โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งซึ่งเป็นวาระแห่งชาติกำลังใกล้เข้ามา หลายพรรคมีนโยบายที่เน้นการกู้เศรษฐกิจ ปรับโครงสร้าง แก้จน สร้างชาติ โดยใช้วิธีการต่าง ๆ นานา วิธีการหนึ่งคือใช้การท่องเที่ยวเพื่อสร้างเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว เครื่องมือที่คิดจะใช้มีหลากหลาย แต่ไม่มีพรรคใดเอ่ยถึงการใช้พิพิธภัณฑ์เป็นเครื่องมือในการช่วยสร้างเศรษฐกิจสร้างชาติอย่างจริงจังเลย

ขณะที่ในหลาย ๆ ประเทศย่อมมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (National Museum)  ซึ่งชื่อก็บ่งบอกอยู่ว่ามันคือ ‘แห่งชาติ’ ดังนั้นมันคือของชาติ มันจึงควรมีหน้าที่สร้างชาติ แต่สร้างชาติในที่นี้คืออะไร แล้วถ้าเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนท้องถิ่นของชาวบ้านธรรมดามันช่วยสร้างชาติไม่ได้หรืออย่างไร เราจะมาว่าด้วยเรื่องนี้กัน  

ชาติ คืออะไร และอะไรคือ ความเป็นชาติ

ถ้าให้สรุปความหมายของคำว่า ‘ชาติ’ หรือ Nation (ที่ไม่ได้หมายถึงชื่อหนังสือพิมพ์เนาะ) จะกล่าวได้ว่า ชาติ หมายถึงประเทศซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนขนาดใหญ่ที่อาจจะมีความเชื่อมโยงกันทางเชื้อชาติหรือไม่มีก็ได้ ตัดสินใจที่จะมาอยู่ร่วมกัน ทำข้อตกลงที่จะสร้างอาณาเขต กฎหมายข้อบังคับ ภาษา และวัฒนธรรมร่วมกัน และสิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่ดำรงสืบอยู่นานเท่านานจนเกิดเป็นอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ของชาติ

Peter Ravn Rasmussen นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ชาวเดนมาร์ก กล่าวว่า ความเป็นชาตินั้นจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีปัจจัยสำคัญ 4 อย่างคือ ความสัมพันธ์ภายในประเทศ (Interrelationship) ความเชื่อมโยงทางภาษา (Linguistic Coherence) การมีวัฒนธรรมร่วมกัน (Shared Cultural Heritage) และ อัตลักษณ์ (Sense of Identification) กล่าวคือ ความเป็นชาติคือความสัมพันธ์ภายในประเทศโดยประชาชน ถึงแม้ประชาชนทุกคนจะไม่ได้มาจากครอบครัวเดียวกันแต่มีการสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองร่วมกันและมีความภูมิใจในอัตลักษณ์นั้น ซึ่ง Rasmussen เน้นว่า ถ้าประเทศใดประชาชนปราศจากความภูมิใจในอัตลักษณ์ของชาติตนเองนั้น ถึงแม้ให้มีสามปัจจัยแรกครบ ความเป็นชาตินั้นก็ไร้ความหมาย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและหน้าที่ในการสร้างชาติ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีไว้เพื่อสะท้อนให้เห็นสถานะของประเทศนั้นโดยว่าด้วยเรื่องชาตินิยม อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ความสัมพันธ์และการแข่งขันกันกับประเทศอื่นๆ รวมไปถึงเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ แล้วหน้าที่ของมันคืออะไร? จริงๆ แล้วตามหลักสากลพิพิธภัณฑ์โดยทั่วๆ ไปมีหน้าที่หลักคือ ให้ความรู้ควบคู่ไปกับความสนุกสนาน แต่เมื่อมีคำว่า ‘แห่งชาติ’ เป็นข้อแม้อยู่ จึงสามารถตีความว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติก็ต้องทำหน้าที่สร้างชาติ ซึ่งบทบาทการสร้างชาติคือส่งเสริมสังคม วัฒนธรรม และ เศรษฐกิจ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้นไม่ว่าพิพิธภัณฑ์ไหนๆ ก็สามารถมีบทบาทในการส่งเสริมประเทศในทั้งสามแง่นี้ได้

