เฉินจุนเป็นชาวนาจากบ้านนอก เขากับพ่อแม่ถูกไล่ที่ จากบ้านนอกต้องมาเริ่มต้นใหม่ในชานเมืองปักกิ่ง เขาและครอบครัวลงมือปลูกผัก ก่อบ้านอิฐถูกๆ ง่ายๆ เวลาผ่านไปยี่สิบปี เขาแต่งเมีย มีลูกเล็ก วันหนึ่งทางการมาบอกว่าพวกเขาต้องย้ายออก พร้อมเงินชดเชยเพียงน้อยนิด เพื่อนบ้านทยอยย้ายออกทีละครัว แต่เขาเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง ไม่นับเรื่องที่ว่า เขายังไม่รู้ว่าจะไปเริ่มต้นที่ไหน เมื่อหลังชนฝา ทั้งครอบครัวตัดสินใจจะอยู่สู้จนถึงที่สุด ด้วยกล้องวีดีโอหนึ่งตัวและความดื้อไม่ยอมคนของทั้งสามีและภรรยา ที่ต้องอุ้มลูกเล็กมาเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐ
เมื่อขับไล่กันไม่ได้ง่ายๆ เจ้าหน้าที่หมู่บ้านก็เริ่มใช้วิธีกลั่นแกล้ง ทั้งการตัดน้ำตัดไฟ การเอารถมาไถถนนทางเข้าบ้าน การดึงเรื่องไปเรื่อยๆ ให้เขาต้องวนเวียนไปติดต่อ ครอบครัวอยู่ในบ้านที่ต้องอาศัยจุดเทียน ต้องไปหาบน้ำจากที่แสนไกล บ้านถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนของหมู่บ้าน บ้านอิฐเก่าแก่โดดเดี่ยว ต่อหน้าพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่รอการปรับแปลงของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ มีฉากหลังเป็นอาคารสูงสร้างใหม่ของพวกคนร่ำรวย พ่อแม่ลูกปลูกผัก หาบน้ำ ลูกสาวของเขาเติบโตมาในสภาพนั้นต่อหน้าผู้ชม หนังติดตามตัวละครอยู่สามสี่ปี เรามองเห็นเด็กน้อยเติบใหญ่ คนเฒ่าชราลง และหนุ่มสาวแก่เฒ่าต่อหน้าความไม่ยุติธรรมในสังคมสังคมนิยม
My Land คืออีกหนึ่งสารคดีจีนที่เล่าเรื่องคนยากจนในสังคมจีนหลังเทียนอันเหมิน ยุคสมัยของการเปิดประเทศรับทุนนิยมในเชิงเศรษฐกิจ แต่ยังคงปกครองแบบสังคมนิยม จำกัดสิทธิเสรีภาพ อันที่จริงเราอาจบอกได้ว่า เมื่อเทียบกับหนังสารคดีจีนชีวิตบัดซบเรื่องอื่นๆ อย่าง Petition สารคดีสามชั่วโมงตามชะตากรรมเหี้ยมโหดของแม่ลูกจากหมู่บ้านคนร้องทุกข์ ที่รัฐสามารถกลั่นแกล้งโดยการกล่าวหาว่าเป็นคนบ้าแล้วจับผู้ร้องทุกข์ (จากการถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ) ไปขังไว้ในโรงพยาบาลบ้าได้
หรือ Till Madness do Us Apart สารคดีสังเกตการณ์ชีวิตของผู้คนในโรงพยาบาลบ้าของ Wan Bing ที่ปล่อยผู้ชมให้อยู่ในโรงพยาบาลบ้าที่แทบไม่มีใครดูแลราวกับเป็นเพียงคุกที่แค่กันคนบ้าออกจากโลกภายนอก เทียบกันแล้ว เราอาจพบว่าหนังเหล่านี้มีระยะกับซับเจคต์หลักของหนังอยู่น้อย ซึ่งน่าสนใจในแง่ที่ว่า ในโลกที่สังคมไร้จริยธรรมต่อคนยาก การทำสารคดีคนเล็กคนน้อยนั้น คนทำต้องมีขอบเขตของจริยธรรมอยู่ที่ตรงจุดไหน เพราะเพื่อให้ได้สารคดีที่รุนแรงสุดขีด คนทำอาจต้องละเมิดทุกความเป็นส่วนตัวของคนที่เขาตาม หรือแม้แต่ละเลยที่จะช่วยเหลือในยามคับขันเพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนที่สุดของชีวิตยากไร้
ปัญหาของ My Land เลยเป็นการมีจริยธรรมของคนทำที่ทำให้ในที่สุด หนังก้ำกึ่งจะเป็น รายงานชีวิตรายสามเดือนหกเดือนของครอบครัวเฉินจุน มากกว่าการลงดิ่งลึกไปในความรู้สึกของผู้คน หรือการซ่อนแอบอยู่ในบ้านดูผู้คนที่ต้องเผชิญชะตากรรม ในที่สุดเป็นการฟาดฟันกันเองต่อหน้ากล้อง My Land เป็นเพียงการตามติดครอบครัวอย่างมีระยะห่าง รอให้เขาเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาบ้าง อันที่จริงจึงกลายเป็นว่า ตัวละครหลักที่แท้จริงของหนังไม่ใช่เฉินจุนกับเมีย แต่เป็นลูกสาวของเขาที่เราได้เห็นตั้งแต่ยังแบเบาะ จนพูดได้ และเด็กหญิงก็เป็นตัวแปรสำคัญในช่วงท้ายของเรื่อง
