ภาพของยอดนักกีฬาระดับ ‘บิ๊กเนม’ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เลอบรอน เจมส์, เควิน ดูแรนต์, เซรีนา วิลเลียมส์ และอื่นๆ ที่ปรากฏในโฆษณาชุดใหม่ของไนกี้นั้นทรงพลังมากพอที่จะทำให้คนจำนวนมากต้องฉุกคิดอะไรบางอย่าง
‘ถ้าเราเสมอภาคกันได้ในเกมกีฬา เราก็เสมอภาคกันได้ทุกที่’
นี่คือใจความสำคัญของโฆษณาชุด ‘Equality’ หรือความเสมอภาค ที่ต้องการบอกกับทุกคนบนโลกว่าเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนชนชาติใด นับถือศาสนาอะไร เพศไหน จะยากดีมีจน ตราบใดที่มีหัวใจเพียงหนึ่งก็นับว่าเราทุกคนต่างเท่าเทียมกัน
คนเราควรจะตัดสินกันที่การกระทำ ไม่ใช่ด้วยสิ่งที่มองเห็นจากภายนอก
ความเท่าเทียมนั้นต้องไร้กรอบและขอบเขต หากจะมีเส้นใดมาแบ่งกั้นเส้นนั้นก็ควรจะเป็นแค่เส้นที่ตีขึ้นในสนามตามกฎและกติกาของเกมกีฬาเท่านั้น
โฆษณาความยาว 90 วินาทีชุดนี้ เกิดขึ้นเพื่อปลุกจิตสำนึกเรื่องความเท่าเทียมกันในช่วง Black History Month ซึ่งเป็นช่วงของการระลึกถึงความสำเร็จและความสำคัญของเหล่าคนผิวดำที่มีต่อสหรัฐอเมริกา (และมีอีกหลายชาติที่จัด Black History Month รวมถึงแคนาดา และสหราชอาณาจักร)
เพียงแต่เมื่อกลับมาคิดอีกที ก็ยังมีเครื่องหมายคำถามตัวเท่าบ้านเกิดขึ้นในหัวครับว่าบนโลกนี้ความเสมอภาคนั้นมีอยู่จริงหรือ
เพราะแม้กระทั่งในเกมกีฬาที่ว่าเป็น ‘พื้นที่ปกครองพิเศษ’ ก็ยังมีความไม่เท่าเทียมให้พบเห็นเกิดขึ้นมากมาย
โลกใบนี้ยังมีความหวังที่จะเท่าเทียมกันอยู่หรือ?
กีฬาต้องไม่มีสี
บิดเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปเมื่อเดือนก่อนในคอลัมน์ชิ้นเรื่องราวของเกม ‘แดงเดือด’ ตอนหนึ่งผมได้เขียนถึงเรื่องความเป็น ‘อริ’ (rival) ระหว่างแฟนบอล ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ว่าความไม่ถูกกันของ ‘ลิเวอร์พัดเลียน’ และ ‘แมนคูเนียน’ ในอีกด้านหนึ่งนั้นก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะแฟนฟุตบอลต้องการคู่ปรับเพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ
ยิ่งเกลียดก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ต้องทำให้ดีกว่าคู่แข่ง ซึ่งสุดท้ายไปวัดกันที่ผลงานในสนาม
แต่เรื่องของการเป็นอรินั้นมันเป็นคนละเรื่องกับการเหยียดสีผิว (racism) อย่างสิ้นเชิงครับ
การเหยียดสีผิวในเกมกีฬานั้นเป็นเรื่องของการแบ่งแยก เป็นการดูถูกคุณค่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต่างรู้ว่านี่คือเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้
มันไม่ต่างอะไรจากเนื้อร้ายที่เราไม่สามารถอยู่ร่วมกับมันได้
แต่โลกกีฬาก็ไม่เคยปราศจากเนื้อร้ายก้อนนี้
ปัญหาการเหยียดสีผิวนั้นยังเกิดขึ้นเสมอครับ แม้กระทั่งในปี 2017 ที่เราเข้าใกล้โลกแห่งอนาคตมากขึ้นทุกเวลานาที เราได้เห็นข่าวนักกีฬาฟุตบอล อเมริกันฟุตบอล บาสเก็ตบอล หรือแม้แต่กีฬาที่ถูกมองว่าเป็นกีฬาผู้ดีอย่างกอล์ฟ ก็มีนักกีฬาถูกหยามเหยียดความเป็นมนุษย์ในสนามเสมอ
