ก่อนอื่นต้องขออภัย ที่หัวข้อบทความก็บังอาจใช้คำเหมารวมเสียแล้ว เพราะอันที่จริงสิ่งที่เราได้รับรู้ผ่านนิทรรศการ ‘ชายหญิงสิ่งสมมุติ (Gender Illumination)’ ที่มิวเซียมสยาม ไม่ใช่แค่เรื่องของตุ๊ดเด็กฝึกเดินแบบ หรือหญิงจีบหญิง เนื้อหาของนิทรรศการนี้กว้างไกลกว่านั้นมากๆ —กว้าง เท่าที่ของกว่า 100 ชิ้นจะเล่าเรื่องได้, ไกล เท่าที่ทีมรีเสิร์ชจะพาเราไปสู่ประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดของเพศทางเลือกในเมืองไทย และทั้งหมดทั้งมวลก็จู่โจมเราทางอารมณ์อย่างรุนแรง

ส่วนแรกของนิทรรศการต้อนรับเราด้วยถ้อยคำอันหลากหลายอันสนุก เศร้า และแสบสัน ที่เป็นน้ำจิ้มว่าภาษาได้จำกัดเราไว้อย่างไรบ้าง และต่อด้วย ‘ส้วม’ กับบทบรรยายจากพระชาย วรธัมโม (ที่ส่งผ่านลำโพงไปยังห้องน้ำจริงๆ ด้วย) ที่ต้องการให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันแม้ในยามปลดทุกข์ ไม่ต้องให้ห้องน้ำกลายเป็นพื้นที่แบ่งแยกเพศว่ามีเพียงสองเพศ ข้อความบนกำแพงพาเราสู่ยุควิกตอเรียนที่มีห้องน้ำแบ่งเพศเป็นครั้งแรก ซึ่งมีต้นตอมาจากสิทธิสตรีไปอีก เพราะก่อนหน้านั้นมีแต่ห้องน้ำชายในที่สาธารณะ ทางออกของผู้หญิงคืออั้นฉี่! หรือไม่ก็พกถุงเก็บฉี่

ข้อความยังพาเรามาถึงยุคที่ประธานาธิบดีโอบามามีนโยบายให้เด็กนักเรียนเพศทางเลือกสามารถเลือกเข้าห้องน้ำเพศไหนก็ได้ แต่ทรัมป์ก็ได้ประกาศยกเลิกไปในที่สุด หลังจากอ่านและฟัง สารภาพว่า คอนเซปต์นี้ยังอยู่ในหัวเราอย่างไม่คลี่คลายนัก เพราะส่วนตัวยังกังขาเรื่องความปลอดภัยของห้องน้ำรวม (ไม่ใช่จาก LGBT หรือใคร แต่จากเพศชาย straightๆ นี่ล่ะ) เราจึงขอทดประเด็นนี้ไว้ในใจ แล้วเดินไปส่วนอื่นก่อน

นิทรรศการถูกออกแบบมาอย่างตั้งอกตั้งใจ มีการรวมรวมข้อมูลในประวัติศาสตร์ที่ทำให้เราเห็นภาพรวมว่าเพศทางเลือกถูกกดทับมาอย่างไรบ้าง ทั้งในตัวบทกฎหมาย ระเบียบการ พาดหัวข่าว หรือกระทั่งการวินิจฉัยของหมอในสมัยก่อน ใกล้กับข้อมูลเหล่านั้น เราก็พบเห็นทางออกแม้เพียงเป็นช่องทางไม่กี่ช่องทางของพวกเขา อย่างเช่นนิตยสารเพศทางเลือกจำนวนมากที่บ้างซ่อนเร้นบ้างเบ่งบานในยุคสมัยของตัวเองอย่างงดงาม

เดินข้ามห้องไปอีกหน่อยเราพบกับประวัติศาสตร์ Gay Pride ที่จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2542 โดยเกย์ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่ต้องการรณรงค์เรื่องโรคเอดส์พร้อมกับการเปิดเผยตัวตนของเกย์ จนถึงในปี 2552 ที่พาเหรดเกย์ในเชียงใหม่ ถูกผู้ต่อต้านกว่า 200 คนข่มขู่และคุกคามอย่างรุนแรง ด้วยเหตุผลที่ว่า ‘ขึดบ้านขึดเมือง’ หรือกาลีบ้านกาลีเมือง แถมห้ามจัดพาเหรดเกย์ไปอีกยาวๆ 1,500 ปี (เอ้อ) จนนำมาซึ่ง ‘กลุ่มเสาร์ซาวเอ็ด’ ที่เรียกร้องให้วันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย

จากนั้นเราก็กระโจนเข้าสู่โซน ‘ฉากชีวิต’ ซึ่งเป็นไฮไลท์ของนิทรรศการ กับพื้นที่หลากสีสันที่เต็มไปด้วยเรื่องราวส่วนตัวซึ่งมีวัตถุสิ่งของประกอบ text สั้นๆ เป็นตัวเล่าเรื่อง และเรื่องส่วนตัวเหล่านั้นก็สะท้อนภาพของการเมืองเรื่องเพศได้อย่างถ่องแท้และถึงอารมณ์

อย่างเช่นบอดี้สูทเนื้อนิ่มที่แม่ซื้อให้ลูกชายที่แม่รู้ดีว่าคือลูกสาว โสร่งจากชายคนรักชาวอิสลาม สมุดพกที่อาจารย์เขียนว่าเด็กชายคนนี้ ‘เรียบร้อยจนเกือบเหมือนผู้หญิง’ ภาพวาดจากเด็กหญิงที่มีแม่และแม่ เสียงสารภาพภาษาสุรินทร์ของหญิงรักหญิงที่เคยถูกแม่ถามเรื่องวิธีนอนด้วยกัน และอื่นๆ อีกเกือบร้อย ที่ทำให้เราต้องอ่านทุกเรื่องอย่างจริงจังและอินไปด้วย

และถึงตอนนี้เราขอให้ภาพได้เล่าเรื่องแทน

เสื้อของคุณพินิจ ซึ่งเป็นความทรงจำสีจางๆ ก่อนที่จะเป็น พอลลีน งามพริ้ง ในทุกวันนี้

จดหมายของแม่ ที่เขียนถึงลูกผู้เป็นเกย์ ขึ้นต้นประโยคว่า “ต้อนรับกลับบ้านจ้ะ เหนื่อยมั้ย? รู้สึกดีขึ้นมั้ย?” พร้อมเนื้อความที่บอกว่าดอกไม้แต่ละชนิดไม่เหมือนกัน แต่ทุกดอกล้วนมีคุณค่า

บราของเขา ที่ถูกแม่เอาอีโต้ฟันจนขาด

ลิปสติกของเธอ ที่แม่พยายามซื้อให้ พร้อมยื่นคำขาดว่าเกลียดพวกทอมดี้

อุปกรณ์โหราศาสตร์ของโอ๊ต มณเฑียร ที่เขารับรู้ว่าตนเกิดมาพร้อมสิ่งนี้ เซนส์และความเป็นเควียร์

สมุดเฟรนด์ชิปที่เพื่อนสาวเขียนให้กัน ก่อนที่จะเติบโตด้วยกันอย่างแข็งแกร่ง, ชอบ: สีเขียว อาหาร: ส้มตำรสเด็ด

“ผมไม่ใส่เสื้อตุ๊ด” ประโยคที่หลานชายพูดใส่กอล์ฟ-ธัญวารินทร์ และทำให้เธอทำหนังเรื่อง Insect in the Backyard

เครื่องหัวกับชุดครบเซ็ต ที่สร้างพื้นที่และตัวตนให้ผู้สวมใส่ ได้เป็นสิ่งที่เขาอยากจะเป็น

บทเพลงจากปุ๊ อัญชลี มีให้ฟังพร้อมเนื้อร้องให้อ่าน “พบหญิงสาวคนหนึ่ง ยิ้มซึ้งซึ้งตรึงจิต ฉันมีสิทธิ์คิด ฉันมีสิทธิ์คิด…”

งานจิตรกรรมจากเจลฮอร์โมนเพศหญิงสำหรับหญิงข้ามเพศ และครีมลดหน้าอกสำหรับชายข้ามเพศ

แท่งโมลด์ อุปกรณ์ป้องกันช่องคลอดตีบตันหลังการแปลงเพศ เป็นความทรงจำทั้งดีร้ายในเส้นทางที่เลือกแล้ว

