ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของการดูแลสุขภาพหรือการมี work-life balance ที่ดี นับเป็นเทรนด์หนึ่งที่กำลังมาแรงในยุคปัจจุบัน ตั้งแต่เรื่องของสุขภาพกายอย่างการทานอาหารคลีน อาหารมังสวิรัต จนถึงการให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพจิต น่าสนใจตรงที่ว่าในหลายประเทศทางตะวันตก มีการนำพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์มาใช้สนับสนุนการบำบัดอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทั้งยังเชื่อมโยงกับการรักษาทางการแพทย์ในระบบอีกด้วย

ไม่จ่ายยา แต่ให้ไปทำกิจกรรมในชุมชน

ที่ประเทศอังกฤษ มีโครงการที่ชื่อว่า social prescribing ซึ่ง ถ้าแปลตรงตัว prescribing คือการสั่งยา แต่ในที่นี้ ยาที่สั่งก็คือกิจกรรมทางสังคม โดยคุณหมอ หรือบุคลากรทางการแพทย์ สามารถแนะนำคนไข้ให้แก่กลุ่มองค์กรที่จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้คนไข้ไปร่วม เป็นการเสริมการรักษาต่อยอดไปจากการมาพบแพทย์ได้ด้วย เช่นการจ่ายยาโดยการสั่งให้ไปเข้าชมรมประสานเสียง ไปวาดรูป หรือไปร่วมกิจกรรมในพิพิธภัณฑ์ ฯลฯ ตามจำนวนครั้ง หรือระยะเวลาที่กำหนด

จากนั้นผลการประเมินจะถูกส่งกลับไปที่คุณหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลคนไข้คนนั้น เพื่อประเมินการรักษาต่อไป social prescribing นี้ บางครั้งจะเรียกว่า community referral หรือการแนะนำ/อ้างอิงไปยังชุมชน ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับคนไข้ที่ต้องการการสนับสนุนทางสังคม อารมณ์ หรือด้านอื่นๆ ทางกายภาพ เช่นคนที่ต้องไปพบจิตแพทย์อยู่เป็นประจำ หรือคนที่มีภาวะโดดเดี่ยว คนที่มีอาการซึมเศร้าระดับอ่อนถึงปานกลาง หรือที่มีปัญหาทางสังคมจิตใจ (psychosocial problem) โครงการ social prescribing นี้ สามารถช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจิต ส่งเสริมสุขภาวะของชุมชน และยังสนับสนุนการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอีกด้วย

อาจจะฟังดูวิชาการ แต่ถ้าคิดแบบง่ายๆ ก็คือ การที่คนเรารับการรักษาด้วยการไปพบแพทย์ ทานยา อาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อยังไม่ได้เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เช่น มักเก็บตัวอยู่แต่บ้าน ไม่ชอบเข้าสังคม ยิ่งทำให้อาการบางอย่างรักษาเท่าไหร่ก็ไม่หายขาด เช่นรู้สึกโดดเดี่ยว ซึมเศร้า ดังนั้น การทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้ได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ได้ผ่อนคลาย และใช้ความคิดสร้างสรรค์ นอกจากจะช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นและเพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองแล้ว หลายกรณีพบว่าทำให้สุขภาพกายดีขึ้นด้วย บางคนความดันเลือดต่ำลง ทานยาน้อยลง ต้องมาพบแพทย์น้อยลง แม้กระทั่งอัตราการล้ม (ซึ่งอันตรายมากสำหรับผู้สูงอายุ) ลดลงก็มี

โครงการ social prescribing ครอบคลุมกิจกรรมที่หลากหลายมาก ตั้งแต่โครงการเชิงศิลปะ (Arts on Prescription) ซึ่งมีกิจกรรมเน้นความคิดสร้างสรรค์ อาทิ เต้นรำ การละคร ดนตรี วาดรูป แต่งบทกวี มีโครงการที่แนะนำหนังสือต่างๆ ที่จะช่วยให้รับมือกับปัญหาทางจิตใจได้ โดยอ้างอิงกับห้องสมุดในชุมชน (Books on Prescription) มีกระทั่งกิจกรรมออกกำลังกายท่ามกลางธรรมชาติ (Ecotherapy) และที่เราอยากจะพูดถึงเป็นพิเศษในบทความนี้ก็คือการใช้พิพิธภัณฑ์เพื่อสุขภาวะนั่นเอง

