หลังจากที่ชิ้นก่อนๆ ผู้เขียนนำเนื้อหาสาระจากหนังสือที่ได้อ่านมาเล่าสู่กันฟัง ชิ้นนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาเล่าถึงรายงานชิ้นหนึ่งที่เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่ช่วงปีใหม่ ซึ่งผู้เขียนคิดว่ามีเนื้อหาน่าสนใจหลายประการชวนให้ขบคิดต่อ
5 เทรนด์ของโลก
ทุกๆ ต้นปี องค์กรที่มีชื่อว่า World Economic Forum หรือสภาเศรษฐกิจโลก ซึ่งรับผิดชอบการจัดประชุมผู้นำจากทั่วโลกที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จะจัดทำรายงานสำรวจความเสี่ยงของโลก (The Global Risks Report) ว่าในปีที่กำลังจะย่างกรายเข้ามา มีเทรนด์สำคัญอะไรที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม และเทรนด์เหล่านั้นก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ท้าทายโลกที่เราอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างไร
ในปีนี้ รายงานดังกล่าวระบุว่า เทรนด์ที่มีอิทธิพลชี้นำกำหนดความเป็นไปของโลกที่สำคัญที่สุดมีอยู่ 5 ประการด้วยกัน คือ
หนึ่ง ช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งและรายได้ระหว่างคนในโลกที่ถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ
สอง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนำไปสู่สภาวะโลกร้อน การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่หนักหน่วงจนคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาล
สาม อาการแบ่งแยกแตกขั้วทางสังคมที่ปรากฏมากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกที่ประชาชนในแต่ละประเทศแตกออกเป็นสองขั้ว มองอีกฝ่ายเป็นศัตรูที่อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจและความเกลียดชังในสังคมจนบานปลายกลายเป็นรอยร้าวที่ยากแก่การประสาน ทำให้สังคมไร้เสถียรภาพ สับสนอลหม่าน เต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ยืดเยื้อรุนแรง นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ และภาวะชะงักงันทางการเมือง ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงลำพัง ทว่าเป็นปัญหาที่ปรากฏเหมือนๆ กันในหลายประเทศทั่วโลก และกำลังแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เวเนซุเอลา บราซิล อียิปต์ ฮังการี ตุรกี กรีซ บังกลาเทศ ฯลฯ ความแตกแยกนี้มีทั้งที่เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ และการปะทะทางวัฒนธรรม (จากการไหล่บ่าเข้ามาของผู้อพยพ)
สี่ การที่โลกไซเบอร์เชื่อมต่อชีวิตผู้คน สิ่งของ และสถานที่เข้าด้วยกันอย่างเหนียวแน่นจนกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตมนุษย์ และโลกไซเบอร์ในปัจจุบันส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและลบต่อผู้คนในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษย์ และกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกัน
สุดท้าย เทรนด์ประการที่ ห้า การที่โลกก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยที่ประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะในโลกตะวันตกและประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงเช่นญี่ปุ่น เทรนด์นี้เกิดขึ้นมาเป็นเวลาพักใหญ่แล้ว แต่ในระยะหลังกำลังขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีด้านการแพทย์ที่ดีขึ้นบวกกับอัตราการเกิดที่ลดลง แน่นอนด้านบวกคือคนอายุยืนยาวมากขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือความท้าทายของการจัดระบบสวัสดิการทางสังคมรองรับการเป็นสังคมผู้สูงวัย ภาระด้านงบประมาณ วัยทำงานที่ลดลง และต้องรับผิดชอบดูแลผู้คนในครอบครัวมากขึ้น ฯลฯ
เทรนด์ทั้ง 5 เทรนด์นี้คือความเป็นไปของโลกที่แพร่ขยายครอบคลุม และส่งผลกระทบต่อชีวิตของทุกคนในโลกอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง ไม่ว่าเราจะปฏิเสธมันอย่างไร นี่คือภาวะความเป็นจริงของโลกที่กำลังหมุนไปอย่างรวดเร็ว
