นับเป็นการจับคู่ผู้กำกับฯ และ subject ที่น่าสนใจทีเดียว เมื่อ เต๋อ—นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ตอบรับคำชวนของแซลมอนเฮ้าส์ ทำสารคดีเกี่ยวกับ BNK48 จนทำให้น้องๆ ต้องเสียน้ำตากันยกใหญ่ อย่างที่หลายคนคงได้เห็นกันแล้ว จากตัวอย่างหนัง BNK 48: GIRLS DON’T CRY
คล้ายวิธีที่ใช้ใน The Master สารคดีลำดับก่อนหน้าของเขา ครั้งนี้นวพลก็ได้สัมภาษณ์สมาชิก BNK 48 รุ่นแรกทั้ง 26 คน คนละ 2-3 ชั่วโมง พร้อมทั้งติดตามไปเก็บภาพบรรยากาศระหว่างพวกเธอฝึกซ้อมหรือออกงานต่างๆ เป็นระยะเวลากว่า 4 เดือน อาจไม่ใช่ระยะเวลานาน หากจะบอกว่าเป็นการทำความรู้จักใครจริงๆ สักคน แต่ก็น่าจะมากพอที่จะทำให้เราได้เห็นสมาชิกวงไอดอลในฐานะมนุษย์คนหนึ่งมากขึ้นกว่าที่เราเคยเห็น และไม่ใช่แค่ในบรรดารายชื่อคุ้นหู แต่ยังรวมถึงเหล่าสมาชิกที่หากไม่ใช่แฟนคลับ เราอาจไม่เคยได้ยินชื่อพวกเธอมาก่อน
หากจะเปรียบเป็นห้องเรียนสักห้อง ในสารคดีเรื่องนี้เราก็น่าจะได้ทำความรู้จักเด็กนักเรียน จนครบทุกคน มากน้อยนั้นยังไม่ทราบได้ รับฟังเหตุผลกับปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้พวกเธอนั่งอยู่ในตำแหน่งใดๆ ในห้อง หรือมีผลสอบออกมาเป็นลำดับใด มีความสัมพันธ์หรือรู้สึกรู้สาต่อเพื่อนร่วมห้องกันอย่างไรบ้าง
หลังจากมีการปล่อยหนังตัวออกไป แผนการตลาดทั้งหลายเริ่มดำเนินการขึ้น หลายเสียงตอบรับโผล่ผุดขึ้นต้อนรับพวกเขาเช่นเคย ทั้งแฟนๆ แอนตี้แฟน หรือผู้สังเกตการณ์ของทั้ง BNK เองและนวพล ฯลฯ ไม่ว่าความคิดเห็นจะแตกออกไปอย่างไรบ้าง เชื่อว่านวพลมีวิธีคิดและวิธีมองมนุษย์ในแบบของเขา
ก่อนหน้านี้คุณรู้จัก BNK 48 อย่างไรบ้าง
เรารู้จักน้องประมาณหนึ่ง ฟังเพลงเขา แต่ไม่ได้เป็นโอตะ ซึ่งไม่มีใครเชื่อ (หัวเราะ) คือเราก็รู้คัลเจอร์เขา กฎของเขา ตามที่คนทั่วๆ ไปจะรู้ ทีนี้พอแซลมอนเฮาส์ชวน เราสนใจในแง่ที่ว่า มันเป็นสถานการณ์เฉพาะที่เด็กวัยรุ่น 26 คนมาอยู่ด้วยกัน คืออย่างที่เราเคยบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องของอายุอีกต่อไปแล้ว บางทีเด็กอายุ 15-16 ที่เจอสถานการณ์บางอย่างมา มันอาจทำให้วิธีตัดสินใจของเขา คล้ายกับคนที่ไม่ได้อายุเท่านั้นก็ได้
แล้วด้วยวิธีการของวงแบบนี้ ไม่ได้เหมือนกับการประกวดร้องเพลงทั่วๆ ไป ที่คนแพ้ตกรอบ กลับบ้าน คนชนะก็อยู่ต่อ จบรายการออกซิงเกิล แต่สำหรับที่นี่ ประกาศผลแล้วก็ต้องอยู่กันต่อ แข่งใหม่รอบต่อไป ไม่ได้เข้ารอบก็ต้องอยู่ต่อ คืออยู่ไปเรื่อยๆ แล้วคนก็มีอยู่เท่านี้แหละ มองหน้ากันไปสิ เรารู้สึกว่ามันเป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่ต้องดีลกับความเป็นมนุษย์เยอะมาก ไหนจะเรื่องกฎต่างๆ ห้ามถ่ายรูป ห้ามโน่นนี่ มันแวดล้อมด้วยเงื่อนไขมากมายเต็มไปหมด ที่จริงๆ แล้วก็ดูขัดแย้งกับความเป็นเด็กวัยพวกเขามากๆ ด้วย
