ไม่นานมานี้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เพิ่งประกาศรับสมัครพิพิธภัณฑ์เข้าประกวดชิงรางวัลในโครงการ Museum Thailand Awards (2019) โดยปีนี้เป็นปีที่ 3 ที่จัดกันมาแล้วอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทีมงานของเราได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของกรรมการร่วมตัดสินกับเขาด้วย จึงมีคำถามมาหลังไมค์ว่า “การแจกรางวัลให้กันในลักษณะนี้ สามารถส่งเสริมการพัฒนาของพิพิธภัณฑ์ไทยได้อย่างยั่งยืนจริงหรือ?” เราจึงขอถือโอกาสนี้พาท่านผู้อ่านไปสำรวจโครงการการแจกรางวัลมิวเซียมระดับสากล แล้วกลับมาเทียบเคียงกับของบ้านเราไปพร้อมๆ กัน โดยหวังว่าจะช่วยตอบคำถามข้างต้นนี้ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

เริ่มจากที่ยุโรป โครงการที่เรียกได้ว่าทั้งใหญ่และทรงเกียรติอันดับต้นๆ ในย่านนี้ คงหนีไม่พ้น ‘European Museum Awards’ ดูแลโดย NEMO หรือ The Network of European Museum Organisations ภายใต้โครงการนี้จะมีหลากหลายสาขาให้เลือกเข้าชิง แต่ละสาขาก็จะมีรางวัล, กฎ กติกา และผู้รับผิดชอบที่แตกต่างกันไป เพื่อสนับสนุนและให้คุณค่าการปฏิบัติการมิวเซียมในแต่ละแขนง มีสาขาใหญ่สุดเป็น EMYA- European Museum of the Year Award ที่เฟ้นหามิวเซียมใหม่ยอดเยี่ยมจากทั่วทั้งทวีปมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 มีสนนราคาค่าสมัครอยู่ที่ 500 ยูโรต่อมิวเซียม ทุกๆ ปีมีมิวเซียมสมัครประมาณ 50 แห่ง และพิธีการประกาศผลผู้ชนะรางวัลนี้ก็จะพ่วงมากับโปรแกรมเสวนาสามวัน ซึ่งผู้สมัครแต่ละท่านจะต้องออกมานำเสนอกระบวนการทำงานของตน เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนและสร้างเครือข่ายด้วยไปในตัว

ที่น่าสนใจไม่แพ้กันอีกสาขาคือ Children in Museums Award ที่มีผู้ดูแลร่วมเป็นองค์กรสำหรับเด็กอย่าง Hands On! เพื่อส่งเสริมกระบวนการทำงานที่ได้ทั้งความรู้และความสนุก สำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชนในมิวเซียมโดยเฉพาะ ผู้ชนะจะได้รับรูปปั้น เจ้ากระต่าย Miffy ออกแบบโดย Dick Bruna มาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์หนึ่งปี พร้อมกับเงินรางวัล 5000 ยูโร นอกจากนี้ยังมี Heritage in Motion Award ที่เพิ่งโผล่มาเมื่อปี 2013 มุ่งให้รางวัลกับโปรเจคต​์ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อสืบสานองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมยุโรปโดยเฉพาะ รับผู้สมัครจากสาขางานฟรีแลนซ์ หรือบริษัทผลิตสื่อมัลติมีเดียต่างๆ ด้วย (ไม่จำเป็นต้องสังกัดอยู่ใต้มิวเซียมใดมิวเซียมหนึ่งเท่านั้น) ซึ่งรางวัลนี้ถึงจะไม่มีเงินให้ แต่จะมีการโปรโมทโปรเจคต์และบริษัทของผู้ชนะให้กับเครือข่ายมิวเซียมที่เข้าร่วมอย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ดี หากพูดถึงแขนงรางวัลที่น่าสนใจ คงจะไม่พูดถึงโครงการ Museums + Heritage Awards ของทางฝั่งอังกฤษด้วยไม่ได้ โครงการนี้มีสายป่านใหญ่มาจาก Arts Council England เพื่อช่วยเหลือพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมในอังกฤษเป็นหลัก เขามีหัวข้อรางวัลที่มีความเฉพาะเจาะจงมากๆ อาทิ ‘อาสาสมัครดีเด่นแห่งปี’, ‘รางวัลการร่วมมือระหว่างองค์กรดีเด่น’, ‘โปรเจคต์ที่ใช้เงินน้อยแต่เจ๋ง’, ‘นิทรรศการหมุนเวียนเคลื่อนที่ดีเด่นแห่งปี’, ‘แคมเปญการตลาดแห่งปี’ (สปอนเซอร์โดยบริษัทหาข้อมูลชั้นนำ BVA BDRC) ไปจนถึง ‘ร้านของที่ระลึกยอดเยี่ยมแห่งปี’ ซึ่งรางวัลนี้มีการแบ่งเป็นสองระดับคือ ร้านที่มียอดขายมากกว่าและน้อยกว่าห้าแสนปอนด์ด้วย

