การมอบรางวัลโนเบลโดยเฉพาะสาขาสันติภาพ (Nobel Peace Prize) ที่เกิดขึ้นทุกปีมักอยู่ในความสนใจของชาวโลกเสมอ ทว่าในปี 2021 ดูจะน่าสนใจมากไม่น้อยกว่าปีไหนๆ เนื่องจากการเสนอชื่อผู้เข้าชิงในปีนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการเมือง การเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมเป็นส่วนใหญ่

ชื่อของ อเล็กเซ นาวาลนี (Alexei Navalny)แกนนำฝ่ายค้านรัสเซียที่ปลุกมวลชนลงถนนประท้วงได้นับแสนคน กลายเป็นหนึ่งในตัวเก็งที่คนจับตามองว่าอาจมีสิทธิคว้ารางวัล รวมถึงนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหลายคนในม็อบใหญ่ ณ เบลารุส นอกจากนี้ยังมีขบวนประท้วงหลายพื้นที่ที่ได้รับสิทธิเป็นหนึ่งในตัวเลือก ทั้งขบวนการเรียกร้องเพื่อคนผิวดำ (Black Lives Matter) การประท้วงเพื่อประชาธิปไตยของชาวฮ่องกง และชื่อของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump)

เมื่อปี 2020 คณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ มีมติมอบรางวัลแก่โครงการอาหารโลก หรือ WFP ขององค์การสหประชาชาติ จากการพยายามลดความหิวโหยของผู้คนทั่วโลก และช่วยเหลือเรื่องปากท้องประชากรได้ถึงปีละ 97 ล้านคน ใน 88 ประเทศ ท่ามกลางรายชื่อองค์กร ขบวนการเคลื่อนไหวด้านต่างๆ และบุคคลสำคัญจากทั่วทุกมุมโลกรวมแล้วกว่า 318 รายชื่อ

 

2020-2021 ปีแห่งการเรียกร้องเสรีภาพ

การเสนอชื่อผู้เข้าชิงรางวัลโนเบลสันติภาพยังคงมีเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวันปิดรับ ผู้ที่มีสิทธิเสนอบุคคลหรือองค์กรให้คณะกรรมการโนเบลพิจารณาคือผู้นำประเทศ นักการเมืองระดับชาติ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ผู้อำนวยการสถาบันระดับชาติ หรืออดีตผู้ที่เคยคว้ารางวัลโนเบลมาก่อน ส่งผลให้ในปี 2021 สมาชิกสภาสหรัฐฯ ทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันหลายคน ตกลงร่วมกันให้เสนอชื่อการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเป็นหนึ่งในผู้ท้าชิงในปีนี้

จดหมายเปิดผนึกโดยมาร์โก รูบิโอ (Marco Rubio) วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน และ จิม แมคโกเวิร์น (Jim McGovern) ประธานร่วมคณะกรรมาธิการบริหารรัฐสภามีใจความสำคัญดังนี้ 

“เพื่อรำลึกถึงสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของฮ่องกงที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 1997 การชุมนุมหลายครั้งคือเสียงสะท้อนของผู้คนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ พยายามทลายกำแพงที่กัดกร่อนลิดรอนสิทธิของพวกเขา รางวัลนี้ถือเป็นเกียรติยศที่แสดงถึงความกล้าหาญและความตั้งใจที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั้งโลก เราหวังว่าคณะกรรมการโนเบลจะมองพื้นที่ให้กับผู้คนที่ดิ้นรนเพื่อสันติภาพและสิทธิมนุษยชน เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าขบวนการสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงสมควรได้รับรางวัลในปีนี้”

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2021 เหล่าสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ ที่เสนอชื่อกลุ่มผู้ชุมนุมในฮ่องกง ระบุว่าฮ่องกงมีประชากรราว 7.5 ล้านคน และเชื่อว่าผู้คนเกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับการประท้วง ส่งผลให้ม็อบฮ่องกงกลายเป็นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

การเสนอม็อบฮ่องกงคว้าโนเบลสันติภาพของนักการเมืองสหรัฐฯ สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับแนวคิดของรัฐบาลปักกิ่ง เห็นได้จากกรณีการส่ง หวัง อี้ (Wang Yi) รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เดินทางไปเยือนนอร์เวย์ และกล่าวถึงงานมอบรางวัลโนเบลว่า “อย่าให้เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจทางการเมือง” คล้ายกับเตือนกลายๆ ว่าการมอบรางวัลให้กับผู้ประท้วงฮ่องกงเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะรัฐบาลปักกิ่งมองว่ารางวัลเหล่านี้เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าแทรกแซงกิจการทางการเมืองจีน