ดูเป็นซีนหนังที่น่าสนใจ ถ้าสมมติต้องเล่ามันเป็นฟิกชั่นจะน่าสนุกไหม สำหรับคุณ
อันนี้พูดยาก ตอนตัดต่อเรายังคิดอยู่เลยนะ ว่าถ้าจะให้เขียนเรื่องนี้เป็นฟิกชั่นจะเขียนมันได้ยังไง เรื่องมันเยอะ รายละเอียดขอแต่ละคนก็เยอะ ซับซ้อน แล้วบางอันมันแบบ —เราจะคิดได้ยังไงถ้าเราไม่เคยเป็นเขาเลย หรือไม่เคยฟังจากเขาเลย มันยากเหมือนกันนะ
ในบรรดาสมาชิก BNK ทั้ง 26 คน พอจะเปรียบเป็นห้องเรียนสักห้องหนึ่งได้ไหม อยากให้คุณเล่าถึงห้องเรียนห้องนั้นสักหน่อย
มันคือห้องเรียนโดยสมบูรณ์แบบ มีเด็กที่นั่งหน้าห้อง กลางห้อง หลังห้อง มีความสัมพันธ์แบบต่างๆ การที่คน 26 คนมาอยู่ด้วยกัน มันทับกันแน่ๆ บางเรื่องก็มีข้อสรุป บางเรื่องก็ไม่มี เราว่าคนมันซับซ้อน ในกลุ่มนี้ก็เหมือนสังคมจำลองแบบหนึ่ง แล้วเครื่องมันวิ่งตลอดเวลา ไม่ต้องรอให้ถึงปลายเทอมแล้วค่อยวัดผลอะไรบางอย่าง แต่นี่มันปั่นแรงมาก รวมถึงชื่อเสียงที่มาถึงเขาแบบเร็วสุดขีด
เราว่าปัญหาอะไรมันจะคลี่คลายความซับซ้อนลงบ้างก็ต่อเมื่อเราได้ฟังทุกๆ คน ค่อยๆ ฟัง ถ้าเราตัดสินไปแต่แรกว่ามันจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้แน่ๆ มันก็จบไปง่ายๆ อย่างงั้นแหละ แต่นี่เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเราที่ได้คุยกับทุกคน หาโอกาสแบบนี้ยากเหมือนกันนะ และถ้าไม่ใช่เวลานี้ บางคนก็อาจจะโตเกินไปจนเลือกที่จะไม่พูด นี่เราก็ไม่รู้จะเรียกว่าความเป็นเด็กหรืออะไรก็ตาม ท้ายที่สุดมันออกมาเป็นฟุตเทจของทุกๆ คนที่เราประทับใจ
ถ้าให้มอง ระหว่างความพยายาม พรสวรรค์ ความน่ารัก สิ่งไหนมีมูลค่ามากที่สุดในที่ทางของเกิร์ล กรุ๊ปแบบนี้
หลังๆ เราเริ่มไม่รู้แล้วน่ะ ตัวอย่างง่ายๆ เช่นน้องไข่มุก ที่ตอนนั้นมีเรื่อง อ๊บไสไม้ อยู่ดีๆ น้องก็ถูกได้ยินชื่อขึ้นมา ด้วยมุขของแก ที่อยู่ดีๆ มันก็ได้เลย ถ้าเป็นห้องเรียน นี่ก็ไม่ใช่แค่การสอบที่วัดกันว่าคุณจะตอบถูกหรือผิด มันมีปัจจัยมากมายเลย แล้วมันก็เป็นไปได้ทุกๆ ปัจจัย เดาไม่ได้เลยว่ามันคืออะไร จะพูดว่าหน้าตาทำให้ทุกอย่างง่ายกว่า แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งหมด พูดยากเหมือนกัน
แล้วห้องนี้ก็มีเด็กทุกแบบเลยนะ มีทุกกลุ่มทั้งเด็กเรียนเก่ง เด็กไม่เก่ง เด็กหลังห้อง และนอกเหนือจากนั้น ทีนี้ หนังเราก็เลยต้องเลือกว่าเราจะไปโฟกัสที่กลุ่มไหน เราพยายามให้หนังเล่าเรื่องของทุกกลุ่ม ความยากของมันก็คือ เราเองอยากให้คนดูอยู่กับหนังไปตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่งั้นมันจะเป็นหนังข้อมูลล้วนๆ ดังนั้นก็อยู่ที่ว่าเราจะผสมยังไงให้มันอยู่ในไทม์ไลน์เดียว
