ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน เป็นทิศทางของการทำกิจกรรมทางการทูตมาตั้งแต่หลังปี 2000 นานาประเทศพยายามเน้นย้ำการทูตที่มุ่งเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง หรืออย่างน้อยที่สุด ก็สร้างคำขวัญทางการทูตด้วยการใส่คำว่า ‘ประชาชน’ ลงไปให้ดูงามดูดี

กิจกรรมที่จะเข้าข่ายสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ก็คงไม่พ้นความร่วมมือด้านการศึกษา อย่างการจัดสัมมนา ประชุมเชิงปฏิบัติการ การให้ทุนการศึกษา ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม เช่น การจัดโครงการแลกเปลี่ยนศิลปินในรูปแบบต่างๆ การจัดนิทรรศการแสดงภาพวาด การจัดคอนเสิร์ต รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนของประเทศหนึ่งสามารถเข้าไปสัมผัสและดื่มด่ำท่วงท่าลีลาการใช้ชีวิตของคนอีกประเทศหนึ่งได้

เกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องการสร้างความเชื่อมโยงดังที่ว่าไป โดยเฉพาะการเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านกระแสเกาหลีรูปแบบต่างๆ ซึ่งเราคุ้นกันดีอยู่แล้ว

แต่จะมีปัญหาก็ตรงที่เกาหลีใต้กลับไม่สามารถทำกิจกรรมเหล่านี้กับประเทศที่อยู่ใกล้ที่สุดและมีความเชื่อมโยงทางชาติพันธุ์มากที่สุดอย่าง ‘เกาหลีเหนือ’

กรุงโรมไม่สร้างเสร็จวันเดียวฉันใด สายสัมพันธ์โซล-เปียงยางก็ไม่ได้เกิดขึ้นข้ามคืนฉันนั้น…ความพยายามที่จะเชื่อมโยงและเป็นเพื่อนที่ดีกับเกาหลีเหนือมีมาตั้งแต่ปี 1983 สมัยรัฐบาลทหารของประธานาธิบดีโน แท-อู แล้ว โดยเฉพาะการจัดโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1988 ที่เปิดโอกาสให้เกาหลีใต้ได้ฟื้นสัมพันธ์กับทั้งเกาหลีเหนือ จีน และสหภาพโซเวียต

เมื่อเกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย คิม แท-จุง (เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ) กับ โน มู-ฮย็อน ได้รับเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายก้าวหน้า พวกเขาประกาศแนวทางสร้างสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งเป็นผลจากการประชุมสุดยอดผู้นำสองฝ่ายในปี 2000

แต่น่าเสียดาย ความพยายามนี้ไม่ค่อยราบรื่นนัก เมื่อเกาหลีใต้เปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลฝ่ายอนุรักษนิยมตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา

กระทั่งต้นปี 2017 คาบสมุทรเกาหลีกำลังลุกเป็นไฟ เกาหลีเหนือประกาศจะทดลองขีปนาวุธ ทรัมป์เล่นสงครามน้ำลายกับคิมผ่านทวิตเตอร์ ส่วนเกาหลีใต้ไม่มีประธานาธิบดีเพราะศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอน ทั้งหมดนี้ เป็นภาวะที่ความมั่นคงอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงทั้งสิ้น

ฉะนั้น หลังจากประธานาธิบดีมุนแจอินรับตำแหน่งแล้ว ก็ตั้งใจว่าจะต้องผ่อนคลายความตึงเครียดนี้ลงเสียก่อน ด้วยการแสดงท่าที่ที่เป็นมิตรต่อเกาหลีเหนือ เขาใช้เวทีต่างๆ บอกแก่ชาวโลกว่า เกาหลีใต้เห็นความสำคัญของกระบวนการสร้างสันติภาพ และปรารถนาจะดึงเกาหลีเหนือกลับมาเชื่อมโยงกับชาวโลกอีกครั้งด้วยการสร้างสัมพันธ์ระหว่างกัน ขณะเดียวกัน มุนแจอิน ก็ไม่ปฏิเสธที่จะร่วมมือกับสหประชาชาติในการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพื่อสร้างเงื่อนไขนำไปสู่การพูดคุย

