สำหรับคอละครเวทีแล้ว ชื่อ ‘กุหลาบสีเลือด’ เป็นอะไรที่วนเวียนกลับมาได้ยินอยู่เป็นระยะ มันเป็นละครขึ้นหิ้งที่ถูกสร้างมาหลายเวอร์ชั่น แถมยังเป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับโปรเจคต์จบของนักศึกษาการละคร เปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คล้ายๆ กับละครโทรทัศน์เรื่อง ‘เมียหลวง’ หรือ ‘ทัดดาวบุษยา’ ที่รีเมคกันถี่ยิบนั่นล่ะ

บทละคร ‘กุหลาบสีเลือด’ ถูกเขียนขึ้นโดยดารกา วงศ์ศิริ ตั้งแต่ปี 1998 ว่าด้วยหญิงสาวห้าคนที่อยู่ในบ้านเช่าหลังเดียวกัน เหตุฆาตกรรรม และแปลงกุหลาบที่เจ้าของบ้านหวงนักหนา ซึ่งเอาเข้าจริงผู้เขียนก็เคยดูละครเรื่องนี้เพียงครั้งเดียวคือเวอร์ชันของครูเงาะ-รสสุคนธ์ กองเกตุ เมื่อปี 2012 เท่าที่จำได้ก็ไม่ค่อยประทับใจนัก ด้วยเรื่องราวและสารที่ค่อนข้างล้าสมัย นี่ลองย้อนอ่านรีวิวของตัวเองก็พบว่าตอนนั้นตั้งชื่อบทความว่า ‘กุหลาบดอกเก่า’

ดังนั้นเมื่อผู้เขียนทราบว่า ‘กุหลาบสีเลือด’ จะถูกกลับมาสร้างอีกครั้งก็รู้สึกแปลกใจไม่น้อย (ว่ากันตรงๆ ความคิดแรกในหัวคือ ‘หืม ยังทำกันอยู่อีกเหรอ’) ทว่าเมื่อชื่อของผู้กำกับคือ ภัทรสุดา อนุมานราชธน ศิลปินที่ผู้เขียนชื่นชอบทั้งในฐานะนักแสดงและผู้กำกับ (เธอเพิ่งฝากฝีมือการแสดงยอดเยี่ยมไว้ในเรื่อง ‘บุพกาลี’ ไปหมาดๆ) ก็อดคาดหวังไม่ได้ว่าจะมีความเซอร์ไพรส์ใน ‘กุหลาบสีเลือด’ ฉบับปี 2018

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนภัทรสุดาจะแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรในบทละครเลย ยุคสมัยของตัวเรื่องดูเหมือนจะยังอยู่ในยุค 90 ที่ตัวละครยังใช้โทรศัพท์บ้าน ยาเสพติดคือปัญหาใหญ่ของชาติ การทำแท้งเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย (อันนี้ไม่ต่างจากปัจจุบันเท่าไร) ตัวละครทุกตัวต้องดิ้นรนทางเศรษฐกิจด้วยบริบทของวิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540 และจุดพลิกผันของเรื่องก็ยังเป็นเรื่องเดิมคือหนึ่งในสมาชิกของบ้านเช่าถูกฆ่าตายในบ้าน

เป็นที่ทราบกันดีในหมู่คนดูละครว่าจุดเด่นของ ‘กุหลาบสีเลือด’ ไม่ใช่แนวทางแบบละครสืบสวนที่ตามหาว่าใครคือฆาตกร หากแต่เป็นการสำรวจถึงจิตใจและภูมิหลังอันดำมืดของหญิงสาวทั้งห้าคน ว่าทำไมพวกเธอถึงเลือกกระทำบางอย่างที่ดูเหลือเชื่อ จนลุกลามไปถึงการฆาตกรรมอันน่าสยดสยอง