อย่างนี้แปลว่าโพสต์โปรดักชั่นน่าจะเหนื่อยที่สุดเลย
เหนื่อยที่สุด เอ๊ะ สัมภาษณ์ก็เหนื่อยนะ แต่โพสต์โปรดักชั่นเหนื่อยกว่า เพราะตอนสัมภาษณ์เราสัมภาษณ์ 26 คน คนละ 2-3 ชั่วโมงก็จริง แต่ว่าพอตอนตัดต่อ ซึ่งเราตัดเอง ก็ต้องมาดูฟุตเทจใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง พอดูใหม่หมดแล้วก็ต้องคัดชิ้นที่น่าสนใจของแต่ละคนออกมา ซึ่งแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกันหรอก คราวนี้ก็ต้องมาดูอีกว่า ตกลงแล้วเราจะเล่าเรื่องอะไร เพราะมันเต็มไปหมดเลย มันเป็นไปได้ทุกเรื่องเลย แล้วเรื่องไหนล่ะที่จะเอามาเรียงกันได้เป็นหนังเรื่องเดียว
เหมือนเราต้องมานั่งทำสคริปต์บนโปรแกรมตัดต่ออีกทีน่ะ ปกติเราเขียนสคริปต์เสร็จแล้วก็ไปถ่ายตามนั้น แล้วก็ไปตัดให้มันใกล้เคียงกับบท หรือเปลี่ยนแปลงนิดหน่อย แต่งานนี้เหมือนเราเอาใหม่หมดเลย ตอนไปถ่ายหรือตอนไปสัมภาษณ์ก็กะไม่ได้ด้วย ว่ามันควรจะเป็นยังไง เพราะยิ่งคุยก็ยิ่งต้องปล่อยล้อฟรี
จริงๆ ตอนแรกเราก็ปล่อยล้อฟรีอยู่แล้วแหละ เราไม่อยากไปกำหนดอะไรก่อนตั้งแต่แรก เพราะเราไม่ได้รู้จักน้องจริงๆ เราจะมีเซ็ตคำถามอยู่แหละ เช่นว่าคนนี้เขามีความสนใจอะไรเป็นพิเศษ เขากังวลอะไรเป็นพิเศษ แล้วจากนั้นก็ให้เขานำเราไปด้วยซ้ำ ว่าจะพาบทสัมภาษณ์ไปทางไหน เราจะมีแค่บางคำถามที่เตรียมไว้เผื่อตอนไหนที่ไม่รู้จะถามอะไรต่อ ก็มาที่คำถามนี้
ใช้กระบวนท่าที่เปลี่ยนไปจากตอนทำเรื่อง The Master เยอะไหม
เยอะมาก คือจริงๆ วิธีการมันเหมือนกันก็คือการตั้งกล้องคุยกัน แต่ใน The Master ทุกคนจะพูดถึงพี่แว่น มันเป็นการพูดถึงคนอื่น ซึ่งมันง่ายกว่าการพูดถึงตัวเองมากๆ งานนี้เราเองก็ต้องรับผิดชอบเยอะ เพราะว่าน้องเขาอุตส่าห์เปิดขนาดนี้แล้ว เราจะแค่ตัดๆ ไปเถอะ หรือตัดให้มันดราม่าไปเลย แบบนี้ไม่ได้ เราพยายามทำให้มันตรงแล้วก็เป็นอย่างที่มันเป็นให้มากที่สุด ให้สิ่งที่น้องอยากจะพูดจริงๆ ได้อยู่ในไฟนอลคัทของหนัง โดยที่ไม่ได้มีอะไรไปแทรกแซงหรือรบกวนมันมาก เราอยากรับผิดชอบสิ่งที่เขาพูดออกมาให้ดีที่สุด เพราะที่สุดแล้วมันคือชีวิตเขา แล้วหนังเรื่องนี้ออกไป เขาก็ยังต้องแอคทีฟอยู่ตรงนี้ต่อ
เมื่อตอนสัมภาษณ์คุณใช้วิธีสร้างห้องเล็กๆ ขึ้นมาใหม่เพื่อแยกแต่ละคนเข้าไปคุยในนั้น มันจึงใกล้ชิดมากๆ ดึงอารมณ์น้องๆ ออกมาได้มากในชั่วขณะนั้น คุณกังวลเรื่องที่พวกเขาจะนึกเสียใจกับสิ่งที่พูดออกไปในหนังเรื่องนี้ไหม
เมื่อตะกี้เพิ่งเจอเจนนิษฐ์ เราก็ถามอะไรประมาณนี้กับน้อง ซึ่งน้องบอกว่าที่เขาพูดออกไปเป็นสิ่งที่อยากพูดมานานแล้ว “คล้ายๆ ว่าฝากพี่บอกทุกคนแล้วกันค่ะ” น้องบอกแบบนี้ ที่ผ่านมาน้องเองอาจไม่รู้จะพูดสิ่งเหล่านี้ไปในการสัมภาษณ์ครั้งไหน หรือสื่อไหน มันก็เลยเป็นครั้งนี้แหละ