ผลลัพธ์ที่ได้ก็อย่างที่ทุกท่านทราบครับ เกิดซีรีส์ของกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ ตั้งแต่การประชุมสองฝ่ายเดือนมกราคม เกาหลีเหนือเข้าร่วมพย็องชังโอลิมปิก การประชุมสุดยอดระหว่างสองเกาหลีเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกในรอบสิบปี มีการแลกเปลี่ยนศิลปินและวงดนตรีจากทั้งสองฝ่าย และปิดท้ายด้วยการประชุมสุดยอดผู้นำทรัมป์-คิมเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่สิงคโปร์

ระหว่างทางแม้จะติดขัดบ้าง แต่มุนก็สามารถเล่นบทเป็นสะพานที่เชื่อมร้อยประโยชน์ของทุกฝ่ายเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างดี

ศาสตราจารย์อี กึน ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ทำงานเป็นปากเสียงให้รัฐบาล (และเป็นครูของผมด้วย) บอกเลยครับว่า ประชุมสุดยอดรอบนี้แตกต่างจากครั้งก่อนด้วย 4 ประเด็น

1) เหนือ-ใต้แบ่งงานกันทำ ฝ่ายใต้รับไปจัดการสหรัฐฯ ฝ่ายเหนือรับไปจัดการจีน

2) คิมจองอึน คือคนที่ติดต่อ มุนแจอิน ในการหารือครั้งที่สองเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม โดยอยากทราบว่า ทรัมป์คิดอะไร แล้วเชื่อได้หรือไม่

3) สองฝ่ายเห็นตรงกันที่จะกัน จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย ออกไปจากกิจกรรมคราวนี้ เพราะที่ผ่านมารู้แล้วว่า ยิ่งคนมาก ปัญหาก็มาก

4) เกาหลีใต้มีแนวทางที่เรียกว่า “มองโลกในแง่ดีอย่างระมัดระวัง (cautiously optimistic)” ในการประสานกับฝ่ายเกาหลีเหนือ

การที่มุนมีส่วนสำคัญทำให้การเจรจาเกิดขึ้นได้นี้ ก็ส่งผลทันตา การเลือกตั้งท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในวันถัดมาหลังการประชุมทรัมป์-คิมนั้น พรรครัฐบาลของมุนได้ชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี/ผู้ว่าราชการ และตำแหน่งอื่นๆ

จุดนี้เองครับที่นักวิเคราะห์เห็นว่า เป็นโอกาสสำคัญที่มุนจะส่งเสริมนโยบายสร้างสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างเต็มรูปแบบ เพราะถึงแม้การเจรจาสำคัญจะเกิดขึ้นไปแล้ว แต่สองเกาหลียังต้องอยู่ด้วยกันต่อไป โดยนับจากนี้ จะมีการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนอย่างน้อย 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างกัน การจัดงานรวมญาติ และการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาวิจัยอื่น ๆ

 

สัมพันธ์เศรษฐกิจเหนือ-ใต้

สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด ก็คือการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแคซอง ซึ่งทำให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่จากเกาหลีใต้ เกิดการผลิตและการจ้างงาน

สถิติของกระทรวงรวมชาติชี้ให้เห็นว่า ช่วงปี 2005-2015 มีจำนวนบริษัทที่เข้าไปลงทุนและจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมนั้นเพิ่มขึ้นและลดลงสลับกันไป อย่างไรก็ดี นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวปิดตัวลงไปตามคำสั่งของปักคึนฮเย อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016

 

