ความสุขของคนฟังเพลงในยุคอนาล็อก คือการได้ครอบครองเทปคาสเซ็ทจนมาถึงยุคซีดีของศิลปินที่ตนชอบ เมื่อบรรจุเทปหรือซีดีเข้าเครื่องเล่น เราจะยังนั่งฟังอย่างจดจ่อพร้อมร้องคลอไปตามเนื้อที่อยู่หลังปก กวาดตาอ่านอย่างละเอียดยิบทั้งเนื้อร้อง ทำนอง คนแต่ง คนเบื้องหลัง ความน่าเสน่หาของเพลงนั้น ชอบเพลงไหนก็กรอฟังซ้ำ ใจร้อนนักก็กดข้ามเพื่อฟังเพลงที่อยากฟังจริงๆ
ในยุคที่วงการดนตรีเฟื่องฟูสูงสุด แผงเทปและซีดีมักออไปด้วยคนฟังเพลงที่ไปยืนพลิกและยืนฟังเพลงตัวอย่างที่ร้านเปิด ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ป้อนอัลบั้มออกใหม่สัปดาห์ละสองครั้ง ครั้งหนึ่งนับสิบอัลบั้ม วงการดนตรีคือความฝันอันหอมหวานของคนรุ่นใหม่ และร้านจำหน่ายเทปและซีดีคือจุดเริ่มต้นความฝันเมื่อใครสักคนหนึ่งอยากจะเดินสู่วงการนี้
ตัดกลับมา พ.ศ. นี้ ยุคที่มี Music Streaming ให้บริการฟังเพลงผ่านอินเทอร์เน็ต มีช่อง YouTube ให้ดูมิวสิกวิดีโอประกอบเพลงที่อยากฟัง การขายเพลงผ่านดิจิทัลดาวน์โหลด ผลพวงของการจัดเสิร์ฟเพลงผ่านออนไลน์ทำให้ความนิยมของคนซื้ออัลบั้มผ่านร้านจำหน่าย และการผลิตอัลบั้มลดน้อยลงจากอดีตอย่างน่าใจหาย และการจะโดดเด่นถึงขั้นมีอัลบั้มเป็นของตัวเองได้ ก็ผ่านกระบวนการตัดสินใจที่ซับซ้อนหากสังกัดค่าย เมื่อสินค้าน้อยลง คนซื้อหดหาย เป็นปัจจัยธรรมดาที่ทำให้หลายร้าน ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ต่างต้องปิดตัวลง จนเหลือเพียงไม่กี่ร้านที่ยังหยัดยืน
ร้านน้อง ท่าพระจันทร์ ร้านขายเพลงเก่าแก่คือหนึ่งในจำนวนที่เหลืออยู่ ร้านที่อยู่มานานตั้งแต่ยุคบุกเบิก ผ่านยุคเฟื่องฟู เข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน และยังดำเนินอยู่ในยุคที่ดูรวยรินในความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ ความจริงเป็นเช่นนั้นไหม ไม่มีใครให้คำตอบได้ดีไปกว่าการเข้าไปสัมผัสกับความเป็นไปที่แท้จริงที่ชายท่าน้ำท่าพระจันทร์
การเดินทาง 38 ปี ของพี่น้องค้าเพลง
นก-อนุชา นาคน้อย เจ้าของร้านน้อง ท่าพระจันทร์ ยังนั่งอยู่ในตำแหน่งเดิมของร้านที่ประตูซึ่งยังเปิดเข้าออกอยู่ทั้งวัน ร้านของเขาในวันนี้ยังคงเป็นจุดหมายของคนฟังเพลงหลากวัย เด็กวัยหนุ่มสองคนเดินเข้ามาซื้อบัตรคอนเสิร์ตวงอินดี้ที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่วัน คู่รักต่างชาติชายหญิงกำลังกรีดนิ้วเลือกแผ่นเสียงที่วางเรียงกันอยู่ในกล่อง ผู้หญิงทำงานคนหนึ่งกำลังไล่สายตาดูอัลบั้มที่โชว์ปกอยู่บนชั้น ส่วนอีกคนที่กำลังสนทนากับเขาอยู่ตรงเคาน์เตอร์คือคนที่เคยสั่งแผ่นชุดพิเศษเอาไว้เมื่อปีที่แล้ว เพิ่งจะมีเวลากลับมารับในวันนี้ และอีกหลายคนที่เปลี่ยนหน้าเข้ามาเป็นระยะ ในช่วงเวลาเพียงสองชั่วโมงในร้านอันเป็นตำนาน แน่ละ สำหรับเราที่คาดการณ์ว่าธุรกิจนี้คงซบเซาเสียแล้ว นี่เป็นเรื่องเซอร์ไพรส์
