ใครที่หลงใหลในวรรณกรรม รักการอ่านหนังสือ และชอบแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น อดใจรอให้ดีๆ เพราะเดือนพฤศจิกายนนี้ หอสมุดนิลเซน เฮส์ จะจัดเทศกาลวรรณกรรมนานาชาติ ‘Neilson Hays Bangkok Literature Festival’ ครั้งแรกในประเทศไทยเนื่องในโอกาสที่สมาคมหอสมุดบนถนนสุรวงศ์แห่งนี้มีอายุครบ 150 ปี

นลิน วนาสิน ประธานคณะกรรมการบริหาร สมาคมหอสมุดนิลเซน เฮส์ เล่าว่า หอสมุดนิลเซน เฮส์ ก่อตั้งขึ้นโดย สุภาพสตรีชาวอเมริกันและชาวอังกฤษที่เป็นภรรยาของมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในประเทศไทย เริ่มก่อตั้งสมาคม ‘The Bangkok Ladies Library Association’ เพื่อแลกเปลี่ยนหนังสือ รวมทั้งส่งเสริมการศึกษา บริจาคเงินให้กับโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศไทย และในเดือนพฤศจิกายนนี้สมาคมจะมีอายุครบ 150 ปี ทางสมาคมหอสมุดนิลเซน เฮส์จึงอยากส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องวรรณกรรมสำหรับนักเขียนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ นอกจากนั้นยังอยากส่งเสริมการอ่านของคนไทยให้ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดกับนักเขียนชาติต่างๆ เพื่อเปิดมุมมองให้กว้างกว่าเดิม

เทศกาลวรรณกรรมนานาชาติ Neilson Hays Bangkok Literature Festival จะจัดขึ้นในวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2019 เป็นกิจกรรมที่ทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยให้การสนับสนุน  ภายในงานมีการเสวนาหลากหลายหัวข้อถึง 2 เวที พร้อมพรั่งด้วยนักเขียนหลายท่านด้วยกัน ทั้งไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น วีรพร นิติประภา, อุทิศ เหมะมูล, อนุสรณ์ ติปยานนท์, เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์, สฤณี อาชวานันทกุล, Dr. Michael M Coroza  นักเขียนชาวฟิลิปปินส์, Kanako Nishi  นักเขียนชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่มีแนวงานเขียนเป็นเอกลักษณ์ และนักเขียนอีกจำนวนมากจากการประกวดกว่า 25 เวทีทั้งระดับประเทศและระดับภูมิภาค ซึ่งมีทั้งนักเขียนงานวรรณกรรม นักเขียนบทภาพยนตร์ให้ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน รวมทั้งยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น ตลาดและเวิร์คช็อปศิลปะ งานฝีมือ และ การฉายภาพยนตร์

  ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความร่วมมือในการจัดงาน เทศกาลวรรณกรรมนานาชาติ Neilson Hays Bangkok Literature Festival ว่า 

  “การหล่อหลอมตัวตนของเรา มาจากการอ่านหนังสือ การอ่านทำให้เราค้นพบบางอย่าง แม้ไม่ต้องเดินทางไปทั่วโลกเราก็เข้าใจโลกใบนี้และความหลากหลายได้” 

เมื่อมองไปถึงจุดประสงค์ของศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว จะพบว่า จุดประสงค์ของการก่อตั้งคือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยและชาวอินเดีย ด้วยการใช้วิธีกิจกรรมทางวิชาการ การอ่านหนังสือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ ให้เราได้เรียนรู้งานของเขาและให้เขาได้เรียนรู้งานของเรา การจัดงานนี้ขึ้นมาจึงเป็นการเรียนรู้แนวคิด ประเด็นสังคมของแต่ละวัฒนธรรมผ่านวรรณกรรมให้ลึกซึ้งกว่าที่เคย
นอกจากนี้  

รศ. ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ และคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์  ยังกล่าวถึงการสนับสนุนงานเขียนอีกว่า “เราสนับสนุนนักเขียนไทยและนักเขียนนานาชาติมา 40 ปีแล้วและยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนต่อไป”  โดยในงานนี้ก็คือการรวมกันของภูมิภาคอาเซียน มีนักเขียนที่น่าสนใจหลายท่านและเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เห็นว่า ห้องสมุดคือศูนย์รวมทางปัญญาและการสร้างสรรค์ทางความคิด วรรณกรรมและอยากจะเห็นความยั่งยืนของการจัดงานเช่นนี้ต่อไป  

 อุทิศ เหมะมูล นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2009 เล่าว่า “ในฐานะที่ผมเป็นนักเขียน ผมตื่นเต้นอย่างมากกับการได้เห็นรายชื่อนักเขียนคนต่างๆ ของประเทศอื่นๆ เพราะว่า ผมได้ยินชื่อและรู้จักมานาน และถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีในการพูดคุยกับผู้คนเหล่านี้” 

อุทิศมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เกิดกิจกรรมเทศกาลวรรณกรรมในประเทศไทย เพราะการร่วมมือกันเพื่อให้เกิดเทศกาลด้านดนตรี ภาพยนตร์ ได้เกิดขึ้นแล้ว แต่กิจกรรมด้านวรรณกรรมนั้นมีความยุ่งยาก เนื่องจากมีการแปลของภาษาต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวด้วย แต่เทศกาลนี้ได้ย่นระยะทางและความเข้าใจด้านวรรณกรรมให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ได้อ่านตัวบทวรรณกรรม แต่เราได้พบกับนักเขียน และนักเขียนเองก็ได้พบนักเขียนด้วยกันในหลายๆ ประเทศผ่านกิจกรรมที่หอสมุดนิลเซน เฮส์ ได้จัดขึ้น นี่จึงไม่ใช่เพียงประโยชน์เฉพาะนักอ่านเท่านั้นที่จะได้เข้ามาใกล้ชิดกับตัววรรณกรรมและนักเขียนเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นกัน แต่ยังเป็นประโยชน์ให้นักเขียนแต่ละคนได้มาพบปะกันอีกด้วย

 

หมายเหตุ: ภาพปกบทความจากเฟซบุ๊กเพจ Neilson Hays Library

Tags: , , , ,