โดยเฉพาะในสนามฟุตบอลที่ฝรั่งเศส อิตาลี เรื่อยไปจนถึง เซอร์เบีย รัสเซีย ทางแถบยุโรปตะวันออก
เสียงร้องล้อเลียนเสียงลิง การตะโกนด่าด้วยถ้อยคำที่หยาบเกินกว่าใจจะรับไหว เรื่อยไปจนถึงการโยน ‘กล้วย’ ลงมาในสนาม มีให้เห็นตลอด โดยที่นักฟุตบอลผิวสีไม่มีทางเลือกมากกว่าคำว่า อดทน
บางรายทนไม่ไหวตัดสินใจ ‘วอล์กเอาต์’ ออกจากสนามเลยก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง
ที่ผ่านมามีคนพยายามที่จะกำจัดมะเร็งร้ายที่ชื่อว่าการเหยียดสีผิวนี้มาโดยตลอดครับ ผ่านการจัดตั้งแคมเปญใหญ่ อาทิ Kick It Out, Show Racism the Red Card ซึ่งได้รับการตอบรับและเป็นที่รู้จักพอสมควร โดยเฉพาะ Kick It Out ที่เริ่มรณรงค์มาตั้งแต่ปี 1993 หรือกว่า 24 ปีมาแล้ว
แต่มันก็มักจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้หัวใจห่อเหี่ยวอยู่เรื่อยๆ เช่น ในปี 2015 เกิดเหตุการณ์อื้อฉาวขึ้นเมื่อ ซูเลย์มาน ซิลลา (Sulleyman Sylla) เซลล์แมนผิวสีชาวปารีเซียง ถูกแฟนฟุตบอลเชลซี ที่เดินทางไปชมเกมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก นัดที่พบกับ ปารีส แซงต์-แชร์แมง ผลักและกีดกันไม่ให้เข้าขบวนรถไฟใต้ดินในกรุงปารีส พร้อมตะโกนด้วยความสะใจว่า “We’re racist, we’re racist, and that’s the way we like it.”
เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกบันทึกเป็นคลิปวิดีโอโดย พอล โนแลน ชาวอังกฤษด้วยกันที่รับไม่ได้และนำมามอบให้ The Guardian เผยแพร่ต่อ สร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้ที่ได้เห็นคลิปดังกล่าว
อย่างไรก็ดีสังคมไม่ได้นิ่งดูดาย มีการสืบสวนและลงโทษแฟนฟุตบอลผู้ก่อเรื่อง โดยเบื้องต้นเชลซีลงโทษแบนห้ามเข้าสนามตลอดชีวิต และล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ศาลฝรั่งเศสมีคำสั่งตัดสินให้แฟนบอล 4 คนที่ก่อเหตุชดใช้ความผิดด้วยการจำคุกเป็นเวลา 8 เดือน และจ่ายเงินชดเชยให้แก่ซูไลมานเป็นจำนวนเงิน 10,000 ยูโร
โจชัว พาร์สสัน วัย 22 ปี หนึ่งในผู้ก่อเหตุยังสูญเสียงานด้านการเงินของเขาทันทีหลังเกิดเหตุ (แม้จะพยายามยืนยันว่าเขาไม่ได้เป็นคนเหยียดผิว) อันเป็นผลจากการกระทำที่ไม่อาจยอมรับได้ของเขาเอง
สิ่งที่น่าสนใจคือศาลฝรั่งเศสต้องการให้กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างของการเหยียดผิวว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และต้องถูกลงโทษสถานหนัก และหวังว่าจะเป็นบรรทัดฐานของสังคมต่อไป
ถึงแม้มันจะเป็นเพียงกรณีเดียวที่ลงโทษผู้กระทำผิดได้ชัดเจน เพราะมีการบันทึกวิดีโอไว้ เมื่อเทียบกับอีก 134,000 กรณีที่ Kick It Out พบว่ามีการเหยียดผิวในโลกออนไลน์ระหว่างปี 2014-2015 และอีกนับไม่ถ้วนที่จับไม่ได้ไล่ไม่ทันในสนามกีฬา