“ก็ยังมีคนเข้าตลอดนะ ไม่ได้เงียบเลย” เราคุยกับ ‘นก’ เรื่องธุรกิจค้าเพลงท่ามกลางท่วงทำนองของดนตรีแจ๊ซที่เปิดคลออยู่ เขาบอกว่าอยากให้ใช้คำแทนตัวเขาว่า ‘นก’ มากกว่าชื่อจริงที่ดูทางการ เพราะมันฟังดูกันเองมากกว่า และความกันเองนี้เองเป็นเหมือนดีเอ็นเอของร้านที่ลูกค้าของเขาสัมผัสมันได้ดี
ชีวิตของนกเริ่มต้นแบบนี้ทุกวัน ตั้งแต่เปิดร้านนี้ขึ้นเมื่อปี 2522 ตอนนั้น นกยังสวมยูนิฟอร์มของเด็กโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยอยู่ด้วยซ้ำ
“ก็มีกลุ่มที่หายไปนะ คือกลุ่มเด็กมัธยมต้นลงไป” นกบอกกลับ เขาวิเคราะห์ว่าน่าจะมาจากพฤติกรรมของแนวเพลงเองที่เปลี่ยนไป เพราะไม่มีเพลงสำหรับเด็กเลย หรืออาจจะด้วยคนยุคนี้ไม่ค่อยจะมีลูกมีครอบครัวกัน ที่มีลูกก็มักเลี้ยงลูกด้วยแทบเล็ตมากกว่า
“กลุ่มที่ยังเป็นกลุ่มหลักก็จะเป็นกลุ่มนักดนตรีที่เรียนดนตรีจริงจัง คนเรียนดนตรียังไงเขาก็ยังต้องศึกษาและฟังย้อนไปยุคหลังๆ แล้วก็มีกลุ่มที่เป็นนักฟังเพลงจริงๆ ฟังแบบลึกๆ ประเภทมี Oasis ทุกชุด มี Arctic Monkeys ทุกชุด มีปกนี้แล้วก็ยังอยากจะได้ปกนั้น มีเอดิชั่นใหม่มาก็อยากได้ เป็นคนที่คลั่งไคล้ศิลปินคนนี้หรือวงนี้จริงๆ ตอนนี้เราเจอลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น”
“ก็ยังมีคนเข้าตลอดนะ ไม่ได้เงียบเลย”
ร้านน้อง ท่าพระจันทร์ วันนี้ยังตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งเดิมนับตั้งแต่วันแรกที่สี่พี่น้องในครอบครัว ‘นาคน้อย’ เปิดร้านเทปขึ้นมาเมื่อ 38 ปีก่อน แม้ก่อนหน้านี้จะเคยมีสาขาในห้างใหญ่ เคยย้ายร้านไปอยู่ในที่อื่นๆ ตามเหตุวิสัยบ้าง แต่สุดท้ายก็กลับมาอยู่ที่บ้านหลังเดิม ขยายพื้นที่ร้านให้กว้างขวางขึ้น และเหลือร้านน้อง ท่าพระจันทร์อยู่เพียงสองสาขา คือที่ท่าพระจันทร์และช่างชุ่ย
“ทำไมถึงมาเปิดร้านเอาตรงนี้” เราเปิดประเด็นง่ายๆ เพราะจะมีคนสักกี่มากน้อยกันที่เลือกเอาท่าน้ำเป็นทำเลธุรกิจและอยู่มายาวนานขนาดนี้ แต่เมื่อเขาเล่าให้เราเห็นภาพที่ย้อนไปเมื่อ 38 ปีก่อนก็หมดคำถาม
เพราะในยุคนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 สนามหลวงคือศูนย์กลางของทุกสิ่ง มีตลาดนัดเสาร์อาทิตย์ที่คนทุกกลุ่มทุกวัยต้องมาจับจ่าย ก่อนจะย้ายไปเป็นตลาดนัดจตุจักร สนามหลวงเป็นพื้นที่กิจกรรมที่ครอบครัวพากันมาขี่จักรยาน มาเล่นว่าว และเต็มไปด้วยวัยรุ่นเพราะแวดล้อมไปด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยนาฏศิลป์ หรือข้ามไปอีกฟากก็มีโรงเรียนมัธยมสตรีวัดระฆัง ที่สำคัญไปกว่านั้น ท่าเรือนี้เนืองแน่นไปด้วยผู้คนตลอดทั้งวัน เพราะสมัยนั้นสะพานพระปิ่นเกล้าเพิ่งเปิด และมีรถเมล์ไม่กี่สายที่วิ่งข้ามไปฝั่งธนบุรี การสัญจรด้วยเรือข้ามฟากจึงเป็นวิธีการเดินทางหลักที่ผู้คนเลือก ท่าพระจันทร์จึงเป็นทำเลที่เหมาะที่สุดในเวลานั้น
“ตอนที่เปิดร้าน เราไม่ได้ใช้ชื่อร้าน ‘น้อง’ นะ ใช้ชื่อ I’m Sound อะไรสักอย่างหนึ่งนี่แหละ เรามีกันสี่คนพี่น้อง คือ พี่หน่อย พี่น้อง พี่หนุ่ม (สถาปนิกที่ออกแบบร้านเพื่อใช้งานมาตลอด) และพี่นก เป็นคนสุดท้อง เวลาคนมาซื้อของแล้วพี่น้องอยู่ เขาก็จะเรียกน้องหยิบนั่นให้ที น้องมีอันนี้มั้ย จนใครมาร้านเราก็เรียกพวกเราเป็นน้องหมด ก็เลยคิดกันว่า งั้นก็ตั้งชื่อว่าร้านน้องก็แล้วกัน”
ร้านน้องจึงมีโลโก้เป็นเด็กทารกอ้าปากกว้างกำลังร้องเพลงมาตั้งแต่นั้น
“ตอนนั้นที่เลือกเปิดร้านเทป เพราะว่าตอนที่เราทำเราเป็นเด็กกันหมด แล้วเราชอบฟังเพลง เรามีแรงบันดาลใจจากการที่เราพากันไปซื้อเทปของหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ มาเป็นของขวัญวันเกิดให้พ่อ แล้วเราก็ริเริ่มขึ้นมาว่า ถ้าเราเปิดร้านแบบนี้ขึ้นมาก็ดีนะ เราสามารถฟังเพลงทุกเพลงที่เราซื้อเข้ามาในร้านได้ เราแค่อยากฟังเพลงเท่านั้นเอง เพราะสมัยก่อนมีวิทยุไม่กี่คลื่น เป็นคลื่นทหารอย่างเดียว มีแต่เพลงสากล และยังไม่มีไนท์สปอตเลย”
นกชอบเพลงแจ๊ซ แต่ก็โดนกรอกหูมาด้วยเพลงร็อกและบลูส์ที่พี่ชายคนโตชอบ คนอื่นก็ชอบต่างกัน ทำให้เขามีโอกาสฟังเพลงหลากหลาย ชีวิตที่นอกจากเรียนมัธยมจนเข้ามหาวิทยาลัยเปิดของเขา คือการมาประจำอยู่ร้านเทปที่สมัยนั้นรายอื่นๆ ก็ยังมีอยู่ไม่กี่ร้าน
“แมงป่องยังไม่เปิด สมัยก่อนมี Peacock ซึ่งมีร้านและเป็นผู้ผลิต มี 4 Track ที่เราก็รับเทปจากร้านเขามาขายร้านเราด้วย มีโรต้าที่ขายเพลงไทยลูกกรุงและเพลงไทยบรรเลง มีออนป้าหลังจากที่เราเปิดร้านแล้ว”
กระทั่งยุคที่ความบันเทิงจากเสียงเพลงเป็นที่นิยม กิจการขายเทปจึงเฟื่องฟู และมีร้านเกิดขึ้นอีกทั้งเล็กและใหญ่บนถนนทุกสาย ความสนุกของคนคนหนึ่งที่ค้าขายในสิ่งที่ตัวเองชอบก็ยิ่งไปไกลมากกว่าการซื้อมาและขายไป
ร้านขายเพลงที่ไม่ได้มีแค่เพลงไว้ขาย
