เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา คณะทำงานจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ บขส. (บริษัท ขนส่ง จำกัด) ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดระเบียบย้ายวินรถตู้โดยสาร บขส. หมวด 2 ในเส้นทางที่วิ่งไปต่างจังหวัด (ระยะทางไม่เกิน 300 กม.) ให้เข้าไปประจำตามสถานีขนส่ง 3 แห่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้
รถตู้ที่วิ่งในเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-ภาคเหนือ และภาคอีสาน ให้ประจำสถานีขนส่งหมอชิต 2
รถตู้ที่วิ่งในเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-ภาคตะวันออก ให้ประจำสถานีขนส่งเอกมัย
และรถตู้ที่วิ่งในเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-ภาคใต้ ภาคตะวันตก ให้ประจำสถานีขนส่งสายใต้ปิ่นเกล้า
เพื่อให้การจราจรในพื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ คล่องตัวมากขึ้น ประกอบกับการจดทะเบียนผู้ประกอบการรถตู้โดยสารที่ขึ้นตรงกับ บขส. ฝ่าฝืนกฎที่กำหนดไว้ว่า จะต้องเคลื่อนออกจากสถานีขนส่ง 3 แห่งเท่านั้น โดยลักลอบเข้ามาอยู่ในพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา
ทีมข่าว The Momentum จึงได้ลงพื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสถานีขนส่งสายใต้ปิ่นเกล้า เพื่อพูดคุยกับทุกฝ่าย ทั้งประชาชน คนขับรถตู้โดยสาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ถึงที่มา เรื่องราว ปัญหา และความในใจ หลังการจัดระเบียบรถตู้โดยสารครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ความวิตกกังวลของผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบ
การย้ายวินรถตู้ บขส. ที่วิ่งระหว่างเส้นทางต่างจังหวัด (นอกพื้นที่เขตปริมณฑล) และกรุงเทพฯ ออกจากพื้นที่โดยรอบบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ย่อมสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนทั้งหลายที่ใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดตั้งต้นในการเดินทางไม่น้อย หลายคนเกิดปัญหาการเพิ่มระยะเวลาในการเดินทาง บางคนกังวลว่าตนจะมาทันใช้บริการรถ Shuttle Bus หรือไม่ เช่นเดียวกันกับที่อีกหลายคนวิตกว่าต่อไปนี้ พวกเขาต้องทำอย่างไรกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
นางสาวพรเพ็ญ รอดชูแสง อายุ 52 ปี อาชีพอิสระ หนึ่งในผู้ใช้บริการรถตู้อนุสาวรีย์ฯ เดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพฯ-เพชรบุรี เป็นประจำ ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่า “รู้ว่ามี Shuttle Bus คอยให้บริการ แต่ก็ประมาณเวลาไม่ได้ว่ากี่นาทีรถจึงจะออก หรือมีบริการตลอดเวลาไหม ที่สำคัญเราต้องแบกของขึ้นลงรถ Shuttle Bus ต่อรถหลายรอบ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เราฝากของให้รถตู้เอาของไปส่งที่หมายได้เลย แล้วเราก็ไปทำธุระต่อได้”
นางสาวพรเพ็ญเล่าถึงความไม่สบายใจที่วินรถตู้ที่ใช้บริการต้องย้ายไปอยู่สถานีขนส่งสายใต้ว่า “หากต้องเปลี่ยนไปขึ้นรถตู้ที่ปิ่นเกล้าจริงๆ มันก็ไกลนะ สมัยก่อนแถวนั้นถนนมืดมาก รถก็ไม่ค่อยแล่นผ่าน แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ถ้ารถตู้ย้ายกลับไปอยู่สายใต้จริงๆ เราไปขึ้นรถทัวร์ไม่ดีกว่าเหรอ นั่งสบายกว่าอีก”
