โลกประกอบขึ้นด้วยเรื่องเล่า การเล่าเรื่องถูกสร้างขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดความคิด โลกซับซ้อนขึ้นทุกวันจากการทาบทับกันของความคิด ทุกเรื่องเล่าต้องการพื้นที่ มีตัวตน ทุกเรื่องเล่าไม่อยากถูกลืม แม้แต่การลืมก็ยังมีเรื่องเล่าของมัน

ข้าเป็นหนังสือ ข้าเติบโตออกมาจากความคิดของชายช่างฝันคนหนึ่ง บ้านเกิดของข้าอยู่ในดินแดนทวิลักษณ์ ก่อนนี้บ้านของข้าถูกเรียกว่าจักรวรรดิ แต่หลังจากสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดผ่าน มันถูกเรียกว่าสาธารณรัฐ

ตุรกี บ้านของข้า  สมรภูมิแห่งศาสนาและโลกวิสัย

และนี่คือเรื่องเล่าของชีวิตข้า

ความฝันของหนังสือทุกเล่มคือการถูกอ่าน การได้มีบทสนทนากับความคิด ความคิดทุกแบบที่ผ่านมาแลกเปลี่ยนกัน ยิ่งถูกอ่านมากเท่าไหร่ หนังสือยิ่งภาคภูมิใจ ยิ่งถูกพูดถึงแพร่หลายเท่าไหร่ ยิ่งเปี่ยมล้นไปด้วยความยินดี

ข้าชอบการสบตากับสายตาที่จับจ้องมายังตัวข้า สายตาแห่งความอยากรู้อยากเห็น สายตาแห่งความตระหนกตกตะลึง สายตาที่ไม่อยากจากข้าไปไหน เพื่อดึงดูดสายตาเหล่านี้ ข้าต้องทำอย่างไร?

ข้าอยากเป็นเรื่องเล่าร่วมสมัย ที่บอกเล่าถึงความเป็นไปอันเกิดขึ้นกับเลือดเนื้อของผู้คน แต่ข้อจำกัดที่รัฐโลกวิสัยถลึงตามองเตือนมาทำให้ข้าต้องใคร่ครวญ เพื่อนหลายเล่มของข้าถูกหยิบหายไปจากตู้ ยกหายไปจากชั้น เพราะมีท่าทีตรงไปตรงมา ข้าหวังไว้ในใจว่าบางเล่มอาจมีโอกาสได้กลับมา แต่บางเล่มข้ารู้ว่าต้องไปลับไม่หวนกลับมา

ยอดโดมและหอคอยของมัสยิดและพระราชวังได้จุดประกายความคิดให้ข้า เมื่อพูดกันอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ก็ต้องใช้ภาษาอื่นมาพูด ไม่มีภาษาอะไรที่จะเหมาะกับภูมิทัศน์ของบ้านเมืองข้ายิ่งกว่าภาษาแห่งการลวงใจลวงตา ภาษาแห่งศิลปะ

ข้าเคยได้ยินจากเพื่อนหนังสือเล่มหนึ่งว่า อดีตเป็นเหมือนต่างแดน ผู้คนที่นั่นปฏิบัติตนแตกต่างไป เพื่อนอีกเล่มหนึ่งบอกข้าว่า ใครที่ควบคุมอดีตนั้นควบคุมอนาคต ใครที่ควบคุมปัจจุบันนั้นควบคุมอดีต ข้าอยู่ในบ้านเมืองที่อดีต ปัจจุบัน และอนาคตเป็นเรื่องต้องช่วงชิง ข้าทำอะไรกับปัจจุบันตรงๆ ไม่ได้ พวกโลกวิสัยแบบรัฐจับตามองอยู่อย่างดุดัน ข้าต้องทำให้สายตาของพวกมันพร่ามัวและความคิดสับสน ข้าต้องเล่นงานมันด้วยมโนทัศน์ของเวลา