พวงหรีดจากภรรยาผู้เป็นชาย สู่สามีที่ล่วงลับ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่พาเราไปสู่อารมณ์หลากหลายแทบสวิตช์โหมดไม่ทัน จากที่ยิ้มเอ็นดูอยู่ดีๆ ไปต่อที่ของอีกชิ้นก็รู้สึกหน่วงขึ้นมาซะอย่างนั้น เราคงไม่อาจตัดสินว่าชิ้นไหนงดงามที่สุด เพราะทุกชิ้นล้วนงดงามในแบบของตัวเอง แต่จะขอลำเอียงเอนไปที่ของในกล่องกล่องหนึ่ง ที่ทำให้เรารู้สึกอยากร้องไห้

มันคือของขวัญที่เต็มไปด้วย texture สัมผัสของมันมีมากเพียงพอที่จะรู้สึกถึงความใส่ใจของผู้ให้ โดยไม่จำเป็นต้องมองเห็นเพราะผู้รับคือชายหนุ่มที่มองไม่เห็น ส่วนผู้ให้ก็เป็นชายหนุ่มที่อ่อนโยนมากพอจะรู้ว่า สัมผัสขรุขระบนนิ้วมือสื่อความรักของเขาได้มากแค่ไหน ในกล่องข้างๆ กันก็มีตุ๊กตาตัวนุ่มนิ่ม ที่ทำให้เด็กชายอีกคนที่มองไม่เห็น รู้ว่าตัวเองชื่นชอบความละเอียดอ่อนเพียงเพราะได้ลูบคลำมัน

คนที่ยืนต่อคิวสัมผัสสิ่งของในกล่องต่อจากเรา คือพ่อแม่ลูก ขณะที่เด็กหญิงยังดูกล้าๆ กลัวๆ คุณพ่อคุณแม่คือฝ่ายที่เชียร์ให้ลูกสาวผมบ๊อบลองยื่นมือเข้าไปสัมผัสและอ่านข้อความประกอบ อดนึกไม่ได้ว่า หากวันหนึ่งเด็กหญิงคนนั้นเติบโตขึ้นและเริ่มค้นพบสิ่งที่ตัวเองเป็น สิ่งที่เธอเข้ามาเรียนรู้พร้อมกับครอบครัวในวันนี้ อาจจะโอบอุ้มเธอในวันนั้นก็ได้ และเธอเองน่าจะเข้าใจตัวเองและคนรอบข้างได้ดีขึ้น

ก่อนออกจากที่นี่ นิทรรศการไม่ลืมที่จะให้เราได้ลองเป็น ทบทวน ตั้งคำถามกับตนเอง ทำความรู้จักกับ movement อันเป็นหมุดหมายสำคัญที่ควรต้องผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจดหมายการแต่งงานของเพศเดียวกัน

ในตึกที่ไม่ได้กว้างใหญ่มากนัก สื่อสารกับเราว่าจักรวาลของเพศทางเลือกคือจักรวาลเดียวกับเราทุกคน สุข-เศร้า ดี-เลว ปะปนและเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเหล่าคนที่นิยามตัวเองว่าชาย-หญิง ก่อนออกจากนิทรรศการ มีมุมให้ผู้เข้าชมได้โหวต ว่าแต่ละคนคิดว่าสิ่งไหนจะสามารถเกิดขึ้นจริงในไทยได้บ้าง และคงเหมือนกับใครหลายคน เราหยิบฝาขวดสีแดงที่แปลว่า NO เพียงอันเดียวเท่านั้น

สำหรับใครที่อยู่ไกลเกินกว่าจะมาเยี่ยมชมที่มิวเซียมสยาม เราขอถือโอกาสเล่าและช่วยส่งสารไปถึงคุณ และสำหรับใครที่อยู่ใกล้พอหรือมีเวลา เราอยากชวนให้คุณมาที่นี่ด้วยตัวเอง นิทรรศการยังจัดอยู่จนถึงวันที่ 30 กันยายน

ป.ล.

อ่านถ้อยคำของหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลัง ‘ชายหญิงสิ่งสมมติ’ และนิทรรศการอื่นๆ ของมิวเซียมสยามได้ที่ https://themomentum.co/kassara-museum-siam/

Fact Box

นิทรรศการเปิดให้ชมทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) เวลา 10.00-18.00 น. ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 30 กันยายน 2561 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

Tags: , , , , ,