งานรวมญาติ หาครอบครัวที่พลัดพราก

กิจกรรมต่อมาคือ การจัดงานรวมญาติซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1985 แต่มาฟื้นฟูอีกครั้งในปี 2000 กิจกรรมนี้เป็นผลจากการประชุมสุดยอดผู้นำเหนือ-ใต้ครั้งที่ 1 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2010 รวมทั้งสิ้น 18 ครั้ง แต่ก็ต้องหยุดชะงักไป เพราะรัฐบาลฝ่ายอนุรักษนิยมของ อี มย็อง บัก เปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายเป็นนโยบายแข็งกร้าว ประกาศยื่นคำขาดให้เกาหลีเหนือยกเลิกโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ การเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ทำให้คาบสมุทรตึงเครียด เนื่องจากเกาหลีเหนือไม่พอใจและยิงขีปนาวุธยั่วยุบ่อยครั้ง

ข้อมูลจาก NKNews เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมาระบุว่า ผู้ปฏิบัติงานกาชาดทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะหารือกันในวันที่ 22 มิถุนายนนี้เกี่ยวกับแนวทางการจัดงานวันรวมญาติเพื่อทำตามข้อตกลงปันมุนจอม กิจกรรมอาจจัดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม (วันเอกราชเกาหลี) ตามขนบที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2015 พร้อมกับขับเคลื่อนความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เช่น การจัดทีมร่วมในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่อินโดนีเซีย

การประชุมระดับผู้ปฏิบัติงานเหนือ-ใต้ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน
ที่มา: Naver

 

สถิติที่รวบรวมจากกระทรวงรวมชาติโดย The Korea Society เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ชี้ให้เห็นว่า มีชาวเกาหลีใต้ที่ลงทะเบียนตามหาญาติที่คาดว่ายังมีชีวิตอยู่ในเกาหลีเหนือจำนวนทั้งสิ้น 131,531 ราย (1988-2018) ในจำนวนนี้ 56% ได้เสียชีวิตไปแล้ว ขณะที่ชาวเกาหลีใต้ที่มุ่งตามหาญาติโดยที่ตนยังมีชีวิตอยู่นั้น 94% อายุเกิน 60 ปี ช่วงวัยของชาวเกาหลีใต้ที่ตามหาญาติเป็นจำนวนมากที่สุดคือ 80-89 ปี นอกจากนี้ สถิติยังชี้ให้เห็นอีกว่า ความสัมพันธ์ของชาวเกาหลีใต้กับญาติที่กำลังตามหาในเกาหลีเหนือนั้นโดยมากเป็นพ่อแม่ลูกกัน (44%) รองลงมาคือ เครือญาติ (41%) และส่วนหนึ่งของครอบครัวที่ขยายออกไป (14%)

แลกเปลี่ยนทางวิชาการจากมหาวิทลัยระดับท็อป

ถัดจากกิจกรรมรวมญาติแล้ว มีอีกเรื่องหนึ่งที่สื่อไทยไม่ค่อยกล่าวถึง นั่นคือ การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและกิจกรรมทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของทั้งสองประเทศ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลส่งโทรสารไปยังคิม อิล ซ็อง มหาวิทยาลัย เพื่อขอเจรจาจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวิชาการและการวิจัยระดับมหาวิทยาลัย โดยได้รับคำตอบว่า ให้รอดูสถานการณ์ของการประชุมสุดยอดที่จะเกิดขึ้นก่อน ขณะเดียวกัน นักศึกษาได้ทำเรื่องขออนุญาตไปที่กระทรวงรวมชาติเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม และได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่มีการประชุมสุดยอดระหว่างทรัมป์กับคิมนั่นเอง คำตอบคือ ให้ดำเนินการต่อไป

นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลกับข้อความ “พวกเราไป…ไปเปียงยาง”
ที่มา: YonhapNews

 