เราไม่รู้ว่าเขาตัดสินใจด้วยอะไรเหมือนกันนะ เพราะเราไม่ได้อยู่กับเขาเป็นปีๆ ระยะเวลา 4-5 เดือนที่ถ่ายทำ เอาจริงๆ สุดท้ายแล้วเราก็ยังเป็นคนนอกอยู่ดีนะ ไม่ได้ถึงขั้นว่า จบโปรเจ็กต์นี้ผมเป็นเพื่อนสนิทน้องแล้วครับ แต่เราก็รู้สึกว่าอะไรก็ไม่รู้ที่ทำให้น้องเขาเชื่อใจเราถึงขั้นที่ว่า อะ พูดให้ไอ้แว่นนี่ฟังแล้วกัน
ถามว่า regret ไหม ก็คงไม่หรอก เพราะเด็กพวกนี้จริงๆ เขาไม่ได้เด็กนะ เขาคิดแล้วว่าจะพูดอะไร อะไรที่เขาคิดแล้วว่าจะไม่พูด เขาก็จะไม่พูด ถามอะไรเขาก็จะไม่พูดหรอก พอเรื่องนี้ออกไปก็คงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนได้เข้าใจพวกเขามากขึ้นด้วยมั้ง
เด็กผู้หญิงน่ารักๆ ยิ้มเก่ง จริงๆ แล้วพวกเขามีมิติอื่นๆ อีกมากน้อยแค่ไหน
คนมีหลายมิติอยู่แล้วแหละ ไม่ว่าเขาจะดูคิวต์ๆ หรือจะหน้าเป็นตูดอยู่ตลอดเวลา ข้างในเขาเป็นอะไรก็ได้ เราไม่มีทางรู้ จนกว่าเราจะได้เข้าไปคุยกับเขา คุยแล้วก็อาจจะไม่ได้รู้ถึงข้างในจริงๆ นั้นอยู่ดี ซึ่งโปรเจ็กต์นี้ทำให้เราได้มีโอกาสทำสิ่งนี้ 26 รอบ มันยิ่งยืนยันว่าคนเรามีมิติต่างๆ เต็มไปหมด ในสถานการณ์เดียวกันนี้ 26 คนไม่เหมือนกันเลย แล้วเราได้คุยต่อว่า มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมคนนี้ถึงคิดแบบนี้ ทำไมอีกคนถึงคิดแบบนี้
มันเลยไม่ได้เกี่ยวเลยว่าข้างนอกเขาจะดูเป็นคนยังไง คนที่คิวต์มากอาจจะไม่โอเค คนไม่คิวต์อาจจะโอเค หรือคนคิวต์ๆ เขาก็โอเคในแบบเดียวกับที่เขาคิวต์นั่นแหละ
ตอนทำสคริปต์เรายืนพื้นที่ความคิดแบบนี้อยู่แล้ว ว่าคนที่คิดต่างจากเราเขาต้องมีเหตุผลอะไรบางอย่างที่มันเมคเซนส์สำหรับเขาแน่ๆ โปรเจ็กต์นี้ก็ยิ่งทำให้ความคิดนี้มันชัดขึ้น สุดท้ายมันก็กลับไปที่จุดเริ่มต้น ว่าเขามาจากไหน เขาเริ่มต้นแบบไหน มันไปถึงตรงนั้น
เรื่องของน้องๆ ที่ยังไม่ได้โดดเด่นมากนักในวง กระทบใจคุณอย่างไรบ้าง
ในหมู่คนที่ under ก็ยังมีความคิดที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งเศร้า ทั้งไม่เศร้า หรือผ่านพ้นไปแล้ว มันมีหลายแบบมาก บางทีตอนแรกเราอาจจะแอบรู้สึกว่า น้องคนนี้ต้องแบบนี้แน่เลย แต่เอาเข้าจริง เฮ้ย เหตุผลแบบนี้เราไม่เคยได้ยินว่ะ
แล้วเราก็พบว่าในคนที่ยังไม่ค่อยถูกจดจำ ก็มีปัจจัย มีเหตุผล มีเรื่องเศร้า และไม่เศร้าในมุมของตัวเอง ขณะเดียวกันก็หมายถึงบรรดาเซ็นเตอร์ เซมบัสสึ (ตัวแทนของวงที่ได้แสดงในแต่ละเพลง) ด้วยแหละ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหนมันก็มีความเศร้าและไม่เศร้าของตัวเอง
เหมือนว่าคนที่โดดเด่นเองก็ต้องแข็งแกร่งประมาณหนึ่ง กับมวลอารมณ์ที่จะมากระทบตัวเอง?