แต่อย่างน้อยที่สุด มันเป็นการแสดงจุดยืนว่าในโลกกีฬา สีเครื่องแต่งกายเท่านั้นที่ยอมรับให้มีความแตกต่างได้
ไม่ใช่สีผิว
ผู้หญิงไม่ใช่ของเล่น
ในโฆษณา ‘Equality’ เซรีนา วิลเลียมส์ ปรากฏตัวด้วยภาพลักษณ์ที่ขึงขัง แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกับเธอเป็นอย่างดีในฐานะนักเทนนิสหญิงที่เก่งและแกร่งที่สุดคนหนึ่งในโลก
แต่ไม่ใช่นักกีฬาหญิงทุกคนจะได้รับการยอมรับแบบนั้น
ในทางตรงกันข้าม ผู้ชายจำนวนมากยังคงเชื่อว่า ‘กีฬาไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเพศที่อ่อนแออย่างผู้หญิง’
ปัญหาเรื่องการ ‘เหยียดเพศ’ ในเกมกีฬาเกิดขึ้นมาช้านานและในปัจจุบันเองก็ยังไม่หมดไป โดยเฉพาะในกีฬาประเภทที่ผู้ชายคิดเอาเองว่ามันเป็นกีฬาของพวกเขา เช่น ฟุตบอล หรือมวย ซึ่งเป็นกีฬาที่ใช้พละกำลังและร่างกายสูงมาก
บางคนคิดเหมาไปเองว่า ‘ผู้หญิงไม่รู้เรื่องหรอก’ ซึ่งเคยมีกรณีอื้อฉาวมากมาย อาทิ แอนดี้ เกรย์ (Andy Grey) และ ริชาร์ด คีย์ส (Richard Keys) สองพิธีกรกีฬาชื่อดังชาวอังกฤษที่ถูกเผยแพร่คลิปหลุดว่าไปวิจารณ์ ไซแอน แมสซีย์ (Sian Massey) ผู้ช่วยผู้ตัดสิน
กรณีนี้ทั้งสองคนถูกสถานีโทรทัศน์ Sky Sports ไล่ออกทันที ทั้งที่เป็นระดับ ‘ตำนาน’ ทั้งคู่
อีกหนึ่งกรณีที่มีข่าวใหญ่โตคือ กรณีพิพาทระหว่าง โชเซ มูรินโญ (José Mourinho) และ อีวา คาร์ไนโร (Eva Carneiro) อดีตแพทย์สาวในทีมเชลซี ที่มีปัญหากันในเรื่องของการทำงาน จากเหตุการณ์ที่ เอเดน อาซาร์ (Eden Hazard) นักเตะตัวเก่งของทีมมีอาการบาดเจ็บในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ซึ่งเธอต้องการจะลงไปดูอาการทันทีตามหน้าที่ แต่มูรินโญไม่เห็นด้วย เพราะหากคาร์ไนโรลงไป จะทำให้เชลซีเหลือผู้เล่นในสนามแค่ 9 คนเท่านั้น และตำหนิว่าคาร์ไนโร รวมถึง จอน เฟิร์น (Jon Fearn) หัวหน้านักกายภาพบำบัด กระทำการโดย ‘หุนหันและซื่อเกินไป’
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ คาร์ไนโรถูกมูรินโญห้ามไม่ให้ข้องเกี่ยวกับทีมชุดใหญ่อีก ก่อนที่แพทย์หญิงจะตัดสินใจลาออกพร้อมดำเนินคดีฟ้องร้องมูรินโญ เพื่อแสดงจุดยืนของจรรยาบรรณวิชาชีพ และเพื่อศักดิ์ศรีของเธอ
คาร์ไนโรได้รับ ‘ดอกไม้’ เป็นกำลังใจและการสนับสนุนจากสังคมมากมาย ตรงข้ามกับมูรินโญที่ได้รับ ‘ก้อนหิน’ และสุดท้ายต้องกระเด็นตกงานในระยะเวลาไม่กี่เดือนหลังจากนั้นทั้งที่เพิ่งพาทีมคว้าแชมป์ได้ไม่ถึงปี
เมื่อปีกลายฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐฯ ได้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องค่าตอบแทนจากการเล่นฟุตบอลของเธอโดยขอให้ได้รับเท่าๆ กับที่ทีมชายได้ เพราะในปัจจุบันทีมชาติหญิงสหรัฐฯ ได้รับเงินน้อยกว่าทีมชายถึง 60%
