ถ้าเปรียบเทียบระหว่างคนที่เกิดในยุค Baby Boomers คนที่จัดอยู่ในเจเนอเรชัน X และชาวมิลเลนเนียล คุณคิดว่าคนกลุ่มไหนในสหรัฐอเมริกาที่ใช้ห้องสมุดสาธารณะมากสุด

คำตอบ คือ กลุ่มที่ดูจะคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีมากที่สุดอย่างกลุ่มมิลเลนเนียลกลับเป็นกลุ่มที่ใช้บริการห้องสมุดสาธารณะมากที่สุด โดยคิดเป็น 53 เปอร์เซ็นต์ จากการสำรวจของ Pew Research Center เมื่อปี 2016 รองลงมาคือกลุ่มเจเนอเรชันเอ็กซ์และกลุ่ม Baby Boomers ตามลำดับ

Pew Research Center ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขนี้น่าจะสัมพันธ์กับความพยายามในการปรับตัวของห้องสมุดในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ที่เริ่มให้ความสำคัญกับบริการที่นอกเหนือไปจากการยืม-คืนหนังสือ ทุกวันนี้เราจึงเห็นห้องสมุดจำนวนไม่น้อยออกแบบพื้นที่ที่มีทั้งโซนที่เป็นห้องสมุดแบบเดิม ผสมผสานไปกับพื้นที่การเรียนรู้ในหลายรูปแบบ รองรับความสนใจที่แตกต่างของคนในชุมชนนั้นๆ

อย่างที่รู้กันว่า เทคโนโลยีในยุคดิจิทัลส่งผลกระทบโดยตรงของห้องสมุด โดยเฉพาะห้องสมุดสาธารณะ แม้เราจะได้ยินข่าวห้องสมุดหลายแห่งต้องปิดตัวลง แต่ในขณะเดียวกันเราก็ได้ยินข่าวดีเกี่ยวกับห้องสมุดที่รีโนเวทให้ทันสมัยหรือสร้างใหม่ ซึ่งมาพร้อมกับบริการที่เพิ่มเติมจากห้องสมุดในอดีต

เครื่องพิมพ์สามมิติกลายเป็นของประจำห้องสมุดหลายแห่ง เวิร์กช็อปที่น่าสนใจตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างการอบรมการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ไปจนถึงการสอนทำอาหารอย่างจริงจังก็เกิดขึ้นภายในห้องสมุดหลายที่ ห้องสมุดอีกไม่น้อยจัดพื้นที่บางส่วนให้คนในชุมชนได้นัดพบและพูดคุยกันไม่ต่างจากการเจอกันตามคาเฟ่ และอีกหลายกิจกรรมที่ทำให้ห้องสมุดไม่ใช่สถานที่ที่มีแต่หนังสือกับบรรยากาศเงียบๆ อีกต่อไป แต่มีทั้งโซนสำหรับคนที่ต้องการความเงียบ โซนสำหรับคนที่อยากรู้สึกผ่อนคลาย และโซนที่คึกคักด้วยสารพัดกิจกรรม

คำว่า ดิจิทัล ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ยุคนี้ทำให้เทรนด์การเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดดูเหมือนเป็นการปรับตัวตามเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม หากมองในรายละเอียดแล้วจะเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น แท้จริงคือการปรับตามความต้องการของ ‘คน’ ที่ใช้ห้องสมุดมากกว่าการพัฒนาของเทคโนโลยี เพื่อสร้างให้เกิดพื้นที่ที่คนในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง

ยิ่งไปกว่านั้น ความหลากหลายของชุมชนแต่ละแห่ง เมืองแต่ละเมือง ยังทำให้ห้องสมุดที่เหมาะกับคนในแต่ละที่แตกต่างกัน ผลลัพธ์ที่ได้คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ได้ยึดติดกับนิยามของห้องสมุดในอดีตอีกต่อไป

