กระบวนการทำงานด้วย Crowdsourcing (Crowd + Outsourcing) หรือวิธีการ ‘หว่านแห’ และโยนโจทย์ไปให้สาธารณะชน เพื่อเปิดรับ และรวบรวมแนวคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ในการตอบโจทย์นั้น  ถือเป็นเทรนด์ฮิตบนธุรกิจยุคดิจิตัลอันน่าจับตามอง ตั้งแต่การระดมทุน การสร้างฐานผู้ใช้ ไปจนถึงการเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์หรือนำเสนอในรูปแบบต่างๆ

ไม่นานมานี้ เราได้เห็นวิธีนี้ถูกนำมาใช้กับงานพิพิธภัณฑ์ของประเทศไทยด้วย ในนิทรรศการ ‘ชาย-หญิง สิ่งสมมุติ’ ณ มิวเซียมสยาม ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

เหตุผล

นับครั้งแรก ที่มิวเซียมสยามเปิดโอกาสให้ผู้คนทางบ้าน ส่งของที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับเพศสภาพของตน เข้ามาให้กับทางพิพิธภัณฑ์ โดยหลังจากการประกาศรับของผ่านทางโซเชียลมีเดียไปไม่นาน ทางทีมงานก็ได้รับบริจาควัตถุกว่า 200 ชิ้นจากคนทั่วประเทศ และคัดกรองจนเหลือเป็น 70 ชิ้นที่ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ คุณชนน์ชนก พลสิงห์ นักจัดการความรู้อาวุโส ณ มิวเซียมสยาม และภัณฑารักษ์ของนิทรรศการนี้ ได้อธิบายเหตุผลการเลือกใช้ crowdsourcing กับเราว่า “หัวใจของนิทรรศการนี้คือความหลากหลายของคน เป็นการสื่อสารระหว่างคนไปสู่คน ซึ่งเล่าเรื่องโดยเจ้าของเรื่องราว ที่ไม่ใช่คิวเรเตอร์เพียงคนเดียว”

ความยากของ Crowdsourcing

แน่นอนว่าการจัดการกับสิ่งของและเรื่องราวของผู้คนนับร้อยนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เริ่มจากเรื่องของภาษาที่ต้องคิดกันหลายตลบว่าจะสื่อสารมากน้อยแค่ไหน  เช่น ภาษาไทยใช้คำว่า ‘ผมมีความรักกับผู้ชายด้วยกัน’ เรารู้ได้เลยว่าแสดงถึงเพศชาย แต่เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษ คำว่า ‘ผม’ คือ ‘I’ แล้วมันไม่สามารถบอกเพศได้ คุณชนน์ชนกเล่าว่า ความกำกวมเหล่านี้นำไปสู่ข้อถกเถียงที่ระหว่างทีมงานพอสมควร “บางคนเสนอว่า ต้องบอกผู้เข้าชมว่าเจ้าของเป็นเพศอะไร แต่เรา (เลือกที่จะ) ไม่ทำ ถ้าเขาไม่ Identify ว่าเขาเป็นอะไร…เราก็ไม่มีสิทธิ์พูดแทนใคร ไม่เช่นนั้นมันเป็นการ Label เพศให้คนอื่น ซึ่งเราทำนิทรรการเรื่องนี้สิ่งที่เราต้องแสดงให้เห็นคือการเคารพเพศของคนอื่น…อยากให้เป็นน้ำเสียงของเจ้าตัวจริงๆ อยากให้คนที่มาดูสิ่งของได้เจอเจ้าของผ่าน Text เหมือนตอนที่เราไปสัมภาษณ์หรือไปเจอเขาด้วยตัวเอง”

อีกทั้งยังมีปัญหาด้านการจัดโซนนิ่งสิ่งของ เช่นของมีวิกผม 7 อัน หนังสือ 15 เล่ม เป็นการรับของที่เหมือนกันจำนวนมากแต่มีเรื่องราวที่ต่างกัน ทีมงานจึงต้องคิดถึงทั้งความหลากหลายของชนิดวัตถุและเรื่องที่ต้องการจะเล่าผ่านนิทรรศการโดยรวมไปพร้อมๆ กัน

เนื้อหาอันหลากหลาย กับผลตอบรับหลากอารมณ์

นอกจากระบบการทำงานรูปแบบใหม่แล้ว เรื่องของเนื้อหาว่าด้วย ‘เพศสภาพที่หลากหลาย’ กับสังคมไทย ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของนิทรรศการ ชาย-หญิง สิ่งสมมุติ ภัณฑารักษ์ของเราเล่าต่อไปว่า ส่วนใหญ่แล้ว วัตถุที่มาจากผู้คนจริงๆ มีเรื่องราวจริงๆ ทำให้ผู้ชมจะรู้สึกร่วมกับสิ่งที่คนเหล่านั้น

อาทิ ‘ภาพวาดที่ใช้ในการบำบัดกับจิตแพทย์’ ของคนๆ หนึ่งที่ถูกพ่อแม่ส่งไปบำบัดกับจิตแพทย์ เพื่อรักษาตนให้ตรงกับเพศกำเนิด

หรือ ‘อุปกรณ์ป้องกันมดลูกตีบตันหลังผ่าตัดแปลงเพศ’ สิ่งนี้แสดงถึงการต่อรองในความเจ็บปวดต่อร่างกายที่ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลง และเพื่อไม่ให้การจัดแสดงนี้ดูโจ่งแจ้งและหยาบคายมากเกินไป คิวเรเตอร์ได้พยายามจัดแสดงอย่างละเอียดอ่อนให้มากที่สุด  

