อ่านไม่ผิดหรอกครับ ประเทศโลกที่หนึ่ง เช่น สาธารณรัฐเชค สโลวาเกีย สหราชอาณาจักร เดนมาร์ค และสวิตเซอร์แลนด์ ต่างเคยประสบปัญหาผลิตไฟฟ้าล้นเกินจนต้องว่าจ้างผู้ซื้อไฟฟ้าว่าได้โปรดช่วยกันใช้ไฟทีเถอะ แต่ประเทศที่ประสบปัญหาบ่อยครั้งที่สุดก็หนีไม่พ้นประเทศเยอรมนี ที่เดินหน้าลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเต็มกำลัง ซึ่งบางครั้งสภาพอากาศเป็นใจจนผลิตมาเกินพอที่จะใช้ เดือดร้อนถึงผู้ผลิตที่ต้องจ่ายเงินให้ผู้บริโภคใช้ไฟฟ้าเพื่อนำพลังงานออกจากระบบจ่ายไฟ

ฟังดูเหมือนจะเป็นโลกในอุดมคตินะครับ อยู่ดีๆ นอนเปิดแอร์อยู่ที่บ้านก็มีเงินโอนเข้ามาในบัญชี แต่ช้าก่อน เพราะในโลกความเป็นจริงของผู้บริโภคตัวเล็กๆ อย่างเราๆ ท่านๆ และชาวเยอรมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

 

ตลาดซื้อขายไฟฟ้า

ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนนะครับ ว่าเหล่าประเทศข้างต้นจัดการระบบพลังงานแบบกึ่งตลาดกึ่งภาครัฐ กล่าวคือ ภาครัฐจะเป็นผู้ดูแลและลงทุนในสายส่ง หรือระบบกริดไฟฟ้า ส่วนราคาซื้อขายไฟฟ้านั้นจะถูกกำหนดโดยตลาด ซึ่งในสหภาพยุโรป จะซื้อขายกันผ่านตลาด European Power Exchange หรือ EPEX โดยมีผู้ขายคือเหล่าผู้ผลิตไฟฟ้า จะเป็นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานถ่านหิน หรือ พลังงานนิวเคลียร์ก็มาซื้อขายกันที่นี่ ส่วนผู้ซื้อ (ในตลาดนี้) ก็จะเป็นเหล่าโบรกเกอร์พลังงานที่ทำสัญญาขายไฟฟ้าให้กับผู้ซื้อทั้งรายย่อยและรายใหญ่ และทำกำไรจากส่วนต่างของราคาซื้อขาย

หน้าตาและกลไกตลาดจึงแตกต่างจากประเทศไทยที่มีผู้ซื้อ เจ้าของระบบกริดไฟฟ้า และผู้ขายรายเดียว คือเหล่ารัฐวิสาหกิจกที่ควบคุมโดยรัฐบาลไทยอีกทีหนึ่ง

สาเหตุของค่าไฟติดลบก็ตรงไปตรงมา คือผู้ผลิตผลิตไฟฟ้ามากกว่าที่ผู้ซื้อต้องการจะซื้อนั่นแหละครับ หรือหากจะพูดให้ดูวิชาการขึ้นอีกหน่อย ก็คือมีอุปทานมากกว่าอุปสงค์นั่นเอง ในประเทศเยอรมนี เหตุการณ์ค่าไฟติดลบนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2550 ส่วนในปีที่ผ่านมา เยอรมนีเผชิญกับค่าไฟฟ้าติดลบกว่า 100 ครั้ง บางครั้งยาวนานถึง 32 ชั่วโมง โดยมีราคาต่ำที่สุดถึง -83.06 ยูโรต่อเมกะวัตต์ นั่นหมายความว่า หากใครซื้อไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวจะได้เงินไป 83.06 ยูโรต่อไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์นั่นเอง

จำนวนครั้งที่ค่าไฟติดลบ เมื่อ พ.ศ. 2560 และ 2561 กราฟจาก Bloomberg

ทำไมผู้ผลิตไฟฟ้าถึงยอมจ่ายคืน

หลายคนอาจสงสัย ถ้าตลาดจะใจร้ายกับผู้ผลิตขนาดนี้ แล้วทำไมเหล่าโรงไฟฟ้ายังทนรับสภาพ ตั้งหน้าตั้งตาเดินเครื่องผลิตกันต่อไป ไม่ปิดโรงงานพักร้อนไปนอนหายใจเล่น?