เหตุผลที่ทำให้จีนถึงกับเอ่ยปากเตือนโนเบล เกิดขึ้นหลังการมอบรางวัลสันติภาพแก่ หลิว เสี่ยวโป (Liu Xiaobo) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศจีนเมื่อปี 2010 ทำให้เขากลายเป็นชาวจีนคนแรกที่ได้รางวัลสาขานี้ ทว่ารัฐบาลปักกิ่งสั่งจำคุกเขา 11 ปี ในข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่นให้เกิดการบ่อนทำลายอำนาจรัฐ’ กลายเป็นชายที่ได้รางวัลโนเบลสันติภาพขณะอยู่ในเรือนจำ และจากโลกนี้ไปโดยไม่ทันได้รับอิสรภาพ

ช่วงต้นปี 2020 ประชาชนชาวเบลารุสรวมกลุ่มประท้วงหลังทราบผลเลือกตั้ง สุดท้ายประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก (Alexander Lukashenko) รัฐบาลเผด็จการที่ปกครองประเทศยาวนานกว่า 25 ปี ชนะเลือกตั้งอีกครั้งแบบถล่มทลาย เกิดการประท้วงยาวนานต่อเนื่องหลายวัน มีภาพเจ้าหน้าที่ขับรถตำรวจพุ่งชนผู้ชุมนุม ประชาชนจำนวนมากทวงคืนความยุติธรรมแก่ สเวตลาน่า ติกรานอฟสกายา (Sviatlana Tsikhanouskaya) นักการเมืองฝ่ายค้านที่ลงเลือกตั้งแทนสามีแล้วถูกโกงคะแนน ทำให้เธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลปี 2021 เหมือนกับนักต่อสู้ในหลายประเทศ

‘ชีวิตคนดำก็มีความหมาย’ หรือ Black Lives Matter (BLM) การเดินขบวนประท้วงที่เริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกา ก่อนกระจายไปทั่วโลกก็เป็นหนึ่งในผู้ท้าชิงประจำปี 2021 เมื่อประเด็นเรื่องความเท่าเทียมของชนชาติและสีผิวคือปัญหาที่แก้ไม่ตก ผู้ร่วมเดินขบวนในหลายพื้นที่จึงออกมาเรียกร้องเพื่อสร้างความตระหนักรู้ สร้างจิตสำนึกให้ทั่วโลกเลิกตัดสินคนจากสีผิวหรือความแตกต่าง

แต่ BLM อาจจะไม่เข้ารอบลึก สำนักข่าวหลายแห่งกล่าวว่าความรุนแรงระหว่างการเดินประท้วงอาจทำให้คณะกรรมการตัดสินใจไม่มอบรางวัลให้ ส่วนนักวิชาการบางกลุ่มแย้งว่ากว่า 90% ของการประท้วง เป็นคนละกรณีและคนละกลุ่มกับพวกที่ทำร้ายร่างกายคนอื่นหรือทำลายทรัพย์สินตามอาคารบ้านเรือน และอีกหนึ่งคนที่น่าจับตามองคือ สเตซีย์ อับรามส์ (Stacey Abrams) นักการเมืองผิวดำจากพรรคเดโมแครต ผู้ผลักดันเรื่องสิทธิสตรี โดยเฉพาะสตรีเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน ในสหรัฐฯ

 

ทรัมป์ยังคงถูกพูดถึง แม้จะในวงการเพื่อสันติภาพก็ตาม

นอกจากการชุมนุมและเหล่าแกนนำต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลก สำนักข่าว Fox News รายงานความเคลื่อนไหวเมื่อเดือนกันยายน 2020 ว่า สมาชิกสภานอร์เวย์ คริสเตียน ไทบริง-จีเจดด์ (Christian Tybring-Gjedde) เสนอชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าชิงโนเบลสาขาสันติภาพเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าทรัมป์พยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งทั่วโลกที่ยืดเยื้อมานานหลายสิบปี

คริสเตียนอธิบายว่าทรัมป์คือผู้พยายามสร้างสันติภาพแก่โลกอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการมีบทบาทฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีส่วนช่วยเหลือเรื่องข้อพิพาทพรมแดนแคชเมียของอินเดียและปากีสถาน ร่วมถึงสานสัมพันธ์กับผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ เพื่อจัดการกับการประกาศแสนยานุภาพอาวุธนิวเคลียร์ แต่ชื่อของทรัมป์อาจถูกกรรมการปัดตกไป จากเหตุการณ์จลาจลม็อบสนับสนุนทรัมป์บุกอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2020