ไม่ต้องดูอื่นไกล สังคมไทยของเราเองก็เผชิญหน้าและประสบพบเจอกับอิทธิพลของเทรนด์ทั้ง 5 อย่างแจ่มชัดมากที่สุดสังคมหนึ่ง ผลการสำรวจของหลายองค์กรชี้ว่าประเทศไทยอันเป็นที่รักของเราเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำสูงติดอันดับท็อปเทนของโลก นักเศรษฐศาสตร์ของไทยชี้ว่าความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ในคนรวยสุด 1% ของประเทศ และยังพบว่าครัวเรือนมั่งคั่งที่สุดร้อยละ 20 มีทรัพย์สินรวมกันมากกว่าครัวเรือนที่จนที่สุดร้อยละ 20 อยู่ถึงประมาณ 70 เท่า ในด้านโครงสร้างประชากร สังคมไทยก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุรวดเร็วที่สุดประเทศหนึ่งในโลก การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยมีระดับการพัฒนาแบบประเทศรายได้ปานกลาง (คือแก่ก่อนที่จะรวย) ทำให้ความท้าทายเรื่องการจัดระบบสวัสดิการที่ดียิ่งหนักหน่วงเป็นทวีคูณ
ในเรื่องสภาพภูมิอากาศ เราประสบภัยธรรมชาติรุนแรงอยู่เป็นระยะ ซึ่งนำไปสู่ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนเรื่องความแตกแยกแบ่งขั้วทางสังคมและการเมือง คงไม่ต้องอธิบายด้วยถ้อยคำใดๆ ให้เปลืองเนื้อที่ ทุกท่านประจักษ์ด้วยตนเองอยู่แล้ว
โลกไซเบอร์นั้นเล่าก็มีอิทธิพลต่อชีวิตคนไทยมากขึ้น แต่น่าเสียดายว่ารัฐไทยจัดการกับมิตินี้ด้วยกระบวนท่าที่ล้าสมัยกระทั่งตกยุคไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลง แม้เราจะประกาศตัวว่าต้องการมุ่งเข้าสู่การเป็นสังคมดิจิทัล แต่นั่นดูจะเป็นเพียงโวหารอันสวยหรูเสียมากกว่า เพราะโลกยุคไซเบอร์นั้นมุ่งสู่การเป็น ‘สังคมเปิด’ ที่รัฐไม่ใช่ศูนย์กลางในการควบคุมข้อมูลข่าวสาร แต่ให้ประชาชนเป็นผู้เชื่อมต่อและผลิตข้อมูลข่าวสารด้วยตนเอง แต่สังคมไทยกลับมุ่งสู่การเป็น ‘สังคมปิด’ มากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับทิศทางของโลก
ความเหลื่อมล้ำกัดกร่อนประชาธิปไตย
ผู้เขียนเองอยากขยายรายละเอียดในปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในโลก เพราะคิดว่ามันสำคัญและเกี่ยวข้องกับอนาคตของเราโดยตรง ผลการวิจัยและสถิติต่างๆ ที่จัดทำโดยองค์กรระหว่างประเทศและสถาบันวิชาการในรอบปีที่ผ่านมาล้วนชี้ถึงภาวะที่น่ากังวลนี้ งานศึกษาโดยบริษัทหลักทรัพย์เครดิต สวิส (Credit Suisse) พบว่าคนรวยสุดที่อยู่บนยอดของพีระมิดเพียง 0.7% ของโลกครอบครองความมั่งคั่งถึง 45.6% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของโลกทั้งใบ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ 73.2% ที่อยู่ล่างสุดของพีระมิดมีส่วนแบ่งความมั่งคั่งเพียง 2.4% เท่านั้น รายงานอีกชิ้นหนึ่งขององค์การอ็อกแฟม (Oxfam) ชี้ให้เห็นตัวเลขที่น่าตกใจยิ่งกว่าว่า อภิมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก 8 คน มีทรัพย์สินรวมกันเท่ากับทรัพย์สินของคนที่จนที่สุดในโลก 50% รวมกัน
มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ผู้โด่งดังจากการริเริ่มการจัดตั้งธนาคารเพื่อคนจน ถึงกับกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำกำลังเป็นเสมือน ‘กับระเบิด’ ลูกใหญ่ของโลกที่รอวันระเบิดในไม่ช้าก็เร็ว ช่องว่างระหว่างคนมั่งคั่งที่ประสบความสำเร็จและชีวิตเต็มไปด้วยโอกาสที่เปิดกว้างกับคนอัตคัดยากไร้ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ประทังชีวิตให้อยู่รอด และรู้สึกว่าโลกปิดกั้นโอกาสและกำลังทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลัง คือฐานของภูเขาน้ำแข็งที่นำไปสู่ปัญหาสารพันที่โผล่พ้นน้ำมาให้เราเห็น โดยเฉพาะปัญหาความแตกแยกทางการเมือง
เกือบจะเป็นสัจธรรมเสียแล้วว่า สังคมที่มีความไม่เท่าเทียมสูงมักมีปัญหาความแตกแยกและไร้เสถียรภาพทางการเมือง ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดที่สุดในรอบปี 2559 ที่ผ่านมาคือ ผลโหวต Brexit ที่สูสีและเผ็ดร้อนระหว่างคนอังกฤษที่ต้องการตัดสินใจแยกตัวออกจากอียูกับคนที่ต้องการอยู่ต่อ และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ขับเคี่ยวระหว่างฝ่ายที่สนับสนุน ฮิลลารี คลินตัน กับ โดนัลด์ ทรัมป์