ก็เหมือนร้านค้าทั่วไปที่ทำธุรกิจแบบตามใจตัวเองเป็นหลัก คำว่า ‘การตลาด’ ที่ฟังดูสวยหรูจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่นกคิดถึงตั้งแต่ต้น เขาเพียงแค่สนุกกับมัน และความสนุกของเขามันหมายถึงการทำอะไรก็ตามที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ และนั่นทำให้ร้านน้อง ท่าพระจันทร์มีความแตกต่างจากร้านเทปทั่วไป ไม่ว่าจะมีศิลปินมาแจกลายเซ็นให้กับลูกค้าที่ร้าน เริ่มมีคอนเสิร์ตเล็กๆ เป็นการเปิดตัวศิลปิน ไปจนถึงทำหน้าที่ขายบัตรคอนเสิร์ต ในวันที่เมืองไทยยังไม่มีระบบการซื้อขายบัตรผ่านเคาน์เตอร์ออนไลน์
“สมัยที่ธุรกิจนี้บูม พื้นที่เราเล็กกว่านี้มาก และตอนนั้นตัวศิลปินก็จับต้องได้ยากมาก โอกาสที่จะเจอตัวศิลปินเดินถนนแทบไม่มีเลย การที่เราเริ่มให้มีการแจกลายเซ็น ขายบัตรคอนเสิร์ต ก็เพื่อจะขอบคุณลูกค้าของเรามากกว่า”
ศิลปินเบอร์แรกๆ ที่ทำจุดประกายนี้ให้เขา คือศิลปินอินดี้ ‘โรสแมรี่’ ที่เพลง ‘ให้ฉันทำอย่างไร’ คือเพลงสร้างชื่อให้กับศิลปินโนเนม และเพลงนี้ก็เปิดกันอย่างกระหึ่มคลื่นวิทยุ
“โรสแมรี่ทำเพลงเองแล้วให้รถไฟดนตรีจัดจำหน่าย เขามาข้ามฟากที่ท่าเรือไปฝั่งศิริราช เราก็คุยกันว่า ลองทำดูมั้ย เราก็ติดโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กันหน้าร้านนี่แหละ แล้วก็มีคนมาถ่ายรูปมาขอลายเซ็นศิลปิน หลังจากนั้นก็มีโน้ต แคนดี้ มีค่ายโซนี่ส่งป้าง นครินทร์ มาแจกลายเซ็นที่ร้าน แล้วก็มีเบเกอรี่เข้ามา”
อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคทองที่วงการดนตรีของไทยเฟื่องสุดๆ ในยุคนั้น คนฟังมีเพลงให้เลือกฟังหลากหลาย ทั้งแนวเพลงกระแสหลักจากค่ายใหญ่ และการเริ่มต้นของค่ายเพลงเล็กๆ ในสยามสแควร์อย่างเบเกอรี่ มีช่วงหนึ่งที่ร้านน้องต้องย้ายฝั่งไปอยู่ตรงโรงพยาบาลศิริราชเพราะน้ำท่วมท่าเรือและต้องปรับปรุงร้าน และกลับมาเปิดสาขาอีกสาขาหนึ่งตรงท่ามหาราช ที่หากใครในยุคนั้นจะพอจำได้ การมาแจกลายเซ็นของศิลปินอย่าง ‘ออดี้’ คนแน่นถึงกับศิลปินเดินฝ่าแฟนเพลงเข้าทางหน้าร้านไม่ได้ ต้องใช้ประตูหลังแทน
“อีกครั้งหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิดคือโมเดิร์นด็อกออกอัลบั้มใหม่ วันแรกที่วางแผง สองร้อยแผ่นที่ส่งมาขายหมดไปภายในไม่เกินหนึ่งชั่วโมง แล้วป๊อดก็มาแจกลายเซ็น และเล่นคอนเสิร์ตเล็กๆ แล้วค่ายนี้ก็เริ่มมีโจอี้ บอยเข้ามา เรียกได้ว่าศิลปินของเบเกอรี่มาแจกลายเซ็นที่นี่ทุกคน บางคนก็มีมินิคอนเสิร์ตด้วย