รายงานการใช้อินเทอร์เน็ตโดยกูเกิลและเทมาเส็กระบุว่า คนไทยใช้เวลาเฉลี่ยราววันละ 6 ชั่วโมง 30 นาที แถมคำค้นหาในโลกออนไลน์ยังโน้มเอียงไปทางสารพัดสิ่งบันเทิงเสียแทบหมด

เทศกาลปีใหม่แบบนี้ เชื่อว่าหลายคนอาจเริ่มร่างปณิธานปีใหม่ (New Year’s resolution) บางคนอาจต้องการลดน้ำหนัก บางคนอยากอ่านหนังสือมากขึ้น แต่ผมอยากจะชวนเพิ่มอีกสักข้อหนึ่ง คือการปันเวลามาเรียนคอร์สออนไลน์ หรือที่รู้จักกันว่า MOOCs (Massive Online Open Courses) เพื่อเพิ่มทักษะที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงาน การทำอาหาร รวมถึงการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ

สำหรับใครที่ใฝ่ฝันจะไปเรียนในห้องเรียนมหาวิทยาลัยชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น MIT Harvard หรือ UC Berkeley โอกาสก็มาอยู่ใกล้แค่ปลายนิ้วคลิก ที่สำคัญเราแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย นอกจากเวลาและพื้นฐานภาษาอังกฤษในระดับฟังออกเขียนได้ แต่ไม่ต้องกังวลไปนะครับ เพราะแพลตฟอร์มส่วนใหญ่มีซับไตเติลให้ แถมเราจะย้อนมาฟังกี่รอบก็ได้ ไม่เสียสตางค์เพิ่มแต่อย่างใด และแพลตฟอร์มหลายแห่งก็มีคอร์สพื้นฐานภาษาอังกฤษให้เรียนอีกด้วย

MOOCs คือคอร์สออนไลน์ขนาดใหญ่ที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ โดยกระแสของ MOOCs เริ่มต้นราวห้าปีก่อนที่มีคอร์สออนไลน์มากมายจากมหาวิทยาลัยชั้นนำมาเปิดให้เรียนแบบฟรีๆ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า ในอนาคต การเรียนออนไลน์ในลักษณะนี้อาจมาแทนที่ระบบอุดมศึกษาตามมหาวิทยาลัยแบบดั้งเดิม และอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป อย่างไรก็ดี ความฝันนั้นอาจต้องรอไปอีกสักพัก เนื่องจากอัตราการเรียนจบแต่ละคอร์สนั้นค่อนข้างต่ำ แม้ว่าจะมีผู้สมัครเรียนจำนวนมากก็ตาม

ลักษณะคอร์สของ MOOCs จะแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ คอร์สแบบเรียนต่อเนื่อง ที่ผู้เรียนต้องเข้ามาดูวิดีโอ และทำการบ้านส่งภายในเส้นตาย วิดีโอชุดใหม่จะอัปเดตสัปดาห์ต่อสัปดาห์เป็นเวลาประมาณ 2-3 เดือน ส่วนอีกลักษณะหนึ่งคือคอร์สแบบตามใจฉัน (self-paced) คือปล่อยวิดีโอออกมาทั้งหมด ให้เวลาเรียน 6 เดือน หรือ 1 ปี ผู้เรียนอาจจะค่อยๆ ศึกษาวันละนิดวันละหน่อย หรือจัดหนักสัปดาห์สุดท้ายก่อนหมดเวลาก็ได้ ไม่ว่ากัน

สำหรับใครที่เรียนจบครบเงื่อนไข ก็จะได้ใบรับรอง (Certificate) ว่าเรียนจบคอร์สแล้วนะ ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายเล็กน้อย ราว 50 – 100 ดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นอยู่กับว่าเรียนในแพลตฟอร์มไหน เงื่อนไขในการเรียนจบของแต่ละคอร์สนั้นยากง่ายแตกต่างกัน แต่จากประสบการณ์ขอบอกเลยว่า ค่อนข้างเรียนจบง่าย หากมีวินัยเพียงพอ

 

เรียนที่ไหนดี มีสาขาอะไรบ้าง

แพลตฟอร์มและคอร์สออนไลน์นั้นมีมากมายหลากหลายจนเรียกได้ว่าชาตินี้ทั้งชาติก็คงจะเรียนไม่หมด แต่ผู้เขียนขอเลือกนำเสนอบางแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างเป็นมิตรกับผู้ใช้ และผู้เขียนก็เคยไปสัมผัสมาบ้าง ตามนี้ครับ

