เคยไหม? เวลาไปเยี่ยมชมวัตถุต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์แล้วสงสัยว่า ของเหล่านี้เคยเป็นของใคร? มาจากไหน? แล้วทำไมถึงมาอยู่ที่นี่? ยิ่งเป็นของที่เดินทางมาไกล บางครั้งข้ามโลก ข้ามวัฒนธรรม เมื่อมาอยู่ในตู้จัดแสดงแล้ว มันจะถูกใช้งานโดย เหมือน หรือ ต่าง จากบริบทเดิมอย่างไร?

ที่เกริ่นมาอย่างนี้ เพราะวันนี้เราจะมาเล่าเรื่องการจัดการกับวัตถุสะสมทางชาติพันธุ์ (ethnographic collection) ซึ่งเป็นชุดวัตถุสะสมที่อยู่ในความครอบครองและจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ใหญ่หลายแห่งในโลก วัตถุสะสมประเภทนี้มัก ประกอบไปด้วย ข้าวของเครื่องใช้ของผู้คนกลุ่มต่างๆ เช่น อาวุธ ภาชนะ เครื่องมือดำรงชีพ เครื่องใช้ในพิธีกรรม เครื่องจักสาน สิ่งทอต่างๆ ฯลฯ

การสะสมและจัดแสดงวัตถุเหล่านี้ มีเป้าหมายเพื่อมุ่งสร้างภาพแทน (Representation) หรือการเล่าเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมจากดินแดนห่างไกล  ธีมในการเล่าเรื่องก็มีทั้งการเล่าเรื่องทั่วๆ ไป เช่น ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน หรือวิถีชีวิต ไปจนกระทั่งการเล่าเรื่องความประหลาดพิสดาร (exotic) หรือโหดร้ายของคนเหล่านั้น เช่น ในพิพิธภัณฑ์ตะวันตกก็มักจะแสดงเรื่องการล่าหัวมนุษย์ มนุษย์กินคน การเปิดเปลือยเรือนร่าง ของชนเผ่าในแอมะซอน หรือ แอฟริกา เป็นต้น

กำเนิดของชุดสะสมกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการสะสมรวบรวมโดยเหล่านักบริหารอาณานิคม นักสำรวจ นักการทหาร และนักวิชาการ ระหว่างที่ถูกส่งไปทำงานในดินแดนอาณานิคม เมื่อเดินทางกลับสู่บ้านเมืองของตนก็นำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุดสะสมส่วนบุคคล หรือมอบให้กับพิพิธภัณฑ์สาธารณะแห่งต่างๆ นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อก้าวเข้าสู่โลกยุคหลังสมัยใหม่และการเติบโตขึ้นของแนวคิดหลังอาณานิคม ความรู้ก็ไม่ได้ถูกยึดกุมโดยนักวิชาการ หรือภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์อีกต่อไป และการเล่าเรื่องของ ‘คนอื่น’ ก็ไม่อาจเล่าได้ถูกต้องเท่ากับคนในวัฒนธรรมนั้นๆ เป็นผู้เล่าเอง และเสียงของคนที่เคยถูกกดไว้ด้วยเหตุของการไร้ซึ่งอำนาจในยุคอาณานิคม กลับมามีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเล่า มุมมอง และการตีความวัตถุทางวัฒนธรรมของพิพิธภัณฑ์

ด้วยเหตุนี้ความท้าทายใหม่ที่ภัณฑารักษ์และพิพิธภัณฑ์ตะวันตกต้องเผชิญหน้าจึงเป็นเรื่องของความพยายามในการ ‘เล่า’ วัตถุเหล่านี้ในมุมมองใหม่ที่ยังทำให้พิพิธภัณฑ์มีสิทธิที่จะเล่าได้อยู่

หนึ่งในแนวโน้มของทิศทางเล่าเรื่องใหม่นี้คือการหวนกลับไปพิจารณาประวัติของผู้สะสม และประวัติของชุดสะสมเอง ตั้งแต่แรกเริ่มจนกระทั่งมาอยู่ในความครอบครองของพิพิธภัณฑ์ แนวทางนี้ก็อาจจะเรียกว่าเป็นการสืบค้นการเดินทางของวัตถุ หรือที่นักวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์หลายคนเรียกว่าเป็นแนวทางการศึกษาอัตชีวประวัติของวัตถุ (Object Biography)

หลักใหญ่ใจความของแนวทางศึกษาอัตชีวประวัติของวัตถุนี้คือการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนและวัตถุ กล่าวคือ แนวทางนี้ไม่ได้ตั้งธงที่จะมองหาว่าวัตถุนี้เป็นตัวแทนในการเล่าเรื่องวัฒนธรรมในบริบทดั้งเดิมอย่างไร แต่ตั้งคำถามว่า นับตั้งแต่วัตถุนั้นถูกสร้างขึ้น ถูกใช้ ถูกเปลี่ยนมือผู้ครอบครอง จนกระทั่งสถานที่ที่มันดำรงอยู่ในปัจจุบัน วัตถุนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ เรื่องเล่า รวมไปถึงสร้างความหมาย หรือถูกให้ความหมายที่แตกต่างกันไปตามช่วงเวลา และบริบท ทำให้การเล่าเรื่องของชุดวัตถุสะสมในยุคปัจจุบันไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่เพียงแง่มุมเดียวอีกต่อไป

ตัวอย่างนี้มีให้เห็นจากความพยายามเล่าเรื่องของวัตถุในแนวทางการศึกษาอัตชีวประวัตินี้มีให้เห็นในกรณีของ บริติชมิวเซียม (British Museum) ณ กรุงลอนดอน ที่มีโปรแกรมนำชมพิเศษเกี่ยวกับวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะหมุนเวียนไปตามหัวข้อวิจัยของนักวิจัยหรือภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ ซึ่งไม่ได้มุ่งสร้างแก่นความรู้หรือภาพแทนของเจ้าของวัฒนธรรมอันเป็นเจ้าของดั้งเดิม หากแต่เป็นการวิจัยเกี่ยวกับประวัติของชุดวัตถุสะสม ประวัติของผู้สะสมแทน

ผู้เขียนมีโอกาสเข้าฟังการบรรยายอยู่สองครั้งจากชุดวัตถุสะสม 2 วัฒนธรรม คือ วัฒนธรรมของกลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกัน (Native American) ในทวีปอเมริกาเหนือ และวัตถุสะสมจากหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ชวา และสุมาตรา)

ในกรณีแรกเป็นการนำชมวัตถุที่ห้องจัดแสดงวัตถุทางวัฒนธรรมที่สะสมอยู่ในช่วงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 นับตั้งแต่ช่วงบุกเบิกของเจ้าอาณานิคมในดินแดนทวีปอเมริกาเหนือ (ทั้งประเทศแคนาดาและอเมริกา) จนกระทั่งเมื่อการตั้งถิ่นฐานของเจ้าอาณานิคมมีความมั่นคง แนวทางหลักของการจัดแสดงก็ไม่ได้เน้นไปที่ความพยายามในการสร้างภาพแทน (representation) หรือภาพต้นแบบให้กับชาวอินเดียนพื้นเมือง แต่จะให้น้ำหนักไปกับความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม

ในขณะเดียวกันผู้บรรยายไม่ได้บรรยายตามป้ายจัดแสดงหรือเนื้อหาที่จัดแสดง แต่ได้พยายามชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อการเข้ามาของเจ้าอาณานิคมผิวขาว อยู่ 2 ประการหลักๆ คือ ประการแรก วัตถุที่จัดแสดงจำนวนมากไม่ได้ผลิตขึ้นตามลวดลาย วัสดุ หรือรูปทรงตามอย่างประเพณีนิยมดั้งเดิมอีกต่อไป เพราะการนำเข้าของวัตถุสมัยใหม่จากยุโรป เช่น ลูกปัดแก้วที่เป็นของนำเข้า การใช้เข็มโลหะจากโรงงานผลิตในยุโรปในการปักลวดลาย ลวดลายดอกไม้ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และวัตถุจำลองขนาดเล็ก (เช่น เรือ และบ้านขนาดเล็ก) เป็นต้น ในประเด็นนี้ภัณฑารักษ์ไม่ได้พยายามยัดเยียดการอธิบายวัตถุทางวัฒนธรรมชุดนี้ว่าเป็นของที่ผลิตขึ้นภายใต้ความคิดแบบโรแมนติกเกี่ยวกับชาวอินเดียนพื้นเมืองในช่วงเวลาคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 แต่แสดงให้เห็นถึงเครือข่ายการค้า และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวตะวันตกผิวขาวและชนพื้นเมือง

ประการที่สอง การได้มาซึ่งวัตถุสะสม เป็นเรื่องที่การจัดแสดงแต่เดิมไม่ค่อยจะกล่าวถึง แต่การบรรยายครั้งนี้มีการเน้นถึงความสำคัญของจุดเริ่มต้นการสะสมอยู่หลายครั้ง เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งของการตีความของวัตถุในแง่มุมใหม่ กล่าวคือ วัตถุที่จัดแสดงหลายชิ้นแสดงให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายของการสะสม และการผลิตนั้นเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เริ่มขยายตัวตั้งแต่คริสตวรรษที่ 19 ทำให้เห็นว่าวัตถุหลายชิ้นซึ่งไม่เคยถูกผลิตขึ้นมาก่อนในสังคมดั้งเดิม กลับปรากฏขึ้นในฐานะของที่ระลึก ของฝาก หรือของสะสม สำหรับชาวยุโรปที่เดินทางมาอเมริกาเหนือเพื่อทำการค้า หรือเพื่อการบริหารอาณานิคม ดังนั้น วัตถุสะสมบางชิ้นจึงไม่ได้เป็นสิ่งแทนวัฒนธรรมแต่เป็นสิ่งแทนความสัมพันธ์ของผู้คน และการเดินทางของวัตถุจากทวีปอเมริกาเหนือจึงเป็นการเดินทางมาในฐานะสินค้า และของที่ระลึกของชาวตะวันตกผิวขาวนั่นเอง

ตัวอย่างกรณีที่สอง เป็นการบรรยายในชุดสะสมขนาดเล็กของชวาและสุมาตราที่จัดแสดงแทรกอยู่ในชุดสะสมจากภูมิภาคอื่นๆ โดยภัณฑารักษ์ผู้ดูแลชุดสะสมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในบริติชมิวเซียม การบรรยายครั้งนี้เน้นไปที่ประวัติของผู้สะสมวัตถุทางวัฒนธรรมจากเกาะชวา และสุมาตรา ซึ่งก็คือ เซอร์ สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ (Sir Stamford Raffles) นักบริหารอาณานิคมชาวอังกฤษที่มีบทบาทสูงในการผลักดันให้อังกฤษได้เข้าปกครองเกาะชวาในช่วงเวลาสั้นๆ (ค.ศ.1811-1815) รวมไปถึงเป็นหนึ่งในคนที่บูรณะบุโรพุทโธ นอกจากนี้ยังเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ชวาอีกด้วย นอกจากนี้ยังเคยย้ายไปประจำอยู่ที่เกาะสุมาตราในช่วง ค.ศ.1817-1822 ซึ่งก็ทำให้วัตถุสะสมที่ แรฟเฟิลส์ มอบให้กับบริติชมิวเซียมจำนวนมากมาจาก 2 เกาะนี้

ประเด็นสำคัญของการบรรยายไม่ได้อยู่ที่ตัววัตถุว่าแสดงภาพแทนของวัฒนธรรมในเกาะชวา และสุมาตราอย่างไร แต่ตั้งคำถามต่อจุดมุ่งหมาย และความสนใจของ เซอร์ แรฟเฟิลส์ เองในการสะสมวัตถุทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ภัณฑารักษ์อธิบายเปรียบเทียบว่าประสบการณ์ส่วนตัวต่อการปกครองเกาะทั้งสองของแรฟเฟิลส์ นั้นส่งผลต่อความสนใจในการคัดเลือกวัตถุเพื่อการสะสม เห็นได้ชัดเจนว่าเขาให้ความสนใจต่อชวามากกว่าสุมาตรา และแนวทางในการคัดเลือกวัตถุเพื่อสะสมก็มีความลักษณะเฉพาะ (character) ที่ชัดเจนกว่ามาก ที่น่าสนใจคือตัวภัณฑารักษ์ถึงขั้นวิพากษ์แนวคิดเบื้องหลังการสะสมของแรฟเฟิลส์ว่าแท้ที่จริงแล้วอาจไม่ได้เพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์ของชวาและสุมาตรา แต่ลึกๆ แล้วก็เพื่อสนองตอบต่อแนวคิดของชาวตะวันตกในช่วงเวลาดังกล่าวต่อความ “ไร้อารยะ” (uncivilised) ของชนพื้นเมือง

กรณีที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของพิพิธภัณฑ์ที่ค้นหาแง่มุมใหม่ในการอธิบายหรือตีความวัตถุที่ตนครอบครอง ในขณะเดียวกันก็วิพากษ์ประวัติศาสตร์ของชุดสะสม รวมไปถึงรากฐาน (ประวัติศาสตร์) ของตัวพิพิธภัณฑ์เอง ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็นการตอบสนองต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะ และการตรึกตรองสะท้อนคิด (Reflexivity) ต่อบทบาทหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ในโลกหลังสมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจ

Special Thanks: อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล

Tags: , , , , ,