เพิ่งจะผ่านเดือนมกราคม 2561 คำสัญญาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะจัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 เห็นทีกำลังจะเป็นหมัน และต้องเลื่อนเลือกตั้งออกไปเป็นครั้งที่ 4 เพราะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่งผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้แก้ไขโดยขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายจากหนึ่งวันหลังการประกาศใช้ มาเป็น 90 วันหลังจากประกาศ

ก็เท่ากับว่า การเลือกตั้งจะยืดเวลาออกไปอีก 90 วันจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ไม่ว่าจะเหตุผลเบื้องหลังจะมาจากอะไร แต่เมื่อผลลงเอยที่ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนเวลาออกไปจนโรดแมป คสช. ต้องกระเทือนเป็นครั้งที่ 4 ครั้งนี้ดูเหมือนจะไม่ง่ายเหมือนสามครั้งที่ผ่านมา เพราะหลังจากวันที่ 25 มกราคม 2561 ซึ่ง สนช.กดปุ่มเห็นชอบร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส. ด้วยมติเอกฉันท์ ทันทีทันใด ช่วงเย็นวันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2561 ก็มีการจัดกิจกรรม “นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.” บนสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน โดยกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG)

รวมทุกสีเสื้อขอเลือกตั้ง ไม่เอาสืบทอดอำนาจ

แม้กิจกรรมครั้งนี้จะนำโดยนักกิจกรรมผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมาของ คสช.มาตลอดสี่ปีอย่าง รังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่ม DRG กับ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ แกนนำกลุ่ม START UP PEOPLE แต่ก็มีประชาชนสนใจเข้าร่วมจำนวนมากเท่าที่จะทำได้ภายใต้เงื่อนไขของยุคนี้ ขณะที่สื่อมวลชนก็ให้ความสนใจกิจกรรมนี้มากเช่นเดียวกัน

เซอร์ไพรส์ของกิจกรรมวันนั้น คือการเดินทางมาพร้อมกันของ วีระ สมความคิด และ สมบัติ บุญงามอนงค์ สองแกนนำต่างขั้วการเมืองสีเหลือง-แดงที่มาร่วมกิจกรรมด้วย

การเดินทางมาของทั้งคู่ ทำให้วิเคราะห์กันว่า กิจกรรมนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของทุกสีเสื้อเพื่อร่วมกันต้าน คสช.

รังสิมันต์ โรม แกนนำผู้จัดกิจกรรมก็คิดเช่นนั้นว่า การรวมตัวครั้งนี้ถูกสร้างจากประเด็นที่ทุกคนเห็นตรงกัน คือ ไม่ต้องการเห็นการสืบทอดอำนาจของ คสช. และต้องการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานในการเลือกตั้ง

รังสิมันต์เห็นว่า “แม้แต่คนที่เคยสนับสนุน คสช.ก็เห็นว่า คสช.ทำอย่างนี้ไม่ได้ ดังนั้นในเชิงเนื้อหา จากเดิมที่เราเคยมีคู่กรณีหลายฝ่าย ไม่ว่าเสื้อแดง เสื้อเหลือง คนกลางๆ ตอนนี้เป็นเรื่องระหว่างประชาชนและทหาร”

ขณะที่ สมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง มองปรากฏการณ์นี้ว่า จะทำให้เห็นการหลอมรวมของคนที่มาจากสีเสื้อทางการเมืองที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะมองเห็นได้ง่ายกว่าหากมองในระดับมวลชนแต่ส่วนของแกนนำ ยังคงต้องใช้เวลาพอสมควร แต่เมื่อไรที่แกนนำออกหน้า ก็น่าจะได้เห็นภาพผู้ชุมนุมที่มีจำนวนมากขึ้นหลายเท่า

ชุมนุมฯ เป็นแค่รูปแบบหนึ่งของการไม่เอา คสช.