ประเทศไทยเองก็อยู่บนขบวนรถไฟเดียวกันกับทั้งสองประเทศนี้ในแง่การแบ่งขั้วที่มาพร้อมกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง
ทำไมในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูง การเมืองจึงไร้เสถียรภาพ กระทั่งประชาธิปไตยถูกกัดกร่อนและเสี่ยงต่อการล่มสลาย เพราะความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่งนำมาซึ่งผลประโยชน์ของคนในสังคมที่แตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต้องสงสัยแต่ประการใดเลยว่าคนที่อยู่บนยอดของพีระมิดกับคนที่อยู่ที่ฐานพีระมิดย่อมมีผลประโยชน์และความต้องการชุดนโยบายที่ต่างกันจนยากที่จะประสาน เลือกพรรคการเมืองต่างกัน มีผู้นำในอุดมคติคนละแบบ กระทั่งมีความใฝ่ฝันถึง ‘การเมืองที่ดี’ คนละชุด
ยิ่งความเหลื่อมล้ำถ่างกว้าง ความฝันก็แยกเป็นสองขั้ว การเมืองกลายเป็นเรื่องของมิตรและศัตรู เป็นเรื่องขาวดำ เป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่าง ‘พวกเขา’ กับ ‘พวกเรา’ การเมืองที่ควรเป็นเรื่องของการต่อรองประสานผลประโยชน์ที่แตกต่างหลากหลาย กลายเป็น ‘สงคราม’ ที่ต้องรบให้แพ้ชนะตายตกกันไปข้างหนึ่ง ซึ่งเมื่อกลายเป็นเช่นนี้ประชาธิปไตยก็มักจะไปไม่รอด เพราะหัวใจของระบอบประชาธิปไตยคือความพยายามจัดการความขัดแย้งภายใต้กฎกติกาที่ยอมรับร่วมกัน ไม่มีใครได้หมดหรือเสียหมด และพยายามสร้างหลักประกันเรื่องเสรีภาพให้กับประชาชนทุกกลุ่มได้แสดงออกได้
แต่สังคมที่แตกแยกรุนแรง ผู้คนปกป้องเฉพาะเสรีภาพของกลุ่มตน และเรียกร้องรัฐให้ปิดกั้นเสรีภาพของฝ่ายตรงข้าม คนไม่ยอมรับกติกาหากกติกานั้นทำให้ฝ่ายตรงข้ามได้ประโยชน์มากกว่าฝ่ายตน ในสังคมที่เหลื่อมล้ำและแตกแยกแบ่งขั้วสูง ประชาธิปไตยทำงานได้ลำบาก และจึงมักสะดุดหยุดลง กระทั่งถูกทำให้ล่มสลาย
ภาวะแบ่งขั้วนี้เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘สังคมหลังความจริง’ (post-truth society) ที่ความคิดของคนถูกกำหนดด้วยอารมณ์และความเชื่อมากกว่าข้อเท็จจริง ก็ยิ่งทำให้อคติและความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันของคนในสังคมเพิ่มสูงขึ้น การเมืองกลายเป็นศาสนา เหตุผลเป็นเรื่องไม่สำคัญ ผู้คนมองหา ‘ประกาศก’ ที่จะมาเป็นผู้นำกอบกู้ชีวิตพวกเขาและถือธงต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม ถึงที่สุดมันเป็นเนื้อดินอันอุดมสมบูรณ์ให้กับการเกิดขึ้นของผู้นำแบบเผด็จการอำนาจนิยม ที่เสนอตัวมาอาสาแก้ไขวิกฤต ผู้นำเหล่านี้มาพร้อมกับคำตอบแบบหยาบง่ายให้กับทุกปัญหา ไม่ว่ามันจะซับซ้อนแค่ไหน (เช่น แก้ปัญหาผู้อพยพด้วยการสร้างกำแพง) สัญญาว่าพวกเขาจะนำสังคมที่ดีกลับมา (great again) ในเวลาไม่ช้า ขอให้มอบความไว้วางใจให้กับผู้นำ นักการเมืองเหล่านี้ ‘เล่น’ กับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่เบื่อหน่ายและผิดหวังกับนักการเมืองและระบบการเมืองแบบเดิม โดยโฆษณาป่าวประกาศว่าพวกเขาจะแก้ปัญหาอย่างฉับไวทันที และทำเพื่อประชาชนผู้ถูกละเลยอย่างแท้จริง (แม้ว่าเป้าหมายที่แท้จริงจะมุ่งอำนวยผลประโยชน์เพื่อชนชั้นนำก็ตาม) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของผู้นำแบบอำนาจนิยมที่ฉวยใช้ความแตกแยกทางสังคมอันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำ (สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงติดอันดับโลก) และภาวะสังคมหลังความจริงในการก้าวขึ้นสู่อำนาจ
ในปี 2560 นี้ โลกกำลังเดินเข้าสู่ยุคสมัยของความเหลื่อมล้ำสูงและการเมืองที่ผันผวนไร้เสถียรภาพมากที่สุดยุคหนึ่งตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ซึ่งบั่นทอนประชาธิปไตยให้ถดถอยลง ‘ปรากฏการณ์ทรัมป์’ เป็นเพียงอาการของโรค มิใช่สาเหตุที่ทำให้เราเดินมาถึงจุดนี้
จะหลุดออกจากกับดักตรงนี้อย่างไร ไม่มีใครมีคำตอบสำเร็จรูป แต่แน่นอนว่าต้องเริ่มจากการมองเห็นความจริงที่ว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความแตกแยกทางสังคมนั้นก่อให้เกิดภาวะชะงักงันทางการเมือง
ซึ่งเปิดโอกาสให้เผด็จการอำนาจนิยมได้เติบโตงอกงาม
ภาพประกอบ: Karin Foxx
Tags: WorldEconomicForum, democracy