ถ้าว่ากันตามตรงแล้ว แนวความคิดเรื่องโลกวิสัยนั้นเป็นพืชพันธุ์ของความเป็นสมัยใหม่จากดินแดนตะวันตกที่หลุดรอดมาเติบโตแข็งกล้าบนผืนดินแห่งอิสลาม ถ้าไม่ได้ปืนไฟคุ้มกันไว้ ป่านนี้ก็คงมอดไหม้ไปกับความร้อนแรงของศรัทธาและความเชื่อ แต่มันก็เติบโตมาได้ แม้จะไม่สมบูรณ์แบบต้นกำเนิด แม้จะกลายพันธุ์ด้วยการจากไปของพ่อแห่งแผ่นดิน แต่มันก็ยังแข็งแรงอยู่ ความเป็นสมัยใหม่ในแบบของรัฐโลกวิสัยที่ล้าหลังกว่าความเป็นสมัยใหม่ในเจตนาตั้งต้น ข้าจะตั้งคำถามกับมันด้วยภาษาวรรณกรรม

ความเป็นตะวันตกหลายรูปแบบได้เข้ามาเองและถูกรับเข้ามาโดยตลอดผ่านการสู้รบและการค้าขาย แต่ความเป็นตะวันตกที่เข้ามาบ่อนเซาะศาสนาอิสลามอย่างเป็นรูปธรรมนั้นเริ่มต้นตั้งแต่จิตรกรเวนิสคนนั้นวาดภาพเหมือนของสุลต่านเมห์เม็ตด้วยแสงเงาแบบตะวันตก ความเชื่อในพระเจ้าถูกท้าทายด้วยว่า ภาพเหมือนอาจกลายเป็นรูปเคารพ มโนทัศน์เรื่องความคิดเริ่มเล่าเรื่องนี้ให้ข้าฟังเมื่อรู้ว่าข้ากำลังวางแผนทำอะไรบางอย่างกับเวลา

เสียงกระซิบของความคิดบอกข้าว่า ความปั่นป่วนเรื่องภาพเหมือน มาถึงจุดของการปะทะกันอย่างรุนแรงในสมัยของสุลต่านมูรัตที่สาม เมื่ออิทธิพลของภาพวาดตะวันตกเริ่มขยายขอบเขตเข้ามาในตำราที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับศาสนา นั่นหมายถึงการท้าทายมโนทัศน์และพระวจนะของพระเจ้า ลักษณะภาพวาดของพวกตะวันตกกำลังเข้ามาทำให้ศรัทธาแปดเปื้อน

จินตนาการของข้าเริ่มบิดเบือนเวลา ศิลปะกำลังทำลายไวยากรณ์ของความจริง ข้าเห็นอุปนิสัยที่คล้ายคลึงกันของพวกรัฐโลกวิสัยในรัฐศาสนา ข้าเห็นความหวาดกลัวต่อความเป็นสมัยใหม่ในทุกยุคสมัย มาถึงตอนนี้แล้ว ข้าคงไม่ต้องบอกว่าข้าจะจัดการอย่างไร แต่นั่นยังไม่พอ ชายช่างฝันกำลังเอะอะโวยวายอยู่ข้างใน

“ภาพกับคำต้องขัดแย้งกัน มโนทัศน์ของภาพกับคำต้องไม่ลงรอย คำคือพระวจนะ คำคือมโนทัศน์แห่งศาสนาที่มาก่อน ภาพเป็นสิ่งที่มาทีหลัง ภาพคือความเป็นสมัยใหม่ คือสิ่งที่มาทีหลัง ข้าต้องจัดวางมันลงในเรื่องเล่าให้ลงรอย”

ข้าคิดถึงหนังสือเล่มอื่น ทั้งเพื่อนผู้ชราอย่างชานาเมห์ อิเลียด แฮมเล็ต พี่น้องคารามาซอฟ อันนา คาเรนินา และเล่มอื่นๆ อีกหลายเล่ม ข้าต้องคิดอะไรสักอย่างระหว่างรอให้ชายช่างฝันจัดการกับองค์ประกอบของข้อขัดแย้ง

รัก โลภ โกรธ หลง อารมณ์ของมนุษย์ถูกปรุงแต่งด้วยสิ่งเหล่านี้ แม้แต่เหตุผลก็หมดท่าเมื่อต้องเผชิญหน้ากับรสชาติของอารมณ์ ศิลปะคือภาษาของอารมณ์ เพราะไม่มีอะไรจะรับมือกับการแสดงออกที่ไม่สนใจเหตุผลได้เท่ากับศิลปะ ข้ารอคอยอยู่ ข้ารอคอยเสียงกระซิบของวรรณกรรมว่าจะจัดการกับเรื่องเล่าของข้าอย่างไรให้เปล่งประกายที่สุด เมื่อเวลาลงรอยกับความไม่ลงรอยของภาพกับคำ