รายละเอียดเกี่ยวกับความพยายามของนักศึกษา ได้รับการเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ในวาระครบรอบ 18 ปี การประชุมสุดยอดเหนือ-ใต้ครั้งแรกเมื่อปี 2000 มีรายงานด้วยว่า ศาสตราจารย์ ซ็อง นักอิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล เคยพบกับศาสตราจารย์แท ฮย็อง-ช็อล อธิการบดีของมหาวิทยาลัยคิม อิล-ซ็องในวาระครอบรอบ 120 ปีสถาปนามหาวิทยาลัยปักกิ่งที่ประเทศจีนอีกด้วย

ศาสตราจารย์ซ็อง นัก-อิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลในงานฉลอง 120 ปี มหาวิทยาลัยปักกิ่ง
ที่มา: DaehakChannel

 

นอกจากนี้ กองกิจการกฎหมายรวมชาติ สำนักนิติการ กระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้ประกาศรับข้อเสนอโครงการวิจัยปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการรวมชาติเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน โดยระบุว่า ผู้รับทุนจะต้องวิเคราะห์สาระสำคัญและปัญหาของข้อตกลงระหว่างสองเกาหลีในอดีต พร้อมข้อเสนอแนะเมื่อเริ่มดำเนินกิจกรรมตามกรอบความร่วมมือที่ระบุไว้ในข้อตกลงปันมุนจอม

แม้การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสองเกาหลีจะมีเรื่องราวให้ชื่นใจได้พอสมควรในแง่ของการสร้างโอกาสสู่สันติภาพและความร่วมมืออื่น ๆ แต่ก็มีความท้าทายที่เกาหลีใต้กำลังเผชิญและจะต้องเผชิญต่อไปในอนาคต ได้แก่ ความท้าทายจากบทบัญญัติและข้อกฎหมาย สถานะที่ย้อนแย้งของเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ และความท้าทายจากการเมืองภายในประเทศ ความคิดที่แตกต่างสุดขั้วของการเมืองเกาหลีใต้กับความเข้าใจเรื่องเจตนาของเกาหลีเหนือ

ในส่วนของความท้าทายจากบทบัญญัติและข้อกฎหมายนั้นมีประเด็นสำคัญอยู่ที่การรักษาทรัพย์สินของเอกชนที่เข้าไปลงทุนในเกาหลีเหนือ ทั้งสองฝ่ายมีคณะกรรมการระงับข้อพิพาทร่วมกัน อันเป็นผลจากข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ก็ไม่เคยเห็นผลในทางปฏิบัติ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนเกาหลีใต้อย่างแน่นอน

ประเด็นทางกฎหมายอีกข้อหนึ่งที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ มาตรา 3 ระบุว่า ดินแดนที่เรียกว่า สาธารณรัฐเกาหลีนั้นครอบคลุมทั้งคาบสมุทรรวมเกาะที่อยู่โดยรอบ ดังนั้น ตามนัยของบทบัญญัตินี้ เกาหลีเหนือคือ ส่วนหนึ่งของดินแดนเกาหลีใต้ เช่นนั้น ก็ควรจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของฝ่ายเกาหลีใต้ด้วย โดยเฉพาะกฎหมายอาญาและกฎหมายปกครอง ขณะที่มาตรา 4 ระบุว่า สาธารณรัฐเกาหลีจะต้องแสวงหาแนวทางการรวมชาติโดยสันติบนฐานของระบอบที่เสรีและเป็นประชาธิปไตย ซึ่งกฎหมายพิเศษที่ส่งเสริมการลงทุนนั้นอาศัยฐานของบทบัญญัติข้อนี้เป็นจุดตั้งต้น

อีกความท้าทายหนึ่งคือ สถานะของการเมืองภายในทั้งสองประเทศ หลายท่านอาจไม่ทราบว่า การเมืองเกาหลีใต้มีลักษณะที่ผู้เขียนเรียกว่า “สองโคริยาประชาธิปไตย” คือ ภาวะการเมืองสองขั้วระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายก้าวหน้า ซึ่งสองฝ่ายจะมีมุมมองต่อคาบสมุทรและเกาหลีเหนือแตกต่างกันไป