ทั้งๆ ที่ผลงานของพวกเธอดีกว่าทีมชายมหาศาล เป็นทีมระดับแชมป์โลก อยู่ที่ 1 ในเวิลด์แรงกิ้งของฟุตบอลหญิง และที่สำคัญพวกเธอทำรายได้จากการที่มีแฟนบอลซื้อตั๋วเข้ามาชมเกมของทีมหญิงมากกว่าทีมชายถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่สหรัฐฯ เท่านั้น ในอังกฤษทีมชาติหญิงของพวกเธอได้รับค่าตอบแทนเพียง 26,000 ปอนด์ต่อปี ขณะที่นักฟุตบอลในระดับพรีเมียร์ลีกได้รับเงินค่าเหนื่อยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 73,000 ปอนด์ หรือคิดเป็น 3.8 ล้านปอนด์ต่อปี
ความแตกต่างของเงินรายได้ตรงนี้ถูกมองว่าเป็นการดูถูกนักกีฬาหญิง (ไม่ใช่เฉพาะในวงการฟุตบอล แต่เป็นเกือบทุกวงการ) ทั้งๆ ที่พวกเธอก็มีความสามารถไม่แพ้กัน
ยังไม่นับเรื่องที่พวกเธอต้องกลายเป็น ‘ความสุขทางสายตา’ ของบรรดาผู้ชมที่เป็นผู้ชาย โดยที่บางครั้งก็จำใจเพราะสปอนเซอร์ชุดแข่งขันเองก็คิดว่ามันเป็นหนทางในการดึงดูดผู้ชม จนเกิดกรณีอื้อฉาว เช่น ในรายการเทนนิสวิมเบิลดัน 2016 มีนักเทนนิสหญิงจำนวนมากที่ไม่พอใจชุดแข่งขันของไนกี้ ที่เปิดเผยเนื้อหนังมังสามากเกินความจำเป็น
พวกเธอมาแข่งขัน ไม่ใช่มาโชว์เรือนร่าง
อย่างไรก็ดีในปัจจุบันมีการลุกขึ้นสู้ของนักกีฬาหญิงมากขึ้น โดยที่ภาคสังคมเองก็ให้การตอบรับ ในพื้นที่สื่อมีการนำเสนอข่าวนักกีฬาหญิงมากขึ้น แม้แต่ฟุตบอลก็มีการรายงานข่าวของนักเตะหญิงระดับท็อปมากขึ้น เช่น การย้ายทีมของ อเล็กซ์ มอร์แกน (Alex Morgan) ซูเปอร์สตาร์ทีมชาติสหรัฐฯ ที่ย้ายมาร่วมทีมหญิงของสโมสร โอลิมปิก ลียง หรือ คาร์ลี ลอยด์ (Carli Lloyd) กัปตันทีมชาติสหรัฐฯ เจ้าของรางวัลนักฟุตบอลหญิงยอดเยี่ยมของโลก 2 สมัย ที่เพิ่งย้ายมาร่วมทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ สดๆ ร้อนๆ
มอร์แกนให้สัมภาษณ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า เธอรู้สึกดีที่ได้เห็นผู้หญิงพยายามลุกขึ้นสู้เพื่อ ‘คุณค่า’ ในตัวของพวกเธอเอง แต่ยอมรับว่า ‘เส้นทาง’ นั้นยาวไกล จะเหน็ดเหนื่อย และยากลำบากแน่
เพียงแต่หากมีการสนับสนุนจากองค์กรใหญ่ โดยเฉพาะ ‘ฟีฟ่า’ (FIFA) ที่ถ้า ‘เคารพ’ นักฟุตบอลหญิงมากกว่าที่เป็นอยู่ เธอเชื่อว่าทุกองค์กรกีฬาไม่ว่าจะฟุตบอลหรือกีฬาอื่นก็จะต้องขานรับด้วยอย่างแน่นอน
เกมการแข่งขันที่ยาวนาน
ในวัน ‘วาเลนไทน์’ ที่ผ่านมามีการประกาศรางวัลสำคัญของโลกกีฬาครับคือรางวัล ลอริอุส อวอร์ดส์ 2017 (Laureus Awards 2017)
ปีนี้นักกีฬาชายที่ได้รับรางวัลคือ ‘มนุษย์สายฟ้า’ ยูเซน โบลต์ (Usain Bolt) สุดยอดนักวิ่งชาวจาไมกา เจ้าของสถิติ 8 เหรียญทองโอลิมปิก (โดนริบไป 1 เพราะเพื่อนร่วมทีมวิ่งผลัดใช้สารกระตุ้นในโอลิมปิก 2008 ที่ปักกิ่ง)
ส่วนนักกีฬาหญิงคือ ซิโมเน ไบล์ส (Simone Biles) นักยิมนาสติกทีมชาติสหรัฐฯ เจ้าของ 4 เหรียญทองโอลิมปิก
