้องถอนทหารออกจากเกาหลีใต้ สอง สหรัฐต้องยุตินโยบายร่มนิวเคลียร์ ซึ่งอเมริกาให้ความคุ้มครองแก่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น

ฝ่ายอเมริกันกลัวว่า ถ้าประกาศยุติสงครามก่อน เกาหลีเหนือก็จะได้คืบเอาศอก เรียกร้องว่า ในเมื่อเลิกเป็นศัตรูกันแล้ว สหรัฐก็ต้องเลิกซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้ และถอนทหารกลับบ้านไป

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือดูจะผ่อนท่าทีลง ชุงซึ่งได้พบพูดจากับคิมในฐานะตัวแทนของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เผยว่า ล่าสุด คิมเสนอว่า การยุติสถานะสงครามนั้น ขอให้สหรัฐฯ ทำในรูปของคำประกาศก็ได้ การออกคำประกาศที่ว่านี้ไม่เกี่ยวกับความเป็นพันธมิตรระหว่างวอชิงตันกับโซล และไม่เกี่ยวกับเรื่องการถอนทหาร

 

วัดใจคนชื่อ ‘ทรัมป์’

ทำไมคิมจึงอยากได้คำประกาศดังกล่าว  โกะยูฮวอน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเกาหลีเหนือจากมหาวิทยาลัยดงกุก บอกว่า ผู้นำเปียงยางต้องการใช้คำประกาศนี้ในการเกลี้ยกล่อมพวกสายเหยี่ยวในกองทัพ ขอให้ยอมคลายจุดยืนที่เป็นปรปักษ์กับอเมริกา เพื่อให้สามารถเดินหน้าปลดอาวุธนิวเคลียร์ได้

ในเดือนกันยายนนี้ การแก้ไขความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลีอาจมีความคืบหน้าบ้างก็เป็นได้ เพราะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศที่มีเดิมพันกับสันติภาพเกาหลีมีนัดพูดคุยเพื่อหยั่งท่าทีกันหลายคู่

กระทรวงต่างประเทศสหรัฐจะส่งผู้แทนพิเศษด้านนโยบายเกาหลีเหนือคนใหม่ สตีฟ บีกัน ตระเวนเยือนเกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น ในช่วงวันที่ 10-15 กันยายน จากนั้น ประธานาธิบดีมุนแจอินจะเดินทางไปพบคิมจองอึน ที่กรุงเปียงยาง ในช่วงวันที่ 18-20 กันยายน

ท่าทีล่าสุดของคิมที่ฝากบอกมากับที่ปรึกษาของผู้นำเกาหลีใต้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คงเป็น ‘ตุ๊กตา’ ที่แต่ละฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายสหรัฐ จะหยิบขึ้นพินิจพิจารณา ก่อนประกาศท่าทีของตัวเองต่อไป  

ถ้ารัฐบาลทรัมป์เอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ไม่คลายล็อกมาตรการคว่ำบาตร ไม่รับพิจารณาเรื่องคำประกาศยุติสงครามเกาหลี คิมจองอึนจะยอมโอนอ่อนต่อไปหรือเปล่า ในช่วงกลางเดือนกันยายน เราอาจเห็นทิศทางชัดขึ้น

 

อ้างอิง:

 

บรรยายภาพ: การเดินสวนสนามในงานเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งประเทศเกาหลีเหนือ เมื่อ 9 กันยายน 2018 (โดย ED JONES / AFP)

 

Tags: , , ,