อย่างตอนที่โปรเจ็กต์เอชเปิดตัวใหม่ สมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายการใช้เสียง ยังไม่มีกฎหมายของ กทม. ลานตรงหน้าร้านเขาเอารถตู้มาจอด ต่อหลังคาขึ้นไปเป็นสเตจ แล้วเล่นคอนเสิร์ตบนนั้น คนเต็มลานเลย สนุกกันมาก พอโจอี้ บอยไปเป็นผู้บริหารในค่ายเพลงของแกรมมี่ เขาก็ใช้นโยบายนี้กับวงบุดดา เบลส ตอนนั้นเราขอโทษวงเลยนะ วงอะไรวะ มีสามสี (หัวเราะ)” เขาเล่าถึงอดีตอย่างสนุกสนาน ในวันที่ร้านน้อง ท่าพระจันทร์คือศูนย์รวมของวัยรุ่นคอเพลง
ส่วนเรื่องขายบัตรคอนเสิร์ต ตอนที่เริ่มทำ นกเพียงมองว่ามันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างร้านกับลูกค้า ที่เมื่อลูกค้าอยากได้ความสะดวก เขาก็เพียงอำนวยให้เพราะไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง
“เราทำได้นี่ แล้วเราก็สนุกกับมัน ไม่ได้มองว่าเป็นช่องทางธุรกิจเลย สินค้าหลายๆ ตัวเราแทบไม่มีกำไรในการขาย แต่เราขายให้เขา คือถ้าเทียบกับค่ารูดการ์ดที่โดนหักไป ค่าตัวเรา ค่าตัวน้องๆ ในร้าน ค่าไฟ ไม่คุ้มหรอก แต่เราก็ขายเพราะรู้สึกว่ามันเป็นสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า”
“เราทำได้นี่ แล้วเราก็สนุกกับมัน ไม่ได้มองว่าเป็นช่องทางธุรกิจเลย สินค้าหลายๆ ตัวเราแทบไม่มีกำไรในการขาย แต่เราขายให้เขา เพราะรู้สึกว่ามันเป็นสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า”
เขาใช้คำว่า “ถล่มทลาย” กับแฟนเพลงที่มาซื้อบัตรคอนเสิร์ตในตอนนั้น เริ่มแรกกับวงเฉลียง และที่จำได้แม่นนักคือคอนเสิร์ตพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ซึ่งแสดงที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์
“คนต่อคิวเพื่อซื้อบัตรตั้งแต่ประตูร้านไปจนถึงประตูธรรมศาสตร์ อัสนี–วสันต์ก็ถล่มทลาย ถึงขั้นนักข่าวต้องมาทำข่าวว่า คนมาต่อคิวเพื่อซื้อบัตรคอนเสิร์ตกัน
“อีกครั้งหนึ่ง ตอนมีเคาน์เตอร์เซอร์วิสเข้ามา แล้วบัตรคอนเสิร์ตพี่เบิร์ด (ธงไชย แมคอินไตย์) ขายออนไลน์ เราก็มีเคาน์เตอร์เซอร์วิสขายบัตรพี่เบิร์ด เราทำได้อย่างเดียวคือกดบัตรให้ออกมาครั้งละสี่ใบแล้วให้คนที่มาต่อคิวเลย ไม่ได้มีเวลามาเลือกกันว่าจะเอาบัตรราคาเท่าไร ผังที่นั่งอยู่ตรงไหน เพราะคนต่อคิวเยอะมาก ถ้าทำแบบนั้นไม่มีทางทำได้ทันเพราะลูกค้าเต็มร้าน ก็วัดใจกันว่าลูกค้าจะซื้อหรือเปล่า แต่เขาก็ซื้อทุกคน แค่ชั่วโมงเดียวบัตรก็ขายหมด”