มีนามธรรมแล้วก็ต้องมีรูปธรรม ใส่เลือดเนื้อลงไปให้จับต้องง่ายขึ้น ข้าเคยได้ยินคำกล่าวที่เชื่อกันว่าเป็นของนักบวชทุศีลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก “เห็นพระเจ้าในความคิด เห็นมนุษย์ในเนื้อหนัง” ข้าต้องนำมันมาปรับใช้ เมื่อชายช่างฝันรับมือกับพระเจ้าเสร็จแล้ว ข้าจะบอกเขาว่าเรายังขาดอะไร

ข้าอยากให้เรื่องเล่าของข้ามีความขัดแย้งอื่นบ้างนอกเหนือจากเรื่องการเมืองและศาสนา ข้าอยากให้มีความสดใสของดอกไม้ป่าในฤดูใบไม้ผลิ มีความบ้าคลั่งของพายุหน้าร้อน มีความสวยสงบของทะเลหน้าหนาว และความปวดร้าวที่เกิดขึ้นได้ในทุกฤดู จะมีอะไรที่บรรยายเรื่องราวพวกนี้ได้ดีกว่าความรัก แต่ความรักในทิศทางของข้าต้องเป็นทิศทางที่ทันโลก ต้องทั้งเพ้อและฝันในแรงรสแห่งปรารถนา ข้าต้องการท้าทายความเป็นชายในโลกทัศน์ของอิสลาม ข้าจะทำให้เสียงค่อยของความเป็นหญิงดังกึกก้องขึ้นมา จะมีความรักแบบไหนที่เป็นความสนุกของข้าได้มากกว่ารักที่ไม่สมหวัง

องค์ประกอบหลักถูกวางเรียงรายอยู่ตรงหน้า ชายช่างฝันมองออกไปนอกหน้าต่างอย่างครุ่นคิด ทุกครั้งที่เขาเขียนความคิดลงไปในกระดาษ ข้ารู้สึกเหมือนกำลังถูกเจียระไน

เขามีวิธีการเล่าเรื่องรออยู่แล้ว เขารู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะจัดการกับรายละเอียดอ่อนลึกซึ้งเชิงนามธรรมอย่างไรโดยไม่ลดทอนความซับซ้อน ข้าเห็นเวลาวิ่งกลับทิศ ข้าเห็นรัฐโลกวิสัยถูกสอบสวน ข้าเห็นความผิดพลาดในการปฏิวัติวัฒนธรรม ความสวยงามที่ถูกจำกัดและกำจัดของวัฒนธรรมทางศาสนาเริ่มหวนคืน ชายช่างฝันกำลังทำให้ระเบียบยุ่งเหยิงในหัวของเขาก่อนเขียนมันออกมา เสียงสารพัดเสียงเปล่งออกมา บางเสียงก็เป็นเสียงที่ข้าคาดไม่ถึงจนต้องจดจำ แม้แต่ความเป็นสมัยใหม่ก็ล้าหลังไปแล้วในทุกมิติ ข้าอ่านออกได้จากรอยยิ้มเปี่ยมสุขของเขา

“เรื่องจะถูกเล่าแบบการสืบสวนในนิยายฆาตกรรม”

“ทำไม?” ข้าถาม

“รูปแบบของนิยายฆาตกรรมบังคับให้คนอ่านต้องมีสมาธิ พวกเขาจะสนใจในทุกรายละเอียดที่เกิดขึ้น นั่นหมายถึงว่า ความซับซ้อนเชิงนามธรรมทั้งหลายจะไม่คลาดสายตาเขา มันจะบังคับให้พวกเขาทุ่มเทความคิดลงไปในความยอกย้อนของการให้เหตุผล และพวกเขาจะเห็นเมืองที่มองไม่เห็น ความเป็นสมัยใหม่ของเราไม่ได้เป็นทุกอย่างที่ถูกต้อง เราสงสัยมันได้ เราตั้งคำถามกับมันได้ เราทำให้มันกลับไปเดินบนเส้นทางที่ถูกต้องได้ ความบิดเบี้ยวของเวลาและเหตุการณ์จะทำให้อดีตให้ความหมายที่ถูกต้องแก่อนาคตมากกว่าปัจจุบัน รสชาติของชีวิตของคนจะทำให้พวกเขาไม่เบื่อ”