แต่ศาสตราจารย์ Simon Knell ปรมาจารย์ด้านพิพิธภัณฑ์ศึกษากล่าวว่าจุดสำคัญที่ทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแตกต่างไปจากพิพิธภัณฑ์ทั่วๆ ไปคือความสัมพันธ์ระหว่างตัวพิพิธภัณฑ์เองกับประวัติศาสตร์ของชาติ เพราะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินั้นมีหน้าที่ดูแลอดีต มีหน้าที่เป็นเครื่องมือในการเก็บบันทึกประวัติศาสตร์ของชาติจากอดีตจนปัจจุบัน ดังนั้นหน้าที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคือการมีหน้าที่ส่งเสริมสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ และรับใช้ชาติด้วยการเป็นตัวแทนของประเทศในการนำเสนอประวัติศาสตร์ชาติผ่านความคิดและอัตลักษณ์ของความเป็นชาติเพื่อให้ความรู้สำหรับประชาชนในชาติและชาวต่างชาติ และเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

ตัวอย่างของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ทำหน้าที่นี้ได้อย่างครบถ้วนชัดเจนคือ British Museum (BM) อันโด่งดังของประเทศอังกฤษ ในเชิงสังคม BM ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้ ในเชิงวัฒนธรรม BM ทำหน้าที่ดูแลและอนุรักษ์โบราณวัตถุที่มาจากประเทศต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่หลากหลายถึงแม้จะมีข้อโต้แย้งว่าคอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์นี้เป็นของประเทศอื่นๆ ที่ได้มาในช่วงล่าอาณานิคมเสียมากกว่าของในประเทศตัวเองแต่มันก็คือการเล่าถึงประวัติศาสตร์ทางสถานะของประเทศอังกฤษในอดีต ส่วนด้านเศรษฐกิจแน่นอนว่า BM สร้างรายได้ให้กับประเทศมากมายเพราะปฏิเสธไม่ได้ว่านักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเที่ยวลอนดอนเพราะอยากมาดูโบราณวัตถุที่สำคัญๆ ที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ดังนั้น British Museum จึงตอบโจทย์ของการเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่สร้างชาติได้ครบถ้วนทุกแง่มุม ทั้งสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และประวัติศาสตร์

ในขณะเดียวกันอีกหนึ่งหน้าที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคือสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชาติโดยคำนึงถึงความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม สร้างแรงบันดาลใจให้คนในชาติมีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ถึงแม้จะมาจากเชื้อชาติวัฒนธรรมที่ต่างกันในแต่ละท้องที่ของประเทศ ตัวอย่างเช่นที่ National Museum of the America Indian (NMAI) ที่วอชิงตัน ดี.ซี. ที่เปิดเป็นทางการเมื่อปี 2004 เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันดั้งเดิมและเป็นเวทีให้พวกเขาได้แสดงอัตลักษณ์ของตัวเองในระดับสากล เนื่องจากที่ผ่านมาการนำเสนอเรื่องราวชองชนเผ่าอินเดียนแดงในพิพิธภัณฑ์นั้น มักเป็นการนำเสนอโดยมุมมองของคนขาวเพื่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างมีนัยแฝง ส่งผลให้ชนเผ่าอินเดียนแดงกับพิพิธภัณฑ์นั้นมีความสัมพันธ์ที่ไม่กินเส้นกัน NMAI จึงได้พยายามทำหน้าที่ส่งเสริมความเข้าใจเรื่องชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันดั้งเดิมให้กับคนขาว ถึงแม้ว่าผลลัพธ์จะยังไม่สำเร็จเต็มร้อยแต่ก็ถือว่า NMAI ได้พยายามทำหน้าที่ของความเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแล้วในเชิงของการคำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมนอกเหนือจากเรื่องประวัติศาสตร์    

ถ้าไม่ใช่พิพิธภัณฑสถาน ‘แห่งชาติ’ จะช่วยสร้างชาติได้ไหม?