ใช่ๆ ซึ่งเราชอบมากเลย มันไม่ใช่ว่า คนนี้น่าสงสารนะครับ คนนี้ดูเป็นตัวไม่ดีนะครับ เราพบว่าไม่ว่าตำแหน่งไหน พออธิบายมาถึงจุดหนึ่งแล้วเราเข้าใจเขาได้ มันไม่มีใครที่ซ้ายขวาหรือบวกลบสุดโต่งเลย เขาแค่เป็นแบบนี้ แล้วมันคือเขา
เราว่าหนังมันเลยไม่ใช่แค่เรื่องไอดอลแล้ว มันคือหนังวัยรุ่นเรื่องหนึ่ง ที่เราจะได้ดูว่าพวกเขาจัดการกับความรู้สึกต่างๆ ยังไง การซ้อมเหนื่อยๆ มันไม่ใช่สิ่งที่เขาเหนื่อยหรอก มันคือเรื่องของความสัมพันธ์ ชื่อเสียง สิ่งที่พวกเขาพบเจอ และอื่นๆ ซะมากกว่า
เวลาพูดถึงไอดอลแล้วมันมีคำนิยามที่แข็งแกร่งมากเลย ว่าเขาควรจะต้องเป็นอย่างนี้ๆ 1 2 3 4 5 6 โดยเฉพาะในวงที่มีกฎแบบนี้ เขาต้องทำแบบนี้ ลุคต้องประมาณนี้ มันมีอะไรที่ล็อกไว้เต็มไปหมด หนังเรื่องนี้มันก็ค่อนข้างกระโดดลงไปลึกมากเหมือนกันนะ เราไปเจอกับอะไรคล้ายๆ ที่เขาเรียกว่า PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) คือมานั่งดูอีกทีมันก็คล้ายๆ น่ะนะ เหมือนเวลาเราดูสารคดีทหารที่เขาผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สอง มันจะมีฟุตเทจที่ทหารต้องเข้าพบจิตแพทย์ มานั่งคุยกันตัวต่อตัว ทีละคนเลย ตรงนี้ก็มีความอะไรแบบนั้นเหมือนกันนะ
พูดได้ไหมว่าระหว่างการสัมภาษณ์สารคดีเรื่องนี้ น้องๆ ก็ได้พูดอะไรบางอย่างที่ปลดปล่อยและบำบัดตัวเองอยู่กลายๆ
(หัวเราะ) อาจจะ อาจจะ พอเราเป็นคนนอก กลับกลายเป็นว่าเขาวางใจที่จะเล่าให้เราฟัง เพราะเราก็เป็นผู้ที่ไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆ หรือไม่ได้เป็นแฟนคลับตัวยง ถ้าเราชอบเขามากๆ เขาก็อาจจะไม่ได้อยากเผยด้านนี้ให้เราเห็น ไม่ได้อยากแชร์เรื่องบางอย่างแบบอาร์ตทิสต์กับแฟนน่ะ
แล้วมันก็มีบางส่วนที่ถ่ายมาแล้วไม่ได้ใช้ ซึ่งเราก็เสียดายเหมือนกันนะ คือมันไม่ใช่การเซ็นเซอร์อะไรขนาดนั้น เพียงแต่บางเรื่องมันดีมากๆ แต่มันส่วนตัวเกินไป จนแบบ—ถ้าเราลงตรงนั้นแล้วเราจะเดินเรื่องต่อไม่ได้ มันคือการแวะข้างทางครั้งใหญ่เลย แต่นี่คือหนังของทุกคน มันควรมีพื้นที่ให้รุ่นที่หนึ่งทั้ง 26 คนนี้ แต่โอเค-พื้นที่ของแต่ละคนอาจจะไม่ได้เท่ากัน เราก็พยายามที่สุดแล้วให้ได้เท่ากันทุกคน แต่สุดท้ายมันก็ต้องไปในทางที่ตัวหนังมีเส้นที่ชัดของมันที่สุด
มีแผนสำหรับฟุตเทจที่ไม่ได้ใช้ไหม
ไม่มี ทำลายทิ้ง (หัวเราะ) ไม่ใช่สิ ไม่รู้ๆ ก็คงเก็บไว้แหละครับ มันก็เป็นบันทึกทางวัฒนธรรมเหมือนกันนะ มันอาจจะมีประโยชน์ในอีกหลายปีข้างหน้าก็ได้ ว่ายุคหนึ่งเราเคยมีสิ่งนี้
