ยาเอล เด็กหญิงวัย 8 ขวบ เติบโตมาอย่างโดดเดี่ยวและเป็นสุขในบ้านที่มีเธอ แม่ และเทปของพ่อ ชีวิตถูกตัดหั่นเป็นชิ้นส่วนเวลาแบบคณิตศาสตร์ สามสิบนาทีสำหรับพูดกับแม่ เวลาสำหรับการดูทีวี หรือเข้านอน การเล่นสนุกกับชุดเครื่องครัวขนาดจิ๋วโดยใช้ของสดจริงๆ หลังเลิกเรียน เวลาอยู่บ้านคนเดียวเธอจะเปิดฟังเทปของพ่อ เทปที่พ่ออัดมาให้แม่และเธอฟังต่างจดหมาย จากที่แสนไกลในซาอุดิอาระเบียที่พ่อเธอไปทำงาน เด็กสาวช่างฝัน ที่มีชีวิตหงอยเหงาอันมีสมดุล โทรศัพท์คุยกับเพื่อน แล้วเล่นคนเดียวในบ้านเงียบสงบ ฟังเสียงของพ่อครั้งแล้วครั้งเล่า ตกค่ำก็ให้แม่นอนหนุนตักถอนหงอกพลางดูละครน้ำเน่าด้วยกัน ห่างไกลออกไป นานๆ ครั้งในทีวี ข่าวช่วงเวลาที่ผู้คนออกไปบนถนนเพื่อขับไล่ประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) จอมเผด็จการจะผ่านมาในข่าว
จนเมื่อมีญาติมาเยี่ยม น้าชายฝาแฝดของพ่อที่เคยเป็นนักดนตรีร็อคชื่อดัง น้าและครอบครัวเพิ่งย้ายมาจากญี่ปุ่น และมาแวะพักที่บ้าน แม่ใช้จ่ายค่ำคืนอันน่าละอายที่ทำลายสมดุลความโดดเดี่ยวของยาเอล ด้วยงานรวมญาติที่น่าอึดอัด ในเวลาเดียวกันเธอดันเผลอกดอัดทับเสียงพ่อในเทปที่เธอกรอฟังครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยกลัวแม่จะว่า เธอเลยลงเสียงตัวเองแทนเสียงพ่อด้วยถ้อยคำที่เธอท่องจำจนขึ้นใจเสียเลย
หนังฉายภาพสมดุลโดดเดี่ยวในโลกปิดที่น่ารักน่าใคร่ ราวกับว่ายาเอลเป็นเด็กโดดเดี่ยวที่มีความสุขที่สุดในโลก และความสุขนั้นถูกทำให้สะดุดหยุดลงเมื่อญาติๆ มาถึง นำไปสู่ภาพน่ารักของความกระอักกระอ่วนเมื่อยาเอลต้องทำความรู้จักกับญาติที่ตัวเองไม่คุ้นเคย แม้จะเป็นเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่ดูเหมือนเด็กๆ ลูกของคุณอาจะมาจากโลกอีกใบที่ไม่มีอะไรเหมือนยาเอล หนังจึงทั้งน่ารัก และน่าเข้าข้าง เมื่อหนูน้อยยาเอลเลือกหลบมุมยืนจากปากประตูแทนที่จะเข้ามาในห้องเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของปาร์ตี้
ในขณะเดียวกันการลอบสังเกตอันฉลาดเฉลียวของยาเอล ก็ทำให้ผู้ชมได้เห็นไปพร้อมๆ กับเธอถึงความสัมพันธ์แปลกประหลาดของแม่กับอา การที่อามีหน้าตาแบบเดียวกับพ่อ ต่างกันก็เพียงรอยสักทำให้ยาเอลเชื่อมโยงอาเข้ากับพ่อ ในฉากหนึ่งแม่ขอให้อาซ่อมวิทยุ หนังติดตามสายตาของยาเอลมองดูคุณอาหอบหิ้วเครื่องเล่นเทปออกไปนอกบ้าน ถอดเสื้อออกเผยให้เห็นรอยสักที่แตกต่างจากพ่อ ก่อนจะก้มลงซ่อมเครื่องเทป สายตาปรารถนาอันก้ำกึ่งระหว่างลูกที่โหยหาพอหรือเด็กสาวที่กำลังจะโตปรารถนาความเป็นชาย
หนังห่อหุ้มสายตาสงสัย เคลือบแคลง ไว้ตัว แต่อยากเข้าใกล้ไปตลอดเรื่อง นอกจากการลอบสังเกตคุณอา นำไปสู่การสังเกตท่าทีของแม่ ทั้งในยามที่แม่อยู่คนเดียว และในเวลาที่แม่อยู่กับคุณอา การแซวกันในวงเหล้า สร้่างข้อสงสัยบางกระการให้กับยาเอลเช่นเดียวกับผู้ชม และกลายเป็นว่าตัวเธอไปกระตุ้นความสงสัยนี้ให้ทบทวีโดยไม่ได้ตั้งใจ
