ในห้วงยามที่สาธารณชนกำลังจับตามองการตายของนักเรียนนายร้อยที่เกิดขึ้นภายในรั้วโรงเรียนเตรียมทหารอยู่ รัฐบาล นำโดยรุ่นพี่โรงเรียนเดียวกันก็ประกาศให้ ‘สิทธิมนุษยชน’ กลายเป็นวาระแห่งชาติ แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง ก็มีข่าวชาวบ้านที่ออกมาประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลาโดนควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซ้ำยังถูกห้ามปรามไม่ให้ชุมนุม
จนหลายคนสงสัยกันว่า ‘วาระแห่งชาติ’ มีหมายความอะไรต่อรัฐบาลบ้าง หรือเป็นเพียงคำพูดสวยหรูที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติโดยสิ้นเชิง
วันนี้จึงขอพาไปทบทวนว่า ในรอบสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศให้เรื่องใดเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ บ้าง
วาระแห่งชาติ: จริยธรรม ธรรมาภิบาล และการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ(19 ธันวาคม 2549) โดยให้มีการยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมธรรมาภิบาลภาครัฐ มีองค์ประกอบหลักคือจัดตั้ง ‘สภาธรรมาภิบาลแห่งชาติ’ และการจัดตั้ง สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลภาครัฐ
แต่สุดท้าย หน่วยงานทั้งสองไม่ได้รับการตั้งขึ้น ทั้งนี้ วาระแห่งชาติดังกล่าวได้รับการประกาศสามเดือนหลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งหนึ่งในข้อกล่าวหาที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นได้รับคือการทุจริตคอร์รัปชั่นนั่นเอง
วาระแห่งชาติ: การรณรงค์และแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง (16 ตุลาคม 2550) โดยให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ “ส่งเสริมการเรียนรู้ประชาธิปไตย สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงผลกระทบอันจะเกิดจากการซื้อสิทธิขายเสียงและรณรงค์ให้การเลือกตั้งปราศจากการซื้อสิทธิขายเสียง และตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสุจริต เที่ยงธรรม และความสมานฉันท์” โดยให้พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธานคณะกรรมการ
ทั้งนี้วาระแห่งชาติดังกล่าวเป็นการประกาศก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ซึ่งพรรคพลังประชาชนนำโดยนายสมัคร สุนทรเวชได้รับชัยชนะ แต่รัฐนาวาของพรรคพลังประชาชนก็ต้องเผชิญแรงต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก่อนที่ในเดือนธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินให้ยุบพรรคด้วยข้อหาการทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรค จนนำมาซึ่งการสลับขั้วทางการเมืองและได้รัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคประชาธิปปัตย์
วาระแห่งชาติ: การสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ (17 เมษายน 2552) โดยเป้าหมายหลักคือการกอบกู้วิกฤตของการท่องเที่ยวอันเนื่องมาจากเหตุการณ์การปิดสนามบินในช่วงปลายปี 2551 รวมทั้งวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวของไทยก็กลับมาขยายตัวได้ในเวลาไม่นานหลังจากนั้น
วาระแห่งชาติ: การอ่าน (5 สิงหาคม 2552) โดยกำหนดให้วันที่ 2 เมษายนเป็นวันรักการอ่าน และให้ปี 2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตขึ้นมาอีกด้วย ในวันที่ 2 เมษายนของทุกปี ก็มีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องยังคงจัดงานวันรักการอ่านอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่กรุงเทพมหานครจัดงานเมืองหนังสือโลกขึ้นในปี 2556 อีกด้วย แต่ถ้าจะให้ประเมินความสำเร็จของวาระแห่งชาติข้อนี้ คงต้องให้ผู้อ่านเป็นผู้ประเมินเองว่า นอกจากงานพิธีต่างๆ ที่จัดโดยรัฐบาลแล้ว ทศวรรษแห่งการอ่านที่ผ่านมาได้เปลี่ยนประเทศไทยเป็น “สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” แล้วหรือยัง
วาระแห่งชาติ: การส่งเสริมคุณธรรมความซื่อสัตย์และต่อต้านการทุจริตของคนไทย (12 ตุลาคม 2553) เป็นครั้งที่สองในรอบห้าปีที่ประเด็นนี้กลับมาเป็นวาระแห่งชาติ ในครั้งนี้ กำหนดเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการสามเรื่อง ได้แก่ การแก้ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและราคากลาง การแต่งตั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการรณรงค์ค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต โดยในประเด็นแรกต้องใช้เวลาถึงเจ็ดปีกว่าที่จะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฉบับใหม่เมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ส่วนผลจะเป็นอย่างไรยังคงต้องติดตามกันต่อไป
ส่วนอีกสองประเด็นหลังยังคงเป็นเรื่องที่ได้รับการพูดถึงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะในกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงในสารพัด ‘วงปฏิรูป’ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่าน และแน่นอนว่าเรื่องนี้ก็อาจจะกลับมาเป็นวาระแห่งชาติได้อีกครั้งในอนาคต
วาระแห่งชาติ: การป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม (21 ธันวาคม 2553) เนื่องจากจำนวนคุณแม่วัยใสที่เพิ่มขึ้น สำหรับนโยบายที่รัฐดำเนินการตามวาระแห่งชาตินี้คือ “การรณรงค์ส่งเสริมให้ครู ผู้ปกครองและผู้ใหญ่ในสังคมปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชน รวมทั้งการให้ความรู้และการเสริมสร้างกลไกที่จะเข้ามาช่วยดูแลพฤติกรรมทางเพศและทักษะชีวิต รวมถึงให้กระทรวงศึกษาธิการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศีลธรรมและจริยธรรมให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย”
เมื่อดูสถิติของคุณแม่วัยใสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าอัตราการคลอดบุตรของสตรีอายุระหว่าง 15-19 ปีต่อประชากร 1,000 คนของประเทศไทยในปี 2553 อยู่ที่ 50.6 คน ขณะที่ปี 2559 ลดลงมาอยู่ที่ 41.1 คน
วาระแห่งชาติ: ด้านวัคซีน (18 มกราคม 2554) เพื่อให้การวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนในประเทศมีความก้าวหน้าโดยเร็ว ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็มีการพัฒนาในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีหัวเรือใหญ่คือสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) แต่ก็มีบาดแผลสำคัญคือการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกที่จังหวัดสระบุรี เนื่องจากวัคซีนทั้งสองชนิดมีปริมาณการใช้ในประเทศที่สูง โรงงานดังกล่าวจึงเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของวาระแห่งชาตินี้ ซึ่งรัฐบาลก็ได้อนุมัติงบประมาณตั้งแต่ปี 2550 โดยมีวงเงินสูงกว่า 1,400 ล้านบาท แต่ในปัจจุบันก็ยังคงก่อสร้างไม่แล้วเสร็จเนื่องจากประสบปัญหาต่างๆ ระหว่างการก่อสร้าง เช่น น้ำท่วม
วาระแห่งชาติ: พลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด (13 กันยายน 2554) โดยมีเป้าหมายให้ “ทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ไขปัญหายาเสพติดและคืนคนดีกลับสู่สังคมไทย โดยตั้งเป้าหมายจะต้องลดปัญหายาเสพติดให้ได้ภายในหนึ่งปี และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว”
นอกจากนี้ ยังจัดตั้งศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติขึ้น โดยหน่วยงานดังกล่าวก็ยังคงดำเนินการอยู่ในรัฐบาลปัจจุบัน โดยในปีก่อนก็มีการประกาศ “แผนประชารัฐร่วมใจสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2559-2560 สู่วิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี” อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2560 มีจำนวนยาบ้าที่ถูกจับกุมได้กว่า 200 ล้านเม็ด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 76 เปอร์เซ็นต์
วาระแห่งชาติ: การรณรงค์หาเสียงสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2020 (7 กุมภาพันธ์ 2555) โดยเสนอให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นสถานที่จัดงาน อย่างไรก็ตามวาระแห่งชาตินี้จบลงอย่างรวดเร็วเมื่อพระนครศรีอยุธยาไม่ได้รับเลือกให้เข้ารับพิจารณาในรอบสุดท้าย แต่เป็นเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ได้รับเลือกจากคณะกรรมการให้เป็นที่จัดงาน World Expo 2020
วาระแห่งชาติ: สหกรณ์ (30 กรกฎาคม 2555) เนื่องในโอกาสทศวรรษครบ 100 ปี ของการสหกรณ์ไทย จึงมีเป้าหมายให้ “สหกรณ์เป็นเครื่องมือสำคัญในการรองรับนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น นโยบายประกันรายได้เกษตรกร (ซึ่งนโยบายดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไปเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล) นโยบายส่งเสริมการออมภาคประชาชน การแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบ นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์ “ให้สหกรณ์เป็นกลไกสร้างการเรียนรู้วิถีแห่งประชาธิปไตยในระยะยาว”
หากประเมินในระยะสั้นๆ ข้อนี้น่าจะไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะเพียงสองปีหลังจากนั้น ประเทศไทยก็เปลี่ยนจากประเทศประชาธิปไตยสู่ระบอบเผด็จการจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นต้นมา สหกรณ์ก็ถูกบรรจุอยู่ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐมาโดยตลอด
วาระแห่งชาติ: ชุมชนจัดการระบบสุขภาพเข้มแข็ง เมืองไทยแข็งแรง (4 มิถุนายน 2556) มีวัตถุประสงค์เพื่อ “ผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงและบูรณาการการเสริมพลังโดยใช้ศักยภาพทุนทางสังคม ใช้ทักษะความสามารถและทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่กับระบบสนับสนุนของหน่วยงาน/องค์กรต่างๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และปรับปรุงวิถีการดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น” อย่างไรก็ตาม คำว่า “ชุมชนจัดการระบบสุขภาพเข้มแข็ง เมืองไทยแข็งแรง” กลายเป็นคำที่ไม่สามารถค้นเจอได้หลังจากปี 2557 เป็นต้นมา ในขณะที่สถานการณ์ของระบบสาธารณสุขไทยกลับถูกขับเน้นด้วยเรื่องการขาดแคลนงบประมาณผ่านโครงการก้าวคนละก้าวของพี่ตูน
วาระแห่งชาติ: ปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 (2015 Discover Thainess) (12 พฤศจิกายน 2557) เป็นครั้งที่สองที่การท่องเที่ยวกลับมาเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งทั้งสองครั้งเป็นการประกาศหลังจากมีการชุมนุมใหญ่ทางการเมืองและการรัฐประหาร โดยในครั้งนี้มีเหตุผลและความจำเป็นของการประกาศวาระแห่งชาติตามที่ระบุไว้ในเอกสารคือ “จากสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ใช้ “วิถีแบบไทย” แก้ปัญหาวิกฤตการเมือง สร้างความสงบสุขให้คนในชาติ และจะเริ่มเข้าสู่ศักราชใหม่แห่งการปฏิรูป จัดระเบียบสังคม การเมืองการปกครองให้มีความสมบูรณ์ เข้มแข็ง ….. จากการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน ข้อจำกัดและประเด็นท้าทายต่างๆ พบว่า “วิถีไทย” จะเป็นจุดเด่นที่ทำให้ประเทศไทยแตกต่างจากประเทศอื่น และทำให้รักษาความได้เปรียบในการแข่งขันได้”
เราคงไม่สามารถประเมินได้ว่า ‘วิถีไทย’ มีบทบาทสำคัญขนาดไหนในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มายังประเทศไทย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเม็ดเงินราวๆ สองล้านล้านบาทต่อปีจากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของคนไทยจำนวนไม่น้อย ในยุคที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่นๆ ทำงานได้ไม่เต็มที่
วาระแห่งชาติ: สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (21 พฤศจิกายน 2560) วาระแห่งชาติเรื่องล่าสุด ที่มีเป้าหมายให้ “สังคมไทยเป็นสังคมที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อนำไปสู่สังคมสันติสุข” รัฐบาลในปัจจุบันย้ำมาโดยตลอดว่าจะพัฒนาประเทศไทยไปสู่ยุคใหม่ ที่เรียกกันติดปากว่า ไทยแลนด์ 4.0 ถ้าดูเฉพาะชื่อวาระแห่งชาติก็ดูเหมือนว่าสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญด้วย แต่หากมองย้อนไปถึงช่วงเวลากว่าสามปีของรัฐบาลชุดนี้ ‘สิทธิมนุษยชน’ ดูจะได้รับความสำคัญในลำดับท้ายสุดเสมอ
ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีทั้งหกคน ประกาศวาระแห่งชาติทั้งสิ้น 13 เรื่อง โดยเรื่องการปราบปรามคอร์รัปชั่นและการท่องเที่ยว เป็นเรื่องที่มีการประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติถึงสองครั้ง อย่างไรก็ตาม ไม่มีระเบียบข้อกำหนดใดๆ ว่าเมื่อประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้ว เรื่องนั้นจะได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่าเรื่องอื่นๆ หรือไม่ วาระแห่งชาติบางเรื่องอาจจะประสบความสำเร็จ แต่วาระแห่งชาติบางเรื่องก็หายไปกับกระแสข่าวสารอย่างรวดเร็ว
สรุปวาระแห่งชาติที่ได้รับการประกาศโดยรัฐบาลตั้งแต่ 2549 ถึง 2560
ที่มา : สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (http://www.soc.go.th/)
Tags: รัฐบาล, ไทยแลนด์ 4.0, สิทธิมนุษยชน, วาระแห่งชาติ