นายโยเวริ มุสเซเวนิ (Yoweri Museveni) ประธานาธิบดีประเทศยูกันดา มีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ถูกจับด้วยข้อหา ‘ว่างงาน’ และ ‘เตร็ดเตร่’’ พร้อมระบุว่ากฎหมายข้อนี้เป็นผลผลิตจากสมัยอาณานิคม ที่คนขาวไม่ต้องการให้คนดำไปเดินอยู่ในละแวกที่อยู่อาศัย 

มุสเซเวนิประกาศเพิ่มเติมในแอคเคาน์ทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ผู้ต้องขังที่ถูกจับด้วยข้อหาไร้สาระเช่นนี้ควรจะต้องถูกปล่อยตัวและหยุดการดำเนินคดีโดยทันที เพราะอันที่จริงแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีคดีความอีกมากมายที่ต้องจัดการ

ที่ผ่านมามีคนเร่ร่อนและพ่อค้าแม่ค้าเร่กว่า 10,000 รายในเมืองแคมปาลา ที่ถูกจับปรับในราคาสูง ทั้งยังต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 2 เดือน 

มุสเซเวนิมีคำสั่งโดยตรงถึงอัยการสูงสุดและกรมตำรวจ ให้หยุดการดำเนินการด้วยข้อหาดังกล่าว แม้จะยังมีข้อกฎหมายบังคับอยู่ ซึ่งนั่นทำให้มีผู้ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการกระทำของเขา

นายคิวานูกา มาบิริซี (Kiwanuka Mabirizi) นักกฎหมายชาวเมืองแคมปาลายื่นฟ้องต่อศาล ว่ามุสเซเวนิกำลังใช้อำนาจเหนือกฎหมาย ไร้เหตุผล และไม่ทำตามกระบวนการที่เหมาะสม

มาบิริซีเรียกร้องให้ศาลสั่งห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามคำสั่งข้อนี้ของมุสเซเวนิ โดยให้เหตุผลว่าการอภัยโทษแก่ผู้ต้องขังใดๆ ไม่ใช่อำนาจเบ็ดเสร็จของประธานาธิบดีแต่เพียงผู้เดียว แต่จำต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน รวมถึงควรมีการแก้ไขข้อกฎหมายให้เรียบร้อยก่อน

“ผมฟ้องร้องมุสเซเวนิเพราะเขากำลังพาประเทศยูกันดากลับไปอยู่ในยุคของ อิดี อามิน (Idi Amin—ประธานาธิบดีเผด็จการคนก่อนหน้า) ที่เคยออกกฎหมายของตัวเองมาเพื่อขับไล่ชาวเอเชีย ฆ่าประชาชนโดยไม่ต้องมีการไต่สวน จนถึงการแบนสื่อต่างประเทศ” ทนายความกล่าวกับเดอะการ์เดียน

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ฝ่ายเรือนจำกล่าวว่าพวกเขาพร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งของประธานาธิบดี หากมีการสั่งการอย่างเป็นทางการ 

โยเวริ มุสเซเวนิ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 9 ของประเทศยูกันดา ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 1986 เขาเป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่มปฏิวัติยึดอำนาจจากเผด็จการผู้อื้อฉาวอย่างอิดี อามิน และมิลตัน โอโบเต (Milton Obote) ผลงานโดดเด่นคือนโยบายหยุดยั้งการระบาดของเชื้อ HIV แต่ขณะเดียวกันยุคสมัยของเขายังคงมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชันและปัญหาความยากจน 

มุสเซเวนิดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนาน โดยในปี 2005 เขาได้แก้ไขข้อบัญญัติว่าด้วยระยะเวลาอยู่ในอำนาจของประธานาธิบดีและในปี 2017 ก็เพิ่งแก้ไขข้อบังคับที่กำหนดอายุของผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในตำแหน่งได้ต่อไป 

อ้างอิง:

https://www.theguardian.com/global-development/2019/oct/04/presidential-reprieve-for-the-idle-and-disorderly-of-uganda-yoweri-museveni

https://www.theguardian.com/global-development/2019/aug/28/ugandan-student-sues-president-museveni-blocking-twitter

https://en.wikipedia.org/wiki/Yoweri_Museveni

ภาพ: REUTERS/Hannah McKay