ฝ่ายอนุรักษนิยมเห็นว่า สองเกาหลีนั้นแบ่งแยกกันตั้งแต่สงครามเกาหลีสิ้นสุดด้วยข้อตกลง ดังนั้น เกาหลีเหนือจึงกลายเป็นประเทศอื่นไปแล้ว เมื่อเกาหลีเหนือมีนิวเคลียร์ก็ถือว่าเป็นภัยคุกคาม นักการเมืองและนักวิชาการฝ่ายอนุรักษนิยมจึงมักจะสนับสนุนแนวทางการใช้นโยบายแข็งกร้าว เพราะเห็นว่า เกาหลีเหนือเชื่อถือไม่ได้ และไม่ได้ทำตามสัญญา แนวทางการสร้างสัมพันธ์ของมุนและรุ่นพี่อาจกลายเป็นการเอาทรัพยากรของฝ่ายใต้ไปประเคนให้เกาหลีเหนือมากกว่า

ส่วนฝ่ายที่นิยามตัวเองว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้าเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 3 ระบุว่า คาบสมุทรเกาหลีคือแผ่นดินเดียวกัน และมาตรา 4 ยังเสริมอีกว่า จะต้องรวมชาติด้วยวิธีการที่สันติและเป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น แนวทางการสร้างสัมพันธ์จึงเป็นวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นไปได้มากที่สุดในการตอบสนองบทบัญญัติดังกล่าว ฝ่ายก้าวหน้ามักอธิบายพฤติกรรมที่ก้าวร้าวของเกาหลีเหนือว่าเป็นการตอบโต้แนวทางแข็งกร้าวของรัฐบาลฝ่ายอนุรักษนิยมมากกว่า เพราะจะเห็นได้ว่า เกาหลีเหนือไม่เคยยั่วยุฝ่ายเกาหลีใต้ในช่วงที่เป็นรัฐบาลฝ่ายก้าวหน้า

ความสุดโต่งสุดขั้วของการเมืองเกาหลีใต้และความคลุมเครือของบทบัญญัตินี้เคยทำให้คิม แท-จุง ผู้ริเริ่มการประชุมสุดยอดเมื่อปี 2000 ถูกกล่าวหาว่า “ติดสินบน” เกาหลีเหนือให้มาประชุม และใช้เงินเพื่อซื้อรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เนื่องจากรัฐบาลในเวลานั้นอนุมัติงบประมาณ ‘ลับ’ ให้บริษัทฮย็อนแด ซึ่งเป็นกลุ่มทุนเดียวที่ได้รับสัมปทานจัดการท่องเที่ยวภูเขาคึมกัง และอัยการคดีพิเศษพบว่า มีการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐให้เกาหลีเหนือผ่านช่องทางที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ดี ไม่พบหลักฐานชี้ว่า ท่านมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้จ่ายเงินเพื่อติดสินบน มีเพียงหัวหน้าคณะทำงานของท่านที่ถูกจับตามข้อหาดังกล่าว

นายปัก ชี-ว็อน อดีตหัวหน้าคณะทำงานของประธานาธิบดีคิม แท-จุงที่ถูกจับ
ที่มา: Newsis

 

คราวนี้ ท่านผู้อ่านก็จะเห็นได้ว่า การบริหารนโยบายต่างประเทศเกาหลีไม่ง่ายนะครับ การรวมญาติก็ดี การรวมชาติก็ดี หรือการดำเนินนโยบายสร้างสัมพันธ์ก็ดี ก็มีทั้งโอกาสและความท้าทาย มีความเสี่ยงที่ต้องจัดการ ส่วนท่านมุนจะพบปัญหาแบบเดียวกับที่รุ่นพี่ของท่านเคยเผชิญมาก่อนหรือไม่นั้น ก็คงมีแต่พระเจ้าเซจงล่ะครับที่ล่วงรู้

 

Tags: , , , , , , , ,