องค์การต่างๆ ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในปีนี้ล้วนเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทเด่นในสถานการณ์โลก อาทิ องค์การอนามัยโลก (WHO) ในประเด็นการต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) ที่มีชื่อเข้าชิงติดกันหลายปี แดเนียล เอลสเบิร์ก (Daniel Ellsberg) ผู้ยอมเสี่ยงเอาเอกสารลับจากเพนตากอนในประเด็นสงครามเวียดนามเผยแพร่ต่อสาธารณชน

ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เสนอชื่อ จาเร็ด คุชเชอร์ (Jared Kushner) อดีตที่ปรึกษาอาวุโสทำเนียบขาว และ อาวี เบอโควิทช์ (Avi Berkowitz) อดีตผู้ช่วยประธานาธิบดีที่ร่วมวางแผนด้านสันติภาพของทรัมป์ ทั้งสองคนมีบทบาทสำคัญจากการเจรจาข้อตกลงอิสราเอลกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่หลายคนมองว่ามีส่วนช่วยฟื้นความสัมพันธ์มากกว่าอดีตประธานาธิบดีทรัมป์

 

โนเบล ให้แล้วไม่ริบคืน

รางวัลโนเบลสันติภาพ ไม่ใช่เครื่องการันตีถึงความดีงามตลอดกาล ผู้นำทางจิตวิญญาณและการเมืองคนสำคัญของเมียนมาอย่างนางอองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) เคยคว้ารางวัลโนเบลเมื่อปี 1991 แต่หลังจากนั้นอีกสิบกว่าปี เธอถูกโจมตีถึงความเหมาะสมต่อผู้ชนะรางวัลสันติภาพจากกรณีวิกฤตโรฮีนจา ทำให้หลายคนท้วงว่าโนเบลควรจะริบรางวัลคืน

ตัวแทนคณะกรรมการพิจารณารางวัลกล่าวว่า โนเบลไม่มีมาตรการริบรางวัลสาขาต่างๆ จากผู้ที่เคยได้รับรางวัล ในแต่ละปีการพิจารณาว่าบุคคลไหนควรได้รับรางวัลจะดูจากสิ่งที่บุคคลหรือองค์กรต่างๆ ทำ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปีที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง (นับจากวันแรกของการทำงานเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาของนางซูจีจนถึงปี 1991) ไม่ได้มีพันธะผูกพันต่อการกระทำในอนาคตของผู้ที่เคยรับรางวัล

นอกจากประเด็นของซูจี กรณีของ อาบีย์ อาห์เหม็ด (Abiy Ahmed) นายกรัฐมนตรีเอธิโอเปีย ที่รับรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2019 ก็ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง เนื่องจากการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลเอธิโอเปียกับกองกำลังติดอาวุธทิเกรย์ทางตอนเหนือของประเทศ ยังคงคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก ไม่ได้สร้างสันติภาพอย่างที่ใครคิดเท่าไหร่นัก

เมื่อรายชื่อบุคคลและองค์กรจำนวนมากถูกส่งมายังโนเบลที่มีเส้นตายตามธรรมเนียมในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2020 คณะกรรมการจะเก็บรายชื่อผู้เข้าชิงทั้งหมดไว้เป็นความลับขั้นต่ำ 50 ปี ก่อนจะไล่คัดกรองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบ เพื่อดูว่าใครหรือองค์กรใดคือผู้ที่เหมาะสมและสร้างแรงขับเคลื่อนได้มากที่สุด

ชื่อของผู้ชนะรางวัลโนเบลสันติภาพจะประกาศในเดือนตุลาคม และมอบรางวัลในวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เพื่อระลึกถึงการจากไปของ อัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel) ผู้ชนะในสาขารางวัลต่างๆ จะได้รับเงิน 10 ล้านโครนาสวีเดน (ประมาณ 33 ล้านบาท) พร้อมกับใบประกาศนียบัตรและเหรียญรางวัล

 

อ้างอิง

https://www.foxnews.com/politics/trump-nominated-for-nobel-peace-prize-by-norwegian-official

https://www.theguardian.com/world/2018/aug/30/aung-san-suu-kyi-wont-be-stripped-of-nobel-peace-prize-despite-rohingya-crisis

 https://www.independent.co.uk/news/world/asia/aung-san-suu-kyi-nobel-peace-prize-myanmar-rohingya-genocide-a8513746.html

https://www.theguardian.com/world/2021/feb/04/hong-kong-pro-democracy-movement-nominated-for-nobel-peace-prize-by-us-lawmakers

https://apnews.com/article/race-and-ethnicity-belarus-denmark-voting-rights-coronavirus-pandemic-bbf93e1533385c6a0f5dec6869df9ba0

https://www.independent.co.uk/news/world/europe/black-lives-matter-nobel-peace-prize-petter-eide-b1795115.html

Tags: , , , , , , , , , , , , ,