หลายคนอาจไม่เคยคิดว่า – ห้องอาหารในโรงแรมที่มีปัญหาเรื่องเสียงมากที่สุดคือห้องอาหารเช้า

ห้องอาหารเช้าในโรงแรมไม่เหมือนห้องอาหารอื่นๆ มันไม่ใช่ห้องอาหารญี่ปุ่นที่ทุกอย่างเงียบกริบ แขกที่มาเยือนรับรู้อยู่แล้วว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในเรื่องเสียง ท้ังยังไม่ใช่ห้องอาหารฝรั่งเศสหรูหราได้ดาวมิชิลินประเภทที่พูดคุยสนทนากันเบาๆ รวมทั้งไม่ใช่ห้องอาหารแบบครอบครัว ที่ใครๆ ก็พาลูกเล็กเด็กแดงมากินอาหารกันแบบอึกทึกครึกโครม เป็นห้องอาหารที่ทุกคนรู้และเตรียมตัวมาพร้อมแล้วสำหรับเสียงดัง ดังนั้น แม้ว่าเสียงจะดัง แต่ก็ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเสียงเท่าไหร่

ห้องอาหารเช้าแบบบุฟเฟต์ในโรงแรมไม่ได้เป็นแบบนั้น

แน่นอน ถ้าเป็นโรงแรมประเภทรีสอร์ตอยู่ริมทะเล ห้องอาหารเป็นแบบโอเพนแอร์เปิดกว้างรับลมทะเล ก็อาจไม่มีปัญหาอะไร แต่โรงแรมประเภทที่ต้องพบเจอกับปัญหาเรื่องเสียงในห้องอาหารเช้ามากที่สุด คือโรงแรมประเภท business hotel ในเมือง เป็นโรงแรมที่ไม่ได้มีพื้นที่กว้างขวางนัก แต่มีผู้มาเข้าพักมากมาย

ผู้เข้าพักในโรงแรมประเภทนี้มักจะหลากหลาย แน่นอน พอเป็น business hotel ก็ต้องมีนักธุรกิจมาพักอยู่แล้ว แต่โรงแรมประเภทนี้มักจะมีทำเลดี อยู่ใจกลางเมือง ใกล้แหล่งท่องเที่ยว แถมยังราคาไม่แพงนัก นักท่องเที่ยวที่จองโรงแรมเองจำนวนมากจึงเลือกพักโรงแรมประเภทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่บริษัททัวร์ที่ราคาไม่แพงนักก็อาจเลือกโรงแรมประเภทนี้เป็นจุดหมายด้วยเหมือนกัน

นั่นทำให้ห้องอาหารเช้าในโรงแรมแบบนี้ กลายเป็นที่รวมตัวของ ‘คนทั้งโรงแรม’ ในช่วงเวลาสั้นๆ ตั้งแต่หกถึงสิบโมงเช้า โดยเฉพาะช่วงแปดโมงเช้าที่จะมีคนคึกคักเป็นพิเศษ จึงช่วยไม่ได้ ที่โรงแรมเหล่านี้จะประสบปัญหา ‘เสียงดัง’ ในยามเช้า จนหลายแห่งต้องหาวิธีแก้ไข

หลายคนที่คุ้นเคยกับ ‘เมืองหนวกหู’ (อย่างเช่นกรุงเทพฯ) อยู่แล้ว อาจไม่ค่อยรู้สึกอะไรกับเสียงในห้องอาหารเช้า เพราะมันไม่ได้ดังมากเท่าไหร่

เสียงในห้องอาหารโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 80 เดซิเบล แต่ถ้าเมื่อไหร่ดังไปจนถึง 85 เดซิเบล ก็อาจสร้างความเสียหายให้กับประสาทการได้ยินได้ โดยปกติแล้ว เสียงที่เป็นฉากหลังในเมือง จะมีความดังราว 60 เดซิเบล ซึ่งดังมากพอที่จะทำให้ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น รวมทั้งก่อให้เกิดความเครียด เสียสมาธิ และอาจทำให้นอนหลับยากขึ้น เสียงในเมืองที่สร้างความรับรู้ให้มนุษย์มากที่สุด น่าจะเป็นเสียงไซเรนของรถฉุกเฉินต่างๆ ที่ดังราว 120 เดซิเบล อันเป็นระดับความดังสูงสุดก่อนที่มนุษย์จะรู้สึกเจ็บปวดหรือบาดเจ็บตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก

ในกรุงเทพฯ เสียงบนถนนมีระดับตั้งแต่ 80 ถึง 100 เดซิเบล (หรือบางทีก็กว่านั้น) เป็นเสียงที่เราพบเห็นได้แทบตลอดเวลาจนประสาทหูคุ้น ไม่ว่าจะยามเดินอยู่ริมถนน ในศูนย์การค้า หรือกระทั่งนั่งอยู่ในบ้านของเราเองก็จะมีเสียงก่อสร้างหรือเสียงรถยนต์ลอดเข้ามาได้เสมอ แม้แต่ร้านอาหารหรูๆ ในกรุงเทพฯ หลายร้าน ก็มีปัญหาเรื่องเสียงดังในระดับที่ไม่น่าจะรับได้ แต่กระนั้นผู้คนก็ยังคงนั่งดินเนอร์กันหน้าตาเฉย โดยแทบต้องตะโกนพูดคุยกัน ซึ่งก็เท่ากับปล่อยมลพิษทางเสียงเข้าไปผสมกลมกลืนกับความดังนั้นเพิ่มอีก

เสียงดังในที่สาธารณะแบบนี้ เรียกว่า environmental noise ซึ่งเราจะได้ยินเป็นเสียงหึ่งๆ เหมือนคลื่นเสียงความถี่ต่ำที่เกิดจากการ ‘สะสม’ ของเสียง (accumulation of noise pollution) หลายๆ เสียงเข้าด้วยกัน แต่ด้วยความคุ้นเคยกับเสียงดัง หลายคนจึงอาจไม่คิดว่าเสียงในห้องอาหารก็เป็นมลพิษอย่างหนึ่งได้เหมือนกัน

สำหรับคนในหลายประเทศ โดยเฉพาะชาวยุโรป เสียงระดับ 80 เดซิเบลนั้นถือว่าดังลั่นสนั่นโลกกันเลยทีเดียว ยิ่งถ้าขึ้นไปถึงระดับ 85 หรือ 90 เดซิเบลแล้ว ต้องเรียกว่าเป็นเสียงที่ ‘ทนไม่ได้’ แล้ว ดังนั้น ห้องอาหารเช้าที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายคลาคล่ำ มีวัตรปฏิบัติทางการใช้เสียงที่แตกต่างกันออกไป จึงสร้างปัญหานี้ขึ้นมาในแบบที่หลายคนมองข้าม

เสียงดังในห้องอาหารเช้าไม่ได้เกิดขึ้นแค่จากฝั่งของแขกในโรงแรมที่หลากหลายจนควบคุมไม่ได้เท่านั้น แต่ในปัจจุบัน ห้องอาหารเช้าตามโรงแรมนิยมทำเป็นครัวเปิดที่เป็นสเตชั่นเล็กๆ เช่น สเตชั่นไข่กวน สเตชั่นก๋วยเตี๋ยว สเตชั่นเนื้อย่าง ฯลฯ และสเตชั่นที่เป็นที่นิยมตามเทรนด์สุขภาพ ทว่ากลับส่งผลเสียต่อสุขภาพหูมากที่สุด ก็คือสเตชั่นน้ำปั่นหรือน้ำผักผลไม้สกัดเย็น ที่มักทำกันในพื้นที่เปิด และส่งเสียงดังออกมาผสมปนเปไปกับเสียงอื่น เพิ่ม environmental noise มากขึ้น