edx.org

edX แพลตฟอร์มที่ผมชอบที่สุด และเรียนจนจบคอร์สมากที่สุด edX เป็นแพลตฟอร์มไม่แสวงหากำไร ก่อตั้งโดยสองมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Harvard และ MIT คอร์สส่วนใหญ่เลือกเฟ้นมาค่อนข้างดี และส่งตรงจากห้องเรียนในมหาวิทยาลัย ครอบคลุมประเด็นตั้งแต่ชีววิทยา วิศวกรรมศาสตร์ สถิติ ไปจนถึงเศรษฐศาสตร์การเงินและบริหารธุรกิจ สำหรับคอร์สที่ฮอตฮิตที่สุดก็หนีไม่พ้นคอร์สเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่เรียกว่า จับมือสอนทีละขั้น และคอร์สเกี่ยวกับการใช้ซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ไมโครซอฟต์มาเปิดคอร์สสอนเอง

coursera.org

coursera เป็นอีกหนึ่งในแพลตฟอร์มชื่อดังก่อตั้งโดยอาจารย์สองท่านจากมหาวิทยาลัย Stanford โดย coursera จะเป็นแพลตฟอร์มที่แสวงหากำไร (แต่ถ้าใครไม่แคร์ใบรับรอง ก็เรียนได้ฟรี) เนื้อหาส่วนใหญ่มาจากอาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเช่นกัน และครอบคลุมวิชาที่ใกล้เคียงกับ edX แต่ค่อนข้างหลากหลายและมีจำนวนมากกว่า นอกจากนี้ coursera จะมีคอร์สประหลาดที่น่าเรียน เช่น จิตวิทยาสุนัข เป็นต้น

udemy.com

สำหรับใครที่เหม็นเบื่อเหล่านักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Udemy คือคำตอบครับ เพราะแพลตฟอร์มนี้จะรวบรวมเหล่าผู้สอนอิสระที่สนใจต้องการทำคอร์สออนไลน์ ดังนั้นคอร์สใน Udemy จะมีความบันเทิงและความเฉพาะตัวของผู้สอนค่อนข้างสูง แถมหัวข้อก็ครอบคลุมแทบทุกแง่มุมในชีวิต ตั้งแต่การใช้โปรแกรมพื้นฐาน วาดภาพ อบขนมปัง ทำพาย ถ่ายรูป ออกกำลังกาย ฯลฯ เรียกว่าเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ใครใคร่สอนอะไรก็มาสอน ใครใคร่เรียนอะไรก็มาเรียน

อย่างไรก็ดีแทบทุกคอร์สใน Udemy ต้องเสียเงินเรียน บางคอร์สอาจตั้งราคาไว้สูงถึงครึ่งหมื่น แต่ส่วนใหญ่ก็จะมีโปรโมชันลดแลกแจกแถม (จนน่ากลัว) แทบทุกเดือน ดังนั้นก่อนที่จะสมัครเรียนอาจต้องอ่านรีวิว หรือชมคลิปตัวอย่างให้มั่นใจเสียก่อนที่จะควักกระเป๋าจ่ายเงิน

khanacademy.org

สโลแกนของแพลตฟอร์ม Khan Academy บอกเล่าตัวตนได้ค่อนข้างชัดเจนคือ ฟรีสำหรับทุกคนและฟรีตลอดไป สิ่งที่ผมชอบที่สุดของ Khan Academy คือสอนวิชาพื้นฐานในระดับที่พื้นฐานมากๆ ด้วยคลิปสั้นๆ ที่เข้าใจง่าย เนื้อหาครอบคลุมคล้ายกับหลักสูตรของนักเรียนมัธยมปลาย เหมาะสำหรับทุกวัย ตั้งแต่นักเรียนที่ต้องการหาความรู้เพิ่มเติม นักศึกษาที่อยากทบทวนพื้นฐาน พ่อแม่ และครูอาจารย์ที่ต้องการแหล่งข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการสอน นอกจากนี้ Khan Academy ยังมีหลักสูตรเตรียมสอบ SAT และ GMAT แต่ด้วยความที่ทุกคอร์สฟรี ดังนั้นจึงไม่มีการแจกใบรับรอง

 

ก่อนที่จะตะลุยเข้าแพลตฟอร์มไปลงทะเบียนเรียน ผู้เขียนขอแนะนำในฐานะผู้มีประสบการณ์เรียนคอร์สออนไลน์สั้นๆ สามข้อครับ

1. เลือกคอร์สที่ใช่ และน่าจะมีประโยชน์ต่อการงาน การเรียน หรืองานอดิเรก

ก่อนที่เราจะตกลงปลงใจเรียนคอร์สไหน ขอแนะนำให้ลองดูคลิปสักตอนสองตอน และลองคิดว่าถ้าเราเรียนจบคอร์สนี้แล้ว จะนำความรู้ที่ได้ไปทำอะไร หรือเราสนใจคอร์สนี้มากน้อยขนาดไหน และเคมีของคนสอนตรงกับเราหรือไม่ เพราะการปลงใจเรียนคอร์สออนไลน์เหมือนกับการคบหาดูใจระยะกลาง ถ้าพ้นสักสัปดาห์สองสัปดาห์ แล้วเพิ่งมาคิดได้ว่า เรียนไปก็ไม่มีประโยชน์ อาจจะเสียเวลาพักผ่อนเปล่าๆ