ห้องสมุดที่เป็นทุกอย่างให้ทุกคนในชุมชน

School 7 ห้องสมุดขนาดไม่ใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเดน เฮลเดอร์ ทางตอนเหนือของเนเธอร์แลนด์ คือ ห้องสมุดที่คว้ารางวัลห้องสมุดสาธารณะแห่งปี (Public Library of the Year) ประจำปี 2018 มาได้จากบรรดาห้องสมุดเปิดใหม่ที่เข้าชิงรางวัลนี้ทั้งหมด 35 แห่งใน 19 ประเทศทั่วโลก

คณะกรรมการจากสมาพันธุ์ห้องสมุดนานาชาติ (International Federation of Library Associations and Institutions) ซึ่งเป็นผู้มอบรางวัลนี้ให้เหตุผลว่า School 7 ชนะใจไปด้วยการออกแบบพื้นที่ที่เอื้อให้คนในชุมชนทุกวัยสามารถทำกิจกรรมได้หลากหลาย สอดคล้องกับความตั้งใจของทีมงานห้องสมุดเองที่อยากให้ School 7 เหมือนห้องนั่งเล่นของทุกคน ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย หรือแม้แต่ผู้อพยพก็สามารถใช้ประโยชน์จากสเปซสาธารณะเดียวกันได้

ด้วยจุดประสงค์นี้จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อก้าวเข้าไปภายในตัวอาคารของ School 7 แล้วจะเห็นวัยรุ่นจับกลุ่มกันทำการบ้านอยู่ในห้องสมุดและผู้ใหญ่นัดคุยงานกัน ในวันเดียวกับที่มีคนในชุมชนมาใช้พื้นที่บางส่วนจัดปาร์ตี้วันเกิดหรือฉลองงานแต่งงาน

ห้องสมุดที่เอา Stories ไปอยู่ใน Instagram Stories

เพราะรู้ว่าความหมายของการอ่านยุคนี้ไม่ได้จำกัด โลกที่อยู่บนกระดาษอีกต่อไปและเข้าใจดีว่า Instagram เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนรุ่นใหม่ขนาดไหน แทนที่จะขีดเส้นแบ่งระหว่างวิธีการอ่านแบบดั้งเดิมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ New York Public Library กลับเลือกเอาทั้งสองสิ่งนี้มารวมกันและออกมาเป็น Insta Novels โปรเจ็กต์ที่นำเอาเรื่องราวจากหนังสือที่ได้ขึ้นชื่อว่าคลาสสิกมาถ่ายทอดผ่าน Instagram Stories โดยสามเรื่องที่อยู่ในโปรเจ็กต์นี้ ได้แก่ Alice’s Adventures in Wonderland ของ Lewis Carroll, The Yellow Wallpaper ของ Charlotte Perkins Gilman และ The Metamorphosis ของ Franz Kafka

แน่นอนว่าวิธีการนำเสนอของ Insta Novels นี้ไม่ได้เรียบง่ายแค่เป็น e-book หรือถ่ายภาพจากหน้าหนังสือขึ้นโพสต์ใน Instagram เท่านั้น เพราะ New York Public Library จับมือกับ Mother ครีเอทีฟเอเจนซีชื่อดังที่มีออฟฟิศอยู่ในลอนดอน นิวยอร์ก และบัวโนสไอเรส และ Magoz นักวาดภาพประกอบขาประจำของ The New York Times มาทำให้โปรเจ็กต์นี้มีชีวิตชีวามากขึ้น

โดย New York Public Library จะโพสต์เนื้อหาแต่ละหน้าที่ผ่านการออกแบบให้มีลูกเล่นมากกว่าหน้าหนังสือทั่วไปลงใน Instagram Stories หน้าละ 10 วินาทีก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นหน้าถัดไป ซึ่งสำหรับคนที่ดูไม่ทันภายใน 24 ชั่วโมง ก็สามารถดูย้อนหลังได้จากเซ็กชัน Highlights