เสียงในห้องอาหารเช้าของโรงแรมยังมีเสียงอื่นๆ อีกมาก เช่น เสียงเครื่องปรับอากาศที่ต้องมีหลายเครื่องเพื่อรองรับปริมาณของแขก เสียงช้อนส้อมกระทบกัน เสียงพนักงานสื่อสารกัน เสียงเหล่านี้เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้ว ก่อให้เกิดเสียงรบกวนที่เรียกว่า ‘เสียงฮัมพื้นฐาน’ หรือ Humming Baseline of Noise ที่เวลาเราจะพูดคุยสื่อสารกัน จะต้องเปล่งเสียงให้ดังเกินเสียงพื้นฐานหรือเสียงเบสไลน์นี้

คำถามคือ – แล้วต้องทำอย่างไรดี

เว็บไซต์อย่าง ChefWorks แนะนำว่าสามารถควบคุมเสียงดังในห้องอาหารได้หลายวิธี แต่ส่วนใหญ่ต้องลงทุนเพิ่ม เราจะเห็นว่าถ้าเป็นโรงแรมประเภทห้าดาว จะมีการปฏิบัติตามวิธีต่างๆ เหล่านี้อยู่แล้ว แต่โรงแรมประเภท business hotel ทั่วไปอาจไม่มี ซึ่งหากต้องปรับปรุง ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายและค่าบำรุงรักษาเพิ่มเติม

วิธีง่ายๆ แต่ได้ผลชะงัดมากวิธีแรกก็คือการ ‘ปูพรม’ ที่พื้น อาจไม่จำเป็นต้องปูพรมทั่วทั้งห้องแบบ wall-to-wall ก็ได้ แต่อย่างน้อยควรมีพรมไว้ในบริเวณที่มีการสัญจรมากๆ เช่น จากประตูห้องครัวออกมาสู่พื้นที่ให้บริการ ซึ่งจะปูตรงไหนบ้าง ก็ต้องดูผังที่นั่งของห้องอาหารนั้นๆ ด้วย

โรงแรมทั่วไปอาจไม่เลือกปูพรม เพราะการใช้กระบื้องหรือกระเบื้องยางราคาถูกกว่า ค่าดูแลรักษาก็น้อยกว่า หากลูกค้าไม่ได้มีมากนัก เสียงไม่ดังมาก กระเบื้องหรือกระเบื้องยางยังพอรองรับได้ แต่ถ้าลูกค้ามากขึ้น เสียงดังมากขึ้น ก้อาจต้องพิจารณาทางเลือกใหม่

การปูพรมมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ไม่ใช่แค่ค่าพรม แต่รวมไปถึงค่าดูแลรักษา การทำความสะอาด และการเปลี่ยนพรมที่มีโอกาสถูกอาหารหกใส่จนเกิดรอยเปื้อนได้ง่าย โรงแรมที่พรมมีรอยเปื้อนแล้วไม่ได้เปลี่ยนนั้นถือว่าไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จึงงอกขึ้นมาไม่น้อย

อีกวิธีง่ายๆ ที่เราจะเห็นว่าโรงแรมหรูๆ ทำกันแทบทั้งหมดก็คือการปูโต๊ะด้วยผ้าปูโต๊ะ ผ้าปูโต๊ะไม่ได้แค่เพิ่มความหรูหราเท่านั้น แต่หน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของมันก็คือการดูดซับเสียงด้วย โดยเฉพาะเสียงของช้อนส้อมและมีด ถ้าโต๊ะไม่ได้ปูผ้า การวางช้อนส้อมลงไปบนโต๊ะแข็งๆ จะเพิ่มระดับเสียงรบกวน ทำให้เสียงเบสไลน์สูงขึ้น

ที่จริงแล้ว การปูพรมก็ให้ผลแบบเดียวกับผ้าปูโต๊ะเหมือนกัน โดยเฉพาะเวลาที่ช้อนส้อมหล่นลงพื้น ถ้าพื้นไม่มีพรมปูอยู่ เสียงจะดังก้องไปทั่ว แม้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ จนส่งผลให้เสียงเบสไลน์สูงขึ้นเช่นเดียวกับเสียงกระทบกันของช้อนส้อมบนโต๊ะ แต่ก็ทำให้ความดังเฉลี่ยโดยรวมเพิ่มขึ้นได้