คำตอบก็ตรงไปตรงมาอีกเช่นกัน ก็เพราะต้นทุนในการปิดโรงงานแล้วกลับมาเดินเครื่องใหม่นั้นสูงกว่าทนๆ เดินเครื่องไปแล้วจ่ายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าซื้อไฟไปใช้นั่นเองครับ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน หรือแก๊สธรรมชาติ ที่หากจะปิดเครื่องก็ต้องเตรียมการล่วงหน้าอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เช่นเดียวกับการจะเดินเครื่องใหม่ก็ต้องใช้เวลา 8 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน แถมเหตุการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง ส่วนใหญ่มักเกิดในช่วงวันหยุดยาวที่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ เช่น สำนักงานหรือโรงงานผลิตปิดพร้อมกัน หรือในวันที่แสงแดดลมดีจนพลังงานหมุนเวียนผลิตเต็มพิกัด

ส่วนใหญ่มักเกิดในช่วงวันหยุดยาวที่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ปิดพร้อมกัน หรือในวันที่แสงแดดลมดีจนพลังงานหมุนเวียนผลิตเต็มพิกัด

ที่มาที่ไปของค่าไฟฟ้าติดลบก็เนื่องจากการสนับสนุนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนแบบสุดลิ่มทิ่มประตูของรัฐบาลเยอรมนีและอีกหลายๆ ประเทศในสหภาพยุโรปนั่นเอง ลักษณะสำคัญของแหล่งพลังงานหมุนเวียนคือกำลังการผลิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ไฟฟ้า แต่อ้างอิงจากสภาพดินฟ้าอากาศซึ่งเป็นตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้

จึงเป็นโจทย์สำคัญในอนาคตว่าจะจัดการระบบจ่ายไฟฟ้าอย่างไรให้เหมาะสมกับลักษณะการผลิตใหม่จากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ซึ่งก็มีทางออก เช่น การพัฒนาแบตเตอรี่เพื่อเก็บสะสมพลังงานไฟฟ้าในช่วงที่การผลิตล้นเกิน แล้วนำออกมาขายในช่วงที่ไฟฟ้าราคาแพง หรือการใช้พลังงานล้นเกินดังกล่าวสูบน้ำขึ้นสู่ที่สูง และปล่อยออกมาปั่นกังหันผลิตไฟฟ้าในภายหลัง

แผนภาพแสดงการทำงานของเทคโนโลยีการจัดเก็บไฟฟ้าด้วยน้ำ (hydro-storage technology) โดยเครื่องสูบน้ำจะใช้ไฟฟ้าส่วนเกินสูบขึ้นไปเก็บไว้บนอ่างเก็บน้ำ และปล่อยลงมาผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงเวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นและแหล่งไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มที่ ภาพจาก arena.gov.au

อย่างไรก็ดี เหล่าผู้บริโภคในเยอรมนีก็ไม่อาจรู้สึกรู้สากับค่าไฟติดลบสักเท่าไร เพราะค่าไฟฟ้าที่ชาวเยอรมันจ่าย มีสัดส่วนต้นทุนการซื้อไฟฟ้าเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นค่าภาษีอากร ค่าใช้ระบบจ่ายไฟฟ้า รวมถึงค่าสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายพลังงานของประเทศ แต่ผู้ได้ประโยชน์เต็มๆ ก็คือเหล่าโบรกเกอร์และผู้เล่นรายใหญ่ที่ซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตโดยตรง

 

ราคาไฟฟ้าในประเทศไทย

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย โครงสร้างราคาไฟฟ้าของเราแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

  • ค่าไฟฟ้าฐาน เป็นค่าไฟฟ้าที่สะท้อนรายจ่ายของการไฟฟ้าฯ ทั้ง 3 แห่ง (อันได้แก่ กฟผ. กฟน. และ กฟภ.) ซึ่งรายจ่ายของการไฟฟ้า แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1) ต้นทุนทางการเงินที่การไฟฟ้าฯ ใช้ในการก่อสร้างขยายระบบผลิต ระบบส่งและระบบจำหน่ายภายใต้สมมติฐานความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต 2) ต้นทุนในการดำเนินงานและผลตอบแทนการลงทุน และ 3) ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า
  • ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ‘ค่าเอฟที’ หมายถึง ค่าไฟฟ้าผันแปรตามความผันผวนของต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า

ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจที่ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟทีได้รับความสนใจและพูดถึงอย่างแพร่หลาย ทั้งที่ตามโครงสร้างค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน ค่าเอฟทีคิดเป็นไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายด้วยซ้ำ (บางครั้งอาจติดลบในช่วงที่เชื้อเพลิงราคาถูก) แต่ค่าไฟฟ้าฐานกลับมีการขุดคุ้ยมาพูดคุยกันน้อยมาก

โชคดีที่ผู้เขียนไปค้นเจอเอกสารของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน ซึ่งแจกแจงการคำนวณค่าไฟฟ้าฐานไว้ดังกราฟด้านล่าง