ภาพที่สวยงามของการขึ้นรับรางวัลอันทรงคุณค่า ซึ่งถือเป็น ‘ที่สุด’ ของโลกกีฬานี้ อดทำให้คิดย้อนกลับมาถึงสิ่งที่เราพูดถึงกันข้างต้นเกี่ยวกับการเหยียดผิวและเหยียดเพศขึ้นมาไม่ได้ครับ
มันจะดีแค่ไหนหากนักกีฬาทุกคน ไม่ว่าจะสีผิวอะไร เพศไหน ศาสนาใด จะได้รับการยอมรับและยกย่องอย่าง ‘สมเกียรติ’ ในทุกที่ของโลกเหมือนที่โบลต์และไบล์สได้รับการยกย่องบนเวที ลอริอุส อวอร์ดส์
เพราะท้ายที่สุดแล้วจะเป็นใครจากไหน จะเก่งหรือไม่ สุดท้ายก็คือนักกีฬาเหมือนกัน
ต่างกันเพียงเป้าหมายว่าจะเล่นเพื่อชัยชนะ เล่นเพื่อเกียรติยศ เล่นเพื่อเลี้ยงชีพ หรือเล่นเพื่อสุขภาพ
ไม่ได้มีอะไรมากหรือน้อยไปกว่านี้
การต่อสู้เพื่อ ‘ความเสมอภาค’ ในเกมกีฬานั้นเป็นการแข่งขันที่ยาวไกลครับ ต้องอุทิศพลังกายและใจมหาศาล และที่สำคัญคือทุกคนบนโลกต้องร่วมแข่งขันพร้อมกัน
อาจจะไม่ชัดเจนนัก แต่อย่างน้อยเราก็พอได้เห็นประกายความหวังบ้าง
‘ถ้าเราเสมอภาคกันได้ในเกมกีฬา เราก็เสมอภาคกันได้ทุกที่’
DID YOU KNOW?
- จากแคมเปญ ‘Equality’ ไนกี้จะมอบเงินจากการจำหน่ายสินค้าที่จะวางจำหน่ายในช่วง Black History Month จำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่องค์กร MENTOR และ PeacePlayers เพื่อรณรงค์ให้เกิดความเสมอภาคทั่วสหรัฐอเมริกา
- เพื่อให้การต่อสู้กับการเหยียดสีผิวทรงพลังมากขึ้น Kick It Out สร้างแอปพลิเคชันขึ้นมาเพื่อรายงานการกระทำผิดเรื่องการเหยียดสีผิว ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี ช่วยให้ได้รับการร้องเรียนขึ้นมาก และได้รับรางวัล Best/Most Innovative Use of Technology (Non-Club Specific) จาก Football Business Award
- นักฟุตบอลหญิงในสหรัฐฯ แม้แต่นักเตะทีมชาติเองใช้เวลา 5 เดือนในแต่ละปีเพื่อทำงานเสริม เพราะลีกฟุตบอลหญิง (NWSL) มีระยะเวลาแข่งขันแค่ 7 เดือน โดยนักฟุตบอลหญิงจะได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยปีละ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแม้จะมีการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายทางบ้าน แต่ก็ยังแทบไม่พอที่จะดำเนินชีวิตปกติอยู่ดี และส่งผลให้นักฟุตบอลหญิงส่วนใหญ่เลิกเล่นเมื่ออายุ 25 ปี
- ในการประกาศรางวัล ลอริอุส อวอร์ดส์ นอกจากโบลต์และไบล์สที่ได้รางวัลแล้วยังมีรางวัลอื่นๆ อีก เช่น ทีมเลสเตอร์ ซิตี้ ได้รางวัล Spirit of Sport จากการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก, เบียทริซ วิโอ นักฟันดาบวีลแชร์ชาวอิตาเลียน ได้รางวัลนักกีฬาคนพิการแห่งปี
- นอกจากนี้ยังมีรางวัล Sport for Good สำหรับทีมผู้อพยพโอลิมปิก (The Refugee Olympic Team) จากการเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ริโอ และ Best Sports Moment คือทีมนักฟุตบอลบาร์เซโลนา ชุดอายุต่ำกว่า 12 ปี ที่ปลอบประโลมคู่แข่งจากญี่ปุ่นในการแข่งขันฟุตบอลระดับเยาวชน ที่หลายคนน่าจะได้เห็นคลิปน่าประทับใจนี้มาแล้ว 🙂