นอกจากนี้ เรายังสามารถบุผนังด้วยวัสดุซับเสียงได้ด้วย ร้านอาหารหรูๆ มักไม่ได้มีผนังเป็นคอนกรีตเปล่าเปลือย แต่อาจบุด้วยไม้ หรือที่ดีกว่าก็คือผ้านุ่มๆ และบางแห่งก็เสริมด้วยผ้าม่าน ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ของประดับตกแต่งเท่านั้น แต่วัสดุพวกนี้ทำหน้าที่ซับเสียงได้อย่างดีด้วย แม้ผ้าม่านบางๆ ก็ยังช่วยลดเสียงได้

เสียงยังสามารถลอยขึ้นไปด้านบน กระทบเพดาน แล้วสะท้อนกลับลงมาได้ด้วย ถ้าสังเกตดู เราจะพบว่าห้องอาหารต่างๆ มักไม่ค่อยทำเพดานเป็นรูปโดม เพราะเพดานรูปโดมอาจก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงปรารถนาขึ้นมาได้ เช่น แขกที่นั่งอยู่มุมหนึ่งของห้อง อาจได้ยินเสียงพูดคุยของแขกจากอีกมุมหนึ่งของห้องชัดเจนกว่า เพราะเสียงสะท้อนทำมุมพอดี ทำให้เสียงจากโต๊ะอีกฟากห้องในทิศทางที่พอดีกันถูก ‘ขยาย’ จนดังกว่าเสียงเบสไลน์ แขกจากอีกมุมห้องหนึ่งจึงได้ยินเสียงชัดเจน

เพดานแบบโดมมักใช้ในพื้นที่สาธารณะอย่างเช่นโบสถ์วิหารหรือที่ชุมนุมของคนมากๆ ด้านหนึ่งเพราะหรูหราสง่างาม แต่ในด้านอะคูสติกของเสียงแล้ว เคยมีผู้วิเคราะห์ว่าอาจใช้เพื่อป้องกันการซุบซิบนินทาได้ด้วย เพราะถ้าเผลอนินทาไป เสียงอาจตกกระทบไปสู่หูคนอื่นได้โดยง่าย

ดังนั้น อีกเรื่องหนึ่งที่พึงทำก็คือการบุเพดานด้วยวัสดุซับเสียงแบบต่างๆ นั่นคือทำให้เพดานมีลักษณะอ่อนนุ่ม อาจบุด้วยผ้า หรือใช้ฝ้าแบบที่ซับเสียงก็ได้

เรื่องอื่นๆ ยังมีอีกหลายอย่าง เช่น การดูแลระบบปรับอากาศให้อยู่ในสภาพดี ไม่ส่งเสียงดังเกินควร หรือลงทุนกับระบบเครื่องเสียงที่ปล่อยเสียงดนตรีออกมาในแบบที่กระจายเสียงไปทั่วถึง โดยไม่ต้องเปิดเสียงดังจนเกินไปนัก เป็นต้น

ทั้งหมดนี้คือปัญหาเรื่องมลพิษทางเสียงที่อาจเกิดขึ้นได้ในห้องอาหารทั่วไป แต่ห้องอาหารที่สร้างปัญหาได้มากที่สุดตามเทรนด์การเดินทางท่องเที่ยวในปัจจุบัน – ก็คือห้องอาหารเช้าแบบบุฟเฟต์

ในยามเช้า บางคนต้องการความสดชื่น บางคนอาจยังตื่นไม่เต็มตา บางคนยังงัวเงีย บางคนต้องการครุ่นคิดกับการอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ดังนั้น ‘ความเงียบ’ (แต่พอดี) ในห้องอาหารเช้าจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก

เสียงแห่งห้องอาหารเช้าจึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เลย และน่าจะเป็นดัชนีหนึ่งที่ใช้ชี้วัด ว่าห้องอาหารเช้าแบบบุฟเฟต์ในโรงแรมนั้นๆ ใส่ใจในการให้บริการมากขนาดไหน

Tags: ,