 

พิพิธภัณฑ์และสุขภาวะ

พิพิธภัณฑ์กับสุขภาวะถือเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่ เมื่อเทียบกับกระบวนการอื่นๆ เช่นศิลปะบำบัดหรือดนตรีบำบัดที่เป็นที่รู้จักกว้างขวางมานานพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการสร้างเสริมสุขภาวะ ผ่านกระบวนการใช้วัตถุหรือคอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์เป็นสื่อ

ตัวอย่างหนึ่งที่อยากจะยกมาเล่าคือโครงการ House of Memories ของ National Museums of Liverpool หรือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ โดยพิพิธภัณฑ์ฯใช้วัตถุในคอลเลคชั่นในการช่วยรำลึกความทรงจำ เพื่อซัพพอร์ตผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อม (dementia) และครอบครัว หรือผู้ดูแล (carer) โดยเฉพาะ

โดยพิพิธภัณฑ์ใช้วัตถุสิ่งของและรูปถ่าย จัดเป็นธีมต่างๆ ไว้ในกระเป๋าเดินทางที่เรียกว่า Suitcase of Memories ซึ่งมีอยู่ด้วยกันราว 40 ใบ แต่ละใบมีธีมที่พูดถึงช่วงเวลาตั้งแต่ปีค.ศ. 1930 ถึง 1980 ออกแบบมาเพื่อให้กระตุ้นความทรงจำของผู้สูงอายุในกลุ่มต่างๆ เช่น ธีมแอฟริกัน-แคริบเบียน (สำหรับคนที่อพยพมาอังกฤษ) ธีมนักเดินเรือสมุทร (สำหรับคนที่เคยรับราชการหรือมีความเกี่ยวข้องกับทหารและสงคราม) ธีม LGBT เป็นต้น

สิ่งของที่อยู่ข้างใน ได้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยสร้างบทสนทนาผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ ทั้งการดู สัมผัส ดมกลิ่น หรือฟังเสียง เพราะสิ่งที่ขาดหายไปสำหรับผู้ที่มีอาการสมองเสื่อม นอกจากความทรงจำแล้ว ก็คือการสื่อสาร ที่นับวันจะยากขึ้นๆ เป็นความเจ็บปวดทางใจที่เกิดขึ้นต่อผู้ป่วยเองและครอบครัวคนใกล้ชิดที่คอยดูแลอยู่ สิ่งที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติลิเวอร์พูลพยายามจะทำ ก็คือดึงความทรงจำต่างๆ ของผู้ที่มีภาวะ dementia เหล่านี้ออกมา ให้เขามีทางที่จะเชื่อมโยงกับคนรอบข้างอีกครั้งผ่านสื่อบางอย่างที่ทั้งสองฝ่ายเชื่อมโยงได้ นั่นก็คือคอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์

ทั้งนี้ ทางพิพิธภัณฑ์แห่งชาติลิเวอร์พูลถือว่าตนมีความเชี่ยวชาญในการ “ดูแลความทรงจำ” ของผู้คน จึงมองว่านี่ก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่องค์กรพึงจะทำเพื่อสังคมได้ ปัจจุบันทางพิพิธภัณฑ์มีการจัดฝึกอบรมการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะ dementia รวมทั้งจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น Memory Walk ซึ่งเป็นการนำชมพิพิธภัณฑ์ที่เน้นกระตุ้นให้ผู้สูงอายุเล่าเรื่องราวชีวิตของตนในเมืองลิเวอร์พูล มีกิจกรรมที่ใช้ Suitcase ที่กล่าวไปเมื่อสักครู่ในการสร้างบทสนทนาผ่านการรำลึก และยังมีแอปพลิเคชั่นในชื่อ House of Memories ที่ทำหน้าที่เหมือนกับตัวประเป๋าความทรงจำ แต่เป็นการให้ผู้ดูแลหรือผู้สูงอายุใช้พลิกดูรูปถ่ายหรือวัตถุต่างๆในแอปพลิเคชั่นเพื่อรำลึกและสร้างบทสนทนา ทั้งยังสามารถเลือกสิ่งของมาจัดเป็น memory box ของตัวเองได้ด้วย

มีเคสตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เมื่อปี 2013 ทางพิพิธภัณฑ์ได้รับการติดต่อให้เข้าไปช่วยเหลือบ้านพักผู้สูงอายุในเมืองลิเวอร์พูล เนื่องจากชายผู้สูงอายุคนหนึ่งที่มีอาการสมองเสื่อมขั้นรุนแรง จู่ๆ ก็เกิดกลัวน้ำและไม่ยอมอาบน้ำ เมื่อผ่านไปสักระยะ คนอื่นๆ จึงเริ่มรับไม่ได้และไม่อยากให้เขาเข้ามาในห้องรวม ตัวผู้สูงอายุคนนั้นเองก็สภาพร่างกายและจิตใจแย่ลงเรื่อยๆ ทางพิพิธภัณฑ์พอได้รับการติดต่อ ก็ได้ส่งกระเป๋าความทรงจำที่มีวัตถุเกี่ยวกับการอาบน้ำไปให้ ในนั้นมีสบู่คาร์บอลิกที่มีกลิ่นแรง ซึ่งเป็นชนิดที่ใช้อย่างแพร่หลายในช่วงสงครามด้วย สบู่ก้อนนั้นกระตุ้นความทรงจำที่เด่นชัดมาก ถึงตอนที่เขาเคยนั่งอาบน้ำอยู่หน้าเตาไฟ ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่บ้านพักจึงสามารถทำให้เขายอมอาบน้ำได้ และทำให้เขาอยู่ร่วมกับสมาชิกอื่นในบ้านพักนั้นได้อีกครั้ง

 

พิพิธภัณฑ์กับบทบาทบำบัด?

ยังมีอีกหลายโครงการที่พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วประเทศอังกฤษจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมสุขภาวะ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัย UCL, British Museum, Tate, The British Postal Museum & Archives, Horniman Museum & Gardens ฯลฯ ซึ่งการเข้าช่วยเหลือการรักษาในลักษณะของ social prescribing ช่วยแบ่งเบาภาระของ National Health Services (NHS) หรือระบบดูแลสุขภาพของรัฐบาลอังกฤษไปได้มาก เนื่องจาก NHS ให้การรักษาฟรีแก่คนอังกฤษทั่วประเทศ จึงถูกแรงกดดันในเรื่องของค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในช่วงเวลาเศรษฐกิจฝืดเคือง และการให้บริการบางครั้งก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

การที่องค์กรอื่นๆ ในชุมชนสามารถช่วยซัพพอร์ตการรักษาได้ นับว่ามีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก แต่นี่แปลว่าพิพิธภัณฑ์ต้องทำหน้าที่เป็นคลินิกบำบัดด้วยหรือ? หากจะถกเถียงว่าด้วยเรื่องของ “พิพิธภัณฑ์มีไว้ทำไม” ก็เห็นจะต้องกลายเป็นบทความยาวๆ อีกสักบทหนึ่งแน่ สำหรับตอนนี้ เราคิดว่า พิพิธภัณฑ์ โดยพื้นฐานทำหน้าที่ในการดูแลรักษาสิ่งของล้ำค่า เพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ประชาชน แต่หากพิพิธภัณฑ์สามารถขยายบทบาทไปได้มากกว่านั้น ถึงขนาดที่ส่งเสริมให้คนมีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้นได้แล้วล่ะก็ ทำไมจะไม่ทำเสียล่ะ?

 

อ้างอิง

Tags: , , ,