Photo: Kai Pfaffenbach, Reuters/profile

ย้อนหลังกลับไปในปี 1971 ณ ที่ประชุมของคณะผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1974 ที่ประเทศเยอรมนีตะวันตก พบปัญหาใหญ่ในการเตรียมจัดการแข่งขันที่ไม่คาดฝัน

พวกเขาไม่มี ‘โทรฟี’ หรือ ‘ถ้วยแชมป์’ ให้แก่ทีมผู้ชนะเลิศแล้ว! หลังจากที่ได้มอบ ‘จูลส์ ริเมต์’ โทรฟีใบเก่าให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสหพันธ์ฟุตบอลบราซิลในฐานะชาติแรกที่สามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ 3 สมัย จากการที่ทีม ‘เซเลเซา’ คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านั้น ที่สนามอัซเตกา สเตเดียม ในประเทศเม็กซิโก (ก่อนที่ จูลส์ ริเมต์ จะถูกขโมยเป็นครั้งที่ 2 ในอีก 12 ปีต่อมา และหายสาบสูญไปตลอดกาล)

ฟีฟ่าตัดสินใจสร้างถ้วยรางวัลใบใหม่ขึ้นมา และเปลี่ยนกระบวนการจากเดิมที่ออกแบบและจัดทำเป็นการภายใน สู่การเปิดรับการออกแบบจากภายนอก ซึ่งมีการส่งแบบเข้ามาถึง 53 แบบ จากนักออกแบบใน 7 ประเทศ

หนึ่งในผลงานที่ถูกส่งเข้ามาประกวดด้วยเป็นผลงานของประติมากรจากเมืองมิลานในอิตาลี ที่ไม่มีชื่อเสียงโด่งดังอะไร

แต่ผลงานของ ‘ซิลวิโอ กาซซานิกา’ จับใจทุกคน

กาซซานิกาในเวลานั้นมีวัย 50 ปี เป็นศิลปินที่เกิดและเติบโตในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในวัยเยาว์เขามีความชื่นชอบในงานเจียระไนอัญมณีและงานสถาปัตยกรรมในเมืองมิลาน และเริ่มออกแบบเหรียญครั้งแรกตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น

ความหลงใหลในงานศิลปะวัตถุของเขาทำให้เขาเดินทางสายนี้ โดยใช้เวลากว่า 3 ทศวรรษจึงได้ก้าวขึ้นเป็นนักออกแบบระดับหัวแถวของบริษัท Bertoni ที่รับออกแบบถ้วยรางวัลชั้นนำของเมืองมิลาน

กาซซานิกาเป็นแฟนบอล ‘รอสโซเนรี’ ของทีมเอซี มิลาน มาตลอดชีวิต เมื่อทราบข่าวการรับผลงานออกแบบถ้วยรางวัลใหม่ของฟีฟ่าจึงรีบออกแบบทันที

“ผมขังตัวเองอยู่ในสตูดิโอของผมที่ตั้งอยู่ในย่านจัตุรัสของเหล่าศิลปินในเมืองมิลาน และเริ่มงานทันที” กาซซานิกาเล่าความหลังครั้งนั้นให้ฟัง

ระยะเวลา 1 สัปดาห์ คือช่วงเวลาที่กาซซานิกาใช้ถอดรหัสความคิด จิตวิญญาณ และความลุ่มหลงในเกมฟุตบอลของเขาลงไปในผลงานชิ้นเอก โดยตั้งใจที่จะทำให้แตกต่างจากถ้วยใบเดิมคือ จูลส์ ริเมต์ ที่ฟีฟ่ายกให้เป็นดัง ‘เพชรยอดมงกุฎ’ ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นผลงานชิ้นเอกที่ดีที่สุดสำหรับยุค 1800

แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้กาซซานิกาต้องการจะสร้างอะไรที่แตกต่างออกไปสำหรับยุค 1900

หนึ่งในโจทย์ที่เขาได้รับมาคือถ้วยที่ออกแบบจะต้อง ‘ขึ้นกล้อง’ ดังนั้นจะออกแบบโทรฟีแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว

และนั่นคือที่มาของ ‘โทรฟีสีทอง’ ซึ่งคนที่มีหัวใจรักเกมฟุตบอลทุกคนบนโลกปรารถนา

Photo: Kai Pfaffenbach, Reuters/profile

The World Cup กับความหมายที่ซ่อนอยู่

จากฐานกว้างก่อนจะถูกบีบให้แคบและขยายออกก่อนที่ทุกอย่างจะจบลงบนทรงกลมที่เปรียบดัง ‘โลก’ ซึ่งอยู่บนยอด โดยทุกอย่างนั้นดู ‘พลิ้วไหว’ นี่คือโทรฟี The World Cup ที่หลายคนจดจำว่าเป็น ‘ถ้วยบอลโลก’