และ ‘ฮิญาบ’ ที่แทนเรื่องราวของหญิงคนหนึ่งที่ไม่อยากสวมใส่ฮิญาบอีกต่อไป เพราะสิ่งนี้แสดงถึงความเป็นผู้หญิง เธอตัดสินใจหนีออกจากบ้าน ถึงขั้นตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก และตัดขาดจากศาสนาที่นับถือมาแต่กำเนิด …

สิ่งเหล่านี้ทำให้คนที่ดูรู้สึกว่าพื้นที่นี้เป็นสถานที่เปิด และปลอดภัย ที่จะได้แลกเปลี่ยนความเห็น หรือประสบการเกี่ยวกับเรื่องเพศของตน

“ล่าสุดมีผู้หญิงชาวต่างชาติสองคน เข้ามาเยี่ยมชมนิทรรศการและชมภาพยนตร์ พอเขาดูเสร็จก็จับมือโอบไหล่แล้วจูบกันตรงหน้าจอ ซึ่งภาพนี้มันเป็นภาพที่สวยงามมาก… สิ่งที่ทำให้คิดคือพวกคุณเคยเผชิญหน้ากับอะไรมา”

ในทางกลับกันก็มีกรณีของเด็กมัธยมต้นจากโรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่งที่คุณครูตัดสินใจพาเด็กทั้งหมดออกจากนิทรรศการตั้งแต่ห้องแรก  

ชวนให้คิดสะท้อนถึงระบบการศึกษาโดยเฉพาะเพศศึกษาในบ้านเรามาก  “คิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่คนไม่ได้คุยกันที่บ้าน แต่นิทรรศการนี้เปิดพื้นที่ให้คนได้คุยกัน คือเราเห็นหลายคนที่เดินออกมาในห้องสุดท้ายแล้วถามลูกว่า คิดว่ายังไง หรือคิดได้หรือยังว่าจะเป็นอะไร ไม่ได้คิดว่านิทรรศการเราประสบความสำเร็จนะ แต่อย่างน้อยก็เป็นพื้นที่ที่มีการปรับจูนกัน”

เรื่องราวที่หลากหลาย ย่อมนำมาสู่ฟีดแบ็กที่หลากหลาย เราเลยถามคุณภัณฑารักษ์ของเราต่อไปว่า ทางทีมงานจัดการกับความคิดเห็นเชิงลบกับงานนี้อย่างไร?

“ต้องทำความเข้าใจว่าคนแต่ละรุ่นมีโครงสร้างทางสังคมหรือกรอบความคิดไม่เหมือนกัน ผู้ใหญ่บางคนอายุมากกว่าเรา 30-40 ปี ก็ถามว่าทำไมทำเรื่องนี้ ขณะเดียวกันก็มีเด็กวัยรุ่นบอกว่าไม่เห็นต้องทำเรื่องนี้เลยเพราะคนที่เป็น LGBT ไม่ได้มีเรื่องโหดร้ายในชีวิต เลยต้องแลกเปลี่ยนกันว่าเราโตกันมาในยุคไหน สังคมตอนนั้นเป็นอย่างไร คุณโตมาในยุคที่ชายกับชายเดินจับมือกันในที่สาธารณะ โตมาในสังคมที่ค่อนข้างเปิดแล้ว หรือหญิงกับหญิงจูบกันในภาพยนตร์เยอะมาก หรือแม้กระทั่งพวกซีรี่ส์ของวัยรุ่นที่ทำเรื่องเกย์เลสเบี้ยนเยอะขึ้น มันทำให้เห็นว่าเส้นทางการเปิดรับของสังคมเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นเราจะทำความเข้าใจคนทั้งสองรุ่น เพราะทั้งสองต่างมีความเชื่อที่ต่างกัน” ชนน์ชนกกล่าว

“ไม่ใช่ว่าการทำนิทรรศการขึ้นมาเพียงหนึ่งงานจะทำให้โครงสร้างเขามันทำลายไปได้ภายในวันเดียว แต่อย่างน้อยก็ได้กระตุกคนในสังคมให้เห็นถึงความหลากหลาย พูดถึงมิติทางสังคมมากกว่าทางกายภาพของคน ส่วนคนที่ไม่ได้เป็น LGBT มาดูก็ได้เรียนรู้และมีการยอมรับได้มากขึ้น เพราะถ้าคุณยอมรับเรื่องความหลากหลายได้ คุณก็จะเห็นว่าโลกมันกว้างมาก และโลกนี้ยังมีความหลากหลายชายขอบอีกมากมาย”

จากตัวอย่างในนิทรรศการ “ชาย-หญิง สิ่งสมมุติ” เราได้การขับเคลื่อนและพัฒนารูปแบบแนวคิดการจัดแสดงจากวิธี crowdsourcing ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่เราก็แอบหวังว่าวิธีนี้จะทำให้พิพิธภัณฑ์ ได้เป็นสื่อกลางตัวสำคัญที่นำเสนอภาพและเป็นเครื่องมือในการสังคมอันหลากหลายนอกกำแพงมิวเซียมต่อไป

Fact Box

นิทรรศการเปิดให้ชมทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) เวลา 10.00-18.00 น. ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 30 กันยายน 2561 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

Tags: , , , , ,