เดี๋ยวนี้คอนเสิร์ตใหญ่ๆ ย้ายการขายบัตรไปไว้กับตัวกลางจำหน่ายบัตรไปแล้วจนหมด แต่ร้านน้องก็ยังคงทำหน้าที่เป็นหน้าร้านที่คอยขายบัตรให้กับศิลปินอิสระ ขณะเดียวกันก็ยังเปิดพื้นที่ให้คนทำเพลงกลุ่มนี้ได้มีเวทีตามฝันเล็กๆ ของพวกเขาตามโอกาสที่ไลฟ์เฮาส์ในช่างชุ่ย ซึ่งเปิดเฉพาะวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่หกโมงเย็นถึงสี่ทุ่ม
“เราตั้งกฎไว้ข้อหนึ่งคือ ถ้าคุณจะมาเล่นที่นี่ เราขอให้คุณทำแผ่นออกมา จะเพลงเดียวสองเพลงก็ได้ ขอให้มีแผ่นตัดมาเถอะ หรือจะเป็นแผ่นไรต์ก็ไม่ว่า ขอให้เขามีหน้าปกมีอะไรที่คนฟังสัมผัสจับต้องได้ เล่นคอนเสิร์ตเสร็จแจกลายเซ็นกับแผ่นได้ มีค่ายหนึ่งเขาปล่อยเป็นดิจิทัลดาวน์โหลด ขอผมว่ามาเล่นที่นี่ได้ไหม ผมตอบเลยว่าไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าถ้าเล่นเสร็จแล้วจะให้แฟนคลับที่เขาประทับใจเอาอะไรกลับบ้าน จะให้เขายกคอมพ์มา หรือจะให้เซ็นใส่ธัมป์ไดรฟ์เหรอ”
ความรักในสัมผัสที่จับต้องได้และความรักในธุรกิจเพลง คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ร้านน้อง ท่าพระจันทร์ยังคงทำหน้าที่เดิมแบบที่เขาเคยทำ และในบางครั้งก็ยังอดไม่ได้ที่จะช่วยออกทุนสำรองให้กับศิลปินอิสระหน้าใหม่ได้บรรลุฝันของตัวเอง
“สิ่งที่เราอยากให้คุณทำคือทำแผ่นที่จับต้องได้ หน้าที่ของเราซึ่งเป็นฟันเฟืองหนึ่งของวงการนี้ก็คือผลักดันให้เขาทำแผ่นออกมา”
ในบางครั้ง คนฟังเพลงก็ต้องการผู้ช่วย
ในยุคเฟื่องฟูของวงการเพลง ร้านน้อง ท่าพระจันทร์ เคยมีพนักงานร้านอยู่ถึงห้าคน และห้าคนนั้นยังจำแนกความถนัดในแนวเพลงที่ต่างกันไปอีก คุณสมบัติข้อหนึ่งที่ใครก็ตามที่ได้ชื่อว่าเป็นคนของร้านน้อง นั่นคือต้องรอบรู้เรื่องเพลง ให้คำตอบเมื่อมีคำถาม ให้คำแนะนำเมื่อลูกค้าต้องการ ปัจจุบัน นอกจากนกแล้ว มีพนักงานในร้านอีกสองคนที่ช่วยกันทำหน้าที่นั้น
“ก่อนเข้ามาทำงาน เราจะเทสต์เขาก่อนว่ามีพฤติกรรมการฟังเพลงแบบไหน ถามเขาประโยคแรกเลยว่าเขาซื้อซีดีล่าสุดเมื่อไร ซื้ออะไร ถ้าตอบเราว่าผมไม่ได้ซื้อครับ ฟังดิจิทัลดาวน์โหลดอย่างเดียว เราก็จะเจาะไปอีกว่าเขาฟังแบบไหน ฟังเพื่อไม่ให้หูเงียบหรือเปล่า ถ้าฟังเพื่อไม่ให้หูเงียบ เขาตกสัมภาษณ์เราละ เพราะคนที่รักในการฟังเพลงจริงๆ เขาควรมีวงที่เขาชื่นชอบ มีพื้นฐานในการฟังเพลงว่าฟังอะไร ชอบแบบไหน รู้จักแค่ไหน จะฟังเพลงป็อปก็ได้ ร้องตามได้ก็ถือว่าตั้งใจ แต่ถ้ารู้จักแค่หน้าตาสวยหล่อแล้วจบ อันนี้ไม่ผ่าน ยิ่งถ้ารู้จักถึงขั้นที่มา ประวัติของศิลปินด้วยนะ อันนั้นเสน่ห์เลย โดนใจเราเลย”
คุณสมบัติข้อหนึ่งที่ใครก็ตามที่ได้ชื่อว่าเป็นคนของร้านน้อง นั่นคือต้องรอบรู้เรื่องเพลง ให้คำตอบเมื่อมีคำถาม ให้คำแนะนำเมื่อลูกค้าต้องการ
