“ทั้งโลกจับตาดูอยู่ โจมตีเราคนเดียวเท่ากับโจมตีเราทั้งหมด!”
เสียงกระหึ่มของมวลชนที่มาติดตามการพิจารณาคดีและให้กำลังใจแกนนำการประท้วงทั้ง 7 คนที่ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินคดี ก่อนหน้านี้พวกเขาเดินทางข้ามรัฐมายังเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ เพื่อประท้วงสงครามเวียดนามในปี 1968 สงครามซึ่งรัฐบาลสหรัฐได้ทุ่มทั้งงบประมาณและกำลังคนไปอย่างมหาศาล คนหนุ่มมากมายถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามและสังเวยชีวิตไปหลายพันคน
The Trial of the Chicago 7 (2020) หนังแนว courtroom drama ชั้นเยี่ยม ผลงานการกำกับและเขียนบทของ แอรอน ซอร์คิน (Aaron Sorkin) สร้างจากเหตุการณ์จริงของคดีประท้วงสงครามเวียดนามอันโด่งดังในปี 1968 ปีที่ขบวนการบุปผาชนกำลังเบ่งบาน และสงครามเวียดนามกำลังร้อนระอุ
แกนนำทั้ง 7 คน (ซึ่งต่อมากลายเป็นจำเลยทั้ง 7) ได้แก่ แอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน, เจอร์รี รูบิน, ทอม เฮย์เดน, เรนนี เดวิส, เดวิด เดลลิงเจอร์, จอห์น ฟรอยน์ส และลี ไวเนอร์ ถูกจับและดำเนินคดีฐานละเมิดกฎหมายของรัฐบาลกลางในข้อหา ‘สมคบคิดข้ามเขตแดนรัฐเพื่อใช้ความรุนแรง’ ภายหลังเหตุการณ์จลาจลที่กลุ่มมวลชนปะทะกับตำรวจ แต่ในห้องพิจารณาคดีเราจะเห็นว่ามีจำเลยทั้งหมด 8 คน ซึ่งอีก 1 คนที่เพิ่มเข้ามาคือ บ็อบบี้ ซีล ชายผิวดำ แกนนำจากกลุ่ม Black Panther ที่ไม่ได้มีส่วนในการจัดตั้งมวลชนร่วมกับทั้ง 7 คน เขาเพียงเดินทางมาปราศรัยในที่ชุมนุมเท่านั้น แต่ภายหลังก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าวไปด้วย
หนังใช้วิธีเล่าคู่ขนานกันไประหว่างบรรยากาศการพิจารณาคดีในศาล (ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1969) และการ flashback กลับไปยังเหตุการณ์ช่วงชุมนุมประท้วง (ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1968) ที่ผสมผสานทั้งภาพจากงานสร้างของภาพยนตร์เองและภาพฟุตเทจบันทึกเหตุการณ์จริง ด้วยเทคนิคดังกล่าวนี้ ผู้ชมจะได้เห็น ‘ความจริง’ ของฝ่ายรัฐและฝ่ายจำเลย ผ่านทั้งปากคำของพยานในคดี และภาพจากเหตุการณ์จริงที่แสดงให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ปากคำของพยานคนใดบ้างที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง หรือข้อเท็จจริงใดที่ถูกลดทอนลงเหลือแค่มุมมองเดียว
ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มการพิจารณาคดี จูเลียส ฮอฟฟ์แมน ผู้พิพากษาในคดีดังกล่าว ก็เริ่มแผลงฤทธิ์ใส่ฝ่ายจำเลยด้วยอคติ (ทั้งอคติทางการเมืองและอคติต่อสีผิว) และความเอนเอียงต่างๆ ที่แสดงออกอย่างชัดเจน ทั้งคอยขัดคอและตัดบททนายฝ่ายจำเลยอยู่เป็นระยะ การสั่งปลดลูกขุนที่มีท่าทีสนับสนุนฝ่ายจำเลยด้วยวิธีสกปรก สั่งให้คณะลูกขุนออกไปจากห้องพิจารณาคดีเมื่อมีพยานปากสำคัญของฝ่ายจำเลยขึ้นให้การ ยัดข้อหาดูหมิ่นศาลเพื่อปิดปากจำเลยและทนายฝ่ายจำเลย และที่อื้อฉาวที่สุดคือการสั่งให้ตำรวจศาลลงโทษบ็อบบี้ ซีล (ชายผิวดำ) ที่ลุกขึ้นประท้วงผู้พิพากษา ด้วยการจับเขามัดติดกับเก้าอี้ มัดปากไม่ให้พูด อนุญาตให้ตอบได้เพียงแค่พยักหน้าหรือส่ายหน้าเท่านั้น