ตัวละครเด่นที่สุดของเรื่องหนีไม่พ้น ‘โรส’ (ธัญญรัตน์ ประดิษฐ์แท่น) ในบทเจ้าของบ้านผู้กุมความลับเกี่ยวกับแปลงกุหลาบ ธัญญรัตน์เป็นนักแสดงประเภทที่ไว้ใจได้เสมอ ในเรื่องนี้เธอเล่นเป็นหญิงสาวผู้เงียบขรึม โดยไม่ต้องแสดงออกอะไรมาก ผู้ชมก็รับรู้ได้ว่าผู้หญิงคนนี้ผ่านอะไรที่เลวร้ายมาและพยายามซ่อนมันเอาไว้ อย่างไรก็ดี ทั้งรูปแบบการแสดงและหลายฉากที่โรสไปนั่งอยู่ที่มุมห้องคนเดียว ทำให้ตัวละครนี้ดูแปลกแยกตัดขาดจากคนอื่น ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นความตั้งใจของผู้สร้าง

‘เดือน’ (นวลปณต ณัฐ เขียนภักดี) สาวเปรี้ยวจัดจ้านเป็นตัวละครที่เพื่อนๆ นักวิจารณ์ของผู้เขียนพร้อมใจกันมีปัญหา ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าคาแรกเตอร์ของเธอดูเหมือนนางร้ายในละครโทรทัศน์และดู ‘แบน’ จนเกินไป ถึงกระนั้นผู้เขียนไม่ได้ติดขัดอะไรกับตัวละครเดือนนัก (อย่างน้อยดูแล้วสบายใจกว่าเวอร์ชันปี 2012 อยู่หลายเท่า) ที่จริงเธอเป็นตัวละครที่มีเสน่ห์และสร้างสีสันกับเรื่อง เพียงแต่ว่าเวลาโรสเข้าฉากเดือนจะราวกับว่าสองคนนี้มาจากละครคนละเรื่องกัน

ตัวละครที่ผู้เขียนมีปัญหาจะเป็น ‘สลิล’ (ธัญภัส จินต์จันทรวงศ์) และ ‘ละอองฝน’ (วรัฏฐา ทองอยู่) เสียมากกว่า รายแรกนั้นนักแสดงดูยังไม่ลงตัวกับตัวละครของเธอนัก อีกทั้งแบ็คกราวด์สาวไซด์ไลน์ของเธอก็ดูเหมือนกระทู้พันทิปเมื่อราวสิบปีที่แล้ว ส่วนละอองฝน น่าเสียดายที่เราได้เห็นเธอในโหมดเดียว นั่นคือตื่นตระหนก หลุกหลิก เสียงสั่นเครือ จนอยากจะเดินไปบอกตัวละครนี้ว่าใจเย็นๆ จ้ะหนู ค่อยๆ พูดก็ได้

รายที่เซอร์ไพรส์กลับเป็น รัศม์ประภา วิสุมา ในบท ‘สีฟ้า’ เธอดูหน้าตาสะสวย ตัวสูง และอายุยังน้อย (เมื่อเทียบกับเวอร์ชันครูเงาะที่บทนี้แสดงโดย ญารินดา บุนนาค) ลุคดูนางแบบสุดฤทธิ์ ทว่าแสดงของเธอนั้นน่าประทับใจไม่น้อย ทำให้เราเชื่อได้ว่าเธอคือนักศึกษาแพทย์ที่มีแนวคิดบางอย่างขัดกับหลักจรรยาบรรณ กลายเป็นตัวละครที่ช่วยขับเคลื่อนละครเรื่องนี้ได้อย่างดี

มักมีเรื่องเล่าลือว่า ‘กุหลาบสีเลือด’ ถือเป็นละครชั้นดีที่จะวัดเรื่องฝีมือการแสดง ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจว่ามันยังเป็นจริงอยู่หรือไม่ ดูเหมือนบทต้นฉบับจะเขียนมาให้ตัวละครผู้หญิงมีหลากหลายแบบ ซึ่งในแต่ละตัวละครก็ถือเป็นบทที่ท้าทาย (โดยเฉพาะเดือนและละอองฝน ที่ทำอย่างไรจะไม่ให้ตัวละครดูแบน) แต่เมื่อดูในภาพรวมแล้วผู้เขียนรู้สึกว่าผู้หญิงทั้งห้ากระจัดกระจายกันไปคนละทาง เหมือดอกกุหลาบดอกเดียวที่แต่ละกลีบเฉดสีไม่เหมือนกันเลย