ที่สำคัญเราต้องปรับตัวกับมัน เสียทั้งเวลา เสียเงิน เดินทางไกลขึ้น ไหนจะเรื่องความปลอดภัยอีก อนุสาวรีย์ชัยฯ มีคนพลุกพล่านกว่า อย่างน้อยก็ไม่เปลี่ยว ในมุมมองส่วนตัวคือยังอยากให้ที่นี่มีรถตู้ต่อไป แต่เจ้าหน้าที่อาจจะต้องมีการจัดการที่ดีขึ้น บริหารให้ดีว่าจะทำอย่างไร”
ด้าน นางสาวกาญจนา กุลตานนท์ อายุ 60 ปี อาชีพแม่ค้า ผู้ใช้บริการรถตู้บริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ เดินทางจากแม่กลองมากรุงเทพฯ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อมาหาหมอที่โรงพยาบาลราชวิถีและซื้อของจากดินแดงกลับไปขาย ให้สัมภาษณ์ว่า
“เมื่อก่อนหาหมอเสร็จ หรือหิ้วของจากดินแดงมาลงอนุสาวรีย์ชัยฯ ก็ขึ้นรถตู้ได้เลย แต่ในอนาคตเราจะต้องยกของจากดินแดงไปลงอนุสาวรีย์ชัยฯ เพื่อต่อรถที่ปิ่นเกล้า เรากังวลนะว่าหลังจาก 6 เดือน พอไม่มีรถ Shuttle Bus ฟรีคอยรับส่งแล้ว เราจะทำอย่างไรต่อไป
“เมื่อเช้าเรามาหาหมอช้ากว่าปกติประมาณชั่วโมงกว่าๆ คนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ บางคนก็บ่นว่าไม่สะดวก เพราะเขานั่งรถจากต่างจังหวัดมาลงที่อนุสาวรีย์ชัยฯ จะไปไหนมาไหนก็สะดวกกว่า เพราะมันเป็นจุดศูนย์กลาง”
ความเห็นที่ต่างกันของผู้ประกอบการบริเวณอนุสาวรีย์ฯ
ในวันที่พื้นที่ตรงนี้ไม่คึกคักเช่นเคย เพราะวินรถตู้ที่หายไป และจำนวนผู้คนสัญจรที่ลดลง คนอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือเหล่าผู้ประกอบการ เจ้าของร้านค้า ร้านอาหาร และร้านขายของในบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
พวกเขาคิดเห็นอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
นางสาววรนุช รักชัยภูมิ อายุ 40 ปี เจ้าของร้านอาหารครัวกำไรทอง เล่าถึงบรรยากาศในวันที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ไม่มีวินรถตู้ ลูกค้าที่หายไป และอนาคตการค้าขายของตัวเองว่า “ผลกระทบที่เห็นได้ชัดๆ เลยคือลูกค้าหายไปเยอะ เกือบครึ่งเลยก็ว่าได้ ร้านเราที่ขายแต่ของสด เมื่อขายไม่หมดก็ต้องทิ้ง วันนี้พอรู้ข่าว เราก็ลดปริมาณอาหารลงแล้ว แต่ก็ยังเหลือเยอะอยู่ดี แต่ถ้าจัดระเบียบให้อยู่ร่วมกันได้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อๆ ไปคงแย่ เพราะร้านเราเสียค่าเช่าล่วงหน้าไปในจำนวนเงินที่สูงไปแล้ว ต่อให้อนาคตรถตู้ไม่กลับมา คนน้อยลง เราก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งนั้น”
ขณะที่ นางสาวนัยรัตน์ เรืองธนานันท์ อายุ 55 ปี แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวบริเวณไม่ใกล้ไม่ไกล แม้จะมีรายรับลดลง แต่ก็มองว่าการย้ายวินรถตู้ก็มีข้อดี
“วันแรกก็มีผลชัดเจนแล้วนะ ลูกค้าที่ร้านลดน้อยลงจากเมื่อก่อนมาก ก่อนหน้านี้เราอาจจะมีรายรับอยู่ที่ 10,000 บาทต่อวัน แต่วันนี้เต็มที่ก็น่าจะประมาณ 5,000 บาท
“ส่วนเรื่องการจัดระเบียบในมุมมองของเรามันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือถนนมันโล่งและเป็นระเบียบมากขึ้น แต่ข้อเสียคือมันส่งผลกระทบกับรายได้ของเราอย่างชัดเจน แต่เราก็ยอมนะ เพราะเมื่อก่อนสมัยที่วินรถตู้ยังอยู่ เราก็เคยมีปัญหากระทบกระทั่งกับเขาอยู่เหมือนกัน”
ผู้ขับรถตู้โดยสารคิดอย่างไรเมื่อต้องย้ายที่ทำงานใหม่
หลังผู้ประกอบการและผู้ขับรถตู้โดยสารถูกสั่งให้ย้ายรถออกจากบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคมเป็นต้นไป อะไรคือสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นต้องเผชิญหลัง ‘ย้ายที่ทำงานใหม่’ ?
