นักวิจารณ์คนหนึ่งพูดถึงหนังสือเล่มนี้ว่า “นี่คือหนังสือเกี่ยวกับการเมืองอเมริกันที่ฉลาด รุ่มรวยข้อมูล และมีความเป็นมนุษย์มากที่สุดเล่มหนึ่งในรอบหลายปี”

ว่าไปแล้ว โดยปกติ หนังสือวิชาการเกี่ยวกับการเมืองมักจะน่าเบื่อ แต่หนังสือเล่มนี้ตรงกันข้าม มันเต็มไปด้วยชีวิตชีวาและอารมณ์ความรู้สึก ผู้เขียนเป็นศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ เชี่ยวชาญในเรื่องจิตวิทยาการเมือง แทนที่เธอจะหมกมุ่นกับสถิติตัวเลข หรือใช้วิธีการแจกแบบสอบถามอันแห้งแล้งน่าเบื่อหน่าย  เธอใช้เวลาเกือบสิบปีตระเวนพูดคุยซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับผู้คนที่อาศัยอยู่ในรัฐวิสคอนซิน โดยเฉพาะในเขตชนบท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานผิวขาว เพื่อพยายามเข้าใจความรู้สึกนึกคิดทางการเมืองของพวกเขาว่า เหตุใดจึงเทเสียงสนับสนุนผู้ว่าการรัฐที่มีหัวอนุรักษ์นิยมอย่างมาก

รัฐวิสคอนซินนี่เอง (พร้อมกับรัฐที่มีการแข่งขันสูสีอีก 3-4 รัฐ) ที่มอบชัยชนะให้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างฉิวเฉียด (ทั้งที่เดิมฝ่ายเดโมแครตคาดคิดว่าฮิลลารีจะกำชัยชนะในรัฐนี้อย่างสบายๆ) และมีส่วนช่วยกรุยทางให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีไปในท้ายที่สุด

แคทเธอรีน เครเมอร์ ใช้เวลาขลุกอยู่กับกลุ่มคนที่เธออยากทำความเข้าใจ จับเข่าคุยกับพวกเขา ถึงความฝัน ความหวัง และความอึดอัดคับข้องใจ หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมาตั้งแต่ต้นปี 2016 ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่มันเหมือนเป็นหนังสือที่ทำนายผลการเลือกตั้งล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ

เธอชี้ให้เห็นว่าคนชนชั้นกลางผิวขาวที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทของวิสคอนซิน ‘เอียงขวา’ มากขึ้นเรื่อยๆ และสะสมอารมณ์โกรธอย่างรุนแรงต่อทิศทางการเมืองและเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินไป พวกเขารู้สึกแปลกแยก วิตกกังวล และมองไม่ค่อยเห็นอนาคตที่สดใสเบื้องหน้าพวกเขา (โดยเฉพาะในรุ่นลูกหลาน) ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 เป็นต้นมา พวกเขารู้สึกว่าหน้าที่การงานไม่มั่นคง รายได้และความมั่งคั่งถดถอยกระทั่งหยุดอยู่กับที่ ความสั่นคลอนในแง่สถานะทางเศรษฐกิจยังนำไปสู่ความรู้สึกเปราะบางทางอัตลักษณ์ดั้งเดิมของตนเอง

คนผิวขาวเหล่านี้เคยเลือกโอบามามาก่อน
ตอนโอบามาลงชิงชัยประธานาธิบดีครั้งแรกตอนปี 2008
พวกเขามองเห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างโอบามาและทรัมป์
ในฐานะคนหน้าใหม่ที่อยู่นอกวงชนชั้นนำวอชิงตัน
ที่มีศักยภาพในการนำความเปลี่ยนแปลงสดใหม่มาสู่เวทีการเมือง

หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงพร้อมกับชัยชนะของทรัมป์ เธอกลับไปคุยกับคนที่เธอศึกษาอีกครั้ง ถามว่าทำไมเลือกทรัมป์?