ไม่เพียงแต่อคติส่วนตัวของผู้พิพากษาที่เป็นเพียง ‘ฉากหน้า’ ของกระบวนการยุติธรรม หนังยังฉายให้เห็นถึง ‘ฉากหลัง’ ที่กระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซงอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่อัยการสูงสุดกดดันให้อัยการหนุ่มหัวก้าวหน้า ผู้ยึดมั่นในหลักการ ซึ่งรับผิดชอบคดีนี้ต้องเอาผิดกับจำเลยให้ได้ และอีกหลายฉากในศาลที่ความเอนเอียงอย่างน่ารังเกียจของผู้พิพากษาได้สั่นคลอนมโนธรรมของอัยการหนุ่ม (โดยเฉพาะตอนที่ บ็อบบี้ ซีล ถูกมัดมือมัดปาก) จนเราได้เห็นสีหน้ากระอักกระอ่วนของเขาอยู่บ่อยครั้ง ในแง่นี้ ภาพความชั่วร้ายบิดเบี้ยวของ ‘ระบบ’ จึงยิ่งฉายชัดออกมา เพราะแม้แต่อัยการหนุ่มซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐเองแท้ๆ ยังปฏิเสธที่จะเป็นส่วนหนึ่งของมัน ราวกับว่าทั้งโจทก์และจำเลยต้องร่วมมือกันงัดข้อกับความฉ้อฉลของผู้พิพากษาซึ่งเป็น ‘ตัวร้าย’ เพียงหนึ่งเดียวในห้องพิจารณาคดีนั้น
แม้ว่านี่จะเป็นหนัง courtroom drama ที่ฉากในห้องพิจารณาคดีถูกชูให้โดดเด่นกว่าฉากการเดินขบวนประท้วง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ช่างดูเป็นการยั่วล้อตัวมันเองตรงที่เราจะได้เห็นว่าห้องพิจารณาคดีได้ถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นเวทีประท้วงด้วยเช่นกัน ทั้งการแต่งตัวล้อเลียนผู้พิพากษาของแอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน การยียวนกวนประสาทด้วยวิธีต่างๆ การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการไม่ลุกขึ้นยืนเคารพศาล คำให้การต่อศาลที่ราวกับเป็นสุนทรพจน์ของการประท้วง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นการท้าทายซึ่งหน้าที่ทำให้คู่ขัดแย้งได้เผชิญหน้ากันและเปิดหน้าชนกันตรงๆ
ในบรรดาจำเลยทั้ง 7 คน มีอยู่ 2 คนที่ถูกชูให้มีบทบาทเด่นที่สุดคือ ทอม เฮย์เดน และแอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน ซึ่งทั้งบุคลิกและแนวทางการเคลื่อนไหวแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทอม เฮย์เดน เป็น ‘ซ้ายปัญญาชน’ ที่เชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านระบบและกลไกสถาบันทางการเมือง การต่อสู้ด้วยแนวทางแบบสุภาพชนและ tone policing ในขณะที่แอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน เป็น ‘ซ้ายบุปผาชน’ (ฮิปปี้) ที่เชื่อมั่นในพลังของการปฏิวัติสังคมและวัฒนธรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกของผู้คน การต่อสู้ของเขาจึงเน้นไปที่แนวรบทางวัฒนธรรม การต่อต้านท้าทายอำนาจรัฐด้วยวิธียียวนกวนตีนต่างๆ หนังมีฉากที่ทั้งคู่เปิดฉากปะทะคารมกันอยู่บ่อยครั้ง ครั้งที่รุนแรงที่สุด แอ็บบี้ถึงกับกล่าวว่า “นายกับฉันนิยามคำว่าชนะต่างกัน”