หลังต้องย้ายวินรถตู้จากอนุสาวรีย์ชัยฯ มาสถานีขนส่งฯ สายใต้ ปิ่นเกล้า กลุ่มผู้ขับรถตู้โดยสาร บขส. เส้นทางกรุงเทพฯ-นครปฐม วิน 997 พบว่า ชีวิตของพวกเขาเหมือนหนังคนละม้วน จากจำนวนผู้โดยสารที่เคยมีเต็มคันรถทั้งขาไปและกลับ วันนี้บางรอบอาจมีผู้โดยสารแค่คนเดียวหรือสองคน
“อย่างตอนนี้สถิติสูงสุดของพวกเราคือ 5 คนต่อคัน” คนขับรถตู้วิน 997 พูดด้วยน้ำเสียงที่ยิ้มไม่ออก
“ผู้โดยสารมักจะมาบ่นกับเราว่าต้องต่อรถหลายต่อกว่าจะมาถึงที่นี่ (สายใต้ ปิ่นเกล้า) ไม่เหมือนอนุสาวรีย์ชัยฯ ที่เขาลงรถตู้ก็ต่อรถไฟฟ้าได้ทันที”
แม้การย้ายวินรถตู้มาอยู่สายใต้ ปิ่นเกล้า จะย่นระยะทางการบริการ กรุงเทพฯ-นครปฐม ให้สั้นลง และเพื่อความยุติธรรมของผู้โดยสาร ผู้ให้บริการก็ปรับลดราคาลงจากเดิม 15 บาท (จากเดิม 60 บาท เหลือ 45 บาท)
“จากเดิมสมัยที่อยู่อนุสาวรีย์ชัยฯ คนขับวิ่งเต็มที่ไปกลับวันละรอบเคยได้มากสุดประมาณ 900 บาทต่อวัน พอย้ายมาอยู่ที่นี่ แม้ผู้โดยสารจะน้อยลง แต่เราก็ต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำคนละ 350 บาทต่อวัน เถ้าแก่เจ้าของรถได้เงินแค่วันละ 100 บาทต่อคัน ซึ่งเขาก็คงอยู่ไม่ไหวแน่ๆ ยิ่งพวกเราที่เป็นคนขับก็อายุมากกันแล้ว ถ้าต้องลาออกจากงานขับรถตรงนี้ไป ก็ไม่รู้จะไปสมัครงานอะไรเหมือนกัน”
นอกเหนือจากปัญหาจำนวนผู้โดยสารที่ลดน้อยลง กลุ่มผู้ขับรถตู้โดยสาร บขส. เส้นทางกรุงเทพฯ-นครปฐม ยังถูกวินรถตู้ในเส้นทางอื่นๆ เช่น ดำเนินสะดวก, ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์ หรือสุพรรณบุรี ซึ่งมีจังหวัดนครปฐมเป็นทางผ่านแย่งผู้โดยสาร โดยอ้างว่า วินของพวกตนก็วิ่งผ่านจังหวัดนครปฐมเช่นกัน
“พอหลายๆ วินที่วิ่งในเส้นทางใกล้เคียงกันถูกจัดให้มาอยู่ใกล้กัน แล้วไม่มีการจัดระเบียบที่ดี มันก็เกิดเป็นปัญหารถตู้วิ่งทับเส้นทางกัน วินที่อยู่ใกล้ผู้โดยสารสุดก็จะได้เปรียบ ส่วนวินรถตู้ที่ต้องตั้งอยู่ลึกๆ อย่างพวกเราก็เสียเปรียบ แถมจะยิ่งเป็นการสร้างความสับสนให้ผู้โดยสารด้วย พวกเราเชื่อนะว่าถ้าเขาไม่มีการจัดระเบียบที่ดีพอ ต่อไปเดี๋ยวคนขับแต่ละวินก็ต้องตีกันเองแน่ๆ”
“เรายินดีให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกคน” เสียงจากเจ้าหน้าที่ ขสมก.