ในการตอบคำถามนี้จะขอยกกรณีตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ Telekom Muzium ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียมาเป็นคำตอบ พิพิธภัณฑ์นี้ไม่ได้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แต่เป็นขององค์กรเอกชนด้านการโทรคมนาคม ถึงแม้เนื้อหาของนิทรรศการจะเกี่ยวกับการโทรคมนาคมของประเทศ แต่ส่วนหนึ่งของนิทรรศการนำเสนอความเป็นชาติของมาเลเซีย โดยใช้การจัดแสดงในรูปแบบร่วมสมัย ที่เน้นการให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในนิทรรศการเพื่อให้เข้าใจความเป็นชาติผ่านเรื่องราวที่นำเสนอ คือตำนานที่เกี่ยวกับความเป็นชาติว่าด้วยเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติ เพื่อให้ผู้ชมซึ่งเป็นคนมาเลเซียและนักท่องเที่ยวเข้าใจถึงของความหลากหลายทางเชื้อชาติ (Multiracial) ซึ่งเป็นบริบททางสังคมของประเทศมาเลเซียที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งจีน อินเดีย และมาเลย์

นอกจากจะช่วยสร้างสังคมและส่งเสริมวัฒนธรรมจากความรู้ที่นำเสนอแล้ว ที่สำคัญพิพิธภัณฑ์นี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งในกัวลาลัมเปอร์อีกด้วย ดังนั้นจากตัวอย่างนี้อาจเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าถึงแม้ไม่ได้มีคำว่า ‘แห่งชาติ’ กำกับ แต่ก็สามารถช่วยสร้างชาติได้ และความเป็นจริงแล้วเมื่อมองย้อนไปคำว่า National Museum นั้น อาจหมายถึงพิพิธภัณฑ์ใดๆ ก็ตามที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้นๆ และทำหน้าที่ที่คำนึงถึงปัจจัยในการสร้างชาติทั้งสี่ประการที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นได้   

ดังนั้นเมื่อกลับมามองย้อนดูพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยเองซึ่งมีทั้งหมดมากกว่า 1,500 แห่ง และเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 42 แห่ง ที่จริงแล้ว พิพิธภัณฑ์ทุกแห่งในประเทศไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชาติได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างเศรษฐกิจ ในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะช่วยนำเสนอวัฒนธรรมของประเทศ เพียงแต่ขอให้รัฐบาลไม่ว่าจะชุดไหนก็ตามช่วยหันมาสนใจ สนับสนุน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่เฉพาะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเท่านั้นแต่ทุกระดับ

เพราะแน่นอนว่าพิพิธภัณฑ์ทุกแห่งอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างชาติในเชิงสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจทั้งนั้นถ้าเป็นไปได้ ในทางกลับกันตัวพิพิธภัณฑ์เองก็ต้องคอยใส่ใจ ประเมินตัวเอง คำนึงถึงว่าเราได้สร้างความตระหนักรู้ให้คนไทยเองได้หันมาสนใจประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของความเป็นชาติจนเกิดเป็นความภาคภูมิใจเพียงพอแล้วหรือยัง เมื่อใดที่ทำได้ แน่นอนว่าเมื่อนั้นความเป็นชาติของไทยจะแข็งแรงขึ้นและจะสามารถพูดได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า ไม่ว่าพิพิธภัณฑ์ใด ๆ ก็เป็นพิพิธภัณฑ์ ‘แห่งชาติ’ ได้ เพราะเราได้ทำหน้าที่สร้างชาติอย่างสมบูรณ์แล้ว

อ้างอิง

Knell, Simon J., et al.National Museums (London: Routledge, 2010)

Laughland, John. ‘What is a Nation?’.  The Brussels Journal (8/7/2008, 2008), http://www.brusselsjournal.com/node/3395 (accessed 6 November 2013)

Lepawsky, Joshua,  ‘A Museum, the City, and a Nation’, Cultural Geographies, 15 no. 1 (2008), 119142

Lonetree, Amy and Cobb, Amanda J., The National Museum of the American Indian: Critical Conversations (Lincoln, Neb: University of Nebraska Press, 2009)

Rasmussen, Peter R. Nationsor States<br />an Attempt at Definition<br /><br />.  http://scholiast.org/nations/whatisanation.html (accessed July 20, 2013)

Tags: , , ,