‘นี่! อย่ายืนรวมกันห้าคน เดี๋ยวโดนจับ’ ฟังดูแล้วอ่านเหมือนมุกตลกขำๆ อำกันเล่น แต่ตลกร้ายคือมันมีคนโดนจับถูกดำเนินคดีๆ จริงๆ ในประเทศไทย
ภาพของ ‘ไผ่ ดาวดิน’ บัณฑิตหนุ่มจากแดนอีสานสวมชุดครุยทับเสื้อนักโทษที่บริเวณหน้าศาลทหารขอนแก่นท่ามกลางวงล้อมของครอบครัวและคนรู้จัก เป็นตัวอย่างหนึ่งของภาพสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อประชาชนร่วมตัวกันแสดงออกต่อสาธารณะว่าไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศโดยรัฐบาล คสช.
ปัจจุบัน ประชาชน นักกิจกรรม นักการเมือง และนักเคลื่อนไหวทางสังคมกว่า 270 ชีวิต ถูกดำเนินคดีและต้องขึ้นโรงขึ้นศาลในข้อหา ‘ฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมือง หรือมั่วสุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป’ ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 หรือ ประกาศคสช. ฉบับที่ 7/2557 มีโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนข้อหาดังกล่าวจะมาแรงอีกครั้ง หลังวันที่ 23 มกราคม 2561 เจ้าหน้าที่ทหารได้ไปแจ้งความเอาผิดแปดแกนนำเครือข่ายประชาชนที่จัดกิจกรรมเดินจากกรุงเทพไปขอนแก่นภายใต้ชื่อกิจกรรม ‘We Walk เดินมิตรภาพ’ และล่าสุด 30 มกราคม 2561 มีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารก็เดินทางไปแจ้งความกลุ่มนักกิจกรรมแปดคน ที่จัดกิจกรรมแสดงพลังต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ในข้อหาเดียวกัน
จากเดินมิตรภาพสู่เดินหน้ารับทราบข้อกล่าวหา
กิจกรรม ‘We Walk เดินมิตรภาพ’ คือการรวมนักเคลื่อนไหวมาเดินเพื่อรณรงค์ในสี่ประเด็น ได้แก่ หลักประกันสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร สิทธิชุมชนในการจัดสรรทรัพยากรและรักษาสิ่งแวดล้อม และสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจะเดินเท้าจากกรุงเทพฯ ถึง ขอนแก่น รวมระยะทาง 450 กิโลเมตร คาดว่าน่าจะใช้เวลาราวๆ หนึ่งเดือน
จะว่าไปแล้ว ช่วงเวลานี้อาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้วในการขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะ เพราะไทยเราเพิ่งเริ่มใช้รัฐธรรมนูญ และเป็นช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายเฝ้ารอการเลือกตั้ง ที่แม้ยังไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อไร แต่ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่ฝ่ายต่างๆ กำลังขยับตัวเตรียมวางแผนลงสนามเตรียมเลือกตั้ง
แต่การทำกิจกรรมดูจะเจออุปสรรคตั้งแต่วันเริ่มออกเดิน เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2561 จากจุดเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ก็ปรากฏว่า ทางกลุ่มไม่สามารถเดินออกได้ เพราะมีตำรวจมากกว่า 200 นายตั้งรั้วกั้นและตั้งแถวเป็นจุดสกัดเอาไว้
ทำไมกิจกรรมครั้งนี้จึงเกิดขึ้นไม่ได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า ขอให้อย่ามีการชุมนุมออกนอกสถานศึกษาหรือนอกพื้นที่ เพราะบ้านเมืองกำลังดำเนินไปได้ดี จึงขอให้กลุ่มนักกิจกรรมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ไม่เช่นนั้นแล้ว จะถือว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน
ทำไมกิจกรรมครั้งนี้จึงเกิดขึ้นไม่ได้ ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า ขอให้อย่ามีการชุมนุมออกนอกสถานศึกษาหรือนอกพื้นที่ เพราะบ้านเมืองกำลังดำเนินไปได้ดี
แต่ท้ายที่สุด กลุ่มที่เตรียมตัวมาเดินยังคงเดินหน้าต่อไป พร้อมกับที่มีเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจติดตามอย่างใกล้ชิด และบางส่วนรุดหน้าไปกดดันวัดที่อยู่ระหว่างทาง เพื่อไม่ให้เปิดให้นักกิจกรรมมานอนค้างคืน
เพียงวันที่ 4 ของกิจกรรม หรือเมื่อวันที่ 23 มกราคม ก็ปรากฏว่า พ.ท.ภูษิต คล้ายหิรัญ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 4 ได้รับมอบหมายจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน ขึ้นไป ต่อแกนนำรวมแปดคน
ตัวแทนเครือข่ายจำนวนแปดคน ได้แก่ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ อนุสรณ์ อุณโณ นิมิตร์ เทียนอุดม สมชาย กระจ่างแสง แสงศิริ ตรีมรรคา นุชนารถ แท่นทอง อุบล อยู่หว้า และจำนงค์ หนูพันธ์ จะเดินทางไปพบเจ้าพนักงานตำรวจที่สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ในวันที่ 31 ม.ค. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา
คำสั่ง คสช.ว่าอย่าง คำสั่งศาลปกครองว่าอีกอย่าง
สิ่งที่ย้อนแย้งในเรื่องนี้ คือ หลังเกิดความไม่เข้าใจกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่วันแรกของกิจกรรม กลุ่ม We Walk จึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวว่า กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่ทำได้ภายใต้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