อีกประเด็นหนึ่งที่หนังถ่ายทอดออกมาได้อย่างเข้มข้นไม่แพ้การพิจารณาคดีในศาล คือยุทธวิธีในการประท้วงและการควบคุมมวลชน ที่ชวนให้เราตั้งคำถามถึงการตัดสินใจของแกนนำในสถานการณ์คับขัน การนำเรื่องส่วนตัวเข้ามาปะปนกับการตัดสินใจในเชิงยุทธวิธีจนนำไปสู่ผลลัพธ์บานปลายอย่างไม่คาดคิด การประเมินความเสี่ยงที่มีชีวิตของมวลชนนับหมื่นเป็นเดิมพัน คำถามเหล่านี้ถูกวางลงไปบนความแตกต่างทางอุดมการณ์ ความแตกต่างด้านวุฒิภาวะ และความขัดแย้งส่วนตัวของตัวละคร ที่ทำให้แต่ละคนประเมินสถานการณ์แตกต่างกัน หนังใช้ประเด็นเหล่านี้สะท้อนแง่มุม ‘ความเป็นมนุษย์’ ของแกนนำแต่ละคน ที่มีทั้งความไร้เดียงสา ความขาดประสบการณ์ ความอิหลักอิเหลื่อ ความเลือดร้อน ความดื้อดึง ฯลฯ ภาพที่ออกมาจึงไม่ใช่ภาพของ ‘วีรบุรุษ’ ผู้สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ หรือ ‘เหยื่อผู้บริสุทธิ์’ ที่ตกเป็นเหยื่ออำนาจรัฐอันฉ้อฉลเท่านั้น แต่คือภาพของมนุษย์คนหนึ่งท่ามกลางแรงกดดันของสถานการณ์เฉพาะหน้าที่บีบให้เขาต้องตัดสินใจ
อย่างไรก็ดี หนังให้ภาพความ ‘โรแมนติก’ ของหนุ่มสาวหัวขบถและการประท้วงอยู่พอสมควร และเดินตามขนบของหนังประเภทนี้อย่างเคร่งครัดด้วยการสอดแทรกฉากดราม่าเร้าอารมณ์ให้ฮึกเหิมอยู่เป็นระยะ บทหนังที่ถูกออกแบบมาอย่างเนี้ยบกริบและบทพูดอันหลักแหลมคมคายของตัวละครที่ตรึงความสนใจของผู้ชมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น กลับกลายเป็น ‘ตัวละคร’ เสียเอง จนทำให้ตัวละครจริงๆ ถูกทอนลงไปเป็นเพียงฉากหลังจางๆ ของบทพูดอันเข้มข้น
ด้วยความที่บทพูดมันคมเสียเหลือเกิน จึงทำให้คำพูดคมๆ เหล่านั้นสามารถออกจากปากของใครก็ได้ คำพูดที่ออกจากปากแอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน ถ้าเปลี่ยนเป็นพูดผ่านปากของทอม เฮย์เดน ก็แทบจะไม่ต่างอะไร ยกเว้นก็แต่บ็อบบี้ ซีล ชายหนุ่มผิวดำ ที่คำพูดหรือ ‘เสียง’ ของเขา ไม่อาจแทนที่ด้วยเสียงของ ‘คนขาว’ ทั้ง 7 คนได้ และด้วยอคติต่อสีผิวของเขา ก็ทำให้เขาถูกปฏิบัติแตกต่างจากจำเลยคนขาวทั้ง 7 คน
บทสนทนาระหว่างบ็อบบี้กับทอม (หลังจากที่เฟร็ด แฮมป์ตัน ชายหนุ่มผิวดำอีกคนที่อยู่กลุ่ม Black Panther เช่นเดียวกับบ็อบบี้ เพิ่งถูกตำรวจยิงตาย) สะท้อนประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี
บ็อบบี้ : พวกคุณทั้ง 7 คน มีพ่อคนเดียวกันใช่ไหม ฉันถามนายอยู่ มีพ่อคนเดียวกันใช่ไหม
ทอม : (เงียบ)
บ็อบบี้ : ตัดผม อย่าเป็นตุ๊ด เคารพตำรวจ เคารพอเมริกา เคารพฉัน ก็เลยใช้ชีวิตแบบนี้เพื่อหยามพ่อนายใช่ไหม
ทอม : อาจจะ
บ็อบบี้ : และเห็นไหมว่ามันต่างจากการแขวนคอกับต้นไม้
Tags: Sacha Baron-Cohen, Danny Flaherty, Eddie Redmayne, Michael Keaton, MoviesReview, The Trial of the Chicago 7, courtroom drama