ขอเสนอไอเดียโรแมนติก นั่นก็คือการไปออกเดทกับหนังสือหายาก ที่หอสมุดแห่งชาติ ณ ท่าวาสุกรีนี่เอง! จะฉายเดี่ยวไปบอกรักหนังสือเก่าด้วยการอ่าน หรือใครมีคู่อยู่แล้ว การได้มานั่งอ่านหนังสือด้วยกันเงียบๆ มีจังหวะให้แอบยกปลายเท้าสะกิดกันใต้โต๊ะบ้างเบาๆ ก็ถือเป็นกิจกรรมที่ดีต่อใจด้วยไม่น้อยเช่นกัน
ขอเกริ่นก่อนว่า อาคารหอสมุดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นหอสมุดโดยเฉพาะ เปิดบริการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2509 โดยมีการโยกย้ายหนังสือบางส่วนจากหอพระสมุดวชิรญาณเดิมตั้งแต่สมัย ร.5 มาอยู่ที่นี่ บวกกับ มีการเก็บหนังสือเพิ่มเติมอยู่ตลอด ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดไว้ว่า หนังสือหรือสิ่งพิมพ์ทุกเล่มต้องส่งมาให้หอสมุดแห่งชาติจำนวน 2 เล่ม (เก็บไว้ในหอสมุด 1 เล่ม และเก็บเข้าคลังอีก 1 เล่ม) ดังนั้นตามทฤษฏีแล้ว หอสมุดนี้จะมีหนังสือเยอะที่สุดในประเทศไทย!
ที่นี่ยังมีการจัดการห้องพิเศษสำหรับ ‘หนังสือหายาก’ ซึ่งเป็นหนังสือทรงคุณค่าทั้งด้านเนื้อหาและการพิมพ์ ซึ่งไม่สามารถหาได้จากห้องสมุดทั่วไป และไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด ประกอบด้วยหนังสือส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ หนังสือที่พิมพ์ในระยะเริ่มแรก หรือ พิมพ์ในโอกาสพิเศษ รวมทั้งหนังสือที่มีความโดดเด่น เช่น ทำปกแข็งประดับลวดลายเดินทอง มีรูปเล่มสวยงาม มีภาพประกอบอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี เป็นต้น
ปัจจุบันสำนักหอสมุดแห่งชาติเก็บรักษาหนังสือหายากที่มีคุณค่าไว้เป็นมรดกทรัพย์สินทางปัญญาของชาติมากกว่า 5 หมื่นเล่ม ส่วนมากจะอยู่ใน ‘ชั้นปิด’ ซึ่งเป็นห้องที่เปิดแอร์และควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไป ผู้อยากอ่านหนังสือเหล่านี้จะต้องระบุเลขค้นหาจากระบบและนำมากรอกในแบบฟอร์มยื่นให้บรรณารักษ์ เพื่อให้บรรณารักษ์หยิบออกมาให้อ่านในห้องหนังสือหายากนี่เอง (ความ ‘ไม่ง่าย’ นี้เองที่ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการได้มาค้นคว้าหนังสือหายาก) แต่อย่าเพิ่งถอดใจกัน เพราะวันนี้เรามีหนังสือเข้าธีมความรัก 5 เล่ม มาแนะนำให้เริ่มอ่านกันเป็นเดทแรกๆ
มัทนะพาธา
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(เลขเรียก 895.9112 ม113ม)
มัทนะพาธา (แปลตรงตัวว่า ความทุกข์จากรัก) หรือ ตำนานแห่งดอกกุหลาบ เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในดินแดนภารตะโบราณ ว่าด้วยรักสามเส้าของ ‘มัทนา’ หญิงสาวผู้มีรูปโฉมงดงามแต่ดันไปปฏิเสธรักจากเทพบุตร จึงถูกสาปให้เป็นดอกกุหลาบ และกลับคืนร่างเป็นคนในคืนจันทร์เพ็ญเท่านั้น
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ในระหว่างที่พระองค์
ทรงพระประชวร ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พุทธศักราช 2466 จน ถึงวันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พุทธศักราช 2466 รวมเป็นเวลา 43 วัน และถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปีต่อมา
พระองค์ทรงใช้คำประพันธ์ประเภทฉันท์ กาพย์และร้อยแก้ว มีความยาว 5 องก์ บทพูดในเรื่องนี้มีความงดงามทางวรรณศิลป์อย่างมาก เป็นภาษากวีนิพนธ์ที่มีการจัดวางคำอย่างงดงามจนเสมือนทำนองดนตรี อย่างเช่น:
“อ้าโฉมมะทะนา ผิวะหล่อนจะยอมตาม
ใจพี่ละก็ความ สุขะพี่จะพูนพี;
แต่หากมะทะนา บมิรักก็พี่นี้
เหมือนตกอะวิจี ทุขะท่วมบรู้วาย”
ในฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกๆ ที่หอสมุดนี้ เราจะได้เห็น ‘ต้นฉบับ’ ที่เป็นลายพระหัตถ์ของพระองค์ที่ทรงบรรจงไว้อย่างงดงามอีกด้วย (หากใครอ่านเล่มนี้แล้วถูกใจ เราแนะนำให้ไปอ่านบทพระราชนิพนธ์แปล โรเมโอ และ จูเลียต เลขเรียก 8.22.33ช251โร เพื่อเสริมเติมอรรถรสกันต่อโดยพลัน)
หนังสือจักรทีปนี พระนิพนธ์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
(เลขเรียก133.54 ป167หม)
จักรทีปนีเป็นตำราโหราศาสตร์ ตามตำราของพระอุดมรามเถระ ที่โด่งดังมาก โดยมีเนื้อเรื่องที่กล่าวถึง ลักษณะของลักขณา นพเคราะห์ ราศี ที่มีอิทธิพลต่อเจ้าของชะตาแตกต่างกันไป เริ่มอธิบายจากพระเคราะห์ทั้ง 8 สถิตในลักขณาตั้งแต่หนึ่งจนถึงเก้า ซึ่งให้เจ้าของชะตามีลักษณะต่างกัน
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงพระเคราะห์สถิตในราศีทั้ง 12 ว่ามีคุณและโทษต่างกันด้วย ในเล่มนี้นอกจากเราจะได้เช็คดวงความรัก อีกทั้งดูชะตาหา soul mate ของเราแล้ว จะยังได้เพลิดเพลินไปกับวรรณศิลป์ที่งดงาม โดยเฉพาะช่วงท้ายที่เป็นเป็นกาพย์สุรางคนางค์และกาพย์ยานี กล่าวถึงลักขณาสถิตในราศีต่างๆ ขอบอกเลยว่าแม้ผู้อ่านจะหาอ่านตีพิมพ์อื่นๆ เล่มนี้ได้ไม่ยากนัก แต่ถ้าอยากได้ความ ‘ขลัง’ ด้วยแล้ว ต้องมาอ่านตีพิมพ์แรกๆที่หอสมุดแห่งชาติเท่านั้น!
ตำราเสนหา ว่าด้วยความรักอย่างสูงสุด
หมอเหล็ง ศรีจันทร์
(เลขเรียก 612.6ห734ตส)
อย่าเพิ่งตกใจว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพ เพราะหนังสือลักษณะนี้ถือมีความสำคัญกับวงการสิ่งพิมพ์ไทยอย่างมาก โดยเริ่มเป็นธรรมเนียมแพร่หลายในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางชั้นสูง ในรัชกาลที่ 5 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสนับสนุนให้ประชาชนคนทั่วไปพิมพ์หนังสือเป็นที่ระลึกในงานศพของบุคคลที่นับถือ โดยหอพระสมุดวชิรญาณ (หอสมุดแห่งชาติในปัจจุบัน) ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกต้นฉบับให้แก่ผู้สนใจจัดพิมพ์หนังสืองานศพสำหรับผู้มาติดต่อ
อย่างเล่มนี้พิมพ์เมื่อปี 2472 มีเนื้อหาเชิงสั่งสอน ว่าด้วยความรักจากมุมมองของ หมอเหล็ง ศรีจันทร์ ซึ่งแสดงออกถึงวิธีการคิด ค่านิยมของยุคสมัย (ที่เชื่อมโยง ‘รัก’ ไว้กับ เพศสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้น) ได้น่าสนใจอย่างมาก
แค่ในสารบานก็จะเห็นหัวเรื่องน่าอ่านอยู่มาก อาทิ “ความรักในโลกคืออะไร?”, “เทพธิดาวีนัสหรือดาวพระศุกร์ ทำให้เกิดความรัก”, “สัตว์หรือมนุษย์เมื่อขาดกามคุณแล้ว ชีวิตก็แห้งเหี่ยวปราศจากความเจริญ” อีกทั้งยังมีบางหัวเรื่องที่มีความโมเดิร์นอยู่ด้วย เช่น “หญิงชราอายุ 80 ปี ยังทำการวิวาหกับชายหนุ่มได้” หรือ การพูดถึงวิธีและยาที่ควบคุมและรักษาโรค “ยาทำลายเชื้อกามโรค” เป็นต้น