สายตาของหนังจึงเป็นสายตาแสนสุขโดดเดี่ยว และสายตาประหวั่นพรั่นพรึงเมื่อถูกคุกคามสมดุลโดดเดี่ยวดั้งเดิม ก่อนที่จะคืนสู่ความสมดุลดั้งเดิมอีกครั้ง
ว่ากันว่าเด็กในฟิลิปปินส์ที่เกิดร่วมยุคสมัยกับยาเอลและเชอรีน เซโน่ (Shireen Seno) ผู้กำกับ กล่าวคือยุคสมัยทศวรรษที่ 1980’s ถูกเรียกว่า Martial Law Babies หรือทารกรุ่นกฏอัยการศึก ปลายยุคสมัยของประธานาธิดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสผู้ฉ้อฉล ผู้ซึ่งประกาศกฏอัยการศึกในฟิลิปปินส์ยาวนานถึงเก้าปีเต็ม ก่อนที่จะถูกโค่นล้มด้วยการประท้วงครั้งประวัติศาสตร์ของประชาชน
ในยุคสมัยซึ่งข้อมูลข่าวสารถูกปิดกั้น มีการจบกุมคุมขังนักโทษการเมืองเป็นจำนวนมาก มีการประท้วงและการปะทะกันอย่างรุนแรง ภาพทั้งหมดถูกผลักออกไปจากหนัง และเหลือปรากฏเป็นเพียงภาพข่าวคั่นเวลาสั้นๆก่อนละครน้ำเน่าจะมาถึงจนอาจพาลคิดไปว่านี่คือหนังที่ปราศจากการเมือง ราวกับว่าเป็นโลกเฉพาะที่การเมืองอยู่ไกลออกไป ทั้งจากสถานะที่ตัวละครหลักเป็นเด็ก และบ้านที่ปิดตลอดเวลา (แทบทั้งเรื่องไม่มีฉากที่อยู่นอกบ้านเลย แม้ในเวลาที่ยาเอลออกไปรับจดหมายซึ่งคือเทปจากพ่อ เธอก็อยู่หลังบานประตูที่ปิด
แต่ประตูที่ปิดเป็นได้ทั้งจากภาพแทนของโลกที่ตัดขาดจากการเมือง หรือโลกภายใต้กฏอัยการศึกที่ตัดขาดออกจากโลกอื่นๆ โลกที่ประชาชนถูกปิดกั้น ถูกกักเอาไว้ ความไร้เดียงสาของยาเอลและความเหนื่อยล้าของแม่เป็นคล้ายภาพแทนของผู้คนในโลกเช่นนั้น โลกซึ่งถูกปิดไว้ และถูกกล่อมเกลาด้วยเสียงของพ่อ
เราจึงอาจมองสายตาของยาเอลที่กล่าวไปข้างต้นเสียใหม่อีกครั้งหนึ่ง ด้วยการสวมบริบททางการเมืองลงไปในเรื่องความกระอักกระอ่วนของเด็กหญิงตัวน้อยและโลกที่ปิดล้อมของเธอ ซึ่งแม้จะปิดอยู่ มันก็ไม่สามารถหลบหนีจากความเป็นการเมืองของมันได้
เราอาจบอกว่าโลกของยาเอลกับแม่ของเธอนั้นโดดเดี่ยวพอๆ กัน ต่างคนต่างอยู่แยกอย่างโดดเดี่ยวร่วมบ้านหลังเดียวกัน ถูกห่อหุ้มด้วยเสียงจากภายนอกสองแบบ นั่นคือ เสียงของพ่อในเทปคาสเสตต์ และเสียงของตัวละครในทีวี
เสียงของพ่อในเทปคาสเสตต์เป็นคำสัญญาเดิมๆ ที่ถูกเล่นซ้ำ พ่อที่ไม่มีเรือนร่าง มีเพียงถ้อยคำบอกรักซ้ำๆ ถ้อยคำที่ปลอบประโลม ถ้อยคำแห่งความคิดถึง พ่อในจินตนาการของยาเอลและแม่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่แยกขาดจากภาพความเป็นพ่อจริงๆ การที่ยาเอลเฝ้าฟังเทปเหล่านั้นซ้ำๆ ทำให้เธอมีภาพพ่ออยู่ในหัวตัวเอง (แล้วเอามาสวมทับคุณอาที่ใครๆ ก็บอกว่าหน้าเหมือนพ่ออย่างกับแกะ จนยาเอลเฝ้าถามว่าแม่แยกออกไหมว่าคนไหนเป็นพ่อคนไหนเป็นอา)