ที่พนักงานของร้านน้องจำเป็นต้องรู้เรื่องเพลงระดับลึก เป็นเพราะว่าลูกค้าที่เข้ามาในร้านบางคนก็ต้องการความช่วยเหลือหรือคำแนะนำ บางคนมาถึงก็แค่เพียงฮัมจังหวะให้ เพลงอะไร ศิลปินคนไหน พนักงานต้องจับคู่ให้ถูก บางคนติดหัวมาแค่ภาพในมิวสิกวิดีโอ หรือแม้กระทั่งบางครั้งมาแบบไม่รู้จะซื้ออะไร แต่อยากจะได้ซีดีสักแผ่นเพื่อกล่อมอารมณ์ตัวเอง
“มาถึงเดินมาเลย บอกว่าชีวิตห่อเหี่ยวมาก ดาวน์เหลือเกิน อยากได้เพลงที่เป็นกำลังใจ น้องที่ร้านก็หยิบ I’m Jogging มาเปิดให้ลองฟัง วงนี้เป็นวงอินดี้เลย แต่ได้รางวัล Bedroom Audio ของแคทเรดิโอมา เปิดให้ฟังปุ๊บเขาน้ำตาไหลพราก เพลงโดนใจเขาพอดี อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกดีใจกับเขาว่าเขาเดินมาแล้วเขาเปิดใจกว้างให้เราเลือกให้ แล้วเราเลือกแล้วเราไปโดนเขาพอดี เชาชอบ”
เสน่ห์ของอนาล็อกในยุคดิจิทัลยังมีอยู่
หลังที่นั่งประจำของนก คือชั้นวางเพลงแจ๊ซกับนิวเอจ เพราะเขาเชื่อว่าเพลงในแนวทางนี้ยังต้องได้รับการแนะนำ ส่วนเพลงแนวโอลดี้สำหรับผู้ใหญ่จัดวางในโซนที่คนซื้อเลือกเองได้ แต่ก็ยังอยู่ใกล้ตัวเขาเพราะหากต้องมีการถามกันจะได้ไม่ต้องตะโกนคุยกันเพราะเห็นจะไม่เหมาะในความอาวุโส นับเป็นความละเอียดอ่อนที่เรานึกไม่ถึง ส่วนเพลงของศิลปินหน้าใหม่ก็ยังต้องอยู่ใกล้มือเขาอีก เพื่อที่เขาจะหยิบขึ้นมาแนะนำได้ทันที ส่วนที่เหลือที่อาจไม่ต้องแนะนำนัก หรือหากต้องการคำแนะนำก็ยังมีน้องๆ ในทีมช่วยอธิบายได้ อยู่ในอีกด้านที่ไกลจากตัวเขา
“ทุกแผ่นที่มีอยู่ในร้าน เราเป็นคนเลือกเข้ามาเอง เราฟังครบทุกอย่าง เรารู้อยู่ในหัวว่าเราสั่งอะไรมาบ้าง ขายเพลงนี่เราขายจากความชอบของเราก่อน เพลงไหนที่ฟังแล้วมันโดนเรา ด้วยประสบการณ์ก็จะบอกเราได้ระดับหนึ่งว่าไม่น่าพลาด”
ยังมีคนผลัดกันเดินเข้ามาและเดินออกไป แม้จะไม่มากมายแต่ก็พอที่จะไม่ทำให้ร้านเงียบเหงา แผ่นเสียงที่วางเรียงอยู่ในกล่องยังถูกรื้อค้นสลับกับวางกลับที่เดิม ซีดีถูกสอดเข้าไปในเครื่องเล่นเพื่อให้คนเลือกได้ลองฟังก่อนตัดสินใจ การได้พลิกดูรายละเอียดบนแผ่น การได้กดปุ่ม Play ยังมีเสน่ห์เสมอสำหรับคนที่ให้ค่ากับสุนทรียะทางอารมณ์
“ตอนนี้ไวนิลในตลาดต่างประเทศโตมาก มีของใหม่ผลิตซ้ำออกมา แล้วของเก่าก็แพงเป็นหลักแสน มีในไทยเท่านั้นที่ธุรกิจนี้ดาวน์” นกเล่า
“ใจหายนะ ผมว่ามันน่าใจหาย” ในฐานะที่เป็นฟันเฟืองหนึ่งของธุรกิจดนตรี เขากล่าวได้เพียงเท่านั้น ในวันที่ค่ายเพลงก็ยอมพ่ายให้กับการผลิตซีดีอัลบั้มออกมา