หากเทียบกับบิดาของเธอแล้ว หนิวหนิว อาจจะเป็นคนไร้บ้านที่แท้จริง หนังเปิดฉากแรกด้วยการที่เฉินจุน พาหนิวหนิวลูกสาวกลับไปยังบ้านเก่าที่บ้านนอกที่พวกเขาจากมา เพื่อพาภรรยาไปคลอดลูก เพราะการคลอดลูกในโรงพยาบาลที่บ้านนอกนั้นมีราคาถูกกว่าการคลอดลูกในปักกิ่ง
ในฉากหนึ่งพ่อลูกเดินเข้าไปในซากบ้านที่อิฐก่อปิดประตูเอาไว้ เขาชี้ให้ลูกสาวดูว่าเคยนอนตรงนี้ เคยมีชีวิตตรงนั้น แต่บ้านไม่ใช่ของเรา เมืองไม่ใช่ของเรา หนังเล่าในช่วงท้ายว่า ก่อนหน้าจะมาปักกิ่ง เฉินจุนกับพ่อแม่อาจจะเคยอยู่ในบ้านที่ไม่มีน้ำมีไฟมาเป็นสิบๆ ปี ถึงที่สุด แผ่นดินของเรา (ที่มักจะถูกกล่าวอ้างเสมอเมื่อต้องการให้เราปกป้องแผ่นดิน) ไม่ใช่ของ เราแต่เป็นของรัฐ ในรัฐเสรีนิยม มันอาจถูกจัดสรรภายใต้กำลังของทุน แต่ในโลกสังคมนิยมกึ่งทุนนิยม รัฐจะร่วมมือกับทุนในการจัดการผู้คนอย่างเงียบเชียบและไร้เสียง และไม่ให้โอกาสต่อสู้ในทุกมิติ
ที่สุดแล้ว ทุกคุณค่าความหมายที่เรายึดถือ การสร้างครอบครัว การเป็นพลเมืองที่ดี เป็นเพียงการเล่นละครที่รัฐกำหนดคุณค่าความหมายให้ประชาชนของตน และเมื่อถึงเวลา รัฐก็สามารถริบคืนคุณค่าความหมายไปได้ทั้งหมด การต่อสู้ของเฉินจุนจึงไม่ใช่การต่อสู้ที่จะได้รับชัยชนะ เพราะเขาไม่มีวันชนะ แต่สิ่งที่มันฉายส่องให้เห็นคือผู้เล่นในโลกแบบหนึ่ง สามารถมีอำนาจการต่อรองแบบหนึ่ง ขณะที่ในอีกโลกหนึ่ง คนอาจไม่มีอำนาจต่อรองได้เลยแม้แต่น้อย
มันจึงไม่ใช่เรื่องของการที่รัฐทำลายคุณค่าความเป็นคนลงไป เพราะมันถูกกำหนดโดยรัฐเสียตั้งแต่แรก แต่มันคือการแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของสิ่งใดอย่างแท้จริง และทุกคุณค่าที่เรายึดถือก็เป็นเพียงสิ่งไม่มีจริงเช่นกัน
ชีวิตจึงตบหน้าเราอย่างเจ็บแสบ เมื่อหลังจากต่อสู้กับรัฐอย่างยาวนานหลายปี ทั้งที่ยังไม่มีน้ำและไฟ (เหมือนหนังให้เราเห็นว่าเขาได้ไฟฟ้าคืนมา แต่ก็เหมือนจะเพียงช่วงสั้นๆ) เขาและภรรยาทำศูนย์เด็กอ่อนเพื่อให้ลูกหลานแรงงานอพยพในบริเวณนั้นมีที่อยู่ระหว่างวันและได้เรียนอะไรเล็กๆ น้อยๆ เพราะลูกสาวของเขาก็ไม่มีโรงเรียนจะเรียน เฉินจุนได้รับการยกย่องเป็นพลเมืองตัวอย่าง ได้ถูกเชิญไปรับรางวัล แต่ที่บ้านของเขาก็ยังมืดมิด คุณค่าความหมายถูกกำหนดใหม่และพรากไปได้ตลอดเวลา ถึงที่สุด บ้าน การต่อสู้ หรือความยุติธรรมใดๆ ก็ไม่ได้มีความหมายอีกต่อไป
หนังจบลงอย่างเจ็บปวดด้วยฉากถ่ายรูปครอบครัวหลังจากเวลาผ่านไปนับสิบปี พ่อแม่แก่เฒ่า ลูกน้อยเติบโต แต่ไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย หนังอธิบายชีวิตของเฉินจุนและครอบครัวหลังจากนั้นเพื่ออธิบายว่าใครชนะในการต่อสู้นี้ และผู้คนจะทำอย่างไรเพื่อให้มีชีวิตสืบไปได้ เพราะก็คงไม่มีการต่อสู้ใด ที่ยิ่งใหญ่กว่าการมีชีวิตสืบไป
*My Land จะฉายเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในงาน Doc Talk : My Land
https://www.facebook.com/events/2620354531311741/
สามารถร่วมชมและเข้าร่วมworkshopได้ตามวันเวลาดังกล่าว
Tags: Documentary, My Land, China