แน่นอนว่าชื่อของนาโอโตะ ฟูคาซาวะ เป็นที่รู้จักกันในฐานะนักออกแบบระดับโลก
ด้วยความน้อยแต่มากในหน้าตาทันสมัย ทำให้ผลงานของนาโอโตะอยู่ในระดับขึ้นหิ้ง ไม่ว่าจะเป็นการคว้ารางวัลจากหลายเวที การได้รับคัดเลือกเข้าจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง แต่สิ่งที่แตกต่างจากงานดีไซน์มาสเตอร์พีซหลายๆ ชิ้น คือเราได้เห็นผู้คนทั่วไปใช้งานผลงานเหล่านั้นอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งหลายๆ ครั้งก็รวมถึงตัวเราเองด้วย
ผลงานการออกแบบของนาโอโตะง่ายดายต่อการใช้งานแบบไม่ต้องพึ่งพาคู่มือ การตอบสนองต่อพฤติกรรมที่ทำให้รู้สึกว่า ‘พอดี’ กับการใช้งานเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น ‘เครื่องเล่นซีดีมูจิแขวนผนัง’ ที่เล่นเพลงได้ทันทีเพียงแค่ดึงเชือก ซึ่งออกแบบมาตั้งแต่ปี 1999 แต่ยังคงฮิตและเป็นที่ต้องการของทุกบ้านอยู่เสมอ และได้รับการคัดเลือกเข้าจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA) ‘Plus Minus Zero Humidifier’ เครื่องเพิ่มความชื้นในบ้านที่จัดวางตรงไหนก็ดูเหมาะไปทุกแห่ง หรือ ‘au/KDDI Infobar’ สมาร์ตโฟนที่มีทั้งปุ่มกดและหน้าจอสัมผัส พาให้คิดได้ว่า ‘น่าจะมีแบบนี้ตั้งนานแล้ว’
ผลงานเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการจับคู่กันระหว่างความต้องการพื้นฐานของมนุษย์และทักษะการสร้างสรรค์งานฝีมือ ที่ถูกนำมารวมกันและนำเสนอใหม่เป็นผลงานออกแบบร่วมสมัย
นาโอโตะเฝ้ามองดูผู้คนและถอดพฤติกรรมในการหยิบจับสิ่งของต่างๆ ท่ามกลางชั่วขณะแห่ง ‘การไม่คิด’ ที่ทำให้เราแต่ละคนมีวิธีการใช้งานหรือจัดการสิ่งของต่างๆ ที่เป็นไปตามสัญชาตญาณ นาโอโตะนำเอาชั่วขณะเหล่านั้นมาเป็นต้นทุนในการออกแบบผลงานแต่ละชิ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึง ‘ความไม่รู้สึกตัว’ ของผู้ใช้ที่เป็นหัวใจสำคัญในปรัชญาการออกแบบของเขา
“สิ่งที่เรามีอยู่แต่ไม่รู้ว่ามี งานออกแบบที่ดีจะช่วยให้เรารู้สึกถึงการมีอยู่ของสิ่งนั้น นี่คือความรู้สึกที่ศิลปะและงานออกแบบมีใกล้เคียงกัน”
ด้วยพื้นฐานการศึกษาด้านศิลปะจากมหาวิทยาลัยทะมะ จากนั้นเข้าทำงานกับบริษัทด้านการออกแบบชั้นนำของโลกอย่าง IDEO พร้อมกับการเปิดสตูดิโอของตัวเองในปี 2003 เป็นผู้อำนวยการร่วมของพิพิธภัณฑ์ด้านการออกแบบแห่งแรกของประเทศญี่ปุ่นที่ชื่อ 21_21 Design Sight และล่าสุด ตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการออกแบบของมูจิ
ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้การออกแบบของนาโอโตะแฝงไปด้วยสุนทรียะทางศิลปะพร้อมๆ กับตอบรับการใช้งานในฐานะงานดีไซน์
ใช่ว่าการออกแบบของนาโอโตะจะไม่ผ่านการคิดเชิงกระบวนการ เขามักพูดเสมอว่า ‘ใช้ความรู้สึก’ เป็นหลักมากกว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Interior Design ไว้ว่า
“ผมไม่ได้ออกแบบอะไรใหม่ ถ้าพูดให้ถูกคือผมสนใจการออกแบบใหม่ในสิ่งเดิม เมื่อมีบางคนมาบอกกับผมว่า ‘อยากได้แบบนี้มานานแล้ว ไม่เคยเห็นสินค้านี้มาก่อน’ นั่นถือเป็นคำชมสำหรับผม มีคนรู้สึกถึงสิ่งที่ดูเหมือนมีอยู่แล้ว แต่ความจริงกลับไม่มีอยู่”
เรื่องเล่าจากมูจิ: เรียบง่าย พอดี อุ่นใจที่ได้ใช้งาน
สินค้ามูจิใช้งานง่ายและมาพร้อมกับเรื่องราวในแต่ละชิ้น
ด้วยความตั้งใจของนาโอโตะที่ต้องการให้สินค้าของมูจิเน้นเรื่องการใช้งานมาเป็นส่วนสำคัญ ปล่อยให้เรื่องของฟอร์มหรือรูปทรงเป็นเรื่องที่ตามมาภายหลัง ด้วยสามองค์ประกอบหลักคือ เรียบง่าย ราคาเหมาะสม และดีต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ใช้งานไม่ว่าจะเด็กจนถึงผู้ใหญ่เลือกสรรผลิตภัณฑ์จากมูจิมาใช้งานได้เสมอ ความหลากหลายของกลุ่มผู้ซื้อนี้เองที่ทำให้มูจิมีบทบาทเป็นเหมือนสื่อกลางที่ช่วยยึดโยงผู้ใช้ให้รู้สึกเป็นกลุ่มเดียวกัน ผ่านความภาคภูมิใจที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์มูจิ
“ไม่ใช่เเค่เพียงความภาคภูมิใจ แต่ยังเป็นเรื่องของประโยชน์ ความอุ่นใจ และความสบายใจที่มีผลิตภัณฑ์ของมูจิอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวัน” นาโอโตะกล่าว
พื้นที่ เวลา พฤติกรรมมนุษย์ อารมณ์ และการใช้ชีวิต ส่วนผสมกลมกล่อมเหล่านี้คือเบื้องหลังปรัชญาการออกแบบของนาโอโตะ ฟูคาซาวะ นักออกแบบที่จัดส่วนผสมให้ลงตัวจนเป็นการออกแบบที่เป็นมากกว่าความเรียบง่าย แต่เข้าใจผู้ใช้งานอย่างแท้จริง
ที่มา:
naotofukasawa.com
interiordesign.net
FACT BOX:
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมผลงานการออกแบบของมูจิได้ที่นิทรรศการ ‘What is MUJI?’ แก่นแท้งานดีไซน์สไตล์มูจิ แสดงแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์มูจิและเจาะลึกปรัชญาแนวคิดในการผลิตสินค้า ณ บริเวณชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอมบาสซี ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2560