ผลการวินิจฉัยทำให้กลุ่ม We walk ดีใจ เพราะศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องไม่ปิดกั้นการเดิน และต้องให้ความคุ้มครองด้วย
อย่างไรก็ดี วันที่ 31 ม.ค. ตัวแทนทั้งแปดคนยังมีบ่วง เพราะต้องไปรายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับคดีนี้ว่า “ไม่รู้สึกกังวลอะไร ตามที่ศาลปกครองได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ดูแลเราตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้ไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัย แค่นี้ก็พอจะทำให้เราหายห่วงกังวลได้”
“หลังเราขอศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว สังคมต้องตั้งคำถามว่า สุดท้ายคำสั่งหัวหน้า คสช. ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญหรือเปล่า หรือรัฐธรรมนูญใหญ่กว่า ซึ่งผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญใหญ่กว่า และเรายังสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้ ยกเว้นแต่ทหารเห็นว่าเขาใหญ่กว่า ถ้าเขาจะสกัดผม ผมก็ทำอะไรไม่ได้ ส่วนคดีก็ไม่มีผลกระทบอะไร เราก็สู้กันต่อไป” เลิศศักดิ์ กล่าว
จากหมดเวลาคสช. สู่หมดเวลาให้ประชาชนแสดงออก
ไม่กี่วันหลังจากนั้น ก็เกิดคดีใหม่อีกคดีที่มาจากการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน หลังจากเมื่อวันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2561 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) นัดประชาชนรวมพล “ประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.” บริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน
เหตุที่ทำให้กลุ่ม DRG ออกมารวมตัวกัน เพราะ สนช. มีมติแก้ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีผลให้ยืดเวลาการเลือกตั้งออกไปอีก 90 วัน นั่นหมายความว่า จากเดิมที่รัฐบาล คสช.เลื่อนเลือกตั้งไปเป็นพฤศจิกายน 2561 ก็อาจถูกเลื่อนอีกครั้งไปเป็นกุมภาพันธ์ 2562
กิจกรรมนี้มีคนเข้าร่วมกว่า 50 คน โดยมีการอ่านแถลงการณ์ให้ยกเลิกการตั้งข้อหาเพื่อปิดปากและละเมิดสิทธิพลเมืองกับแปดแกนนำเครือข่ายภาคประชาชนที่จัดกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ และเรียกร้องให้รัฐบาล คสช.ต้องจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561
“สังคมต้องตั้งคำถามว่า สุดท้ายคำสั่งหัวหน้า คสช. ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญหรือเปล่า หรือรัฐธรรมนูญใหญ่กว่า” – เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
ระหว่างจัดกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่รอบบริเวณ และมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) ได้เข้ามาเจรจาขอให้ยุติการใช้สถานที่ และผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน มาแจ้งต่อผู้จัดกิจกรรมว่า ให้กิจกรรมจบที่เวลา 19.00 และเตือนเรื่องการใช้เครื่องกระจายเสียง
จนกระทั่ง 29 มกราคม 2561 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่ หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าแจ้งความที่สน.ปทุมวัน 29 ม.ค. หลังได้รับมอบอำนาจจาก คสช. ให้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับนักศึกษาและนักกิจกรรมเจ็ดคน
‘ชุมนุมทางการเมือง’ ข้อหาหลักหลังรัฐประหาร
จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์กฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน พบว่า มีประชาชนอย่างน้อย 270 คนที่ถูกดำเนินคดี ในข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน ฝ่าฝืนประกาศคสช. ฉบับที่ 7/2557 หรือ ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12
ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารจับกุม ตรวจค้น ยึด หรืออายัด พร้อมกับเข้าร่วมสอบสวนและควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกินเจ็ดวัน ทั้งนี้ หากประชาชนฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน ต้องระวางโทษไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อมูลของศูนย์กฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน พบว่า มีประชาชนอย่างน้อย 270 คนที่ถูกดำเนินคดี ในข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน
โดยลักษณะกิจกรรมที่ทำให้ประชาชนถูกดำเนินคดีก็แตกต่างกันไป เช่น การรวมตัวกันต่อต้านการรัฐประหาร เช่น กลุ่มนักศึกษาดาวดินเจ็ดคนออกมาแสดงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหาร โดยถือป้ายผ้าที่เขียนข้อความว่า “คัดค้านรัฐประหาร” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น หรืออย่างการแถลงข่าวของนักวิชาการเพื่อตอบโต้กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ว่า อาจารย์ในมหาวิทยาลัยบางส่วน ว่าสอนให้นักศึกษามีความคิดเชิงต่อต้าน และไม่เคารพกติกา
นอกจากนี้ แม้แต่การร่วมกันตรวจสอบการทุจริต อย่างเช่น กลุ่มประชาธิปไตยศึกษาและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมทั้งหมด 38 คน ชวนกันนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์เพื่อตรวจสอบการทุจริตโครงการดังกล่าวหลังมีกระแสข่าวโกงเงินค่าหัวคิว หรือแม้แต่การรณรงค์ประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มการประชาธิปไตยใหม่และกลุ่มแรงงานแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญและแบบฟอร์มการขอใช้สิทธิลงประชามตินอกเขต ก็ยังถูกจับกุมและแจ้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนเช่นเดียวกัน
ภาคประชาชนยังยืนหยัดต่อต้านอำนาจพิเศษ
แม้เจ้าหน้าที่รัฐจะพยายามสกัดกั้นทุกวิธีทาง แต่ภาคประชาชนก็ยังคงเดินหน้าเรียกร้องสิทธิ ก่อนหน้านี้ กลุ่ม DRG ร่วมกับเครือข่ายประชาชนภาคต่างๆ ยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมือง และการกระทำตามคำสั่งดังกล่าว เป็นสิ่งที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
“ปัจจุบันนี้ มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ และรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีการกำหนดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคของบุคคล และสิทธิในชีวิต ร่างกายที่จะไม่ถูกคุมขัง ทว่าถึงวันนี้ การดำเนินคดีโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ยังคงอยู่ จึงเป็นเหตุผลในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามสิทธิในมาตรา 213 เพื่อยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในข้อ 6 และ 12” รังสิมันต์ โรม ตัวแทนกลุ่ม DRG แถลงต่อสื่อมวลชนก่อนการยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ
ด้านโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ iLaw ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน 23 แห่ง ได้ชักชวนประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 เข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. จำนวน 35 ฉบับ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและระบอบประชาธิปไตย เพราะแม้ว่า คสช. จะหมดอำนาจ แต่ตัวประกาศคำสั่งเหล่านี้ก็ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่จนกว่ามีกฎหมายมายกเลิก
“เราเชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายจากประชาชนฐานรากมากกว่า เพราะว่า ถ้าการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกิดจากการเสนอของประชาชนจำนวนมาก ก็แสดงว่าคนมีความเข้าใจต่อเรื่องนั้นๆ และเมื่อสังคมเข้าใจต่อเรื่องนั้นๆ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน” ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนกล่าว
อ้างอิง:
http://www.bbc.com/thai/thailand-42785011
https://prachatai.com/journal/2017/12/74498
https://freedom.ilaw.or.th/politically-charged
https://freedom.ilaw.or.th/th/case/683
https://freedom.ilaw.or.th/case/700
https://freedom.ilaw.or.th/th/case/704
https://freedom.ilaw.or.th/case/718
http://www.bbc.com/thai/thailand-42869121?ocid=socialflow_facebook
Fact Box
- ข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ระบุว่า ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
- ตัวแทนกลุ่ม We Walk แปดคนที่ถูกฟ้องคดี ได้แก่ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ (เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) อนุสรณ์ อุณโณ (คณบดีคณะสังคมวิทยา มธ.) นิมิตร์ เทียนอุดม (มูลนิธิเข้าถึงเอดส์) สมชาย กระจ่างแสง (มูลนิธิเข้าถึงเอดส์) แสงศิริ ตรีมรรคา (เครือข่ายหลักประกันสุขภาพ) นุชนารถ แท่นทอง (เครือข่ายสลัม 4 ภาค) อุบล อยู่หว้า (เครือข่ายเกษตรทางเลือก อีสาน) และ จำนงค์ หนูพันธ์ (เครือข่ายสลัม 4 ภาค)
- ผู้ที่ถูกตั้งข้อหาในกิจกรรม "ประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช." มีทั้งหมดเจ็ดคน ซึ่งมาจากหลากหลายกลุ่ม โดยส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่รัฐบาลคสช.หมายหัวอยู่แล้ว ได้แก่ รังสิมันต์ โรม สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ณัฎฐา มหัทธนา อานนท์ นำภา เอกชัย หงส์กังวาน สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล