ไม่ว่าจะในทางสังคม ศาสนา วัฒนธรรม กฎหมาย หรือกระทั่งทางเศรษฐกิจ การ ‘รักเดียวใจเดียว’ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงล้ำในทุกมิติ

เวลาเราจดทะเบียนสมรส เราไม่สามารถจดทะเบียนเป็น ‘คี่’ ได้ แต่ต้องจดเป็นคู่ แล้วจะจดทะเบียนสมรสซ้อนก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาต ในทางศาสนา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือแม้แต่เรื่องของการเลี้ยงดูและสร้างครอบครัวช่วยกันทำมาหากินอันเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ การอยู่กันเป็นคู่ (ไม่ว่าจะเพศไหนๆ) ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับ

แต่คำถามที่เกิดมาคู่กับประวัติศาสตร์แห่งความรักเดียวใจเดียวตลอดก็คือ – ความรักเดียวใจเดียวเป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือเปล่า

คำว่า ‘รักเดียวใจเดียว’ ในที่นี้ แปลมาจากคำว่า Monogamy ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเอาเข้าจริงก็มีอยู่ด้วยกันหลากหลายแง่มุม ได้แก่

รักเดียวใจเดียวจากการแต่งงาน (Marital Monogamy) ก็คือการแต่งงานอยู่กันเป็นคู่ผัวตัวเมียอย่างที่เราเห็นโดยทั่วไป

รักเดียวใจเดียวทางสังคม (Social Monogamy) คือการที่คนสองคนใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน มีเซ็กซ์กัน และร่วมมือกันในการหาเลี้ยงตัว สร้างบ้าน หาอาหาร หาเงินเข้าบ้าน จึงเป็นรักเดียวใจเดียวที่มีเรื่องเชิงสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

รักเดียวใจเดียวทางเพศ (Sexual Monogamy) คือการที่คนสองคนมีเซ็กซ์ระหว่างกันเท่านั้น ไม่ไปมีอะไรกับคนอื่น

รักเดียวใจเดียวมีทั้งแบบมีคู่คนเดียวไปตลอดชีวิต กับมีคู่ทีละคน เรียกว่าเป็น Serial Monogamy ซึ่งไม่เหมือนกับการมีอะไรกับคนทีละหลายๆ คน เช่น Bigamy หรือ Polygamy โดย Polygamy นั้น ถ้าเป็นผู้ชายมีเมียทีละหลายๆ คน จะเรียกว่า Polygyny แต่ถ้าเป็นผู้หญิงมีสามีทีละหลายๆ คน จะเรียกว่า Polyandry

จากการสำรวจสังคมต่างๆ ทั่วโลก 1,231 สังคม พบว่ามีเพียง 186 สังคมเท่านั้นที่รักเดียวใจเดียว หรือเป็น Monogamy ที่เหลืออีก 453 สังคม เป็น Polygyny แบบบางครั้งบางคราว อีก 588 สังคม เป็นสังคม Polygyny แบบบ่อยครั้ง คือผู้ชายในสังคมส่วนใหญ่มีหลายเมีย และอีกสี่สังคม ที่มีความสัมพันธ์แบบ Polyandry คือผู้หญิงมีผู้ชายหลายคนได้

เคยมีการสำรวจในไทย แทนซาเนีย และไอวอรี่โคสต์ พบว่าผู้ชายในสามประเทศนี้ราว 16-34 เปอร์เซ็นต์จะมีเซ็กซ์นอกสมรส พูดอีกอย่างหนึ่งคือไปหาเศษหาเลยนอกบ้าน ในขณะที่ผู้หญิงจะมีเซ็กซ์นอกความสัมพันธ์น้อยกว่ามากๆ ในไนจีเรีย ตัวเลขของผู้ชายที่มีสัมพันธ์ทางเพศนอกสมรสอยู่ที่ 47-53 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้หญิงอยู่ที่ 18-36 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในสหรัฐอเมริกา ผู้ชายที่มีสัมพันธ์นอกสมรสจะอยู่ที่ 15-43 เปอร์เซ็นต์ ผู้หญิงอยู่ที่ 12-26 เปอร์เซ็นต์

เพราะฉะนั้น จึงพูดได้ว่า การรักเดียวใจเดียวไม่น่าจะเป็น ‘ธรรมชาติ’ ของมนุษย์ส่วนใหญ่เท่าไรหรอกนะครับ เขาบอกว่า ในสัตว์ที่มีลักษณะรักเดียวใจเดียว (เป็น Monogamous Species) ส่วนใหญ่ รูปร่างของตัวผู้กับตัวเมียจะมีขนาดเท่าๆ กัน (เรียกว่า Monomorphic) แต่ถ้าเป็นสัตว์ที่มีคู่ได้หลายๆ ตัว ขนาดตัวของเพศผู้กับเพศเมียจะไม่เท่ากัน โดยมากตัวผู้มักจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย

มนุษย์เราก็เข้าข่ายแบบนี้เหมือนกันครับ คือโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ชายจะสูงกว่าผู้หญิงราว 10 เปอร์เซ็นต์ หนักกว่าผู้หญิง 20 เปอร์เซ็นต์ จึงดูเหมือนว่ามนุษย์จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มหลายรักหลายใจมากกว่ารักเดียวใจเดียว

ที่จริงถ้าไปดูสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลาย มีการศึกษาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมราว 5,000 สปีชีส์ พบว่ามีเพียง 3-5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ที่รักเดียวใจเดียวหรืออยู่กับคู่ของตัวเองไปจนตลอดชีวิต เช่น บีเวอร์ ตัวนาก หมาป่า หมาจิ้งจอก นอกจากนี้ มีการวิเคราะห์ผลการตรวจดีเอ็นเอของสัตว์ พบว่าสัตว์หลายชนิดที่เราคิดว่ามันรักเดียวใจเดียว (เช่นนกบางสายพันธุ์) จริงๆ แล้วดีเอ็นเอของรุ่นลูกกับรุ่นพ่อรุ่นแม่บอกให้เรารู้ว่า สัตว์เหล่านี้ไม่ได้รักเดียวใจเดียวอย่างที่คิด นกบางชนิดอาจจะอยู่กันเป็นคู่ (คือเป็นคู่ในทางสังคม) แต่พบว่าราว 10-40 เปอร์เซ็นต์ของลูกนก กลับมีดีเอ็นเอของพ่อที่ไม่ใช่คู่ของแม่ (งงไหมครับ) คือแสดงให้เห็นว่านกตัวเมียสามารถมีคู่ได้หลากหลายกว่าที่เราเคยคิด

รักเดียวใจเดียวทางเพศจึงเป็นอุดมคติมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง!

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะต้องมากรักหรือเป็น Polygamy ไปด้วย แต่กระนั้น คำถามที่ว่าทำไมบางคนถึงมากรักกว่าคนอื่น ก็ยังเป็นคำถามที่ตอบได้ยาก

แม้นักบาสเก็ตบอลชาวอเมริกันอย่าง วิลต์ เชมเบอร์เลน (Wilt Chamberlain) จะอ้างว่าเขาเคยนอนกับผู้หญิงมาแล้วราว 20,000 คน แต่นี่ก็ไม่ใช่ตัวเลขเฉลี่ยของคนโดยทั่วไป มีการทำวิจัยพบว่า มีคนอเมริกันถึง 60 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ที่บอกว่าตัวเองมีคู่นอน (sex partner) เพียงคนเดียว มี 10 เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่ามีสองคน 5 เปอร์เซ็นต์บอกว่ามี 3 คน อีก 5 เปอร์เซ็นต์บอกว่ามี 4 คน ที่บอกว่ามีตั้งแต่ 10-19 คน มี 1 เปอร์เซ็นต์ และมากกว่า 20 คน ก็มีอยู่ 1 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน

ในปี 2008 เคยมีงานวิจัยที่ฮือฮามาก บอกว่าผู้ชายที่มีความสัมพันธ์แบบมากรักนั้น จะมีอายุยืนกว่าผู้ชายที่รักเดียวใจเดียว 12 เปอร์เซ็นต์ โดยนักวิจัยพยายามหาเหตุผลมาอธิบายว่าเพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น ซึ่งคำอธิบายอาจจะฟังดูแปลกๆ อยู่บ้าง คือ ผู้ชายที่มากรักนั้นสามารถมีความสัมพันธ์และมีลูกได้แม้อายุจะมากถึง 60-70 ปี แล้ว นั่นทำให้คนเหล่านี้ต้องดูแลตัวเองเพื่อที่เลี้ยงดูลูกที่ยังเล็กต่อไป ในขณะที่ผู้ชายรักเดียวใจเดียวนั้น พอคู่ของตัวเองจากไปก็กลายเป็นหม้าย ไม่มีใครมาดูแลตัวเอง

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ได้จะบอกคุณว่ารักเดียวใจเดียวเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้นะครับ เพราะที่จริงแล้วก็มีคนตั้งมากมายที่รักเดียวใจเดียวอยู่ชั่วชีวิตได้เหมือนกัน แต่เนื่องจากมันไม่ใช่เรื่องที่เป็นธรรมชาติ แต่เป็นสภาวะที่ถูกบีบบังคับด้วยโครงสร้างอื่นๆ เช่น สังคม ความเชื่อ ค่านิยม และศาสนา รักเดียวใจเดียวจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ทว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ก็ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้และไม่ควรทำ ใครอยากรักเดียวใจเดียวและพยายามจะทำให้ได้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ถ้าทำไม่ได้ด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง ก็ต้องย้อนกลับมาพิจารณาว่า ‘ราคา’ ที่เราต้องจ่ายให้กับความมากรักของเรานั้น มันคุ้มค่ากันหรือเปล่า

เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวโดยแท้

 

 

ภาพประกอบโดย ปรางวลัย พูลทวี

Tags: , , , , , ,