วรรณกรรมชิ้นสุดท้าย
ดอกไม้สด
(เลขเรียก 895.913บ638ว)
‘ดอกไม้สด’ เป็นนามปากกาของหม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินทร์ ท่านมีผลงานประพันธ์รวมทั้งสิ้น 14 เรื่อง มีหลายเรื่องที่เป็นที่นิยมอย่างมาก อาทิ สามชาย (2476), ผู้ดี (2480), และ หนึ่งในร้อย (2477) ซึ่งอยู่ใน ‘หนังสือดี 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน’ ของวิทยากร เชียงกูลด้วย ฯลฯ
ผลงานแต่ละเรื่องของท่านล้วนได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมสำคัญที่งดงามด้วยภาษาเขียนและเนื้อความ ซึ่งโดยมากมักจะมีตัวละครหลักเป็นผู้หญิงและแทรกหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไว้ในเรื่องด้วย
ดอกไม้สดถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2506 ระหว่างที่เขียน วรรณกรรมชิ้นสุดท้าย ซึ่งทำให้งานเขียนนี้ไร้ตอนจบอันสมบูรณ์ หลังจากนั้นทายาทของท่าน ได้ยกลิขสิทธิ์ในบทประพันธ์ทั้งหมดของดอกไม้สดให้แก่หอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 เพื่อนำผลประโยชน์ที่ได้มาใช้ในกิจการของหอสมุดแห่งชาติ โดยแจ้งว่าเป็นความปรารถนาของท่านผู้ประพันธ์ที่ต้องการเห็นความเจริญด้านหนังสือในประเทศไทย ดังนั้นดูเหมือนจะเหมาะสมที่สุด หากเราจะมุ่งมาอ่านงานของท่าน ณ หอสมุดแห่งชาติที่ท่านรักยิ่งแห่งนี้
ศิลปิน ผู้ตกหลุมรัก หนังสือ
(อยู่ในห้องนิทรรศการ วิชรญาณ 2 อาคาร 2)
เล่มสุดท้ายนี้ ถึงแม้จะไม่ใช่หนังสือเก่า แต่ก็มีความพิเศษและหาอ่านได้เฉพาะที่หอสมุดแห่งชาตินี้เท่านั้น! หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องสั้น แต่งโดย โอ๊ต มณเฑียร ศิลปินผู้ได้รับมอบหมายให้เข้ามาค้นคว้าข้อมูลที่หอสมุดแห่งชาติ และสร้างนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยในโอกาสวันแห่งความรักที่ผ่านมา เขาได้รับแรงบันดาลใจจากตู้อักษรพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ ในห้องหนังสือหายาก และตู้หนังสือที่มีชื่อบุคคลสำคัญ เช่น ห้องสมุดวิจิตรวาทการ ห้องสมุดอนุมานราชธน และตั้งคำถามถึงแรงจูงใจและความรักที่อยู่เบื้องหลังการบริจาคตู้และหนังสือส่วนบุคคลเข้ามาในหอสมุด
โอ๊ตจึงเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับศิลปิน (ตัวของเขาเอง?) ที่จับพลัดจับผลูมาตกหลุมรักหนังสือในหอสมุดที่กลายร่างเป็นหญิงสาวชื่อ ‘มัทนา’ ในคืนจันทร์เพ็ญ และตัดสินใจบริจาคตู้หนังสือของตัวเองให้กับเธอ ซึ่งในนิทรรศการนี้เราจะได้เห็นการจัดแสดงตู้หนังสือดังกล่าว อีกทั้งสิ่งของและเสียงเพลงที่ถูกพูดถึงในเรื่องด้วย ที่สำคัญ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือทำมือที่พิมพ์ออกมาในจำนวนจำกัดมากๆ และสามารถหาอ่านได้ที่หอสมุดแห่งชาติในช่วงจัดแสดง ตั้งแต่วันนี้ ถึง 28 เมษายน 2562 นี้เท่านั้น
ว่าแล้วเราจะช้าอยู่ใย ขอเชิญตามไปอ่านหนังสือเหล่านี้กันเลยดีกว่า เพราะเนื้อคู่ของเราอาจจะอยู่ระหว่างบรรทัดของหนังสือสักเล่มก็เป็นได้
Tags: หนังสือ, library, Museums Now, หอสมุดแห่งชาติ