การออกมารวมพลต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช. และเรียกร้องการเลือกตั้ง ถูกเร่งจังหวะขึ้นมาในช่วงปลายปี 2560 หลังจากกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองบังคับใช้ ที่แม้กฎหมายจะบังคับใช้แล้วแต่ทุกฝ่ายก็ยังขยับตัวไม่ได้ เพราะติดประกาศ คสช. 57/2557 ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ทำให้ยากที่จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ตามที่กฎหมายกำหนด จนกระทั่ง คสช. ต้องใช้ มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 แก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง กำหนดให้ผู้ที่จะตั้งพรรคการเมืองใหม่สามารถเริ่มหาสมาชิกได้ ขณะที่พรรคการเมืองเดิมให้รีเซ็ตสมาชิกใหม่ และจะเริ่มปลดล็อคพรรคการเมืองในเดือนเมษายน 2561

ประเด็นเหล่านี้ส่งผลให้บรรดาพรรคการเมืองและนักการเมือง โดยเฉพาะจากสองพรรคใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาโจมตี คสช.อย่างหนัก ว่าต้องการยื้อไม่ให้มีการเลือกตั้งเพื่อสลายพรรคการเมืองใหญ่ และตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อสืบทอดอำนาจ จนมีการพูดกันว่า สองพรรคใหญ่อาจจับมือกัน อย่างน้อยก็เพื่อกันนายกฯ คนนอก

การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช. มีการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องจากหลายฝ่าย การกระทำของพรรคการเมืองเองก็เป็นอีกหนึ่งการเคลื่อนไหว ซึ่งสมาชิก DRG ก็มองว่า การชุมนุมครั้งล่าสุดนี้ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบไหน ถนนทุกสายต่างมุ่งเข้าสู่การตั้งคำถามต่อคสช.

คสช.หมดเหตุผลในการเลื่อนเลือกตั้ง

คสช. สร้างเงื่อนไขว่า มีสามสิ่งที่จะใช้กำหนดว่าจะมีเลือกตั้งหรือไม่ คือ รัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การเลื่อนเลือกตั้งสี่ครั้งที่ผ่านมาถูกอ้างด้วยเหตุสองข้อ คือ รัฐธรรมนูญกับกฎหมายลูก ดูเหมือนจะเหลือเพียงข้ออ้างเรื่องความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองที่ยังไม่ถูกนำมาใช้อ้างอย่างจริงจัง

ข้ออ้างเรื่องความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองอาจทำให้การออกมาชุมนุมเข้าทาง คสช. ที่สามารถใช้เรื่องนี้มาเป็นเหตุเลื่อนเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม รังสิมันต์มองว่าปัจจุบัน คสช. ไม่เหลือเหตุผลอะไรที่จะเลื่อนเลือกตั้งแล้ว

“แม้จะอ้างเรื่องความสงบ แต่เราสงบมาตั้งนาน แต่ทำไมเราถึงไม่เห็นกระบวนการของความพยายามที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง” รังสิมันต์กล่าว

นัดจัดชุมนุมฯ ทุกเสาร์ แม้จะถูกดำเนินคดี

การออกมาชุมนุมในยุครัฐบาลทหารไม่ใช่เรื่องง่าย ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพระบุว่า มีประชาชนอย่างน้อย 264 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาชุมนุมทางการเมืองห้าคนขึ้นไป สำหรับการชุมนุมเมื่อวันเสาร์ที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา คสช.ก็ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมจำนวน 39 คนในข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558

วันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2561 เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการขับไล่ คสช. ต่อจากนี้ไป มวลชนนัดชุมนุมกันทุกวันเสาร์ โดยนัดครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่เสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน แม้แกนนำและมวลชนจำนวนมาก จะถูก คสช. กล่าวหาในข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนขึ้นไป

“ทุกคนรู้ว่าการออกมาทำอะไรแบบนี้มันเสี่ยง แล้วการเป็นคดีเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ต่อให้ผมอยู่เฉยๆ ก็เป็นคดีได้” รังสิมันต์กล่าว ในฐานะหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา เขาเห็นว่า การดำเนินคดีประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวว่าให้ คสช. ออกไป ก็คือการรักษาอำนาจของ คสช. ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า ทำไมจึงมีการฟ้องคดีจำนวนมาก

 

 

อ้างอิง

https://ilaw.or.th/node/4729

https://ilaw.or.th/node/4709

https://ilaw.or.th/node/4707

https://freedom.ilaw.or.th/politically-charged

Tags: , ,