ถึงแม้ว่าโปรเจ็กต์นี้จะทำให้ยอดผู้ติดตาม Instagram ของ New York Public Library เพิ่มขึ้น แต่ Richert Schnorr ไดเรกเตอร์ฝ่ายดิจิทัลมีเดียของห้องสมุดบอกว่า เป้าหมายจริงๆ ของไอเดียนี้ก็คือการทำให้คนรุ่นใหม่ใช้เวลาในการอ่านมากขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของห้องสมุด แต่เพราะสภาพแวดล้อมและความสนใจของคนที่เปลี่ยนไป New York Public Library จึงปรับตัวด้วยความเข้าใจ พาคอนเทนต์ของห้องสมุดไปใกล้ชิดกับคนอ่าน

ดูเหมือนว่าเป้าหมายของห้องสมุดใหญ่ในนิวยอร์กจะเป็นตามที่วางแผนไว้ เพราะยอดดาวน์โหลด eReader ของห้องสมุดพุ่งขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากปล่อย Insta Novels ได้ไม่นาน จนกลายเป็นกรณีศึกษาสำหรับแบรนด์ต่างๆ ที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วย

ห้องสมุดสายคราฟต์

ในขณะที่ New York Public Library เรียกความสนใจผ่านทางเทคโนโลยี ห้องสมุดที่เป็นเหมือนลูกพี่ลูกน้องกันอย่าง Brooklyn Public Library นำเสนอ Bklyn BookMatch บริการแนะนำหนังสือที่ต้องยกให้เป็นงานคราฟต์

ทางห้องสมุดจะแนะนำหนังสือให้กับผู้มาใช้บริการที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการอ่านและความสนใจของตัวเอง ข้อมูลที่ว่านี้เป็นได้ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือที่อ่าน นักเขียนที่ชอบ รายการทีวีที่ติดตาม ภาพยนตร์ที่ถูกใจ เกมที่ชอบเล่น หรือแม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวที่โปรดปราน

หลังจากนั้นภายใน 1 สัปดาห์ ทีมบรรณารักษ์ประจำห้องสมุดที่มีก็จะวิเคราะห์ข้อมูลที่มีและติดต่อกลับไปพร้อมกับ reading list ที่ผ่านการคราฟต์ให้ตรงกับความสนใจ ซึ่งมีฟอร์แมตให้เลือกทั้งแบบหนังสือเล่ม, e-book, audio book และ large print ถือเป็นอีกรูปแบบปรับตัวที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวนำ แต่เอาความรู้และประสบการณ์ของบรรณารักษ์มาทำให้การใช้บริการห้องสมุดเป็นเรื่องพิเศษกว่าที่เคย

ห้องสมุด VS Netflix

ในยุคที่ Netflix กลายเป็นชื่อสามัญประจำบ้านของหลายคนและคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ ก็ไม่ได้ออกมาแบบมาเพื่อรองรับการใช้ DVD ห้องสมุดบางแห่งเลือกที่จะปรับตัวให้ยังเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์คนในชุมชนอยู่ ด้วยการนำเสนอบริการสตรีมมิงภาพยนตร์ที่มีตัวเลือกแตกต่างไปจากเจ้าหลักๆ อย่าง Netflix หรือ Hulu

ตัวอย่างของห้องสมุดที่เป็นทัพหน้าในการเดินเกมนี้ก็คือ ห้องสมุดในเครือข่ายของ Denver Public Library ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา และ London Public Library ในอังกฤษ ซึ่งทั้งสองแห่งจับมือกับ Kanopy และ Kanopy Kids ให้บริการ video on demand มากกว่า 30,000 เรื่อง ทุกคนที่มีบัตรห้องสมุดก็สามารถล็อกอินเข้าไปเลือกเรื่องที่อยากดูได้ผ่านทางอุปกรณ์ต่างๆ แบบเดียวกันกับบริการสตรีมมิงเจ้าอื่นๆ

ถึงแม้ลิสต์ของหนัง สารคดี และซีรีส์ของ Kanopy อาจจะยังไม่เซ็กซี่เท่ากับ Netflix แต่ก็มีตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย อย่างเช่น A Star is Born เวอร์ชันปี 1936 ที่ให้อารมณ์ความรู้สึกต่างจากเวอร์ชันที่กำลังลงโรงอยู่ตอนนี้