แต่ที่โดดเด่นยิ่งกว่าคือรูปร่างที่ดูคล้ายมนุษย์ที่ชูมือขึ้นเพื่อแบกรับโลกใบนี้นั้น กาซซานิกาอธิบายว่า “นี่คือมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่เป็นวีรบุรุษ” ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่แตกต่างจากถ้วยจูลส์ ริเมต์ ที่มีเทพี ‘ไนกี’ หรือเทพีแห่งชัยชนะในเทพปกรณัมของกรีกชูโลกไว้เหนือศีรษะ

“ในการจะสร้างสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับเกมกีฬาและความกลมเกลียวของโลกกีฬา ผมได้แรงบันดาลใจจากภาพ 2 ภาพ หนึ่งคือนักกีฬาที่ได้รับชัยชนะ และสองคือโลกใบนี้ ผมอยากจะสร้างอะไรที่แสดงให้เห็นถึงความกลมเกลียว ความเรียบง่าย และความสงบสุขที่เกิดขึ้นควบคู่กันไป”

แต่นักกีฬาที่เป็นวีรบุรุษคนนั้นไม่ใช่นักกีฬาที่เก่งเหนือมนุษย์ หากแต่เป็นคนปกติที่มีอารมณ์ ความรู้สึก การโอบอุ้มโลกไว้เหนือศีรษะสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งที่เกิดจากการฝึกซ้อมอย่างหนักและยาวนาน และยังเป็นท่าฉลองชัยชนะด้วย

กาซซานิกาเล่าต่อว่า “แต่ที่ไม่ได้มีแค่คนเดียวบนถ้วยใบนี้ เพราะเกมฟุตบอลทุกนัดจะต้องเล่นกันสองทีม ความปรารถนาของสองฝ่ายที่ตรงกันข้ามและต้องแข่งขันร่วมกันไป

“ความกระตือรือร้น พละกำลัง ความแข็งแกร่ง ความเคลื่อนไหว ความหยาบกระด้าง ความคล่องแคล่ว ความเร็ว ความสำเร็จ การประสบความสำเร็จ ชัยชนะ การฉลองชัยชนะ ทั้งหมดคือสิ่งที่เกิดขึ้นและโอบอุ้มโลกใบนี้ซึ่งอยู่เหนือมนุษย์ทุกคน”

นี่คือความหมายที่ซ่อนอยู่ในโทรฟีสีทองใบนี้ ที่กาซซานิกาต้องการสื่อออกมาให้เห็น

และคือความหมายของชีวิตที่ซ่อนอยู่ในเกมกีฬาด้วยเช่นกัน

ตัวแทนแห่งชัยชนะและความภาคภูมิใจ

ตามคำบอกเล่าของ จิออร์จิโอ บุตรชาย ผลงานการออกแบบของกาซซานิกาชิ้นนี้ถูกส่งไปยังฟีฟ่า โดยที่ไม่ได้มีแค่แบบร่างบนกระดาษ หากแต่มีการหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ด้วย เพราะกาซซานิกาเชื่อว่าผลงานออกแบบชิ้นนี้จะสื่อถึงทุกคนได้ดีที่สุดด้วยรูปลักษณ์ที่แท้จริงของมัน

วิธีนี้ได้ผล เพราะทันทีที่คณะกรรมการได้เห็น ทุกคนลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งไม่มีสอง นอกจากจะสวยงามโดดเด่น ยังจับถือได้ง่าย

และมันก็ได้ผ่านมือของนักฟุตบอลระดับตำนานของโลกมาแล้วมากมาย ตั้งแต่ ฟรานซ์ เบ็คเคนเบาเออร์, ดีเอโก มาราโดนา, โรนัลโด, ซีเนดีน ซีดาน และฟิลิปป์ ลาห์ม

ขณะที่นักเตะระดับตำนานอีกมากมายยังไม่มีโอกาสสัมผัสมัน แม้กระทั่ง ลิโอเนล เมสซี ราชาลูกหนังคนปัจจุบัน

ส่วนผมเองเคยได้ใกล้ชิดมากที่สุดในกิจกรรมที่มีการนำถ้วยฟุตบอลโลกมาจัดแสดงในบ้านเราเมื่อหลายปีก่อน และได้เพียงแค่มองด้วยสายตาเท่านั้น