ส่วนด้านอเมริกาก็ไม่น้อยหน้ากับ American Alliance of Museums ที่แจกรางวัลหลากหลายสาขาเช่นกัน ฝั่งนี้มีรางวัลหัวข้อที่โดดเด่นคือ ‘Diversity, Equity, Accessibility, and Inclusion’ หรือ ‘การส่งเสริมความหลากหลาย, ความเที่ยงธรรม, ความเข้าถึง และความมีส่วนร่วม’ โดยจะรับพิจารณาให้รางวัลทั้งรายบุคคลและองค์กร ที่ให้ความใส่ใจกับการสร้างพื้นที่และบริการที่มีความเป็นประชาธิปไตย เข้าถึงได้โดยทุกๆ คนในสังคม ซึ่งผู้ชนะจะได้รับทุนสนับสนุนโปรเจคต์ในมิวเซียม 1,000 ดอลลาร์ นอกจากนี้เรายังสังเกตเห็นได้ว่า มีหลายรางวัลที่แยกมาอยู่ใต้ชื่อของเครือข่ายการศึกษา อย่าง EdCom หรืออยู่ใต้ชื่อบุคคลผู้มีคุณูปการต่อวงการมิวเซียมโดยเฉพาะ อาทิ Dudley-Wilkinson Award, John Cotton Dana Award, Nancy Hanks Memorial Award ฯลฯ ถือเป็นการสร้างมูลค่าและสืบสานชื่อเสียงของพวกเขาต่อไปในวงการด้วย

กลับมาที่ไทย ปีนี้ Museum Thailand Awards 2019 มีการปรับเปลี่ยนลักษณะของรางวัลที่ให้กับเขาด้วยพอสมควร โดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่ามีการแบ่งรางวัลตาม ‘ประเภท’ ของพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ อิงจากนิยามและจริยศาสตร์ทางวิชาชีพของ ICOM (International Council of Museum) ซึ่งทางกรรมการเลือกมาเป็น 4 ประเภท คือ 1. พิพิธภัณฑ์ด้านสังคม ศิลปะ และวัฒนธรรม  2. พิพิธภัณฑ์ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 3. พิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และ 4. พิพิธภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น โดยอันสุดท้ายนี้เป็นหัวข้อใหม่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนและสร้างกระแสความสนใจให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในชุมชนขนาดเล็กโดยเฉพาะ อย่างไรก็ดี เกณฑ์การตัดสินให้คะแนนพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ในแต่ละประเภทนั้น ยังมีการแบ่งหัวข้อย่อยออกเป็น 4 หัวข้อ นั่นคือ 1. การอนุรักษ์และสืบสาน 2. การจัดแสดงนิทรรศการ 3. กระบวนการการเรียนรู้ และ 4. ปฏิสัมพันธ์กับชุมชน นอกจากนี้ยังมีการให้รางวัล Popular Vote โดยเปิดให้ลงคะแนนผ่านทางเว็บไซต์ www.museumthailand.com อีกเกือบ 10 รางวัล 

ถ้าเทียบดูเราจะเห็นว่า การจัดการประกวดมิวเซียมของบ้านเรานั้น อาจจะยังไม่มีรางวัลที่หลากหลายเท่ากับสากลเขาเท่าไรนัก แต่ต้องพึงระลึกด้วยว่า การมีรางวัลที่เฉพาะเจาะจงเกินไป ในแง่หนึ่งอาจเป็นการจำกัดกรอบผู้ที่จะส่งเข้าร่วมด้วย อีกทั้งในปีที่ผ่านๆ มา พิพิธภัณฑ์ที่ได้รับรางวัล Museum Thailand Award ก็สามารถนำชื่อนี้ไปประชาสัมพันธ์และสร้างจุดขายเพิ่มเติมให้กับองค์กรของตัวเองได้อย่างดี และถึงแม้คำว่า ‘รางวัล’ ในที่นี้ จึงอาจจะไม่ได้มาในรูปแบบของเงินสนับสนุนจำนวนมาก แต่การสร้างประกวดนี้ก็สามารถสร้างเครือข่ายระหว่างพิพิธภัณฑ์ และช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้คนในประเทศ ให้ไม่มองข้ามพิพิธภัณฑ์กับแหล่งเรียนรู้ ในฐานะพื้นที่สำคัญของสังคมไทย

ซึ่งสิ่งนี้อาจมีมูลค่ามากกว่าเงินเสียอีก

อ้างอิง:

http://europeanmuseumacademy.eu

www.aam-us.org/programs/awards-competitions/

https://awards.museumsandheritage.com/

Fact Box

สำหรับพิพิธภัณฑ์ที่สนใจเข้าร่วมการประกวดในโครงการดังกล่าว สามารถส่งเอกสารเข้าร่วมประกวด ได้ถึงวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ โดยการส่งใบสมัครและเอกสารผลงานต่าง ๆ เพื่อเข้าร่วมประกวด ‘Museum Thailand Awards 2019’ ตามเกณฑ์และสามารถดาวน์โหลดใบสมัครและรายละเอียดได้ที่ www.museumthailand.com หรือโทร 02-225-2777 ต่อ 427