ห้องสมุดที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

Know Your Vote T.O. คือเว็บไซต์ที่ทำให้เห็นว่าถ้าเข้าใจความต้องการของคนในชุมชน ห้องสมุดก็ยังสามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลให้กับชุมชนนั้นๆ ได้

เว็บไซต์นี้เป็นเว็บไซต์เฉพาะกิจที่จัดทำโดย Toronto Public Library เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพราะรู้ว่าก่อนหน้าการเลือกตั้งนั้น ประชาชนส่วนหนึ่งยังสับสนกับการหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และข้อมูลส่วนใหญ่ก็มักจะมาจากทางผู้สมัครแต่ละคน ทางห้องสมุดจึงทำเว็บไซต์ขึ้นเพื่อให้ข้อมูลอย่างเป็นกลางเกี่ยวกับการเลือกตั้งและผู้สมัครแต่ละคน ทั้งยังรวบรวมข้อมูลที่ประชาชนควรรู้เกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ส่งผลต่อนโยบายของผู้สมัครแต่ละคนด้วย จนทำให้เว็บไซต์นี้กลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่อิงกับสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับประชาชนที่ต้องการไปลงคะแนนเสียงและนักข่าวที่ต้องการข้อมูลที่น่าเชื่อถือประกอบการนำเสนอข่าว

ห้องสมุดที่มีห้องสนุก

การให้คุณค่ากับประสบการณ์ที่ได้รับ คือ คุณสมบัติเด่นอย่างหนึ่งของชาวมิลเลนเนียล ห้องสมุดบางแห่งที่ต้องการดึงดูดใจให้คนเจเนอเรชันนี้เข้ามาใช้งานจึงนำเอาเรื่องของการสร้างประสบการณ์มาเป็นโจทย์ในการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงด้วย เหมือนอย่าง Marion County Public Library ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ที่เปลี่ยนห้องซึ่งเคยใช้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการศิลปะของศิลปินในท้องถิ่น ให้กลายเป็น Escape Room หรือเกมไขปริศนาเพื่อหาทางออกจากห้องตามโจทย์และตามธีมที่กำหนด

ด้วยลักษณะของสเปซที่ใกล้เคียงกับแกลเลอรีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ทางห้องสมุดจึงจำลองสถานการณ์ให้คนที่เล่นเกมสมมติตัวเองเป็นจอมโจรที่มีเป้าหมายคือการขโมยภาพ Starry Night ของ Vincent van Gogh ภายในห้องที่มีภาพเขียนเลียนแบบรวมอยู่ 12 ภาพ ซึ่งการจะบอกได้ว่าภาพใดเป็นของจริง จะต้องอาศัยการไขปริศนาจนกว่าจะรู้คำตอบภายในเวลาที่กำหนด

ห้องสมุดแห่งนี้เชื่อว่า การจัดพื้นที่ให้คนที่มาใช้ห้องสมุดได้มีกิจกรรมที่แตกต่างออกไปโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มแบบนี้ นอกจากจะทำให้ได้สนุกกับการใช้ความคิดแล้ว ยังเป็นประตูที่จะนำไปสู่การแนะนำบริการอื่นๆ ของห้องสมุดที่มีทั้งฐานข้อมูลออนไลน์ ไปจนถึงบริการสตรีมมิงด้วย

การเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดในหลายที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้เราเชื่อว่า ตราบใดที่คนยังต้องการพื้นที่ในการเรียนรู้และห้องสมุดเองก็พร้อมจะที่ปรับเปลี่ยนอย่างเข้าใจคนใช้งาน นอกจากห้องสมุดหลายแห่งจะไม่ตายแล้ว ยังอาจมีชีวิตชีวายิ่งกว่าที่ผ่านมา

 

อ้างอิง:

Tags: , , ,