ท่ามกลางความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับ ยังมีเจ้าหน้าที่จาก ขสมก. กลุ่มหนึ่งที่คอยลงพื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้กับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา ซึ่งอาจจะกำลังสงสัยว่ารถตู้โดยสารที่พวกเขาเคยใช้บริการหายไปไหน…
นางสาวอารมย์ สุขสะอาด ผู้ช่วยผู้จัดการรถปรับอากาศสาย 36 เจ้าหน้าที่ผู้ลงพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์หลังการย้ายรถตู้ออกจากอนุสาวรีย์ชัยฯ ว่า
“แค่วันแรกก็เห็นได้ชัดเลยว่าสภาพการจราจรโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยฯ คล่องตัวขึ้น ถนนมีระเบียบมากขึ้น ต่อจากนี้การจัดระเบียบวินรถตู้ยังคงดำเนินต่อไปไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งเรายังฟันธงไม่ได้ว่าการดำเนินการจะกินระยะเวลานานแค่ไหน ส่วนในมุมที่รถตู้เขาไม่พอใจ เราก็ขอไม่วิจารณ์ ปล่อยให้เป็นเรื่องของนโยบายดีกว่า”
นางสาวณัฐชาภรณ์ มณีฉาย พนักงานขับรถตู้ ขสมก. ต.83 เส้นทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต และเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์เรื่องรถตู้ของ ขสมก. ให้ข้อมูลว่า
“จากที่มาประจำการบริเวณนี้ตั้งแต่เช้า ก็มีคนเข้ามาถามข้อมูลทั้งวัน จนตอนนี้เสียงไม่มีแล้ว (หัวเราะ) ส่วนตัวเรารู้สึกดีนะที่มีการจัดระเบียบแบบนี้ เห็นได้ชัดเลยว่ารถติดน้อยลง ก่อนหน้านี้ช่วงที่ยังมีรถตู้จอดอยู่หน้าโรงพยาบาลราชวิถี เส้นทางดังกล่าวจะเดินทางเข้าออกลำบาก รถไม่สามารถผ่านเข้าออกโรงพยาบาลได้เลย ซึ่งหากยึดตามหลักความเป็นจริงของการจดทะเบียนแล้ว รถตู้บขส. ที่วิ่งในเส้นทางต่างจังหวัดจะต้องสังกัดอยู่ตามสถานที่ที่เขาถูกย้ายไปอยู่ตามปัจจุบันอยู่แล้ว เพียงแต่ก่อนหน้านี้พวกเขาลักลอบเข้ามาอยู่ในอนุสาวรีย์ชัยฯกันเอง”
“ยังเร็วไปที่จะตัดสินว่าสถานที่ใหม่ไม่เหมาะสม” – คำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ประจำสถานีขนส่งสายใต้ ปิ่นเกล้า
แม้ประชาชนผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ บรรดาผู้ประกอบการวินรถตู้ ตลอดจนเหล่าผู้ขับรถตู้โดยสารอาจมองว่า พื้นที่บริเวณสถานีขนส่งปิ่นเกล้ามีปัญหาในการเข้าถึงยากลำบาก รวมถึงไม่เหมาะต่อการจัดตั้งสถานที่นี้เป็นจุดเชื่อมต่อในการเดินทาง แต่เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลกลับมองว่าช่วงเวลานี้ยังเร็วไปที่จะตัดสิน
นายสมหวัง ทองขาว ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งกรุงเทพฯ พื้นที่ 2 (ดูแลพื้นที่สถานีขนส่งปิ่นเกล้า) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวของ The Momentum ถึงที่มาที่ไปในการดำเนินโครงการนี้ว่า