ตอนที่ผู้เขียนเริ่มเรียน MOOCs มักจะหลงระเริงไปกับการเลือกและลงคอร์สเยอะแยะเต็มไปหมด (แหม ก็มันฟรี) แต่สุดท้ายก็เรียนไม่จบสักคอร์ส ปีนี้ผมจึงเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เลือกเฉพาะคอร์สที่อยากเรียนและสนใจจริงๆ ปรากฏว่าโอกาสเรียนจบสูงกว่ากันเยอะ

2. อย่าเรียนในเวลาว่าง

อ่านถูกแล้วครับ อย่าเรียน MOOCs ในเวลาว่าง เพราะเราไม่มีทางมีเวลาว่างพอที่จะเรียน MOOCs แต่ควรกำหนดไปเลยว่าหนึ่งวันอาจใช้เวลาดูสักหนึ่งคลิป (ประมาณ 5-10 นาที) ส่วนเสาร์อาทิตย์ก็ค่อยมาเคลียร์ควิซที่กำลังจะถึงเดดไลน์ การเรียน MOOCs จำเป็นต้องมีวินัย แต่ถ้ารู้สึกว่าคุมตัวเองไม่อยู่ ให้อ่านต่อข้อ 3

3. จงควักกระเป๋าจ่ายค่าเรียน

ถ้าคิดว่าคอร์สออนไลน์ที่เราลงสามารถตอบโจทย์ตามข้อ 1 ได้แล้ว แต่เรายังไม่มีวินัยพอ ผมแนะนำให้อัปเกรดเป็นแบบเสียสตางค์ที่ถ้าทำคะแนนผ่านเงื่อนไขก็จะได้ใบรับรอง ราคาประมาณ 1,500 – 3,000 บาท ตามหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและประสบการณ์ส่วนตัว เงินที่เราเสียไปนั้นจะเป็นแรงผลักดันอย่างดีให้เราหาเวลามาเรียน MOOCs ให้จบ

ลองมาเรียน MOOCs เพื่อหาความรู้ใหม่ๆ ให้ชีวิตไม่น่าเบื่อจำเจด้วยกันนะครับ ที่สำคัญ อย่าเรียนหนักหักโหมจนไม่ได้หลับได้นอน หรือเรียนเพื่อหวังใบรับรองแต่เพียงอย่างเดียวนะครับ เพราะสิ่งที่สำคัญมากกว่ากระดาษอิเล็กทรอนิกส์ คือการนำสิ่งที่ได้จากคอร์สออนไลน์ไปปรับใช้ในโลกออฟไลน์

 

Fact Box:

สำหรับใครที่ไม่สันทัดภาษาอังกฤษจริงๆ ก็สามารถหาความรู้จากคอร์สออนไลน์ภาษาไทยบนแพลตฟอร์ม thaimooc.org ที่เป็นของโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย และร่วมพัฒนาโดย edX ซึ่งปัจจุบันมีคอร์สให้เลือกเรียนอยู่ประมาณ 60 คอร์ส จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย

Did You Know?

ปัจจุบันคอร์สออนไลน์เริ่มพัฒนาเป็นหลักสูตรที่ต้องสอบผ่านอย่างน้อยสองคอร์ส หรือบางหลักสูตรอาจต้องเรียนให้ผ่านถึง 12 คอร์สเพื่อให้ได้ใบรับรองระดับมืออาชีพ โดยแต่ละแพลตฟอร์มอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น Professional Certificates หรือ XSeries Program

นอกจากนี้ คอร์สออนไลน์ยังมีเทรนด์ที่น่าสนใจ คือหลักสูตรปริญญาโทจิ๋ว หรือ MicroMasters ที่นักเรียนต้องสอบผ่านจึงจะได้รับปริญญาโทจิ๋ว และมีสิทธิสมัครเรียนต่อระดับปริญญาโทในสาขานั้นๆ ที่มหาวิทยาลัย เช่น หลักสูตรข้อมูล เศรษฐศาสตร์ และนโยบายการพัฒนา (Data, Economics, and Development Policy) ของมหาวิทยาลัย MIT ที่ผู้เรียนทุกคนจะต้องผ่านคอร์สออนไลน์ทั้งหมด 5 คอร์ส รวมทั้งการสอบที่ศูนย์ทดสอบเพื่อให้ได้รับสิทธิสมัครเรียนปริญญาโทหลักสูตรดังกล่าวที่มหาวิทยาลัย MIT เป็นต้น

Tags: , , , ,