คุณมองว่าปรากฏการณ์ไอดอลในไทยจะดำเนินต่อไปได้อย่างแข็งแรงแค่ไหน
พูดยากนะ เพราะตอนที่มันดังขึ้นมาก็ไม่มีใครคาดคิด ถามว่าอยู่ได้นานไหม เราไม่แน่ใจ อาจจะนานก็ได้ คงไม่สามารถพูดว่า ไม่ได้แน่ๆ แต่อย่างน้อยเราก็ดีใจที่มันขึ้นมาได้ เพราะเราว่าควรมีตัวเลือกหลากหลาย ถ้าพวกเขาอยู่ได้ก็ให้อยู่ไป มันก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง มันก็มีเหตุผลที่จะอยู่
แต่ถ้าถามว่านานไหม อันนี้ไม่รู้เลย เพราะวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่เราหยิบเอามาเขามีปุ๋ยอยู่เต็มไปหมด ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมนี้มานานแล้วแล้วก็แข็งแรงมาก แต่บ้านเรามันเพิ่งเกิด แต่เราก็เอาใจช่วยนะ สำหรับเรา BNK ก็คือซับคัลเจอร์อย่างหนึ่ง ก็เป็นวงอินดี้เหมือนกัน ตอนเขาปล่อยเพลงคุกกี้เสี่ยงทายช่วงแรกยังเงียบๆ อยู่เลย หลังปีใหม่ถึงเพิ่งจะดัง พวกเขาก็งงเหมือนกัน ในฐานะคนที่พยายามทำงานอินดิเพนเดนท์เหมือนกัน เขาขึ้นมาได้เราก็ดีใจด้วย ส่วนการยืนระยะมันก็เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องบริหารกัน
สำหรับคุณ การเป็นไอดอล เป็นแขนงหนึ่งของศิลปะด้วยไหม
เราไม่ค่อยได้นิยามว่าศิลปินคืออะไร ไอดอลอาจจะมีความหมายเฉพาะของมัน แต่เราเองก็เคารพในงานของเขา มันก็เป็นอาร์ตของเขา ให้ทุกคนไปทำก็ทำไม่ได้นะ มันยากนะเว่ย เต้นคุกกี้ฯ มันก็ยากแล้ว ยังไม่นับว่าคุณอยู่บนเวทีต้องจัดการตัวเองยังไง เจอแฟนๆ ต้องทำตัวยังไง ต้องบริหารโน่นนี่อะไรยังไง มันก็คงเป็นศิลปะที่คนคนหนึ่งต้องจัดการ แล้วเด็กพวกนี้เขาก็ไม่ได้สนุกไปวันๆ มันซีเรียสสำหรับพวกเขา
วันหนึ่งกูต้องร้องให้ดีกว่านี้ให้ได้ วันหนึ่งกูต้องเต้นแล้วร้องแบบไม่เหนื่อยให้ได้ กูต้องเต้นให้พร้อมกว่านี้ให้ได้ เขามีความทะเยอทะยานอย่างนั้นของเขาอยู่ แล้วเขาคิดไกลมาก ไม่ได้แค่ เย้! ดังแล้ว แต่เขายังมองไปถึงวันข้างหน้าในฐานะอาชีพการงาน
ถ้าสมมติมีน้องสาวที่อยากเป็น BNK รุ่นต่อไป คุณอยากบอกอะไรกับเขา
เอาจริง เราคงไม่แบบ “อย่าไปเลย” หรือ “เป็นเลยๆ” ต้องให้เขาตัดสินใจเองมากกว่า แต่เราก็คงต้องบอกเงื่อนไขทั้งหมดก่อน ว่ามันจะเป็นยังไง เขาต้องเจอกับอะไร เพราะสำหรับบางคนมันโหด สำหรับบางคนอาจจะไม่โหดเลยก็ได้ เราคงให้ข้อมูลเขาเท่าที่เรารู้ ว่ามีแบบนี้นะ แล้วถ้าคุณตั้งใจจะเข้าไป ก็ต้องลองดู ไม่งั้นมันก็คงคาใจเด็กไปตลอดชีวิต