เครเมอร์พบว่าคนที่เลือกทรัมป์ ไม่ใช่ทั้งหมดเป็นพวกเหยียดผิว เหยียดเพศ และไม่ใช่ว่าพวกเขาถูกปั่นหัวและชักจูงโดยทรัมป์อย่างบ้าคลั่งงมงาย คำอธิบายเช่นนี้มันหยาบง่ายเกินไปและไม่ช่วยให้เข้าใจผู้สนับสนุนทรัมป์เท่าใดนัก ภายใต้ภูเขาน้ำแข็งที่ปรากฏผ่านสื่อนี้ มีอะไรซ่อนอยู่ลึกกว่านั้น

ไม่มีใครโง่และฉลาดกว่ากันในการตัดสินใจทางการเมือง

พวกเขาตอบว่า ที่เลือกทรัมป์ เพราะทรัมป์เสนอสิ่งที่ตอบสนองต่อความกังวลและความโกรธของพวกเขา พวกเขาไม่ได้มองว่าทรัมป์เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่หรือเป็นคนดี พวกเขากระทั่งตระหนักดีว่าทรัมป์เป็นคนเย่อหยิ่งจองหอง โผงผาง อวดดี ขี้โมโหฉุนเฉียว และควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ค่อยได้ แต่ทรัมป์เสนอทางออกแบบง่ายๆ แต่ตรงกับความรู้สึกของผู้คนเหล่านี้ที่โทษชาวต่างชาติ ผู้อพยพ มุสลิม และแรงงานต่างชาติว่าเป็นสาเหตุของความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและเป็นภัยคุกคามต่ออัตลักษณ์ดั้งเดิมของพวกเขา สโลแกน ‘ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง’ กระทบโสตประสาทและกระทบใจคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าอเมริกากำลังเสื่อมถอยอย่างยิ่งจากการเสียเปรียบดุลการค้าและการไหล่บ่าเข้ามาของ ‘คนต่างด้าว ต่างศาสนา วัฒนธรรม’

คนเห็นทรัมป์เป็นผู้นำสารและส่งสารบางอย่าง (messenger) คนไม่ได้เลือกทรัมป์เพราะบุคลิกของเขา แต่เพราะเบื่อหน่ายพวกนักการเมืองชั้นนำ และเชื่อเอาง่ายๆ ว่าคนอย่างทรัมป์เท่านั้นที่จะไป ‘เขย่า’ ระบอบการเมืองและเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ได้

“เขาแหกคอกนอกกระแสและไม่สนใจขนบธรรมเนียมเดิม”

“เขาจะทำบางอย่างที่แปลกออกไป”

“ทรัมป์บ้าบิ่นดี ต้องลองให้โอกาส” กลุ่มคนที่เครเมอร์สัมภาษณ์บอกกับเธอ

ในขณะที่คนหนุ่มสาวและคนที่เลือกฮิลลารีมองว่าคนที่เลือกทรัมป์นั้น ‘โง่’ คนที่เลือกทรัมป์ก็มีความฉงนใจไม่แพ้กันและถามเครเมอร์ว่า “พวกนักศึกษามหาวิทยาลัยของคุณเลือกฮิลลารีไปได้อย่างไร เธอมันพวกปลิ้นปล้อนตลบตะแลงชัดๆ” ที่น่าสนใจคือคนผิวขาวเหล่านี้เคยเลือกโอบามามาก่อนตอนโอบามาลงชิงชัยประธานาธิบดีครั้งแรกตอนปี 2008 พวกเขามองเห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างโอบามาและทรัมป์ในฐานะคนหน้าใหม่ที่อยู่นอกวงชนชั้นนำวอชิงตัน ที่มีศักยภาพในการนำความเปลี่ยนแปลงสดใหม่มาสู่เวทีการเมือง ในขณะที่ฮิลลารีไม่ใช่

ที่น่าสนใจที่สุดคือ หลายคนบอกว่าพวกเขาทำใจไว้ด้วยว่าสุดท้ายทรัมป์อาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรได้สำเร็จทุกอย่าง แต่พวกเขาได้ใช้อำนาจที่ตนมีอยู่ในมือแล้วผ่านคูหาเลือกตั้งเพื่อสั่งสอนพวกชนชั้นนำทั้งในพรรครีพับลิกันและเดโมแครต ที่ละเลยและเพิกเฉย กระทั่งไม่เห็นหัวพวกเขามาก่อน

ในการอธิบายเรื่องการเมือง อารมณ์ความรู้สึกเป็นสิ่งที่มักถูกละเลย ส่วนใหญ่แล้วการเมืองแพ้ชนะกันไม่ใช่ด้วยข้อเท็จจริง แต่ด้วยโวหารและเรื่องเล่าที่จับใจและตอบสนองอารมณ์ของผู้คน คนส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าใจการเมืองผ่านทฤษฎีหรือข้อมูล แต่เข้าใจและรับรู้การเมืองผ่านตัวตนและประสบการณ์ตรงที่พวกเขาประสบ ผ่านความเข้าใจว่าพวกเขาคือใคร มีสถานะอยู่ตรงไหนในสังคม และอนาคตของพวกเขาจะเป็นเช่นไรท่ามกลางตัวเลือกทางการเมืองที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ต้องตัดสินใจ ไม่มีใครโง่และฉลาดกว่ากันในการตัดสินใจทางการเมือง

ถึงที่สุดการเมืองมิใช่อะไรอื่น แต่คือการตัดสินเชิงคุณค่าที่ผู้คนในสังคมมีต่อสรรพสิ่งต่างๆ… อย่างไรถึงเรียกว่า ‘ยุติธรรม’ อย่างไรถึงเรียกว่า ‘ดี’ มันไม่ได้มีคำตอบตายตัวสำเร็จรูป ยิ่งสังคมเหลื่อมล้ำมากขึ้นเท่าใด ระบบคุณค่าของผู้คนก็แตกต่างกันมากขึ้นเพียงนั้น คนในสังคมเดินไปคนละทางและถูกชี้นำด้วยคุณค่าคนละชุด จนไม่สามารถหาจุดบรรจบร่วมกันอีกต่อไป

ยิ่งสังคมเหลื่อมล้ำมากขึ้นเท่าใด
ระบบคุณค่าของผู้คนก็แตกต่างกันมากขึ้นเพียงนั้น

ความรู้สึกคับข้องใจและโกรธเกรี้ยวอันเนื่องมาจากการถูกละเลยเป็นความรู้สึกที่มีพลังขับเคลื่อนมหาศาลในทางการเมือง และทรัมป์เล่นกับความรู้สึกนี้อย่างช่ำชองมากกว่าใคร ทว่าการเมืองที่เริ่มต้นจากความโกรธของคนผิวขาวในเขตชนบทของอเมริกามีแนวโน้มจะจบลงที่ความผิดหวัง เพราะนอกจากโวหารและความขึงขังแล้ว ผู้นำอย่างทรัมป์ไม่ได้มีวิสัยทัศน์เชิงนโยบายและมาตรการรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนพื้นฐานของคนที่เลือกเขาอย่างชัดเจน กระทั่งหลายปัญหาอาจเลวร้ายลงกว่าเดิมภายใต้การบริหารของทรัมป์ เช่นเรื่องความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ และระบบการเมืองแบบอเมริกันที่มีรากฐานยาวนานก็ไม่ได้มีพื้นที่อิสระเสรีให้ทรัมป์ ‘เขย่า’ อะไรได้ตามใจชอบ

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์เป็นตัวแทนของสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเขาไปเสียแล้ว ต่อให้เขาสะดุดล้มลงหลุดจากอำนาจไป ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่พลังเบื้องหลังที่หนุนส่งเขาขึ้นสู่ทำเนียบยังคงอยู่ ไม่จางหายไปง่ายๆ และจะยังคงเป็นพลังที่กำหนดการเมืองอเมริกันต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า

จะเอาชนะทรัมป์ในระยะยาวจึงต้องเข้าใจการเมืองเรื่องอารมณ์ความรู้สึกและคุณค่าของพลังที่อยู่เบื้องหลังทรัมป์อีกที

 

ภาพประกอบ: pengbox