สำหรับกาซซานิกา ผู้ซึ่งต่อมาได้ออกแบบโทรฟีอีกมากมาย รวมถึง ยูฟ่า คัพ และยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ จนได้รับสมญา ‘Mr.Cups’ กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ ฟรานซ์ เบ็คเคนเบาเออร์ ชูถ้วยแชมป์โลกในปี 1974 ว่าเป็นความทรงจำที่ดีที่สุดในชีวิต

เหมือนดังที่เขาเคยกล่าวว่า “สำหรับบางคนอาจจะได้สัมผัสมันบ้าง แค่ครั้งหรือหากโชคดีก็สองครั้ง แต่ถ้วยใบนี้คือกรรมสิทธิ์ของผมตลอดไป ผมคือผู้ชนะที่แท้จริง”

คำพูดของกาซซานิกานั้นเป็นความจริง เพราะในชีวิตของคนนั้น ชัยชนะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสนามกีฬาเสมอไป และไม่จำเป็นต้องชนะในการแข่งขันกับคนอื่นเสมอไป

ขอเพียงมีความพยายามที่จะตั้งใจทำอะไรสักอย่างให้ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำเพื่อตัวเอง หรือเป็นเรื่องยากๆ ที่ทำเพื่อคนอื่น

เหมือนกาซซานิกาที่อุทิศกายและใจเพื่อสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกที่ควรคู่กับเกมฟุตบอลที่เขารัก และแม้จะจากไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมาในวัย 95 ปี ผลงานชิ้นนี้ของเขาก็ยังคงเป็นผลงานชิ้นเอกที่อยู่คู่โลกใบนี้สืบไป

ตราบที่ผู้คนยังหายใจเข้าออกเป็นเกมฟุตบอล

 

DID YOU KNOW?

‘โทรฟี’ นี้ได้แต่ใดมา

ตามประวัตินิรุกติศาสตร์ ‘โทรฟี’ นั้นมีที่มาจากอดีตกาลนานโพ้น

โดยคำว่า Trophy เดิมมีความหมายว่า รางวัลแห่งชัยชนะจากสงคราม ซึ่งมีมาตั้งแต่ยุคกรีกเรืองรอง ขณะที่ในกีฬาโอลิมปิกโบราณจะมีการมอบช่อมะกอก (ในความเชื่อของกรีก ใบและผลมะกอกคือของศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้นไม้ที่พระเจ้าประทานให้แก่มนุษย์) ก่อนที่ในภายหลังจะมีการเปลี่ยนมามอบรางวัลเป็นโถขนาดใหญ่และน้ำมันมะกอกศักดิ์สิทธิ์ ส่วนในการแข่งกีฬาท้องถิ่นจะมอบรางวัลเป็นแจกันสามขา, โล่ทองแดง หรือถ้วยเงิน

ส่วนถ้วยรางวัลที่เห็นกันในปัจจุบันเริ่มมีการใช้ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยเริ่มจากการมอบถ้วยเงินหรือทองที่ใช้ใส่ไวน์ในงานพิธีทางศาสนาคริสต์ ต่อมามีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบและวัสดุกันจนเป็นโทรฟีที่ได้เห็นกันในปัจจุบัน

ถ้วยฟุตบอลโลกทำจากทองคำหรือไม่? 

สีทองที่ได้เห็นบนถ้วยฟุตบอลโลกที่มีขนาดสูง 36.8 เซนติเมตร มีฐานสูง 13 เซนติเมตร และหนัก 6.175 กิโลกรัมนั้นเป็น ‘ทอง’ จริงๆ แต่เป็นทองคำ 18 กะรัต โดยที่ด้านในนั้นกลวง

ขณะที่ถ้วย จูลส์ ริเมต์ (หรือชื่อเดิมว่า Victory) กลับไม่ได้ทำจากทองคำแท้ๆ เพราะหล่อจากเงินและชุบทองเฉยๆ แต่ก็มีคนเข้าใจว่าทำจากทอง จนทำให้เคยถูกขโมยถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในปี 1966 ที่สุนัขชื่อ พิกเคิลส์ ตามหาพบในลอนดอน ส่วนอีกครั้งในปี 1983 โดยถูกนำไปหลอมเพื่อเอาทอง

สำหรับโทรฟี FIFA World Cup ผลงานของกาซซานิกา ตามแผนเดิมจะถูกใช้จนถึงปี 2038 ซึ่งเวลานั้นฐานบนชื่อของโทรฟีใบนี้จะถูกสลักชื่อแชมป์เอาไว้จนเต็ม