“สมัยก่อนตอนมีร้านที่เปิดในห้าง เปิดกันสามชั้น ใหญ่มาก เรารู้สึกโคตรดีใจเลย เราเห็นซีดีอะไรต่างๆ ที่เราอาจจะไม่ได้สั่งเข้ามา มีโซนหนึ่ง เขาทำเป็นหมวดเพลงคลาสสิกอย่างเดียว น่าจะใหญ่เท่าร้านเราเลย เราเดินเข้าไปแล้วโอ้โห ถ้าเราฟังเพลงคลาสสิกเราคงได้ฟังเพลงอะไรที่น่าสนใจดีๆ อีกเยอะมาก แต่กลายเป็นว่าไม่มีตรงนั้นอีกแล้ว บางร้านเราเคยเดินไล่ตัวอักษร A ไปถึง Z ตอนนี้ไม่มีแล้ว หรือถ้าจะมีก็เหลือมุมนิดเดียว ซึ่งร้านเราน่าจะมีเยอะกว่า
“โชคดีว่า ของเรา เราขายเพลงสากล ร้านเราแบ่งเพลงไทยกับสากลชัดเจน เพลงไทยอินดี้เรายังมีอยู่ เพลงสากลเราเลือกที่จะสั่งเพลงที่เราชอบเข้ามาอยู่แล้ว และก็ยังมีกลุ่มคนที่เป็นแฟนคลับเหนียวแน่นอยู่ บางแผ่นเราต้องสั่งอิมพอร์ตเข้ามาเพราะตัวแทนในบ้านเราไม่ได้นำเข้า ทำให้แทนที่เราจะได้แผ่นมาขายในราคา 300 กว่าบาท กลายเป็นต้องขาย 700–800 บาท ทำให้กลุ่มคนยิ่งเล็กลงไป ซึ่งก็น่าใจหาย ทั้งที่เพลงเหล่านี้คนควรได้ฟังเยอะๆ
“การมีหน้าร้านเท่านี้ของเรา สบายตัวกว่าการที่เราเคยมีสาขาในห้าง เพราะการมีหลายสาขา เราต้องสต็อกเยอะขึ้น แล้วเราเป็นคนขายที่เราฟังทุกอย่าง ถ้ามีสาขาอื่นแล้วคนขายไม่ใช่เรา เขาก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าโปรดักต์ที่เรามีอยู่คืออะไร และเราได้พิสูจน์แล้วว่าการมีหลายสาขามันไม่ได้ช่วยให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้น กลับกันคือเราเหนื่อยขึ้น เพราะท้ายที่สุด คนก็ติดเรา เขาคาดหวังว่าจะเจอเรา เจอพี่น้อง เจอพี่หน่อยอยู่ที่ร้าน
“สิ่งที่ทำให้ร้านเราอยู่มาขนาดนี้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นแค่เรื่องเดียว คือเราเป็นคนรักเพลง รักดนตรี เราอยากให้คนอื่นได้ฟัง ได้รักแบบเดียวกับที่เราเป็น ฉะนั้นสิ่งที่เขาได้ไปจากร้านเรา ก็ต้องถูกใจเขา”
สำหรับเราซึ่งนั่งฟังอยู่นาน เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่นกอาจไม่ได้มองว่าเป็นหัวใจสำคัญ แต่สำคัญนักสำหรับคนฟังเพลง คือการได้มีใครสักคนที่คุยเรื่องเพลงกับเราได้อย่างสนุกปาก ได้ลองฟังแนวเพลงใหม่ๆ ที่อาจไม่เคยอยู่ในสายตาจากคนที่รู้เรื่องเพลงอย่างลึกซึ้ง ได้เปิดโลกของการฟังเพลงได้มากขึ้นกว่าการนั่งกดจากคอมพิวเตอร์ที่บ้าน
นั่นคือกำไรอย่างหนึ่งที่ได้มากกว่าการเดินเข้าร้านแล้วได้ซีดีติดมือกลับออกมาหนึ่งแผ่น
Tags: ดนตรี, แบรนด์ไทย, น้อง ท่าพระจันทร์, ธุรกิจ, นักดนตรี, เพลง