“เนื่องจากเงื่อนไขใบอนุญาตผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร บขส. นั้นระบุว่า รถตู้โดยสารจะต้องเดินทางออกจากสถานีขนส่งเท่านั้น ได้แก่ สถานีขนส่งสายใต้ ปิ่นเกล้า สถานีขนส่งหมอชิต 2 และสถานีขนส่งเอกมัย ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการรถตู้ทำผิดกฎหมายมาเป็นระยะเวลากว่า 7 ปีแล้ว กับการเข้าไปจัดตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนที่ก่อให้เกิดการจราจรแออัด และทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย
นายสมหวังกล่าวต่อว่า “ผู้ประกอบการหรือผู้ขับรถตู้โดยสารอาจจะอ้างว่าประชาชนเข้าถึงอนุสาวรีย์ชัยฯ ง่ายกว่า เดินทางสบายกว่า ตอนนี้เราก็มีทางออกให้ประชาชนในการเดินทางแล้ว เรามี Shuttle Bus ให้บริการประชาชนในการเดินทางไปยังสถานีขนส่งต่างๆ หรือแม้แต่การเริ่มปรับให้สถานีขนส่งทั้ง 3 แห่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินรถของรถโดยสารประจำทางหลายๆ สาย ผมมองว่าต่อไปนี้ประชาชนจะไม่เดือดร้อนในการเดินทางมายังที่นี้ เขาจะสามารถต่อรถจากที่นี่ไปยังสถานที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย
“ส่วนเรื่องความปลอดภัย ตอนนี้ กทม. ก็เริ่มเข้ามาปรับปรุงเรื่องแสงสว่างโดยการติดตั้งไฟสปอตไลท์ภายในบริเวณสถานีขนส่งปิ่นเกล้า
“สำหรับผู้ขับรถตู้โดยสารก็อาจจะเร็วไปกับการตัดสินว่าสถานที่นี้ไม่เหมาะกับพวกเขา พวกเขาอาจจะต้องให้เวลาพวกเราและผู้โดยสารสักหนึ่งเดือนในการปรับตัว ผมว่าบางทีผู้โดยสารอาจจะเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำไป หลังจากนี้อะไรๆ ก็น่าจะลงตัวขึ้นกว่าเดิม เราจะทำการประเมินแบบวันต่อวันเพื่อแก้ปัญหาให้ได้โดยตลอด
ทั้งนี้ นายสมหวังได้แสดงทรรศนะตอบโต้กลุ่มผู้ขับรถตู้โดยสาร บขส. บางกลุ่มที่อ้างว่ารถตู้ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้การจราจรติดขัดรอบอนุสาวรีย์ว่า
“การที่ประชาชนต้องเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าวเพื่อใช้บริการรถตู้โดยสารก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้รถติด ทุกวันนี้สถานีขนส่งสายใต้ ปิ่นเกล้า ก็แก้ปัญหาโดยการไม่ให้นำรถส่วนตัวเข้ามา หรือให้รถแท็กซีรอรับผู้โดยสารบริเวณด้านนอก
“เรามีความตั้งใจที่จะปรับปรุงพื้นที่บริเวณนี้ให้สมบูรณ์แบบที่สุด เพราะฉะนั้นก็ไม่มีเหตุผลอื่นๆ ที่ผู้ประกอบการรถตู้จะไม่ยอมย้ายเข้ามาอยู่ข้างในนี้ เหตุผลอื่นๆ ของคือเขาเคยมีความเป็นอยู่อย่างไร เขาก็คุ้นชินกับสภาพแวดล้อมแบบนั้น ผมคิดว่าต้องให้เวลามากกว่านี้ ก่อนจะตัดสินว่าพื้นที่บริเวณนี้มันดีหรือไม่ดีอย่างไร”