แล้วอีกอย่าง เราว่าเข้ามาแล้วในที่สุดเด็กก็จะได้อะไรกลับไปสักอย่าง เพียงแต่ว่าเรื่องบางเรื่องมันก็หนักจริงๆ นั่นแหละ และก็คงเป็นหน้าที่เราที่ต้องคอยประคองเขาไปถ้าเขาเจออะไรหนักๆ
แล้วถ้าคุณเป็นแฟนที่ถูกบอกเลิกเพื่อจะมาเป็น BNK ล่ะ คุณจะทำอย่างไร
เราคิดว่าถ้าเขาซีเรียส ก็คงต้องปล่อยเขาไป ไม่งั้นยังไงก็เละ อยู่ต่อก็เละ แต่อยู่ที่ว่าถ้าเขาไปแล้ว จะมีทางไหนที่จะสามารถสื่อสารกันได้บ้าง ลึกๆ แล้วมันก็คงยังพอมีพื้นที่มีช่องโหว่ แต่มันก็ต้องว่ากันไปว่าจะยังไง เขาก็อาจจะไม่ได้เป็น BNK ตลอดไป มันพูดยากว่ะ แล้วเราดันเป็นคนแบบนั้นที่ว่าถ้าเราอยากทำเราก็จะไปทำเลย เราจะเป็นฝ่ายนั้นมากกว่า เหมือนบางทีใครห้ามอะไรเราก็ไม่ค่อยเชื่อหรอก จนกว่าจะไปทำแล้วพลาดจริงๆ ก็เรียนรู้กันไป แต่มันจะไม่คาใจ เพราะเราทำมันไปแล้ว
มันอยู่ที่ว่าเราเข้าไปด้วยกรอบไหนด้วยนะ ถ้าเราเข้าไปด้วยกรอบของความชอบจริงๆ มันก็เป็นเรื่องหนึ่ง ถ้าเราเข้าไปด้วยกรอบของชื่อเสียงมันก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เข้าไปด้วยกรอบของการอยากพัฒนาตัวเองมันก็อีกเรื่องหนึ่ง มันก็จะย้อนกลับไปที่ตอนต้นที่เราบอกว่า จุดเริ่มต้นของพวกเขา เขาเข้ามายังไงบนเส้นทางนี้ แล้วมันจะมีส่วนกำหนดทิศทางและวิธีคิดของเขาหลังจากนั้น
จากการพูดคุย น้องๆ รับรู้การถูกมองเป็น object มากน้อยแค่ไหน
เราคิดว่าเขารู้ตัวเอง แต่ไม่ได้ในฐานะ object อย่างเดียวนะ คือคนนอกมองเข้าไปอาจจะมองว่าเขาถูกทำให้เป็นวัตถุ แต่พอเราเข้ามาสัมผัสแล้ว บางอันมันก็เมคเซนส์นะ เขาอาจจะมองว่านี่คือการเป็นศิลปินของเขา หรือคืองานของเขา
แต่เราเดาว่าระหว่างแฟนคลับกับไอดอลที่เมืองไทยยังไม่ได้หนักแบบญี่ปุ่นด้วย ถ้าเราดูสารคดีอย่าง Tokyo Idol อันนั้นหนักจริง เด็กอายุเลขสิบต้องเจอกับแฟนคลับอายุเยอะไปเลยอะไรแบบนี้ เราว่ามันพูดยากว่าอะไรเป็น object หรือไม่เป็น ถ้าเราไม่ได้ชอบ เราก็อาจจะมองว่านี่คือการ objectify แต่ถ้าเราชอบ มันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นทั้งหมด มันอยู่ที่ว่าใครจะมองยังไงแล้วล่ะ อาจจะใช้สายตาเราไปมองแทนตัวน้องหรือตัวแฟนคลับมันก็ไม่ได้ทั้งหมด
คิดว่าหนังเรื่องนี้ แฟนคลับกับคนที่ไม่ใช่แฟนคลับมาดู จะได้รับอะไรกลับไปต่างกันไหม
คนที่ไม่ใช่แฟนคลับเราก็อยากให้ลองมาดู เพราะมันจะไม่เหมือนกันที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ อาจจะคิดว่าไอดอลเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พอดูแล้วก็อาจจะได้เห็นมุมอื่น ซึ่งที่สุดแล้ว คุณอาจจะเห็นเหมือนเดิมก็ได้นะ อาจจะรู้สึกเหมือนเดิมก็ได้ แต่อย่างน้อยคุณก็ได้ข้อมูลประกอบความรู้สึกนั้นเพิ่มแล้ว
ข้อดีคือเรารู้สึกว่าเวลาน้องพูด มันไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นมา เขารู้สึกเขาก็พูด หรือถ้าเขาสงสัยต่ออะไรบางอย่างขึ้นมา เขาก็พูด เรื่องการเป็น object เอง มันก็มีคนที่พูดว่า “ทำไมหนูจะไม่คิดเรื่องนี้” หรือ “หนูได้พ้นมันไปแล้ว” ก็มี คือน้องก็ไม่ใช่เด็กเล็ก มันก็ต้องรู้สึกแหละ แต่ท้ายที่สุดเขาก็อยากทำต่อไป อาจจะด้วยเหตุผลอื่นที่ใหญ่กว่าสำหรับเขา หรืออาจจะด้วยความรู้สึกอื่นที่มาทดแทนหรือมาทับสิ่งนี้ไป ซึ่งมันก็ไม่ได้ผิดอะไร
คิดว่าอะไรที่ทำให้ต้นสังกัดของ BNK48 ยอมให้คุณขุดลึกขนาดนี้
เฮ้ย นี่ไม่รู้เหมือนกัน เซอร์มาก คือตอนตัดเราก็ตัดแบบที่เราคิดว่าควรจะเป็น แล้วพอเขาได้ดู เขาแทบไม่ได้เปลี่ยนน้ำเสียงหรือขอให้เปลี่ยนแปลงสารอะไรเลย เขาก็จะมีแค่ “โอ้ ทำไมตรงนี้ยาวจัง” “ทำไมเรื่องนี้ฟุตเทจน้อยล่ะครับ” จะเป็นเรื่องแค่ว่ายาวไป สั้นไป แต่ตัวเนื้อหาเขาแตะน้อยมาก เรายังแอบสงสัยว่าเราจะเอาแบบนี้ได้จริงๆ ใช่ไหมวะ แล้วมันก็ได้ เราถือว่าเขาเปิดมากๆ เลยนะ
เราไม่รู้เขาคิดยังไง แต่มันก็ดีที่ว่าอย่างน้อยเราได้เห็นอะไรที่มากกว่าคติธรรมแบบ “เรามาพยายามกันเถอะค่ะ” หรือ “สู้ๆ ค่ะ วันหนึ่งมันคงจะได้” ถ้าแบบนั้นเราก็ไม่รู้จะทำหนังไปทำไมเหมือนกันนะ.
Fact Box
- เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2527 จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักเขียน นักเขียนบท ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ และผู้กำกับโฆษณา เขาเริ่มต้นที่ทางในวงการหนังจากการประกวดหนังสั้นในเวทีต่างๆ ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของเขาคือ 36 (พ.ศ.2555) ตามด้วย Mary is happy, Mary is happy (พ.ศ.2556) ที่ทำให้นวพลเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
- เขาได้รับรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากชมรมวิจารณ์บันเทิง ในผลงานภาพยนตร์ ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ ในปี พ.ศ.2558
- The Master คือผลงานภาพยนตร์สารคดีเมื่อปี พ.ศ.2557 ว่าด้วยร้านพี่แว่น ร้านวิดีโอที่นำเข้าหนังทางเลือกจากทั่วโลก แต่ปัญหาคือวิดีโอเหล่านั้นคือวิดีโอเถื่อน โดยวิธีการคือนวพลสัมภาษณ์หลายบุคคลในวงการภาพยนตร์ ทั้งฝ่ายผลิต คอนทริบิวเตอร์ และนักวิจารณ์