“แล้วเรื่องจะเป็นอย่างไร?” ข้าถามทั้งที่รู้ มันไม่ใช่ประโยชน์ของข้า มันเป็นประโยชน์ของผู้อ่าน

“สุลต่านมูรัตที่สามได้ว่าจ้างให้พวกจิตรกรและช่างเขียนทำตำราภาพเพื่อเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิในวาระแห่งสหัสวรรษแรกของศาสนาอิสลาม แต่ตำราต้องถูกจัดทำโดยลับเพราะจะมีการใช้รูปแบบของจิตรกรรมตะวันตก ซึ่งหมายถึงการท้าทายหยามหมิ่นพลานุภาพของพระเจ้าและความศรัทธาของผู้คน และถึงแม้ว่าตำราภาพเล่มนี้จะถูกอุปถัมภ์โดยสุลต่าน ผู้ทรงศีลของศาสนาก็วางแผนจะทำลายมัน นั่นเป็นเหตุให้เกิดการฆาตกรรมจิตรกรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง การฆาตกรรมจะนำไปสู่ข้อถกเถียงทางศาสนาและจิตวิญญาณของปรัชญาศิลปะในสายตาของอิสลามและตะวันตก และฆาตกรรมจะนำพาให้รักที่ไม่สมหวังหวนกลับมาพบพานกันอีกครั้ง”

“ข้าเห็นรอยยิ้มมีพิรุธ”

ชายช่างฝันหัวเราะเสียงดัง

“ปริศนาของการฆาตกรรมจะถูกเฉลยตั้งแต่ต้นเรื่อง พวกเขาจะไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ตัวว่าพลาดไปแล้วก็เกือบจบเล่ม จะมีไม่กี่คนที่รู้แต่แรก แต่ถึงรู้แต่แรกก็ยังมีกับดักต่อไป”

เขาก้มหน้าลงเขียนเรื่องราวต่อ  ชายช่างฝันกำลังทำให้ตัวข้าเปี่ยมสีสันยิ่งขึ้น

ลึกๆ ในใจแล้ว เขากับข้ามีความหวาดกลัวบางอย่างร่วมกันอยู่ ความหวาดกลัวของเรื่องเล่าและผู้เล่าเรื่อง เราต่างไม่อยากถูกลืมเลือน โลกนี้เป็นโลกที่ประกอบขึ้นมาด้วยเรื่องเล่า เรื่องราวใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน เรื่องเล่ามากมายเสียจนบางครั้งเหมือนความจำไร้ประโยชน์ มากมายเสียจนความทรงจำไม่เพียงพอจะต่อกรกับการลืม หวังว่าคงยังไม่ลืมที่ข้าเคยบอกว่าแม้แต่การลืมก็มีเรื่องเล่าของมัน

สายลมเย็นสบายจากบอสฟอรัสพัดผ่านหน้าต่างห้องเข้ามาช้าๆ ข้าได้ยินเสียงกระซิบแผ่วเบาที่ชายช่างฝันก็ได้ยิน

“ก็สร้างความหมายที่ท้าทายกับมัน”

Fact Box

  • บทความนี้เขียนขึ้นด้วยวิธีการเล่าเรื่องอันเป็นเอกลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือและแรงดลใจในการเขียนมาจากสามประโยคนี้ของออร์ฮาน ปามุก

“I write because I am afraid of being forgotten.” (ที่มา: My Father’s Suitcase สุนทรพจน์ของออร์ ฮาน ปามุก ในการรับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2006)

“I wanted it to be a classic …” (ที่มา: On My Name Is Red บทบันทึกที่ปามุกเขียนขึ้นบนเครื่องบิน หลังจากเขียน My Name Is Red จบสมบูรณ์เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 1998)

“I don’t want to be a tree, I want to be its meaning.” (ที่มา: I Am a Tree บทที่ 10 ในหนังสือ My Name Is Red)

  • My Name Is Red เขียนโดย ออร์ฮาน ปามุก ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาตุรกีในปี 1998 ก่อนจะตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกในปี 2001 และได้พิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลกแล้วกว่า 60 ภาษา
  • My Name Is Red ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเป็นภาษาไทยในปี 2010 จากการแปลของนันทวัน เติมแสงศิริศักดิ์ โดยสำนักพิมพ์บลิส และตีพิมพ์ครั้งที่สองในเดือนมกราคม 2019 โดยสำนักพิมพ์มติชน
Tags: , ,