ด้านนายณรงค์ สิงนิสัย หัวหน้างานตรวจการเขตการเดินรถที่ 6 ขสมก. (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องป้ายประชาสัมพันธ์ที่ยังไม่บอกรายละเอียดเรื่องจังหวัดที่ชัดเจน หรือไม่มีภาษาอังกฤษว่า
“ในอนาคตก็จะต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้ป้ายสามารถบอกรายละเอียดได้ชัดเจนขึ้น โดยที่ผมจะต้องนำเสนอปัญหานี้ในที่ประชุม เพราะงานตัวนี้ต้องพูดตรงๆ ว่าค่อนข้างเร่งรัดกันมาก ประกอบกับช่วงนี้ฝั่ง ขสมก. เองก็รับงานเยอะมากเช่นกัน
“ส่วนปัญหารถ Shuttle Bus มีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน เรามีการขอเพิ่มจำนวนรถในเส้นทางสถานีขนส่งสายใต้ ปิ่นเกล้า-อนุสาวรีย์ชัยฯ เพิ่มเป็น 12 คัน จากเดิม 6 คัน โดยปรับระยะเวลาให้รถออกถี่ขึ้นทุกๆ 10 นาที เพื่อที่ประชาชนจะได้รับความสะดวกมากที่สุด หรืออย่างตอนนี้ผมก็ขอเปิดเส้นทางรถสายใหม่ไปกับคณะทำงานแล้ว หากมีคำสั่งลงมาเมื่อไร เราก็สามารถจัดรถโดยสารสายใหม่ที่วิ่งตรงจากสถานีขนส่งสายใต้ ปิ่นเกล้าไปยังอนุสาวรีย์ชัยฯ ได้เลย”
ส่วนปัญหาเรื่องเส้นทางการเดินรถที่ทับซ้อนกันของวินรถตู้หัวต่างๆ นาย ณรงค์ เผยว่า “เราจะแก้ปัญหาโดยให้วินรถตู้แต่ละวินเข้ามาตั้งโต๊ะขายตั๋วกันในพื้นที่จัดสรรเลย เพื่อให้วินแต่ละวินมองเห็นกันได้หมด จะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกันว่าใครเสียเปรียบ ใครได้เปรียบ
“ในอนาคตก็จะต้องมีการปรับปรุงพื้นที่บริเวณนี้ให้ดีขึ้นอยู่แล้ว เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ ผู้ประกอบการ และคนขับรถเอง ไม่ต้องห่วงเลย เพราะพื้นที่ตรงนี้จะกลายเป็นสถานีรถตู้หลักๆ ของโซนนี้ แล้วมันจะไม่ดีขึ้นได้อย่างไร…”
อนาคตที่ยังไม่แน่นอน คำตอบของปัญหาที่ต้องติดตามต่อไป
ตามระยะเวลาในการดำเนินงานของโครงการอยู่ที่ช่วง 6 เดือน (ตุลาคม 2559-เมษายน 2560) ซึ่งหลังจากนี้เราก็ต้องมาติดตามกันอีกทีว่าการจัดระเบียบวินรถตู้รอบอนุสาวรีย์ชัยฯ ในครั้งนี้ จะเป็นทางออกหรือจะควบแน่นจนกลายเป็นเมฆแห่งปัญหาก้อนใหม่ ทั้งปัญหาป้ายประชาสัมพันธ์ที่ให้ข้อมูลรายละเอียดไม่ชัดเจน และไม่มีภาษาต่างประเทศ ไปจนถึงเหตุใดเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลรับผิดชอบจึงปล่อยปละละเลยให้มีการละเมิดกฎหมายเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี
และไม่ว่าผลลัพธ์ของการจัดระเบียบในครั้งนี้จะออกมาในรูปแบบใด เราคงไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าการปรับวิถีการดำเนินชีวิตให้เข้ากับสถานการณ์ ณ ปัจจุบันให้ได้มากที่สุด…
ที่มา: บริษัท ขนส่ง จำกัด
FACT BOX:
5 ข้อต้องรู้ก่อนใช้บริการ Shuttle Bus
1.เวลาให้บริการ