การที่ยาเอลเผลอกดอัดทับเสียงพ่อในเทปจึงไม่ใช่เพียงลูกเล่นตลกๆ สำหรับเพิ่มความวิตกกังวลและความประสาทเแดก (nervous) ให้กับตัวละครเท่านั้น แต่การที่ยาเอลท่องได้ว่าพ่อพูดอะไรไว้ แล้วบันทึกเสียงตัวเองลงไปแทนเสียงพ่อ เป็นการสร้่างพ่อขึ้นมาใหม่ พ่อที่ตัดขาดออกจากพ่อคนเดิม เป็นพ่อที่เป็นของยาเอลแต่เพียงผู้เดียว
เช่นเดียวกันกับแม่ แม่อัดเทปตอบกลับพ่อ บางครั้งแม่ก็จะอัดเทปอะไรๆ ที่ผู้ใหญ่มากๆ ไปตอบพ่อ แต่แม่ไม่รู้จะตอบอะไร เราจึงเห็นแม่จดอะไรบางอย่างในสมุดตลอดเวลา แม่อาจจะร่างอะไรไปไว้ตอบพ่อ ก่อนที่ครั้งหนึ่งยาเอลจะเรียนรู้ว่าสิ่งที่แม่จดคือข้อความจากละครน้ำเน่าที่แม่ดู แม่จะเอาสิ่งนั้นมาอัดเทปให้พ่อหรือเปล่า
เสียงของพ่อในเทป และเสียงของตัวละครในละครน้ำเน่าเลยกลายเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนร่างสองร่างที่กลวงเปล่าและตัดขาดออกจากโลก คล้ายกับประชาชนที่ไม่อาจจะคิดอะไรมากไปกว่ารอฟังคำประกาศจากท่านผู้นำซึ่งเต็มไปด้วยคำสัญญาเลื่อนลอย และในขณะเดียวกันผ่อนคลายตนเอง รวมถึงซึมซับรับเอาระบบคิดและศีลธรรมจากละครน้ำเน่าทุกเมื่อเชื่อวัน ความเชื่องเฉื่อยในมวลชน และการแปลความผิดๆ อย่างประหวั่นพรั่นพรึงสับสนวุ่นวายไปจนถึงประสาทแดก เหมือนกับการใช้เครื่องครัวของเด็กเล่นมาทำกับข้าวจริงๆ อย่างตามมีตามเกิด
การถูกคุกคามโดย ‘ภาพเหมือนของพ่อที่มีเลือดเนื้อ’ จึงก่อกวนสภาวะเฉื่อยเนือยนี้ เฉกเช่นเดียวกับการที่พวกอาๆ มาถึงพร้อมกับเครื่องเล่นวีดีโอ เปิดช่องทางเข้าของสื่อใหม่นอกจากเทปของพ่อกับละครหลังข่าวของแม่ การที่เด็กๆ นั่งดูวีดีโอหนังสยองขวัญในยามดึกจึงกลายเป็นทั้งโลกที่แปลกใหม่อันน่าพรั่นพรึง ในขณะเดียวกันก็เป็นการพายาเอลออกไปจากโลกแบบเดิมที่เธอจมอยู่ในมัน
การมาถึงของญาติๆ จึงเป็นการมาถึงของโลกข้างนอกสู่โลกข้างใน การได้พบว่าพ่อไม่ได้เป็นพ่อที่แสนดีเหมือนในคาสเสตต์เทป และจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นพ่อจริงๆ แต่เป็นพ่อของคนอื่น พ่อที่อาจจะไม่ใช่คนดิบคนดีอะไร พ่อที่อาจจะกิ๊กกันกับภรรยาของพี่ชายฝาแฝด การโดนกระตุ้นเร้าของแม่อาจจะมาจากพ่ออีกคนนี้ พ่อแบบที่อยู่นอกทีวี อยู่ในความคิดของผู้คนที่ออกไปขับไล่บนท้องถนนจริงๆ ในกรุงมะนิลา
มันจึงชาญฉลาดร้ายกาจที่โลกปิดของแม่และเด็ก ได้กลายเป็นภาพจำลองความเฉื่อยเนือยของสังคมในยุคเผด็จการ ยุคที่คนเอาตัวรอดไปวันๆ เฝ้าฝันว่าท่านผู้นำจะพาชาติพ้นภัย และได้เรียนรู้ทีละน้อยว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้น อย่างที่เราอยากให้เป็นหรือเชื่อว่าจะเป็น เพราะความเชื่อใดๆ ในเรา ก็ล้วนมาจากการแปลความหมายอย่างประสาทแดกของเราก็เท่านั้นเอง
Tags: เผด็จการ, กฎอัยการศึก, Nervous Translation, Shireen Seno, Ferdinand Marcos, Martial Law Babies, 1980s, Philippines, ฟิลิปปินส์