ความน่าประหลาดใจของตัวเลขค่าไฟฟ้าฐาน คือการคำนวณใหม่ทุกๆ 3-5 ปี ซึ่งค่อนข้างขัดกับที่มาของค่าไฟฟ้าซึ่งมาจากการประมาณการการใช้ไฟฟ้าในอนาคต นั่นหมายความว่าค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายทุกวันคือภาพ ‘อนาคต’ ที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญทำนายว่ากำลังการใช้ไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และภาพนั้นจะไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขเป็นเวลาอย่างน้อย 3-5 ปี ทั้งที่สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงแทบจะรายสัปดาห์

ส่วนการคาดการณ์นั้นแม่นยำแค่ไหน เราสามารถพิจารณาได้จาก ปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทย (Reserve Margin) สูงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์หรือราว 10,000 เมกะวัตต์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จนต้องมีการสั่งให้หยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าหลายแห่งเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้า แถมมาด้วยต้นทุนแฝงอย่าง ‘ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment)’ ซึ่งเป็นต้นทุนที่รัฐต้องจ่ายให้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเดินเครื่องหรือไม่ก็ตาม ผู้เขียนคาดว่าต้นทุนดังกล่าวได้ถูกรวมไปกับค่าซื้อไฟฟ้าเอกชนและต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็นราว 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าไฟฟ้าฐาน ส่วนค่าความพร้อมจ่ายจะมากน้อยขนาดไหนก็ไม่มีใครตอบได้นอกจากเหล่ารัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นผู้จัดการระบบไฟฟ้าไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ความน่าปวดใจอีกหนึ่งอย่างของผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย คือรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ไม่มีทางขาดทุน ส่วนหนึ่งเพราะต้นทุนทุกอย่างถูกผลักไว้ให้กับผู้บริโภค อีกส่วนหนึ่ง ผลตอบแทนจากโครงการโรงไฟฟ้าได้ถูกคำนวณมาอยู่ในค่าไฟของเราเรียบร้อยแล้ว

ความน่าปวดใจอีกหนึ่งอย่างของผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย คือต้นทุนทุกอย่างถูกผลักไว้ให้กับผู้บริโภค

ใช่ครับ ค่าไฟที่เราจ่ายทุกวันนี้ได้รวมเอาต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ บวกผลตอบแทนจากการลงทุนไว้แล้วอย่างเสร็จสรรพ หากเรายังคิดต้นทุนในลักษณะนี้ เหตุการณ์ค่าไฟติดลบในไทยก็คงเป็นแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ

ทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า นอกจากการเปิดเผยต้นทุนทุกบรรทัดแบบโปร่งใสสุดขั้วแล้ว ก็ยังมีอีกทางเลือกหนึ่ง คือการให้ระบบตลาดเข้ามาจัดการ ดังเช่นรูปแบบตลาดพลังงานผสมผสานที่ยกตัวอย่างข้างต้นของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป โดยรัฐทำหน้าที่กำกับดูแลและบริหารจัดการระบบกริดไฟฟ้า และปล่อยให้ตลาดจัดสรรการซื้อขายระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรให้ดีขึ้น นั่นหมายถึงต้นทุนที่ถูกลง

แต่การปล่อยให้ตลาดจัดการก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีเสมอไป เพราะหากไม่มีการกำกับดูแล หรือใช้นโยบายอย่างระมัดระวัง ตลาดก็อาจสร้างวิกฤตได้ เช่น วิกฤตการณ์ไฟฟ้าดับที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2543-2544 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากใช้กลไกตลาดในการจัดสรรพลังงานไฟฟ้า แต่มีการกำหนดเพดานค่าไฟฟ้าปลีก จนนำไปสู่เหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่หลายต่อหลายครั้ง การล้มละลายของบริษัทพลังงานขนาดยักษ์ และสภาวะเศรษฐกิจซบเซา

ส่วนระบบตลาดซื้อขายไฟฟ้าจะเหมาะกับประเทศไทยหรือไม่ ผู้เขียนก็คงไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่ระบบตลาดก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะปลดภาระภาครัฐจากการบริหารจัดการทั้งการผลิตและจัดจำหน่าย โดยเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการอุปทานของระบบไฟฟ้า และไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นเกินจากการคาดการณ์ผิดพลาด

เพราะในโลกของตลาด หากผลิตมาล้นเกินเมื่อไหร่ สิ่งที่เราจะได้เห็นก็คือค่าไฟฟ้าติดลบนั่นแหละครับ!

 

 

เอกสารประกอบการเขียน

 

Tags: , , , , , , , , ,