สำหรับ Shuttle Bus รถรับส่งประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายไปยังสถานีต่างๆ 3 จุด ทั้งสถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต 2 สถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้ ปิ่นเกล้า และสถานีขนส่งผู้โดยสารเอกมัยนั้น จะให้บริการจากต้นสาย-ปลายสาย (สถานีขนส่งต่างๆ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) ตั้งแต่เวลา 05:00 น. และสิ้นสุดรอบวิ่งคันสุดท้ายที่เวลา 20:00 น. แต่ละจุดจะมีรถประจำการจุดละ 3 คัน รวมต้นสาย-ปลายสายเป็น 6 คัน (ยกเว้นเส้นทางสถานีขนส่งสายใต้ ปิ่นเกล้า-อนุสาวรีย์ชัยฯ ที่เพิ่มเป็น 12 คัน เนื่องจากจำนวนไม่เพียงพอต่อผู้โดยสาร)
ในกรณีที่เลยเวลาให้บริการและมีผู้โดยสารตกค้าง อาจจะมีการเสริมรอบวิ่งพิเศษ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ หรือไม่ก็ต้องเลือกใช้บริการรถโดยสารประจำทางปกติแทน
2. เส้นทางการวิ่ง
Shuttle Bus ทุกคันจะใช้เส้นทางพิเศษ (ทางด่วน) ในการเดินทางไปยังที่หมาย โดยรถจะเดินทางออกจากป้ายทุกๆ 20 นาที หรือในกรณีที่มีผู้โดยสารเต็มคันรถก่อนเวลา ก็สามารถออกรถได้ทันที
3. ตำแหน่งขึ้นรถ
สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปสถานีขนส่งหมอชิตใหม่และสายใต้ ปิ่นเกล้า ให้ขึ้นรถ Shuttle Bus ที่ ‘เกาะพหลโยธินฝั่งนอก’ ส่วนผู้ที่จะเดินทางไปยังสถานีขนส่งเอกมัยให้ไปขึ้นรถที่ ‘เกาะดินแดง’
4. Shuttle Bus มีระยะเวลาให้บริการแค่ 6 เดือน
หลังจากสิ้นสุดช่วงระยะเวลา 6 เดือน (เมษายน 2560) Shuttle Bus ฟรีจะสิ้นสุดการให้บริการ เนื่องจากต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูงมาก ทั้งค่าผ่านทางพิเศษ ค่าเชื้อเพลิง 6 เดือน รวมทั้งหมดก็ราวๆ 3 ล้านบาท โดยประชาชนสามารถเลือกใช้บริการรถโดยสารประจำทางทั่วไปแทน
5. ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 30 นาที
หลังจากที่ทีมข่าว The Momentum ได้ลงพื้นที่สำรวจสถานีขนส่งสายใต้ปิ่นเกล้า โดยใช้บริการรถ Shuttle Bus ออกจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในช่วงเวลา 16:00 น. และถึงสถานีขนส่งสายใต้ ปิ่นเกล้า ในเวลา 16:30 น. ขณะที่ขากลับ เดินทางออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ปิ่นเกล้า ในเวลา 18:08 น. และถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในเวลา 18:35 น.
โดยสรุปใช้ระยะเวลาในการเดินทางไป-กลับ ประมาณ 30 นาที ทั้งนี้ผลการทดลองอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยเเวดล้อมที่ต่างออกไปด้วย เช่น สภาพการจราจรบนท้องถนน และช่วงเวลาที่ออกเดินทาง
Tags: BANGKOK, Transportation, Victory monument, สถานีขนส่งหมอชิต 2, สถานีขนส่งเอกมัย, สถานีขนส่งสายใต้ ปิ่นเกล้า, ขสมก., อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, บริษัท ขนส่ง จำกัด, Shuttle Bus