เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2024 สำนักข่าวอิรวดี (The Irrawaddy) ของเมียนมา รายงานว่า รัฐบาลทหารเมียนมานำโดย มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ส่งสาส์นเนื่องในโอกาสปีใหม่ โดยประกาศจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ พร้อมเรียกร้องความร่วมมือในการสำรวจสำมโนประชากรทั่วประเทศที่กำหนดไว้ในปี 2024 และเตือนเรื่องลัทธิท้องถิ่นนิยม
ข้อความปีใหม่ผ่านโทรทัศน์ครั้งนี้เกิดขึ้นสั้นๆ โดยไม่ได้พูดถึงการโจมตีกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ และความสูญเสียของกองทัพเมียนมา ที่เสียเมืองใหญ่ไปกว่า 12 เมือง ให้กับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์และกองกำลังปฏิวัติ แต่กลับใช้โอกาสนี้กล่าวโทษกองกำลังปฏิวัติโดยรวมว่า เป็นผู้ก่อวิบัติให้กับเมียนมา นับตั้งแต่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021
“เมียนมาจะพัฒนาอย่างมากหากกลุ่มต่อต้านไม่ทำลายประเทศและทรัพย์สินของประชาชน”
พร้อมกันนี้ มิน อ่อง หล่ายยังกล่าวย้ำว่า การพัฒนาเศรษฐกิจจะเป็นภารกิจสำคัญอันดับหนึ่งในปีนี้ โดยเน้นส่งเสริมวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ทว่ายังไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
ทั้งนี้ เศรษฐกิจของเมียนมาตกต่ำอย่างรวดเร็วตั้งแต่การทำรัฐประหาร โดยรายงานของธนาคารโลกเมื่อเดือนธันวาคม 2023 ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเมียนมาลงเหลือเพียง 1% สำหรับปีงบประมาณสิ้นเดือนมีนาคม นักลงทุนต่างชาติพากันหลบหนีและถอนทุน การค้าชายแดนกับจีนหยุดชะงัก ไฟดับและน้ำมันขาดแคลนกลายเป็นรื่องปกติ มีเพียงเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากการสู้รบในรัฐฉานทางเหนือและความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น การหยุดชะงักของการค้าและโลจิสติกส์ ความผันผวนของเงินจัตและเงินเฟ้อสูง
นอกจากนี้ การสำรวจสำมะโนครัวทั่วประเทศซึ่งกำหนดไว้ปลายปีนี้ ล้วนมีความสำคัญต่อการเลือกตั้งทั่วไปที่วางแผนไว้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการประกาศวันลงคะแนนเสียงที่ชัดเจน ขณะเดียวกัน ประชาชนก็ไม่แสดงความกระตือรือร้นต่อการเลือกตั้งที่วางแผนไว้ ขณะที่ประชาคมโลกต่างก็ไม่เชื่อว่า การลงคะแนนเสียงที่จัดโดยทหารของเมียนมาจะเป็นไปอย่างอิสระหรือยุติธรรม
การประชุมฉุกเฉินของคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2023 ซึ่งเกิดขึ้นจากปฏิบัติการ 1027 ผู้นำคณะปกครองทหารกล่าวหาว่า กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA) กำลังพยายามฟื้นฟูอำนาจใน ‘เล่าก์ก่าย’ (Laukkai) และหมายมั่นสร้างรัฐ ‘โกกั้ง’ (Kokang) ที่ปกครองตนเอง ในขณะเดียวกัน กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta’ang National Liberation Army: TNLA) ก็มุ่งเป้าไปที่รัฐ ‘ปางโหลง’ (Palaung) ที่ปกครองตนเองเช่นกัน
กองทัพทั้งสองร่วมกับกองทัพอาระกัน (Arakan Army: AA) เปิดฉากปฏิบัติการ 1027 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2023 การรุกคืบครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดที่คณะปกครองทหารเมียนมาต้องเผชิญนับตั้งแต่การทำรัฐประหารปี 2021
กองทัพอาระกันกำลังต่อสู้กับคณะปกครองทหารในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของเมียนมา โดยพยายามส่งเสริม ‘Way of Rakhita’ ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่เรียกร้องให้ ‘ฟื้นฟูอำนาจอธิปไตยของรัฐยะไข่คืนสู่ประชาชนชาวยะไข่’ ในชุมชนชาวยะไข่ทั้งในและต่างประเทศ ภายในเวลาไม่ถึงทศวรรษ กองทัพอาระกันกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในประเทศ
ไม่กี่วันก่อนจะมีการส่งสาส์นปีใหม่ กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (MNDAA) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า กองทัพโกกั้ง ในรัฐฉานตะวันออก ให้คำมั่นที่จะต่อสู้เพื่อความปกครองตนเองอย่างเต็มรูปแบบในภูมิภาค โดยประกาศว่า จะเปลี่ยนพื้นที่ที่เพิ่งยึดครองจากระบอบทหารให้เป็น ‘เขตพิเศษแห่งรัฐฉาน 1’ และกลุ่มพันธมิตรยังได้ยึดครองเมืองเล็กๆ 12 เมือง และป้อมยามทหารกว่า 400 แห่ง ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน
อย่างไรก็ตาม ในการปราศรัยทางโทรทัศน์ มิน อ่อง หล่ายกล่าวว่า ระบอบของเขาสามารถเอาชนะความยากลำบากและความท้าทายที่ประเทศเผชิญได้ด้วยความร่วมมือจากกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ในความเป็นจริง การปกครองของเขาประสบความล้มเหลวทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่ต้องพูดถึงความร่วมมือ เพราะประชาชนเองก็ไม่ให้การสนับสนุน
เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเมียนมาเพิ่งประกาศ ‘อภัยโทษ’ แก่ผู้ถูกคุมขังรวม 9,652 คน ในวันประกาศเอกราช จากเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศ ขณะที่การเฉลิมฉลองประกาศเอกราชในกรุงเนปิดอว์เป็นไปอย่างเงียบเหงา แม้แต่ มิน อ่อง หล่ายก็ไม่ได้เข้าร่วมพิธี
Tags: เมียนมา, รัฐประหารเมียนมา, มิน อ่อง หล่าย, ปฏิบัติการ 1027, Operation 1027, ชนกลุ่มน้อยเมียนมา, พม่า, เผด็จการทหาร