สมัยนี้อะไรๆ ก็ต้องไปอยู่ในออนไลน์ สื่อดั้งเดิมอย่างทีวีและหนังสือพิมพ์ต่างก็มีเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียของตัวเองกันทั้งนั้น ความคิดนี้ไม่ได้อยู่แค่คนทำสื่อ แม้แต่หน่วยงานที่ดูแลเรื่องสัมปทานคลื่นความถี่อย่าง กสทช. ก็ยังออกโรงแสดงแสนยานุภาพเรื่องจะปิดกั้นเว็บไซต์และคุมเนื้อหาออนไลน์
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีความพยายามอย่างแข็งขันที่จะปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ด้วยเหตุผลว่าเฟซบุ๊กมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ดังที่มีการจัดแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินการปิดเว็บไซต์ที่นำเสนอเนื้อหาไม่เหมาะสม มีแถลงการณ์ถึงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม การให้สัมภาษณ์ของเลขาธิการ กสทช. ต่อสื่อมวลชนในวันที่ 12 พฤษภาคม รวมทั้งรายงานข่าวหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ซึ่งระบุว่าสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทยเปิดเผยว่าถูกทางการกดดันให้ปิดการเข้าถึงการใช้งานเฟซบุ๊กทั้งระบบในวันที่ 16 พฤษภาคม หลังจากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ใช้เฟซบุ๊กหรือแฟนเพจบางราย สำหรับการลบข้อความที่ผิดกฎหมายของไทยออกจากหน้าเพจ
อย่างไรก็ดี การกระทำของ กสทช. ชวนให้สงสัยว่าเหตุใด กสทช. ซึ่งอยู่ในสถานะองค์กรกำกับดูแลการประกอบกิจการสื่อสาร จึงมาเกี่ยวข้องกับการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ ทั้งที่งานนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
ใครมีอำนาจบล็อกเว็บ
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการปิดกั้นเว็บไซต์ที่เห็นว่ามีเนื้อหาที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จะกระทำได้ต่อเมื่อพนักงานในหน้าที่ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที) ยื่นคำร้องต่อศาลหลังจากผ่านความเห็นชอบของรัฐมนตรี แล้วศาลจะเป็นผู้พิจารณาออกคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้
ส่วน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไขล่าสุดที่ประกาศใช้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กำหนดให้คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ทำหน้าที่พิจารณา ก่อนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะยื่นคำร้องต่อศาล ให้มีคำสั่งระงับการแพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี
สำหรับ กสทช. อำนาจหน้าที่ที่ใกล้เคียงที่สุดคือประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการขอรับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต พ.ศ. 2548 ซึ่งเปิดช่องให้ กสทช. สามารถระงับ ยกเลิก หรือเพิกถอน ‘ใบอนุญาต’ ในการให้บริการอินเทอร์เน็ตได้ ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือมีความจำเป็นที่ต้องปกป้องความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ถึงกระนั้น ในประกาศและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ได้กำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่โดยตรง หรืออำนวยความสะดวกในการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ
กสทช. ทำอะไรไปแล้วบ้าง
ที่ผ่านมา กสทช. สามารถจัดสรรโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไร้สายได้มากขึ้น เช่น การประมูลคลื่นความถี่ 3G และ 4G รวมถึงการออกใบอนุญาตแก่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
อย่างไรก็ตาม มีคำวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของ กสทช. ต่อการคุ้มครองผู้ใช้บริการว่าไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร ดังเช่นกรณีล่าสุดที่ กสทช. อนุมัติให้ 3BB อินเทอร์เน็ตชดเชยผู้ใช้บริการที่ไม่สามารถใช้บริการของ Google และ Youtube ได้ติดต่อกันหลายชั่วโมง ด้วยการใช้บริการแอปพลิเคชันชมภาพยนตร์ฟรี 1 เดือน การควบคุมการออกอากาศสดทางเฟซบุ๊ก และบริการสตรีมมิงต่างๆ เช่น เตรียมวางแนวทางกำกับดูแลกิจการแพร่ภาพและเสียง Over The Top (OTT)
ส่วนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวในการสื่อสารของประชาชน กสทช. บางคนเคยแสดงความเห็นต่อสาธารณะ คัดค้านกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่ขอให้บริษัทไลน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยข้อมูลการสนทนาของผู้ใช้ชาวไทย เพราะไทยมีประกาศและกฎหมายโทรคมนาคมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร แต่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมอื่นๆ ของ กสทช. มีเพียงการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 เท่านั้น มาตรการนี้กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องป้องกันและรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล และต้องสร้างความเชื่อมั่นในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันไม่ให้มีการดักฟัง ตรวจกักสัญญาณ หรือเปิดเผยสิ่งที่สื่อสารกัน เว้นแต่เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเท่านั้น โดยต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