ในด้านองค์ประกอบศิลป์ ผู้เขียนค่อนข้างชอบการจัดแสงขมุกขมัวไม่น่าไว้วางใจ แต่ส่วนของเสียงประกอบรู้สึกว่าว่ามีทั้งดังไป (เสียงปืนที่เหมือนอุกกาบาตตกใส่บ้านมากกว่าปืนลั่น) หรือย้ำมากไป เช่น พวกเสียงประเภทลมพัด ฝกตก หรือนาฬิกา ช่วงแรกก็กิ๊บเก๋ดีอยู่ แต่เมื่อถูกใช้ซ้ำๆ ก็ก่อให้เกิดความอึดอัดใจ (แต่อาจจะถือเป็นผลดีกับละครก็ได้)

อย่างไรก็ดี สิ่งผู้เขียนอึดอัดใจมากที่สุด (ซึ่งเป็นมาตั้งแต่เวอร์ชันที่แล้ว) คือการร้อยเรียงของบทที่พยายามอธิบายว่าผู้หญิงทุกคนในเรื่องต้องมีชีวิตที่ทุกข์ทนก็เพราะพวกผู้ชาย ไม่ว่าจะพ่อ สามี หรือคนรัก ซึ่งสารนี้ถูกย้ำซ้ำๆ จนดูย้ำคิดย้ำทำเกินไป ยิ่งช่วงที่ตัวละครแต่ละตัวผลัดกันโมโนล็อกถึงอดีตอันเลวร้ายของตัวเอง ผู้เขียนถึงกับกู่ร้องในใจว่า “รู้แล้วจ้า พอแล้วจ้า” แม้ท้ายสุดแล้วละครจะพลิกว่าพวกผู้หญิงด้วยกันเองนี่แหละที่ร้ายกาจและนำพาความเจ็บปวดมาซึ่งกันและกัน แต่ถึงจุดนั้นมันก็สายเกินกว่าจะแก้ไขอะไรได้แล้ว

มีฉากหนึ่งของละครที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษคือตอนที่วิญญาณของโรสออกมาพูดทำนองว่าเธอยังคงวนเวียนอยู่ในบ้านเช่าหลังนี้ เพราะมันสะท้อนถึงสถานะของ ‘กุหลาบสีเลือด’ เช่นกันที่ไม่ว่าจะรีเมคกี่ทีก็ยังเป็นเรื่องราวเดิมๆ จากบทละครต้นฉบับ ผู้เขียนก็หวังว่าสักวันจะมี ‘กุหลาบสีเลือด’ เวอร์ชันที่ปรับเปลี่ยนอะไรให้ร่วมสมัยมากขึ้น หรือเคยได้ยินแนวคิดทำนองเปลี่ยนตัวละครให้เป็นผู้ชายทั้งหมดก็น่าสนใจไม่น้อย

แม้ว่าบทความชิ้นนี้จะเขียนถึง ‘กุหลาบสีเลือด’ ในทางลบเสียมาก แต่ต้องยืนยันว่านี่เป็นละครน่าดูเรื่องหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ในแง่ที่ว่าทำไมครั้งหนึ่งละครเรื่องนี้ถึงได้รับการชื่นชมอย่างมาก ด้วยบริบทของสังคมไทยแบบไหนที่ทำให้ละครมีชื่อเสียงและถูกยกย่อง และ ณ วันนี้บทละครเรื่องนี้ยัง ‘ทำงาน’ ของมันได้อยู่หรือไม่  

หมายเหตุ: กุหลาบสีเลือด (Crimson Rose) แสดงถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2561 ณ ทองหล่ออาร์ตสเปซ (BTS ทองหล่อ) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/869905486528023/

Tags: , , , , ,