งานที่เพิ่งปรากฏ
เมื่อย้อนดูการทำงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา กสทช. ไม่เคยแสดงเจตนาปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์อย่างชัดเจนมาก่อน ความพยายามนี้เพิ่งปรากฏขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และดูจะทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
พฤษภาคม 2557 – กสทช. เข้าร่วมกับหน่วยงานอื่นตรวจสอบการสื่อสารของประชาชน ทำหนังสือถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกราย ตรวจสอบและระงับการการเผยแพร่เว็บไซต์ที่อาจกระทบต่อความมั่นคง[1] และกรณีที่ กสทช. ขู่ว่าจะตรวจสอบสัดส่วนผู้ถือหุ้นของดีแทค[2] และอาจตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าร่วมประมูลคลื่น 4G หลังจากที่บริษัทเทเลนอร์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของดีแทค ออกมาเปิดเผยว่า กสทช. มีคำสั่งบล็อกการเข้าถึงเฟซบุ๊กในวันที่ 28 พฤษภาคม เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
ธันวาคม 2557 – กสทช. กดดันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายให้ร่วมกันตรวจสอบและปิดเว็บไซต์ที่มีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในทันที[3] โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาลหรือคำสั่งจาก กสทช. โดยได้เชิญตัวแทนจากเฟซบุ๊กเข้าหารือด้วย แต่ไม่ได้รับการตอบรับ
ตุลาคม 2559 – กสทช. ส่งหนังสือแจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายให้ความร่วมมือเผยแพร่ข่าวสารตามแนวทางของรัฐบาล และระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสม ฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด[4]
เมษายน 2560 – สำนักงาน กสทช. ประชุมร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)[5] รวมถึงมีการเชิญสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ผู้ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ (ไอไอจี) และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมผ่านอินเทอร์เน็ตเรื่องเว็บหมิ่นสถาบัน
แม้ในท้ายที่สุด ผู้ใช้ในประเทศไทยยังสามารถเข้าใช้เฟซบุ๊กได้อยู่ (ณ ตอนนี้) แต่เนื่องจาก กสทช. ชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระในเดือนตุลาคม และเพิ่งมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่เมื่อต้นปี 2560 นี่อาจจะเป็นโอกาสดีสำหรับการทบทวนว่า กสทช. ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนดังที่บัญญัติไว้ในกฎหมายมากน้อยเพียงใด
เชิงอรรถ
[1] ประชาชาติธุรกิจ. (29 พฤษภาคม 2557). กสทช. สั่งบล็อกแล้ว 120 เว็บตามคำสั่ง คสช.: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1401368691.
[2] แนวหน้า. (11 มิถุนายน 2557). กทค. ฉุน จวกเทเลนอร์ไร้มารยาท เล็งตัดสิทธิ ‘ดีแทค’ ประมูลคลื่น 4 จี: http://www.naewna.com/business/107547.
[3] ประชาชาติธุรกิจ. (29 ธันวาคม 2557). กสทช. บีบ ISP ปิดเว็บหมิ่นฯ เอง ขณะที่เฟซบุ๊กเมินคำเชิญหารือ: http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1419861124.
[4] กสทช. (14 ตุลาคม 2559). สำนักงาน กสทช. ส่งหนังสือแจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายให้ความร่วมมือเผยแพร่ข่าวสารตามแนวทางของรัฐบาล และระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสม ฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด: http://www.nbtc.go.th/News/Press-Center/สำนักงานกสทช.กสทช. ส่งหนังสือแจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน.aspx? lang=th-th.
[5] มติชนออนไลน์. (25 เมษายน 2560) ‘กสทช.-ดีอี’ ร่วมหาทางปราบเว็บหมิ่นฯ-แจ้งไอเอสพีใช้วิจารณญาณบล็อกเว็บได้ทันทีไม่ต้องรอหมายศาล: https://www.matichon.co.th/news/540480.
FACT BOX:
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ทำคลอดให้เกิด ‘พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ.กสทช. มีสถานะเป็น ‘องค์กรอิสระ’ แต่เมื่อเดือนเมษายน 2560 พ.ร.บ.กสทช. ถูกแก้ไข เปลี่ยนสภาพจากองค์กรอิสระ กลายเป็นองค์กรของรัฐที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- หน้าที่ของ กสทช. (ตามมาตรา 27 จำนวน 25 ข้อ) เกือบทั้งหมดข้องเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ทางเทคนิคและควบคุมคุณภาพของการให้บริการเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน ในฐานะผู้ใช้บริการ ได้แก่ การจัดทำแผนแม่บทในการบริหารกิจการโทรคมนาคม การกำหนดลักษณะและประเภท การพิจารณาอนุญาต การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเชื่อมต่อ มาตรฐานทางเทคนิค อัตราค่าธรรมเนียมและค่าบริการ
- งานของ กสทช. ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลด้านเนื้อหาโดยตรง แต่มีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการ คุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสาร